วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

เช้าเย็น....เคยเห็นเจ้า..กุ้งกะต่อม พร้อมกุลา

มัศยาเยื้องกรายสายนที 9..



กุ้งกะต่อมภาพเล็กข้างบน กุ้งก้ามกรามภาพใหญ่ข้างล่าง

กุ้งกะต่อม (ชื่อสามัญ)
กุ้งหัวแข็ง (ชื่อสามัญ)
Macrobrachium equidens (ชื่อวิทยาศาสตร์)
DWAEF PRAWN (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
ลักษณะทั่วไป

รูปร่างคล้ายคลึงกับกุ้งก้ามกรามแต่มีขนาดเล็กกว่า หัวค่อนข้างโตและลำตัวเรียวเล็ก นัยน์ตามีสีดำ กรีแหลมหยักเป็นฟันเลื่อย ขาเดินคู่ที่สองมีขนาดใหญ่และยาวกว่าขาเดินคู่อื่น ๆ ส่วนปลายเป็นก้ามหนีบ เปลือกที่ปกคลุมอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้นค่อนข้างแข็ง มีสีเหลืองเหลือบหรือขาวนวล ลำตัวค่อนข้างใส

ถิ่นอาศัย
ตามชายฝั่งทะเลในที่ตื้น พื้นท้องทะเลเป็นโคลนโดยเฉพาะตามรากของต้นแสม ต้นโกงกาง หรือตามแอ่งน้ำที่น้ำทะเลขัง ใต้กอหญ้าทะเลหรือเศษสิ่งต่าง ๆ ในเวลาน้ำแห้ง

อาหาร
กินตัวอ่อนของแมลงน้ำ

ขนาด
ความยาวประมาณ 5-6 ซ.ม.

ประโยชน์
ใช้ประกอบอาหารได้ดี
ที่มา ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย



กุ้งกะต่อมนี้ ที่บางกรูด เรียกกันว่า กุ้งหัวแข็ง หรือกุ้งกะเปาะ
เป็นกุ้งที่คล้ายกุ้งก้ามกรามมาก ดังภาพกุ้งก้ามกรามข้างล่างนี้



ภาพนี้เป็นภาพกุ้งก้ามกรามตัวน้อย
ติดมากับเคยกะปิ


กุ้งก้ามกรามตัวโตกว่าภาพบนจากการยกยอริมแม่น้ำ

กุ้งกะเปาะ หรือกุ้งหัวแข็งนี้ เปลือกของลำตัวแข็งมาก ในวัยเด็ก ถ้าได้กุ้งนี้มาไม่มาก ก็จะใช้ผสมปนเปกันกับกุ้งอื่น เช่น หลงไปทำกุ้งเค็มบ้าง หรือมาปอกเปลือก ทำกับข้าวอย่างอื่นบ้าง

แต่หากเป็นกุ้งซื้อมาจากโพงพาง ซึ่งแยกประเภทกุ้งมาเรียบร้อย หากไม่มีกุ้งอย่างอื่น เหลือแต่กุ้งกะเปาะอย่างเดียว ต้องจำใจซื้อ เพราะไม่มีให้เลือกเมื่อซื้อมา ก็จะถูกแกะเปลือกออก ไม่เคยซื้อมาทำกุ้งนี้มาต้มเค็ม

อนึ่ง กุ้งกะเปาะ ที่ได้มาจากแม่น้ำ ด้วยหลายวิธี มักมีไข่ติดหน้าท้อง หากเป็นไข่สีส้ม ก็กินอร่อยมาก ถ้ากุ้งกะเปาะ มีผสมปนในกุ้งเค็ม เด็กๆ ก็จะเลือกตัก ตัวที่มีไข่ติดก่อน แล้ว ก็ ปอกเปลือกออก เด็ดไข่กุ้งกะเปาะนี้ใส่กะละมังข้าวไว้ ( ตอนเด็กๆ นั้น พวกเรากินข้าวในกะละมังสังกะสีเคลือบกัน(ซึ่งขนาดเล็กกว่าชาม) เพราะมีเด็กเยอะ ทำชามแตกกันบ่อยๆ ส่วนจานกระเบื้องและช้อนส้อมนั้น มีไว้สำหรับรับแขกเหรื่อ เท่านั้น ชามในที่นี้หมายถึงชามตราไก่ และช้อนสังกะสีเคลือบที่กินกับกะละมังเล็กๆ นั้น เราเรียกกันว่า ช้อนหอย)

กุ้งกะเปาะ เมื่อปอกเปลือกออก จะเหลือเนื้อกุ้ง นิดเดียว จึงเป็นกุ้งที่ผู้คนไม่นิยมซื้อ หากมีทางเลือกอื่นอีก ทั้งที่ เป็นกุ้งที่มักมีไข่กุ้งติดหน้าท้องมาก็ตามที ถ้าปอกเปลือกสดๆ ไข่ก็มักแตกกระจายออกจากหน้าท้องไปด้วย เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

ในสมัยพลอยโพยมยังเด็ก ไม่มีใครได้รู้จักกุ้งกุลาดำ กุ้งกุลาลาย
เพราะเป็นกุ้งทะเลที่มีราคาแพง ต่อมาเมื่อกรมประมงสามารถ เพาะเลี้ยงได้สำเร็จ จึง เป็นกุ้งยอดฮิต อยู่หลาย ปี แล้ว วันหนึ่ง ก็เสื่อมความนิยม เกษตรกร ทั้งเพาะพันธ์ ทั้งเลี้ยงบ่อดิน ก็มีมากมาย ที่ได้ สะอึกสะอื้น กับกุ้งกุลาร้องไห้ แต่เกษตรกร ที่ยังยืนหยัด ยืนยง มั่นคง อยู่ได้ ก็มีบ้าง แต่สัดส่วนน้อยมาก กับจำนวน มวลรวม
ในหลายๆปี มานี้ กรมประมง จะเพาะพันธุ์กุ้ง พันธุ์ ปลา ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ลุ่มน้ำ ไว้สำหรับปล่อยพันธุ์ ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในงานมหามงคลต่างๆ รวมทั้งวันสำคัญของกรมประมงเอง พันธ์สัตว์น้ำจะถูกจัดเตรียมล่วงหน้า ในปริมาณมากมาย โดยเลือกความเหมาะสมให้เหมาะสมกับ แต่ละแหล่งน้ำ บ้านเมืองเราจึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้านสัตว์น้ำบางประเภทมากขึ้น หาก ผู้คน รู้จักยับยั้งชั่งใจ ที่จะบริโภค แบบพอเพียง ไม่เกิดกิเลศเพราะความอยากได้เงิน เกินธรรมชาติจัดสรร สัตว์น้ำมากมาย ก็มีเพียงพอสำหรับเราคนไทย ( และมีสัตว์น้ำหลายเผ่าพันธุ์ สูญสิ้นไปแล้ว ก็มาก)
ในแม่น้ำบางปะกง ทุกวันนี้ จึงมี กุ้งกุลา มา แหวกว่ายในสายชล ให้ผู้คน จับมากิน แม้แต่ การรออวน ก็จะกุ้งกุลาติดมาด้วย ดังภาพ



ในฤดูนี้ หากไปเดินตลาดพื้นบ้าน ตอนเย็นที่วัดโสธร ก็จะได้พบกุ้งกุลา ตัวใหญ่ เต็มถาดของ แม่ค้า ที่รับซื้อมาขาย บางครั้งก็สด บางครั้งก็ใส่แช่น้ำแข็งไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น