วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

สายชล...วนเวียนว่าย..กุ้งตะเข็บ

มัศยาเยื้องกรายสายนที 8


กุ้งตะเข็บ


กุ้งตะเข็บ
ชื่อสามัญ Torpedo shrimp
ชื่อไทย กุ้งปล้อง กุ้งตะเข็บ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parapenaeopsis maxillipedo
ข้อมูลจาก
http://www.fisheries.go.th/rgm-samutsa/content_list.asp?Cat_ID=4&subcat_id=13&content_id=8
ศูนย์วิจัยและตรวจสอบคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สมุทรสาคร

ในพจนานุกรม กล่าวว่า ตะเข็บ คือ ชื่อกุ้งทะเลขนาดเล็กหลายชนิดในสกุล Penaeopsis วงศ์ Penaeidae ตัวแบน

เรื่องราวรายละเอียดของกุ้งตะเข็บ พลอยโพยมหาไม่ได้เลย รวมทั้งภาพประกอบจากเอกสารต่างๆ
ชาวมีนกรผู้หนึ่งให้ข้อมูลว่า คำเรียกภาษาไทยจะมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น การจะกล่าวถึงสัตว์น้ำ ต้องใช้ชื่อวิชาการ คือชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการจัด วงศ์ตระกูล ชัดเจน

ตัวอย่างเช่น คำว่ากุ้งหัวแข็ง บางท้องถิ่น ใช้เรียก กุ้งกะต่อม ที่ทะเลสาบสงขลาใช้เรียกกุ้งตะกาดขาว เป็นต้น

คำว่ากุ้งตะเข็บ ก็เช่นกัน ด้วยลักษณะ กุ้งตะเข็บที่บางกรูดเรียกหากัน มีรูปพรรณสัณฐาน ที่จัดเป็น พวกกุ้งหัวมัน แต่พลอยโพยม กลับอ่านพบ รายงานเอกสารทางวิชาการ ฉบับที่ 30 เรื่อง สภาวะประมง ชนิด การแพร่กระจายของสัตว์น้ำในบางปะกง โดย สันทนา ดวงสวัสดิ์ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เมื่อ ปี 2526 มีรายงานสำรวจพบ กุ้งตะเข็บ โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า parapenaeopsis sp. ตรงกับ ศูนย์ ฯ..สมุทรสาคร
และพบ รายการสำรวจพบกุ้งหัวมัน โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า penaeopsis ovirostris แต่ที่ศูนย์ฯ สมุทรสาคร ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ สำหรับกุ้งหัวมัน 2 รายการว่า Metapenaeus lysianassa และ Meta…tenuipes
อ่านแล้วสับสนมากค่ะ แต่ก็ไม่ถึงขั้นไปลงลึกหารายละเอียด เพราะเรื่องเล่านี้ไม่มีเจตนาในเชิงวิชาการ เป็นเพียงเรื่องเล่าตามประสาชาวบ้าน ต้องขออภัย หากมีผู้รู้เข้ามาอ่าน แล้ว จะกล่าวโทษว่า ไม่รู้จริงแล้ว ยังมาเขียนอีก ก็ขอน้อมรับไว้

กุ้งตะเข็บของชาวบางกรูด และชาวแปดริ้ว มีรูปร่างหน้าตา ดังภาพ หากยังมีชีวิตอยู่ ลำตัวจะใส มองเห็นภายในดังภาพ


กุ้งตะเข็บ ตัวนี้ได้จากการยกยอริมแม่น้ำ


กุ้งตะเข็บเป็นกุ้งน้ำกร่อย จะพบเห็นได้ทั่วไปในลำน้ำแม่น้ำ ทั้งการรออวน การพายเคยกะปิ การยกยอ เป็นกุ้งเปลือกบาง ดูแล้ว บอบบางมากกว่ากุ้งตะกาดที่เปลือกหนา ที่แม้ถูกจับมา ก็จะมีชีวิตอยู่ได้เป็นชั่วโมง แต่กุ้งตะเข็บใจเสาะมาก แค่ถูกสัตว์อื่นทับถมก็ตายแล้ว เช่นในภาพถัดไป เป็นกุ้งตะเข็บที่ได้จากการรอเคยกะปิ จาก อวนในแม่น้ำ ถูกเทลงภาชนะของชาวบ้าน พายเรือกลับฝั่ง พอถึงฝั่ง กุ้งตะเข็บก็วางวายเสียแล้ว ชั่วเวลาไม่นานเลย



เนื่องจากเปลือก ลำตัว หัว แม้แต่กรี ของกุ้งตะเข็บ ค่อนข้างบาง ดังนั้นกุ้งตะเข็บจึงเป็นที่นิยม นำมาต้มเค็ม ก็คือ ต้มใส่เกลือและน้ำตาลปีบ ตัดหนวดทิ้ง และหัว บริเวณกรีออกโดยให้เหลือส่วนที่เป็นมันกุ้ง แก้วกุ้งไว้ หางกุ้งบางคนก็ตัดทิ้ง บางคนก็ไม่ตัด (หางกุ้งตะเข็บก็ไม่แข็งมาก) ปัจจุบันกุ้งตะเข็บขนาดที่เห็น จะมีราคา ประมาณ กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป อาจอยู่ที่ราคา 100-110-120 ในขณะที่ถ้าเป็นกุ้งขาว วานาไม ขนาดเดียวกัน ราคาประมาณ 60-80 บาท
กุ้งตะเข็บนี้ มีการกล่าวถึงใน นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน
ในช่วงที่แม่พลอย อายุเพียง 10 ขวบ ตามแม่เข้าวังมาหาคุณสายซึ่งอยู่ ในตำหนักของเสด็จหญิง พระองค์หนึ่งว่า..


….. ชามใบหนึ่งนั้น ใส่ไข่แมงดาทะเล ซึ่งพลอยเคยเห็นแต่เขาแกงคั่วกับสับปะรด และ
ชามอีกใบหนึ่งนั้นใส่กุ้งตะเข็บ ซึ่งพลอยเคยเห็นเขาทำกุ้งเค็ม หรือใช้ผัดใช้แกง
แต่ไข่แมงดาทะเลและกุ้งที่เห็นในวังนี้ กลายเป็นของใหม่สำหรับพลอย เพราะทั้งสองอย่างนั้นเชื่อมน้ำตาล
มีน้ำตาลจับจนแข็ง
...เห็นแม่กำลังหยิบกุ้งเชื่อม หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่า กุ้งแช่อิ่มนั้น ขึ้นใส่ปากเคี้ยวกิน อย่างเอร็ดอร่อย

แสดงว่า ในวัง คงทำกุ้งตะเข็บต้มเค็ม หวานเป็นกุ้งเชื่อม เป็นแน่แท้
หากมีกุ้งให้เลือกซื้อจากโพงพางได้ ทุกคนก็จะซื้อกุ้งตะเข็บก่อน นอกจากเอามาต้มเค็มได้อร่อยที่สุดแล้ว หากเอามาปอกเปลือก ทำกับข้าวอื่น ก็ได้ ตัวกุ้งที่มาก เพราะกุ้งมีน้ำหนัก เบา เปลือกที่ปอกทิ้ง ก็บางกว่ากุ้งอื่นๆ





กุ้งหัวมัน


ขอใช้ข้อมูลจากทะเลสาบสงขลา ดังนี้
กุ้งหัวมันมี 2 ชนิด
กุ้งหลังไข่หรือกุ้งหัวมันน้ำเค็ม (M. brevicornis),
และกุ้งหัวมันน้ำจืด (M. Tenuipes)
(ที่บางกรูด คงเป็นกุ้งหัวมันน้ำเค็ม)

กุ้งหัวมันน้ำเค็มหรือกุ้งหลังไข่ .(M. Brevicornis) กุ้งหัวมันน้ำเค็ม (Metapenaeus .brevicornis) เป็นกุ้งหัวมันที่มีวงจรชีวิตในน้ำกร่อยไปจนถึงน้ำเค็ม ลักษณะรูปร่าง โดยทั่วไป จะมีลำตัวเกลี้ยง เปลือกบางใส สีครีมเหลืองมีจุดสีน้ำตาลเข้มประตามตัว มีฟันเฉพาะด้านบน 5-7 ซี่โคนกรียกสูง (crest hight) ปลายกรีมีส่วนที่ไม่มีฟัน (unarmed portion) กรีสั้นกว่าปลายโคนหนวด (antennular peduncle)คู่ที่ 1 สันบนปล้องท้องเริ่มจากปล้องที่ 4 ปลายแพนหางทั้งด้านใน (endopod) และด้านนอก (exopod) มีสีแดง

กุ้งเพศผู้จะมีขนาดเล็กและมีผิวสี เหลืองจัดกว่ากุ้งเพศเมียอย่างเห็นได้ชัด ในฤดูกาลวางไข่กุ้งเพศผู้จะมีสีเหลืองจัดและมีความมันที่ผิวซึ่งแตกต่างจากกุ้งชนิดอื่นๆ กุ้งเพศผู้จะมีอวัยวะเพศ (petasma) ด้านข้างกางออกคล้ายด้ามหนังสติ๊ก ส่วน อันในจะมีรูปร่างเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย .

ส่วนกุ้งเพศเมีย มีอวัยวะเพศ (thelycum) เป็นแผ่น ด้านบนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดใหญ่กว่าแผ่นด้านข้าง ซึ่งมีสองแผ่นเชื่อมติดกัน ทำให้มีรูปร่างโค้ง (boomerang shape) ซึ่งนอกจากแหล่ง ที่อยู่อาศัยแล้ว ลักษณะของกรีและอวัยวะเพศนี้เป็นลักษณะหนึ่งเช่นกันที่ใช้ในการแบ่งแยกระหว่างกุ้งหัวมันชนิดนี้กับกุ้งหัวมันน้ำจืด (M. Tenuipes) .

ปริมาณและการแพร่กระจายของกุ้งหัวมันชนิด M. brevicornis ในทะเลสาบสงขลา . ปริมาณที่พบกุ้งหัวมันสองชนิดในแต่ละบริเวณและในแต่ละปีจะแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจาก สภาวะอากาศปริมาณน้ำฝน ความขุ่นใสของน้ำและกระแสลม จากผลงานวิจัยของ อังสุนีย์ และคณะ (2542) พบว่า กุ้งหัวมันชนิด M. brevicornis พบไม่สม่ำเสมอในทุกบริเวณ บริเวณชายฝั่งจะพบมากในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ส่วนบริเวณทะเลสาบสงขลา ตอนนอกพบระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม และบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนในพบระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม ในช่วงปีพ.ศ. 2540 พบกุ้งหัวมันน้ำเค็มมากเกือบตลอดทั้งปีทั้งทะเลสาบ ตอนในและตอนนอก ทั้งปริมาณกุ้งที่พบก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความมากน้อยของปริมาณกุ้งที่จับได้ด้วย .

การผสมพันธุ์ และการวางไข่ เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์กุ้งเพศผู้และเพศเมียจะมาอยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งต่างจากฤดูกาลอื่นจะพบว่ากุ้งส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบแยกเพศ กุ้งเพศผู้จะมีสีเหลืองจัดและมีน้ำเชื้อที่ถุงเก็บน้ำเชื้อที่ขาเดินคู่ที่ 5 มองเห็นเป็น สีขาวอย่างชัดเจน ขนาดของกุ้งที่พบว่ามีน้ำเชื้อจะมีขนาดตั้งแต่ 5 ซ.ม. น้ำหนัก 1.7 กรัมขึ้นไป และกุ้งเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์มีขนาดตั้งแต่ 7 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 4 กรัมขึ้นไป

กุ้งชนิดนี้จะผสมพันธุ์กัน ในทะเลสาบตอนในและตอนนอกหลังจากนั้นจึงเดินทางไปวางไข่บริเวณชายฝั่งและเมื่อเป็นตัวอ่อนจะเดินทางไปเจริญเติบโตในทะเลสาบแต่เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะใช้ชีวิตอยู่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งจากผลงานวิจัยของ อังสุนีย์ และคณะ (2542) พบว่า มีกุ้งหัวมันที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจำนวนมากในทะเลสาบสงขลาตอนนอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมและพบกุ้งที่มีไข่แก่จำนวนมากบริเวณชายฝั่ง ส่วนลูกกุ้ง วัยอ่อนพบมากในบริเวณชายฝั่งและทะเลสาบตอนนอก กุ้งหัวมันชนิดนี้จะมีการผสมพันธุ์ตลอดทั้งปีแต่พบว่าช่วงที่มีการวางไข่มากที่สุดอยู่ที่เดือน มกราคม มีนาคม และมิถุนายน .


ขออภัย ที่ไม่มีภาพประกอบ หรือว่า....อาจบางที กุ้งหัวมันน้ำเค็มนี้ จะคือ กุ้งตะเข็บ ที่บางกรูด
เพราะมีชาวมีนกรที่รู้จักบางคน เรียกกุ้งในภาพของกุ้งตะเข็บว่า กุ้งหลังไข่

ส่วนกุ้งหัวมัน น้ำจืด


กุ้งหัว Metapenaeus tenuipes Kubo, (1949)
กุ้งหัวมันชนิดนี้ผู้เขียนมักเรียกกุ้งหัวมันน้ำจืด ในระหว่างการสำรวจเนื่องจากพบปริมาณมากในบริเวณที่น้ำค่อนข้างจืด 4-10 ppt. แต่สามารถอยู่ในน้ำที่เค็มได้ (25-30 ppt.) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากการศึกษา (โครงการวิจัยปี 2540-2541) พบว่า กุ้งชนิดนี้จะเดินทางไปหาแหล่งน้ำจืดเพื่อการเจริญเติบโต และการผสมพันธุ์ จากการสำรวจแม้ว่าจะพบเห็นกุ้งชนิดนี้ตลอดปี แต่ช่วงที่พบเห็นในปริมาณมากมี 2 ช่วงในรอบปี ช่วงแรกพบระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ชาวประมงจะรอหลังลมตะเภาเข้า ประมาณ 15-20 วัน จะเริ่มลงไซ ดักจับกุ้งหัวมันระยะแรกจะพบกุ้งขนาดเล็ก 3.5-4 ซม. เนื่องจากน้ำมีความเค็มสูง 25-30 ppt. กุ้งขนาดเล็กจะพบมากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะพบในทะเลสาบตอนนอกเพียงระยะสั้นๆ จากนั้นจะพบกุ้งหัวมันน้ำจืดในปริมาณมากบริเวณบ้านปากจ่าและอำเภอปากพะยูน ซึ่งอยู่ห่างจากปากทะเลสาบถึง 25-35 กิโลเมตร มีความเค็มต่ำอยู่ในช่วง 5-15 ppt.

กุ้งหัวมันชนิดนี้จะเดินทางเข้าไปในทะเลสาบตอนในช่วงระยะเวลา 10-15 วัน จะพบกุ้งขนาดใหญ่ความยาวระหว่าง 6-10 ซม. ในปี 2541 จากการออกสำรวจในเดือนมีนาคม พบมีกุ้งหัวมันขึ้นรอบทะเลสาบประมาณวันละ 900-1,300 กก. โดยจะมีปริมาณขึ้นสูงสุดระหว่างข้างแรม 5 ค่ำขึ้นไปจนถึง แรม 12 ค่ำ และจะเริ่มลดน้อยลงจนถึงข้างขึ้น 7-8 ค่ำ เครื่องมือที่ใช้ในการจับคือ ไซนั่ง และข่ายดักกุ้ง ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่พบกุ้งหัวมันชนิดนี้มากกว่าในช่วงแรก อยู่ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ในปี 2537 พบกุ้งหัวมันมีผลผลิตมากประมาณวันละ 800-1,500 กิโลกรัม ติดต่อกันถึง 45 วัน (อังสุนีย์, 2539) แต่ในปี 2538 พบกุ้งหัวมันมีผลผลิตลดลงมีเพียงวันละ 400-700 กิโลกรัมติดต่อกันเพียง 22 วัน กุ้งชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดสิงคโปร์และ มาเลเซียมาก (จากการสอบถามแม่ค้าผู้รวบรวมสัตว์น้ำส่ง)
ที่มา
http://www.nicaonline.com/

เป็นอันว่า ชาวบางกรูดขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูลให้ชาวทะเลสาบสงขลา ก็แล้วกันนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น