วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

เต่านาแลเต่าดำ... อยู่ในน้ำกะจระเข้

มัศยาเยื้องกรายสายนที10


เต่านาตัวน้อย ตัวจริงยาวประมาณ 5-6 นิ้ว

เต่านา หรือ เต่าสามสัน อยู่ในสกุล Malayemys
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า M. macrocephala และ M. subtrijuga
เป็นสัตว์เลื้อยคลานสองชนิดจำพวกเต่า
สำหรับชนิดแรกนั้นเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาเต่าทั้งหมดที่พบในประเทศไทย สามารถพบได้ทุกภาค มีลักษณะกระดองสีน้ำตาลอ่อน หัวมีสีดำมีลายสีขาวเป็นเส้นใหญ่จากจมูกผ่านนัยน์ตาตอนบนและจากปากผ่านนัยน์ตาตอนล่าง 2 ขีด มีลายขาวที่แก้มด้วย ลายเส้นขาวใหญ่นี้เป็นจุดเด่นของเต่าชนิดนี้ ผิวหนังทั่วไปและขามีสีเทาดำ ความยาวกระดองเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1/2 กิโลกรัม

ส่วนชนิด M. subtrijuga เป็นชนิดที่เพิ่งแยกออกมาใหม่ พบได้ในแถบภาคอีสาน มีลักษณะความต่างจากชนิดแรก คือ จะมีขีดตามแนวตั้งใต้จมูก 4-5ขีด ซึ่งมากกว่า และเส้นขีดที่นัยน์ตาจะเล็กกว่า รวมทั้งมีรูปร่างที่เล็กกว่าด้วย
เต่านาทั้งสองชนิดนี้ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
จากวิกืพีเดีย

เมื่อขึ้น15 ค่ำ ครั้งก่อน พลอยโพยมตื่นเช้า ก่อนหกโมงไปถ่ายรูปพระจันทร์ค้างฟ้าที่หลังบ้าน ก็เจอเต่าน้อยนอนขวางทาง แล้วก็คลานหนีเข้าพงหญ้าไปในที่สุด


เต่าหม้อ (ชื่อสามัญ)
เต่าวัด (ชื่อสามัญ)
เต่าบัว (ชื่อสามัญ)
เต่าบึง (ชื่อสามัญ)
YELLOW-HEADED TEMPLE TERRAPIN (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Hieremys annandalei (ชื่อวิทยาศาสตร์)

ลักษณะทั่วไป

กระดองหลังมีสัณฐานโค้ง ขอบล่างของกระดองมีลักษณะเป็นทรงกลม ลูกเต่าในวัยอ่อนกระดองหลังจะมีสีเขียวเข้ม ลักษณะเหมือนใบบัว เมื่อโตเต็มที่จึงจะเปลี่ยนเป็นสีดำ กระดองส่วนท้องมีสีเหลือง แขนและขาสีเทาเข้มในบริเวณส่วนหน้าขาและแขน ด้านท้ายของขาและแขนจะมีสีเทาอ่อน ๆ ผิวหนังสีขาว หัวจะมีสีเขียวแกมเหลือง และมีจุดเหลือง แต่พอโตเต็มวัยสีเหลืองนั้นจะกลายเป็นสีหม่นอกและตามีสีขาวขุ่น ๆ

ถิ่นอาศัย
พบในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ทางแถบภาคกลางของประเทศ เช่น กรุงเทพฯ นครปฐม อ่างทอง กาญจนบุรี อยุธยา ฯลฯ

อาหาร
กินเนื้อสัตว์และพืชน้ำ

ขนาด
กระดองหลังยาวประมาณ 45 ซ.ม. มีน้ำหนักประมาณ 12 กก.

ประโยชน์
เนื้อใช้ปรุงอาหาร
ที่มาภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย




ในสมัยพลอยโพยมยังเด็กๆ ไม่เคยพบเห็นเต่า จะได้ดูเต่าว่าหน้าตาตัวจริงเป็นอย่างไร ถึงเดินได้ช้านัก แต่เพราะมีมานะอดทน และไม่ตีตนไปก่อนไข้ว่า ไปวิ่งแข่งกับกระต่ายละก้อ ต้องแพ้แน่นอนตั้งแต่อยู่ในมุ้งเต่ากันแล้วละ จนในที่สุดเพราะความประมาทของกระต่าย เต่าจึงชนะในที่สุด
เราต้องไปที่สวนสัตว์ดุสิตจึงจะได้เห็นเต่า แต่ว่าคุณพ่อพลอยโพยมไม่พาไปสวนสัตว์ดุสิต กลับพาไปดูเต่า ตัวเล็กๆ สามสี่ตัว ที่คลานไปมาในบ่อน้ำจำลองที่ประดิษฐ์ตกแต่งมีภูเขาเล็กๆ ที่หน้าวัดสามปลื้ม จำได้ว่าพ่อพาไปแล้วบอกว่าพามาดูเต่า (เพราะไม่ต้องเสียค่าเข้าไปดูกระมัง เดาเอาน่ะค่ะ) กว่าจะได้ไปสวนสัตว์ดุสิต ก็โตมากแล้วและไปกับคุณน้า



แต่ในระยะสี่ห้าปีมานี้ น่าแปลกใจที่ฉะเชิงเทรา มีเต่าออกมาเพ่นพ่านทั่วเมือง ทั้งตามถนนหนทาง ตามสวน ตามบ่อน้ำต่างๆ จะพบเห็นได้บ่อยมาก
หลังจากพบเต่าน้อยภาพบนสุด เมื่อวาน ตอนหัวค่ำ น้องก็เจอเต่าดำใหญ่ คลานอยู่ริมถนนใหญ่สี่เลนเข้าตัวจังหวัด เลยอุ้มกลับมาบ้านใส่ตุ่มไว้หนึ่งคืนเพราะกลัวจะถูกรถคันอื่นชน




พอรุ่งเช้าพลอยโพยมก็ขับรถเอาเต่าไปปล่อยที่บ่อน้ำใหญ่ของวัดบางกรูด ระยะทาง ยี่สิบกว่ากิโลเมตร เพราะไม่แน่ใจว่าหากปล่อยไว้ในบ่อน้ำที่บ้าน คุณเต่าผู้ใหญ่ตัวนี้ จะคลานขึ้นมาเพ่นพ่านบนบกแล้วถูก พวกคนงานของปั้มแก๊ส ปั้มน้ำมัน ใกล้บ้าน จับไป หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นวัดบางกรูด การเพ่นพ่านอยู่ในบริเวณวัด น่าจะมี หมวกกันน๊อค ช่วยป้องกันผองภัยได้ชั้นหนึ่ง




ก็เลยถ่ายรูป เต่าผู้ใหญ่เก็บไว้ว่า นี่คือบุญ ที่ร่วมกับน้อง นำพาเต่าเข้าวัด พลอยโพยมไปวัดคนเดียว กลับมาบ้าน หลังยอกไปหนึ่งวันทีเดียว เพราะก้มลงจัดกระแป๋งใส่เต่า ไว้ในรถ เลื่อนเบาะ จัดที่ให้ล๊อคกระแป๋งไม่ให้ล้มเวลาเบรคกะทันหัน พอไปถึงวัด ตอนยก คุณเต่าขึ้นมา เลยทุลักทุเล พอเอาวางพื้น ก็ปวดแปลบที่หลังเล็กน้อย ต้องขอแรงคนอื่นช่วยอุ้มคุณเต่าออกจากกระแป๋งให้ ( ตอนยกขึ้นรถ น้องจัดการให้)



พลอยโพยม และน้อง รวมทั้งคนช่วยอุ้มคุณเต่า คงจะมีอายุยืนยาว ที่ได้ ปล่อยเต่า ตัวใหญ่อายุยืนแบบนี้แน่ๆเลย แม้จะยอกหลังไปสักหน่อย ก็ เอาเถอะน่า อิ่มอกอิ่มใจเสียเหลือประมาณเลยงานนี้ ระยะทางไปกลับตั้งห้าสิบกิโลเมตร นะคะคุณเต่า
ภาพนี้คุณเต่ากำลังคลานลงบ่อน้ำ เพราะความชัน เวลาลงน้ำเสียงดังโครม น้ำกระจายเลย


จระเข้น้ำเค็ม


จระเข้น้ำจืด
ในภาพนี้จระเข้อ้าปาก น่าฉงนใจอยู่ไม่น้อยว่าจระเข้น้ำจืดชอบอ้าปากหรือกระไร


จระเข้น้ำจืด หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หรือ จระเข้บึง ชื่อสามัญ

Freshwater หรือ Siamese Crocodile; ขื่อสามัญภาษาอังกฤษ
Crocodylus siamensis) ชื่อวิทยาศาสตร์

มีถิ่นกำเนิดในบริเวณ เวียดนาม, เขมร, ลาว ไทย, กะลิมันตัน, ชวา และสุมาตรา

มีรูปร่างคล้ายคลึงกับจระเข้น้ำเค็ม ผิดกันตรงที่ลำตัวของจระเข้น้ำจืดมีลำตัวป้อมสั้นกว่าปากค่อนข้างทู่ ลักษณะสำคัญของจระเข้ชนิดนี้มีเกล็ดตรงบริเวณท้ายทอย 4 เกล็ด

มีขนาดปานกลาง ค่อนมาทางใหญ่ (3 - 4 เมตร) มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10 - 12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20 - 48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68 - 85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว

จระเข้น้ำจืด โดยปกติจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ
ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ

ในอดีตเคยพบทั่วไปตามแหล่งน้ำที่มีน้ำจืดสนิท ในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ในแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อยุธยา ชัยนาท นครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคยมีอย่างชุกชุมในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตรก็ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีจระเข้
ชุกชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น

แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว สถานะในธรรมชาติเชื่อว่าหลงเหลืออยู่เพียงที่เดียวคือ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดนครนายก เท่านั้น[1] แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่ที่ทะเลสาบเขมรอยู่ สถานะในอนุสัญญาของไซเตส ได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1)
ปัจจุบัน จระเข้สายพันธุ์นี้แท้ ๆ ก็ยังหายากในสถานที่เลี้ยง เนื่องจากได้ถูกผสมสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไป เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

ที่มา วิกิพีเดีย และ
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย


เมื่อมีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ ก็มีเรื่อง เล่าลือ ที่นานๆครั้งจะได้ยินเสียงลือ ว่า ในแม่น้ำ มีจระเข้ เข้ามา โผล่ขึ้นมาที่ ตำบลโน้นบ้าง ตำบลนี้บ้าง บางครั้งก็ลือว่า คว่ำเรือคนที่พายเรืออยู่ในแม่น้ำ บางครั้งก็ลือว่า คาบเอาเด็กไปกิน ก็จะทำให้เด็กๆ ในบ้านหวาดกลัว ไม่ค่อยกล้าลงเล่นน้ำ บางครั้งเห็นสะโพกจากที่มีคนตัดจาก ตัดเป็นท่อนๆ ( หมายถึงโคนทางจากใหญ่ที่อยู่พ้นดิน ) ลอยน้ำผลุบๆโผล่ๆ มาแถวหน้าบ้าน ก็ ร้องตกอกตกใจว่า จระเข้มาแล้ว ในตอนนั้นไม่เคยมีการตรวจสอบว่าข่าวลือนี้จริงหรือไม่จริง พอมีการเล่าขานกันที่ตลาดวัดบางกรูด ทุกคนก็เชื่อตามข่าวนั้นๆ เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ในการสร้างเรื่องไม่จริงเอามาเล่าให้ตระหนกตกใจกัน ข่าวลือที่เอามาเล่าสู่ ก็เพื่อบอกเตือนให้ทุกคนระวังตัว ดูแลคนในครอบครัวให้ปลอดภัย

เรื่องจระเข้ในแม่น้ำนี้ คงมีจริงมาแต่ครั้งโบราณ เนื่องด้วย ที่อำเภอบ้านโพธิ์นี้ มีตำบลหนึ่งชื่อว่าตำบลสิบเอ็ดศอก อันมีเรื่องเล่าขานตำนานของที่มาของชื่อของตำบลว่า

ตำบลสิบเอ็ดศอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านโพธิ์ ความเป็นมาของชื่อตำบล มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีวังน้ำกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า วังตายก รอบ ๆ วังน้ำเป็นป่าจาก คนจีนมีอาชีพตัดจากขาย ได้สร้างบ้านอยู่บริเวณชายฝั่งวังน้ำนี้ อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากได้ตัดยอดจากเพียงพอแล้วก็เดินทางกลับบ้าน ขณะที่เดินทางเข้ามาใกล้บ้านพบจระเข้ตัวใหญ่ นอนอ้าปากขวางทางอยู่ ด้วยอาการตกใจ จึงเอายอดจากที่ตัดมาพุ่งเข้าไปในปากจระเข้ และตีซ้ำ จนจระเข้ตาย วัดความยาวของจระเข้ได้ 11 ศอก เป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป และสถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า “บ้านสิบเอ็ดศอก” บางคนเล่าว่าเคยเห็นศาล และมีซากหัวจระเข้วางอยู่ด้วย


เป็นอันว่า นอกจากฉะเชิงเทรา จะมีปลาช่อนตัวใหญ่แล่เป็นริ้วได้ถึง แปดริ้ว ซึ่งโดยปกติ ทั่วไป ปลาช่อนจะแล่ได้ประมาณ สี่ ถึงห้า ริ้ว เท่านั้น
ยังมีจระเข้ตัวยาวใหญ่ขนาดความยาวถึง สิบเอ็ดศอก อีกด้วย แสดงว่าเมืองฉะเชิงเทรานี้แสนอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก
แต่ว่าจระเข้ตัวใหญ่ขนาดนี้ ทำไมตายด้วยยอดจากเอง หรือบางทียอดจากที่แทงเข้าไปในปากคงไปถูกจุดสำคัญข้างในของจระเข้เข้ากระมัง ขนาด ชาลวัน ชาวจระเข้เมืองพิจิตร ยังต้องใช้หอกลงอาคมสัตตโลหะของไกรทองแทงถึงได้บาดเจ็บหนีกลับเข้าถ้ำทองใต้บาดาล


เมื่อมีข่าวคราวเรื่องจระเข้ ก็ไม่มีเด็กคนใดลงไปเล่นน้ำหรืออาบน้ำในแม่น้ำ แค่แหย่มือหรือขาลงไปในน้ำก็กลัวแล้ว เวลาพายเรือก็เหลียวซ้ายแลขวา เห็นอะไรดำๆ ลอยมาก็ขวัญหนีดีฝ่อกันไปหมด แล้วก็จะมีข่าวตามมาอีกว่า จระเข้ เลยชุมชนบางกรูดของเราแล้ว ขึ้นไปทางด้านบนบ้าง( อำเภอเมือง และอำเภอบางคล้า) ลงไปด้านล่างบ้าง ( ทางอำเภอบางปะกง)แต่ก็แปลก ที่พอนานไป ๆ แม้จะไม่ได้ข่าวว่า จระเข้ ถูกจับได้ เด็กๆ ก็ เลิกกลัวไปเองตามกาลเวลา


มีเรื่องส่วนตัวขอเล่าแทรก เรื่องของจระเข้
เด็กๆหลานของคุณยาย แทบทุกคน จะสวมกำไลทอง บางคนก็มีทั้งกำไลมือ และกำไลข้อเท้าในตอนเป็นเด็กเล็ก ลักษณะกำไลกลมกลวงบิดได้ มีปลายสองด้านขยับชิดหรือถ่างออกได้ เวลาสวมใช้บิดปลายให้ถ่างออกจากกันสอดข้อมือแล้วบิดปลายสองด้านให้บรรจบกัน บิดถ่างห่างจากกันเมื่อต้องการถอด เป็นกำไลเกลี้ยงไม่มีลูกกระพรวน เมื่อโตขึ้นมาก็ถอดออกเก็บไว้ เอาไว้ใส่ให้กับน้องๆ ที่เกิดตามมา แต่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะเอามาใส่อีกในเวลาแต่งตัวสวยไปไหนๆ หรือตามคุณยายไปทำบุญ จนมาถึงเหลนคนหนึ่งของคุณยาย เป็นหลานสาวคนโตของคุณแม่ของพลอยโพยมเอง ปัจจุบัน หลานคนนี้อายุ 32 ปีแล้ว
หลานสาวจำได้ว่าคุณแม่พลอยโพยมเล่าให้ฟังเมื่อครั้งเขายังเด็กๆ นอนกับคุณย่า ( หมายถึง คุณแม่พลอยโพยม) ว่า
เด็กทุกๆคน ต้องสวมกำไลไว้ประจำตัว เพราะหากพลาดพลั้งถูกจระเข้จับไปกิน เวลาจับจระเข้ได้เอามีดผ่าท้องจระเข้ดู ก็จะพบแขนหรือขาที่มีกำไลติดอยู่ จะได้รู้ว่าเป็นลูกหลานใครบ้านไหน ถูกจระเข้จับไปกินบ้าง ถ้าเด็กหายไปจะได้รู้ว่าเด็กเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ เข้าไปอยู่ในท้องจระเข้เสียแล้ว

หลานเขาฝังใจจำมาแต่เล็ก จนมารื้อฟื้นเรื่องเล่าของจระเข้ตอนคุณแม่ป่วยหนักในห้องไอซียู หลานมาเฝ้าแล้วชวนคนไข้พูดคุยเรื่องเก่าๆ สมัยหลานคนนี้เป็นเด็กๆเพื่อให้คนไข้เพลิดเพลิน พยาบาลในห้อง รวมทั้งคนไข้คนเฝ้าไข้เตียงข้างๆ ขำชอบใจ กับเรื่องเล่า ..เยาว์วัย ของ ย่าหลาน คู่นี้มากๆ พลอยโพยมก็เลยได้ยิน ไม่เห็นแม่เล่าให้ฟังเลย จนเสร็จงานเรียบร้อยดี ไปแหงนดูรูปเก่าของเด็กขนาดเพิ่งคว่ำได้ ที่เรียงแขวนบนฝาผนังบ้านครบทั้งห้าคน ก็เลยเห็นว่า เด็กทุกคนสวมกำไลมือกำไลเท้าจริงๆ

มาวันนี้...ไม่มีโอกาสได้ถามท่านว่าที่ใส่กำไลมือกำไลเท้าให้เด็กๆเพราะสาเหตุเรื่องจระเข้จริงๆหรือ... เสียแล้ว

ในหนังสือประถมก กา บอกว่า

ปูแสมแลปูนา กะปูม้าปูทะเล
เต่านาแลเต่าดำ อยู่ในน้ำกะจระเข้
ปลาทูอยู่ทะเล ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี....
...

ตอนนี้ ปู หอย กุ้ง เต่าและจระเข้ ที่มาเยี่ยมเยือนในตอนเด็กๆก็เล่าครบแล้วตามวิถีไทยในชนบท
เหลือแต่ปลา มัศยาตัวจริง...จะเล่าอย่างรวบรัดกว่าที่แล้วๆมา เพราะปลาที่เคยพบในตอนเด็กคงในราวๆ 50 ชนิด ถ้าเล่าละเอียดทุกตัว ก็คงเยิ่นเย้อมาก ไม่ต้องเล่าเรื่องอื่นๆกันแล้ว

และขอเล่าเสริมเรื่องกุ้งต้มเค็มอีกเล็กน้อย
ถ้าเป็นกุ้งก้ามกราม ต้มเกลืออย่างเดียวจนเกลือเกาะเปลือกกุ้ง

ถ้าเป็นกุ้งเล็ก
กุ้งต้มเค็มนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 วัตถุประสงค์
ถ้าใช้กินเป็นกับข้าวเฉยๆ จะต้มเกลืออย่างเดียว แต่ ไม่เค็มจัดเหมือนกุ้งก้ามกราม เค็มประมาณว่ารสปะแหล้มปะแหล้มเท่านั้น

แต่ถ้ากินแนมกับน้ำพริก จะเป็นกุ้งต้มเกลือกับน้ำตาลปี๊บ ปกติตอนเด็ก รสเค็มนำหน้ารสหวาน แต่เมื่อโตขึ้นมามีครอบครัวเอง ก็รสเค็มหวานแบบไหนได้ตามใจชอบของแต่ละคน แต่ในตอนเด็กๆ ต้องกินตามรสฝีมือ แม่ละม่อม โดยยึดความชอบของคุณยายเป็นใหญ่
การกินน้ำพริกกะปิ ต้องดู ว่า กินกับผักอะไร จึงจะแนมด้วยปลาทูทอด ผักอะไรกินกับกุ้งต้มเค็ม เป็นต้นว่า กระถิน ใบโหระพา มะเขือพวง ผักกระเฉดสด ต้องแนมด้วยกุ้งต้มเค็ม จะอร่อยกว่า ปลาทูทอด
ที่บ้านกินกันมาอย่างนี้อาจไม่ตรงกับรสนิยมของคนอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น