วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ต้นใบพาย ...ที่หายลับกับวันวาน


พลอยโพยมขออภัยที่ขอใช้หน้า blog นี้ตอบคำถามจากข้อคิดเห็น ของ 2 ท่านเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านอื่น ๆ ที่สนใจข้อมูลนี้ด้วย

จากบทความวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เรื่อง ลีลาปลาตีน...เลนถิ่นปลาเขือ
คุณ Tam Urzaorage ได้มีคำถามเมื่อ วันที่24 กรกฎาคม 2556 ว่า ใช้ดินอะไรปลูกว่านใบพายหรอครับ ต้องขออภัยคุณ Tam Urzaorage ที่ไม่ได้ตอบคำถุามนี้ทาง e-mail







จากบทความข้างต้น ต้นใบพายของพลอยโพยมหมายความถึงต้นใบพายตามภาพที่แสดง เป็นใบพายที่พลอยโพยมเคยพบเห็นมากมายที่ชายน้ำบางปะกงที่บ้านหน้าวัดบางกรูดโดยเฉพาะคลองที่ขุดอ้อมข้าง ๆ และหลังบ้านอื้อเฮียบหมง มีต้นใบพายชนิดนี้ขึ้นเรียงรายกันเป็นกอใหญ่บ้าง กอเล็กบ้างเป็นจำนวนมาก ลักษณะดินที่มีต้นใบพายมาขึ้นอยู่นี้เป็นดินลักษณะดินเลนชายฝั่ง ปลาตีนจะมาคลานเล่นกระโดดเรี่ยพื้นเลนไปโน่น ไปนี่ ในเวลาน้ำลง เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นต้นใบพายเหล่านี้ก็จะจมอยู่ใต้น้ำ

เมื่อพลอยโพยมย้ายบ้านมาจากบ้านบางกรูดหลายปี จนในที่สุดบ้านอิ้อเฮียบหมงถูกรื้อถวายวัดบางกรูดไป นานเข้า นานเข้า คลองนี้ก็ตื้นเขินเพราะในอดีตจะต้องมีการขุดลอกคลองเป็นประจำ เมื่อไม่มีการขุดลอกคลองทั้งดินเลน ไม้ชายน้ำต่าง ๆ เช่นจาก แสม ลำพู ตะบูนขาว ถอบแถบน้ำ และวัชพืชต่าง ๆ ก็รุกล้ำจนหมดสภาพคลอง ด้านข้างสะพานท่าน้ำอื้อเฮียบหมงด้านซ้ายที่เคยมีต้นใบพายขึ้นอยู่ก็เช่นกันรกเรื้อจนมองไม่เห็นดินชายฝั่ง

ต่อมาพลอยโพยมได้พบเห็นต้นใบพายที่เคยรู้จักคุ้นเคยขายในร้านค้าต้นไม้ (พรรณไม้ชายฝั่งและพรรณไม้น้ำ ) ที่สวนจตุจักรเมื่อประมาณราวสิบปีที่แล้วปลูกอยู่ในกระถางจึงซื้อมาพร้อมพรรณไม้น้ำอื่น ๆ เช่นคล้าน้ำ อเมซอน ใบพายชนิดที่หลาย ๆ คนเรียกว่าสันตะวาใบพาย




บางครั้งเมื่อน้ำในกระถางที่ปลูกพรรณไม้น้ำดังกล่าวนี้แห้งเหือดนานเป็นเดือน ๆ  พรรณไม้น้ำก็พร้อมใจชักชวนกันตายไปด้วยกันก็ตามที แต่เมื่อเติมน้ำลงไปใหม่พรรณไม้น้ำเหล่านี้ก็เจริญเติบโตได้ใหม่จากเหง้าเดิมในกระถาง แต่แล้ว จู่ ๆ ต้นใบพายจากสองภาพข้างบนก็ล้มหายตายจากลาลับหลบเร้นไม่เห็นต้นและเหง้าไปอย่างสิ้นเชิงไม่มีการงอกต้นใหม่ให้ รอจนเป็นปี ๆ ก็ไม่มีต้นใหม่ให้อีกเลย

พลอยโพยมกลับไปหาที่สวนจตุจักรอีกหลายครั้ง แม้แต่ในปัจจุบันนี้หากได้ไปจะสอดส่องมองหาก็ไม่เคยพบว่าแม่ค้านำมาขายอีกเลย เคยหาซื้อตามร้านค้าขายปลาตู้ก็พบแต่พรรณไม้น้ำอื่น ๆ

พลอยโพยมหวนกลับไปบางกรูดตระเวนตามหาต้นใบพายตามบ้านญาติ คนรู้จัก ไล่ตามลำน้ำบางปะกงจากบางกรูดไปจนถึงแถบบางคล้า เมื่อถามหาจะได้รับคำตอบว่าต้นใบพายนี้สูญหายไร้ร่องรอยไปในช่วงที่น้ำทะเลรุกล้ำมาทำให้น้ำในแม่น้ำบางปะกงเป็นน้ำกร่อยเป็นเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิมบางปีเป็นน้ำกร่อยเกือบแปดเดือน และยังมีกุ้งกุลาดำมาเป็นความฝันของคนที่มีที่ดินติดชายแม่น้ำ รื้อสวน รื้อนาพากันทำบ่อเลี้ยงกุ้งกันเกือบทั้งบางและหลาย ๆ บาง

ต้นใบพาย ปลาตีน ปลาเขือ ปูตัวเล็กตัวน้อย ลดจำนวนจนบางพื้นที่ไม่เคยพบเห็นหลังจากหิ่งห้อยที่เคยพราวพร่างสว่างตาเวลามืดมลายหายไปไม่หวนคืนให้ตื่นตาอีกต่อไปโดยค่อย ๆ ลดจำนวนลงและไม่มีเลย



เพราะน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในบ่อดินต้องมีระดับความเค็มที่เพียงพอ เกษตรกรต้องสั่งซื้อน้ำทะเลมาผสมในบ่อเลี้ยงให้ได้ระดับความเค็ม และน้ำที่มีความเค็มในบ่อเลี้ยงเหล่านี้จะถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำบ่อแล้วบ่อเล่า นอกจากความเค็มแล้วยังมีสารเคมี ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้เพื่อเป็นการรักษาโรคของกุ้งกุลาดำที่เกิดปัญหาป่วยในระหว่างการเลี้ยง แม้บ่อเลี้ยงของเกษตรกรบางคนไม่มีปัญหาต้องพึ่งยาวิทยาศาสตร์ที่เป็นสารเคมีต่าง ๆ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ปลอดโรคก็ยังมีสารเคมีตัวอื่น ๆ ในปริมาณมากและเป็นการใช้สารเคมีหลายชนิดด้วยกัน

ดังนั้นระบบนิเวศวิทยาทีี่่มีสา่รเคมีมากมายได้ทำลายวงจรชีวิตของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะหิ่งห้อยที่ต้องคอยพึ่งพาสัตว์น้ำอื่น ๆ จึงไม่อาจดำรงพันธุ์อยู่ได้
ทั้งนี้ก็รวมไปถึงพืชพรรณไม้น้ำด้วย

ฝันร้ายจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของชายฝั่งบางปะกงผ่านไป แต่สิ่งที่คงเหลืออยู่ คือความรกร้างทรุดโทรมของแผ่นดิืนที่เคยเขียวขจีของสวนไร่และนาข้าว


แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่หลาย ๆ แห่งที่ริมฝั่งบางปะกงเริ่มมีหิ่งห้อยให้แสงวิบวับบ้างแม้จะไม่ถึงขั้นพร่างพรายประกายแสง มีปลาตีนเริ่มคลานและกระโดดเรี่ยเลนให้พบเจอในหลายพื้นที่ ปูก้ามดาบ ลูกปูหลาย ๆ สีมีให้แลชมในบางฤดูกาล แต่ต้นใบพายยังหายลับไม่คืนกลับมา ภาพต้นใบพายในกระถางนี้พลอยโพยมไปถ่ายมาจากกรมประมงที่บางเขนเมื่อสามสี่ปีก่อน ย้อนไปหาใหม่ก็ไม่พบเจอเสียแล้วเช่นกัน

แต่เท่าที่หาเรื่องราวของต้นใบพายจากอากู๋ผู้รอบรู้หลักแหลม ( Google ) " ปราชญ์ไอที "ที่ล้ำเลิศของผู้คนยุคนี้ พบว่ามีคุณปัทมพงษ์ โพสต์ข้อความไว้ตั้งแต่เดือน มกราคม 2012 ว่า
บ้านสวนพชรที่บ้านสวนอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการใกล้แม่น้ำเจ้าพระยายังมีต้นว่านใบพายหาได้ไม่ยากจึงอยากอนุรักษ์ไว้ให้คนได้รู้จัก โดยมีจำหน่ายด้วย
ซึ่งสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่หมายเลข  081 -6940200 หรือ 084-563-1782
นาย ปัทมพงษ์ บุญสอาด
ธนาคาร ธนชาต สาขา สามแยก405
เลขบัญชี 405-2-22800-6
http://www.bansuanpa-chara.com

พลอยโพยมก็อยากอนุรักษ์ต้นใบพายไว้เช่นกัน



ต้นใบพายของคุณปัทมพงษ์



เมื่อลองติดตามอ่านดูหลาย ๆ ที่ ก็พบว่าชาวประชาที่เลี้ยงปลากัด เรียกต้นใบพายนี้กันว่า ต้นว่านใบพาย ซึ่งชาวบางกรูดเรียกว่า ต้นใบพาย และเด็กๆ ที่เลี้ยงปลากัด ก็ใช้ต้นใบพายชนิดนี้ใส่ในโหลปลากัดกัน

พลอยโพยมมีข้อมูลมาแบ่งปันตามเอกสารที่มีในมือ แต่ไม่มีเอกสารหนังสือเรื่องว่านเลย ขอใช้ข้อมูลตามที่มีแบ่งปันข้อมูลดังนี้


วาน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cryptocoryne ciliata Roxb
ชื่อพ้อง -
ชื่ออื่น ว่านน้ำรูปใบหอก




เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี
ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ในดินใต้น้ำส่งใบและดอกเจริญเหนือน้ำ
ใบ
เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบรูปไข่ปลายใบแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ ใบยาว 15-40 เซนติเมตร กว้าง 3-5 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนสีเขียวสด ผิวใบด้านล่างสีเขียวหม่น ก้านใบยาว 15-30 เซนติเมตร หรือขึ้นกับระดับน้ำ
ดอก
ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกสั้น มีใบรองรับช่อดอกลักษณะเป็นกาบรูปทรงกระบอกยาวปลายเปิดเป็นรูปไข่ เรียวแหลม ขอบใบมีขนยาวสีม่วงชมพู
พบตามลำธารในป่้าพรุและป่าดิบชื้น


ส่วนพรรณไม้น้ำที่เรียกว่า ใบพาย



ใบพาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cryptocoryne balansae Gagnep
ชื่อพ้อง -
ชื่ออื่น -
เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี จัดเป็นพืชใต้น้ำ ต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น ๆ ส่วนเหนือดินลักษณะเป็นกอประกอบด้วยโคนก้านใบหุ้มประกบไว้
ใบ
เป็นใบเดี่ยวมีก้านสั้นกว่าแผ่นใบซึ่งมีลักษณะเรียวยาว แผ่นใบไม่เรียบเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ใบสีเขียวสด ใบยาวประมาณ20-30 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ดอก
ออกเป็นช่อยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีกาบสีม่วง ยาวเรียวและบิดเล็กน้อยหุ้มช่อดอกไว้
เป็นพืชที่พบได้ในบ้านเราแต่ไม่บ่อยนัก สามารถขึ้นได้ทั้งในน้ำกระด้างและที่มีแสงจัด นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลา

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
พรรณไม้น้ำในประเทศไทย ของรองศาสตราจารย์คุณหญิงสุชาดา ศรีเพ็ญ ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พลอยโพยมมีภาพจากหนังสือพรรณไม้น้ำสวยงาม กรมประมง ฯ ดังนี้





ขอขอบคุณภาพจาก พรรณไม้น้ำสวยงาม ของสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรมประมง ฯ


พรรณไม้สกุล Cryptocoryne มักเรียกกันว่า คริป (Crypts ) เป็นพรรณไม้น้ำที่อยู่ในวงศ์ Araceae จัดเป็นพืชมีดอกใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชล้มลุกขึ้นในน้ำจืด ตามหนองบึงที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขังตื้นๆ หรือบริเวณริมคลองที่มีน้ำไหลเอื่อย ๆ
ลักษณะลำต้น
เป็นเหง้าใต้ดินมีไหลสั้น ๆ ใบแตกออกเป็นกระจุกรอบข้อแทงขึ้นมาจากพื้น เส้นใบเรียงตัวขนานกัน ก้านใบเป็นโพรง
ดอก
ออกเป็นช่อชูขึ้นมาเหนือน้ำ หุ้มด้วยกาบประดับที่มีลักษณะเป็นหลอดปลายแผ่ออกคล้ายปากแตรมีส่วนโคนโป่ง
จัดเป็นพรรณไม้น้ำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากเนื่องจากสวยงามแปลกตา ชนิดที่นิยมนำมาประดับตู้ปลา ได้ แก่

C. blassii (บอนแดง) พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย ต้นมีลักษณะเป็นเหง้าแข็งแรง ใบเป็นแผ่นสีน้ำตาลแดงขนาดใบยาว 4-8 เซนติเมตร ก้านใบผอมยาวมีดอกเป็นช่อสีเหลือง



C. ciliata ( ใบพาย วาน้ำ Ciliated Cryptocoryne ) มีการแพร่กระจายในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย
ต้นเป็นแท่งอ้วน ๆ มีไหลสั้น ๆใบเป็นรูปหอกสีเขียวท้ายแหลมปลายแหลมกว้าง 6-10 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1- 5 เซนติเมตร จัดเป็นพรรณไม้น้ำที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง

C. cordata ( ใบพาย Siamese Cryptocoryne ) เป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทย มีใบสีแดงเข้ม สูงได้ถึง 15 - 20 เซนติเมตร

C.balansae (บอนน้ำ ใบพายมวกเหล็ก) เป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทย พบแพร่กระจายบนที่สูงบริเวณน้ำตกหรือลำธารน้ำไหล มีใบรูปหอกแคบยาว ปลายใบแหลม แผ่นใบสีเขียวอ่อนถึงชมพูแดงมีรอยย่นเป็นลอนดูเด่นแปลกตา จัดเป็นพรรณไม้น้ำขนาดกลาง

C.tonkinensis มีใบเรียวยาวขนาดเล็กใบใต้น้ำมีสีเขียวถึงสีน้ำตาลแดง ยาว 20-40 เซนติเมตร กว้าง 5-15 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายเส้นผม

C.wendtii มีใบและก้านใบสีเขียวอมแดง

C. griffithii มีต้นเป็นพุ่มสูง 30-40 เซนติเมตร ใบสีเขียวมรกต ใต้ใบมีสีเขียวอมเทา

พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne จัดเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ช้า ในธรรมชาติจะเกิดต้นอ่อนขึ้นปีละ 1-3 ต้นเท่านั้น

สถาบันนวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้ศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถขายพันธุ์พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne ได้แล้วจำนวน 4 ชนิดคือ C.balansae C. tonkinensis C blassii และ C.wendtii

ในหนังสือเล่มนี้มีพืชในสกุล Acorus ซึ่งมีลักษณะเด่น คือมีใบแตกออกจากลำต้นเรียงกันคล้ายรูปพัดสวยงาม

และเรียกพืชในสกุล Acorus ว่า ว่านน้ำ เป็นพรรณไม้น้ำ ที่อยู่ในวงศ์ Araceae 

จัดเป็นพืชมีดอก ใบเลี้ยงเดี่ยว มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย มีลำต้นเป็นไรโซม ( Rhizome ) อยู่ใต้ดิน

ใบมีลักษณะแบน เรียวยาว ปลายแหลม รูปร่างคล้ายดาบ ฐานใบเป็นกาบเรียงเป็นโคนต้นเป็น 2 แถว

ชอบขึ้นบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง หรือที่ชื้นแฉะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
พรรณไม้น้ำสวยงาม ของสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมง ฯ

ขอตอบคำถามว่าใช้ดินอะไรปลูกใบพาย พลอยโพยมคิดว่าดินที่ปลูกน่าจะเป็นดินประเภทเดียวกับดินที่ใช้ปลูกบัว หรือดินมีลักษณะกึ่งดินโคลน หรือเลนแข็งตามชายแม่น้ำชายคลอง (ถ้าหาได้โดยไม่ต้องซื้อหา)

หรือดินอย่างในภาพต้นใบพายที่อยู่กับพื้นดินของคุณปัทมพงษ์ ซึ่งเป็นต้นใบพายตามธรรมชาติ แต่สำหรับที่พลอยโพยมคุ้นเคยดินจะเหลวกว่านี้

ส่วนคำถามของคุณ tuping เมื่อ25 กรกฎาคม 2556
"กินนร-กินรี เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ ท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นนก ขาเป็นนก แต่ทำไมภาพในเรื่องจึงเป็นคนทั้งตัวแต่มีปีก ผิดลักษณะของสัตว์หิมพานต์น่าแปลกใจดี "
พลอยโพยมขอกล่าวถึงคราวหน้า

เพิ่มเติม
เนื่องจากพลอยโพยมคิดจะซื้อต้นใบพายจากคุณปัทมพงษ์มาลองปลูกชายแม่น้ำบางปะกงที่บริเวณตำบลบางกรูดใหม่ เมื่อวานนี้ก็ไปที่บ้านพี่สุกัลยาแต่เมื่อลองปรึกษากันดูก็คิดว่าลงเอาลงปลูกในคลองบ้านพี่สุกัลยาไม่ได้ นอกจากพี่สุกัลยาต้องปลูกลงกระถางไว้เหมือนที่พลอยโพยมกำลังจะซื้อมาปลุกใหม่

พลอยโพยมปรึกษาคุณมีนกรใกล้ตัวว่าจะเอาไปลงชายคลองแถบตำบลบางซ่อน ( บรรจงฟาร์ม) ได้รับคำอธิบายว่า คงต้องทำใจที่ต้นใบพายนี้คงจะไม่อาจกลับมาแพร่พันธุ์ในธรรมชาติที่ริมชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากแม่น้ำบางปะกงมีระยะเวลาที่น้ำกร่อยนานขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งความเค็มของสายน้ำก็เพิ่มระดับความเค็มขึ้น ทั้งนี้หลังจากปากอ่าวบางปะกงได้ถูกขุดลอกสันดอนออกไปเพื่อให้เรือใหญ่ ๆ ที่บรรทุกสรรพสิ่งหลายอย่างเข้ามาทั้งที่โรงไฟฟ้า ทั้งโกดังสินค้าต่าง ๆ ที่เรียงรายกันริมแม่น้ำผ่านเข้าออกได้สะดวก ในอดีตนั้นเรือบรรทุกขนาดความจุแค่ 100 ตัน จะผ่านเข้ามาในลำน้ำบางปะกงจะต้องรอช่วงที่น้ำทะเลขึ้นมาก ๆ จึงจะล่วงล้ำเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงได้ แต่หลังจากขุดสันดอนแล้วเรือขนาดความจุ 500 ตันก็แล่นเข้าออกได้สบาย ๆ ทุกเวลา ร่องน้ำของแม่น้ำบางปะกงก็เป็นร่องน้ำลึกขึ้นกว่าเดิม น้ำเค็มในทะเลที่เคยมาเปลี่ยนสภาพน้ำจืดเป็นน้ำกร่อยในลำน้ำบางปะกงที่เคยทำให้แม่น้ำเป็นน้ำกร่อยในระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตรจากปากอ่าวกลายเป็น 140 กิโลเมตร ทำให้น้ำกร่อยขึ้นไปถึงจังหวัดปราจีนบุรีจนในที่สุดต้องสร้างเขื่อนทดน้ำ

จากอดีตเวลาหน้าน้ำกร่อยที่กินเวลานาน 4 เดือนนั้น เมื่อถึงฤดูฝนน้ำฝนที่ตกไหลลงมาตามเส้นทางน้ำจากต้นแม่น้ำบางปะกงในเวลาน้ำลงก็ไหลไปสู่ทะเล เมื่อไหลมาถึงสันดอนน้ำจะถูกเก็บกักไว้ไม่ไหลพรวดพราดสู่ทะเลหมด ครั้นน้ำทะเลหนุนกลับมาในช่วงน้ำขึ้นความเค็มของน้ำก็จะเจือจางไปเรื่อย ๆ กับปริมาณฝนที่ตกลงมาเรื่อย ๆ เช่นกัน คนบางกรูดจึงหมั่นคอยฟังข่าวว่าตอนนี้น้ำจืดลงมาถึงไหนกันแล้ว

แต่ปัจจุบันเมื่อน้ำฝนที่ไหลลงมาทำให้น้ำในแม่น้ำเจือจางความเค็มลงไหลไปถึงปากอ่าวก็ไหลเลยไปรวมกับห้วงมหรรณพกว้างใหญ่ไพศาลในทะเลถูกกลืนกินเป็นน้ำเค็มไปหมดสิ้น เมื่อน้ำทะเลหนุนกลับมาก็เป็นน้ำทะเลเค็มจัดไหลเวียนขึ้นมาไปได้ไกลตามความลึกของร่องน้ำ วัฎจักรในธรรมชาติของลำน้ำบางปะกงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วยน้ำมือของมนุษย์
จึงสอดคล้องกับวลีว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์
เมื่อมนุษย์ไขว่คว้าพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างความเจริญทางวัตถุต่าง ๆ ธรรมชาติก็ถูกทำลายไป ธรรมชาติถูกมนุษย์รุกรานรังแกความสมดุลย์ที่เคยมีสูญสลายหายไป โลกจึงรับโทษมหันต์จากธรรมชาติกันอยู่ทุกวันนี้เห็นกันได้ชัดเจนในปัจจุบัน

แม้วิทยาการจะก้าวหน้าไปมากพืชพันธุ์ต่างๆ สามารถเพาะเนื้อเยื่อได้ แต่พืชพันธุ์จากการเพาะเนิ้อเยื่อนั้นไม่อาจแพร่พันธุ์ได้เองในธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว
แม้แต่พืชผักสวนครัวก็ไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้จากพืชผักที่ซื้อหามาบริโภคในตลาด หรือใน ซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากได้มาจากชาวบ้านที่ปลูกเองในธรรมชาติแต่ปริมาณที่ผู้คนจะปลูกพืชผักกันเองในปัจจุบันก็มีน้อยมากเพราะสวนถูกเปลี่ยนสภาพไปมากทุกจังหวัดของเมืองไทยเสียแล้ว ที่ใกล้ตัวพลอยโพยมที่สุดก็คือสวนทั้งหลายที่บ้านบางกรูด

 ช่างน่าเสียดายกับวันคืืนของวันวาน

5 ความคิดเห็น:

  1. สวนจตุจักรมีขายครับคุณอา. ถุงละ20มี3-4ต้น.

    ตอบลบ
  2. สวนจตุจักรมีขายครับคุณอา. ถุงละ20มี3-4ต้น.

    ตอบลบ
  3. ผมกำลังจะหาวิธีขยายพันธุ์ เบื้องต้นว่าจะลองใช้ดินปลูกบัวลองปลูกดู

    ตอบลบ
  4. สวนจตุจักรมีขายครับคุณอา. ถุงละ20มี3-4ต้น.

    ตอบลบ
  5. ผมก็กำลังขยายพันธุ์ใบพายครับ ยิ่งเห็นแบบนี้แล้วมันเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์จริงๆ ครับ ไม่รู้ว่ามันสามารถขยายพันธุ์ในดินแบบดินร่วนปนทรายเหมือนทางภาคเหนือได้ไหม

    ตอบลบ