วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

กุ้งดีดขัน..วันเยาว์วัย

มัศยา..เยื้องกรายสายนที 6

กุ้งดีดขัน




กุ้งดีดขัน

กุ้งดีดขัน (ชื่อสามัญ)

Alpheaus euphrosyne (ชื่อวิทยาศาสตร์)
COMMON SNAPPING SHRIMP (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)

ลักษณะทั่วไป
กุ้งจำพวกหนึ่งในวงศ์ Alpheidae

เป็นสัตว์จำพวกกุ้งขนาดเล็ก ลำตัวใส ส่วนหัวมีขนาดใหญ่เรียวเล็กลงไปถึงหาง นัยน์ตาเล็กและมีหนวดยาว ขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบ ข้างขวามีขนาดใหญ่กว่าข้างซ้าย มีความสามารถงับก้ามดีดทำเสียงดังป๊อก-ป๊อก โดยเฉพาะเมื่อนำกุ้งชนิดนี้ใส่ในขันน้ำโลหะ แล้วใช้ขนไก่หรือก้านไม้เล็ก ๆ แหย่บริเวณก้ามหนีบ กุ้งจะใช้ก้ามหนีบขบกันทำให้เกิดเสียงดังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลากระทบขันน้ำชาวบ้านเรียกว่ากุ้งดีดขัน

สีของลำตัวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ก้ามอันใหญ่มีสีเขียวอมฟ้า ขาเดินมีสีแดงอมส้ม มี 5 คู่

การที่กุ้งดีดขันสามารถทำเสียงดังได้ก็เพื่อทำให้ศัตรูตกใจ จากนั้นจะใช้ก้ามอีกข้างหนึ่งที่เล็กกว่าบีบน้ำใส่หน้าของศัตรูแล้วหนีไป

มีพฤติกรรมชอบหลบซ่อนอยู่ตามซอกวัสดุต่าง ๆ เช่นซอกหินตามชายทะเลทั่วไป ริมฝั่งทั้งในน้ำเค็มและน้ำกร่อย และบางทีก็เข้าไปอาศัยอยู่ในรู ตามบ่อ ลำคลองที่มีน้ำจืดแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งบางครั้งพบได้ในท้องร่องสวนบางที่อีกด้วย

มีทั้งหมด 41 สกุล ชนิดที่พบเจอบ่อย ๆ ได้แก่ Alpheus microrhynchus ซึ่งพบในน้ำจืด และ A. digitalis เป็นต้น เฉพาะสกุล Alpheus นั้นพบในประเทศไทยทั้งหมด 35 ชนิด โดยพบในอ่าวไทย 8 ชนิด ทะเลอันดามัน 5 ชนิด และพบทั้งสองฟากทะเล 22 ชนิด

กุ้งดีดขันมีความสำคัญในแง่ของการประมง ที่บังกลาเทศ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลียตอนเหนือ นิยมนำมารับประทาน และยังนิยมทำเป็นเหยื่อตกปลาอีกด้วย นอกจากนี้แล้วจากความสามารถที่ทำเสียงดังได้ ทำให้กุ้งดีดขันมักถูกจับมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง

กุ้งดีดขันมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "กุ้งกระเตาะ" เป็นคำพื้นบ้านบางท้องถิ่น
อาหาร

กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก สาหร่ายและอินทรียวัตถุ

ขนาด

ความยาวประมาณ 3-5 ซ.ม.

ประโยชน์

เลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และทำเป็นเหยื่อตกปลา
ที่มา วิกิพีเดีย
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย

กุ้งดีดขัน มีรูปร่างหน้าตา สีสัน น่ารักมากจริงๆ ที่บางกรูดจะพบเห็นได้มากในช่วงรอเคยกะปิปะปนมากับสัตว์น้ำอีกหลายหลาย เช่น กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด ปลาซิว ปลากะตัก ลูกปลาเล็กหลานปลาน้อยต่างๆ แมงกะพรุน เป็นต้น
และคำพื้นบ้าน เราก็เรียก กุ้งกระเตาะกัน ไม่ใคร่มีใครเรียกกุ้งดีดขันกันนัก

ในวัยเด็กของพลอยโพยม กุ้งดีดขันที่หลงเข้ามาไม่ว่าในอวนสวิงรอเคยกะปิ หรือสวิงที่เราลงไปไล่ช้อน กุ้งปลา อื่นๆ จะถูกพวกเรา ดีดทิ้งอย่างเปล่าดาย หากกุ้งดีดขันนี้ตายแล้วก็ตายไป ที่ยังไม่ตายก็สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะส่วนใหญ่เราก็ทิ้งคืนตามแหล่งน้ำในขณะที่จับได้มานั่นเอง ยกเว้นว่า มีเด็กคิดจะเอาไปทำเหยื่อตกปลากัน ก็จะเก็บกุ้งดีดขันเป็นๆไว้

แต่หากถึงเวลาที่ต้องการกุ้งดีดขันนี้มาทำเหยื่อตกปลา โดยไม่มีการรอเคยกะปิหรือช้อนหากุ้งอื่นๆก็ถึงคราว ต้องใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยกันอีกแล้ว การจะเอาสวิงลงไปช้อนไล่หา คงไม่ทำเพื่อไล่ช้อนกุ้งดีดขันแน่นอน
เด็กๆ ก็จะไปตามชายฝั่งท้องร่องในสวนหรือในคลองในเวลาที่น้ำลง ตามชายคลองชายร่องสวน จะมีรูมากมาย สารพัดรู รูงู รูปลา รูปูทะเล รูกุ้งตะกาด รูกุ้งดีดขัน ( กุ้งกระเตาะ)
แล้วดูรูกันอย่างไร ว่า นี่มันรูอะไรกันแน่ รูอื่นไม่เล่าละค่ะ เอาเรื่องรูที่อยู่อาศัยของ กุ้งกระเตาะก่อน

เพื่อการจับกุ้งกระเตาะ ต้องเตรียมรำข้าวเป็นเหยื่อล่อ ส่วนใหญ่จะเป็นรำข้าวกล้องที่ซื้อหามาจากโรงสีข้าวใกล้บ้าน รำข้าวกล้องมีราคาถูกกว่ารำข้าวขาว รวมทั้งมีน้ำหนักและเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ถึงขั้นรำละเอียดแบบรำข้าวขาว ได้รำข้าวมาแล้วก็ลุยไปที่รูที่เราตั้งสมมติฐานว่าเป็นรูที่อยู่ของกุ้งกระเตาะ การตั้งสมมติฐานนี้ต้องอาศัยค่าของความน่าจะเป็นในสัดส่วนสูงพอสมควร ค่าของความน่าจะเป็นนี้ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ

เอาสองมือวักน้ำจากพื้นท้องร่องสาดเข้าไปในรู ถ้ารูไหนมีน้ำไหลย้อนพรูกันออกมา นั่นแหละใช่เลย รูกุ้งกระเตาะ รีบขุดดินกั้นเป็นแอ่งน้ำไว้ไม่กว้างนักเพราะกุ้งตัวนิดเดียวเอง วักหรือเอามือวิดน้ำสาดเข้าไปในรูอีกครั้ง พร้อมกับโรย รำข้าวไว้ในแอ่งที่กั้นน้ำไว้ กุ้งกระเตาะ รู้สึก มีน้ำเข้ามาเยือนในรู แถมได้กลิ่นรำข้าว เธอก็จะรีบออกมาหารำข้าว พอตัวกุ้งออกมาพ้นรู คนจับกุ้งก็ เอามือหนึ่งกั้นปิดปากรูไว้ไม่ให้กุ้งย้อนกลับคืนเข้ารูได้ อีกมือก็จับตัวกุ้งที่กำลังกินรำในแอ่งน้ำ เพลิดเพลินอยู่ หรืออาจจะตกใจไม่ทันได้กิน เพราะกุ้งก็มีประสาทรับรู้ไวมากเหมือนกัน แต่เมื่อออกจากรูมาแล้วการที่จะย้อนกลับเข้ารูนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะปากรูก็ถูกปิดเสียแล้ว หนีไปไหนก็ไม่ได้อีกเพราะแอ่งน้ำมันเล็ก กุ้งกระเตาะตัวน้อยก็ถึงฆาต ถูกจับได้เอาไปเป็นเหยื่อตกปลา

กุ้งกระเตาะไม่มีความสามารถพิเศษเหมือนปูก้ามดาบที่รู้เวลาน้ำขึ้นได้ด้วยประสาทพิเศษของตัวเองดังที่มีคนเรียกกันว่า ปูด้ามดาบมีนาฬิกาชีวภาพ ของตัวเอง ถูกต้องแม่นยำอีกต่างหาก

เหยื่อที่เป็นกุ้งกระเตาะนี้ ก็ถูกนำไปเป็นเหยื่อหลอกปลา อีกขั้นตอนหนึ่ง


ภาพนี้ เป็นเด็กเหมือนกัน ในอดีต เมื่อ สี่-ห้า สิบปีก่อน ย้อนถ่ายภาพในปัจจุบัน

เด็กจะเอาตัวเบ็ด เกี่ยวที่ก้นกุ้งกระเตาะ เกี่ยวอย่างไม่ให้กุ้งกระเตาะนี้ตาย แล้วเอาตัวเบ็ดขว้างลงในน้ำ
ห่างจากตัวเบ็ดไม่มากนักที่สายเบ็ด จะมีลูกตุ้มตะกั่วเล็กๆผูกถ่วงสายเบ็ด ห่างจากตัวเบ็ดพอประมาณ เพื่อให้ตัวเบ็ดที่เกี่ยวกุ้งกระเตาะนี้ ตกลงถึงพื้นดินบริเวณที่ไปตกปลา ระยะห่างของลูกตุ้มพอที่จะไม่เป็นที่เกะกะขัดขวางการเข้ามากินเหยื่อกุ้งกระเตาะของปลาที่ถึงคราววางวายได้ไปเกิดใหม่

เมื่อตัวเบ็ดตกถึงพื้นดิน กุ้งกระเตาะ ก็จะคลานไปมาบนพื้นดิน ชูก้ามสองก้ามของตัวกุ้งกระเตาะได้ปกติ ปลาที่อยู่ในบริเวณนั้น ก็ จะรีบมากินกุ้งกระเตาะ กลายเป็นเหยื่อของมนุษย์ที่สุดแสนจะขยันคิดค้นวิธีหลอกปลานานารูปแบบ
หลอกมาทั้งกุ้ง เพื่อหวังมุ่งไปหาตัวปลา นั่นเอง
มีปลาหลายประเภท ไม่ชอบเหยื่อที่เป็นไส้เดือน กุ้งกระเตาะตัวน้อยน่ารักมีคุณสมบัติพิเศษบางประการ เลยถูกจัดมาเป็นเหยื่อล่อปลาแทน

1 ความคิดเห็น:

  1. 😣😣😣😣😣😣😣😣😣😣😤😤😤😤😤😤😤😤🤬🤬🤬🤬🤬🤬🤬🤬🤬🤬🤬😠😠😠☠☠☠☠☠☠

    ตอบลบ