วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

[บทความ] สุริยวาร... สงกรานต์วัน

สุริยวาร... สงกรานต์วัน

.

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสันนิษฐานว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ลาว เขมร พม่า จีน และไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมบ้าง ทั้งการประกอบพิธี รูปแบบ และพฤติกรรม ในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์



เสถียรโกเศศสันนิษฐานว่า ไทยเรารับประเพณีขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑๓ เมษายน มาจากอินเดียฝ่ายเหนือ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตรงกับการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือที่เรียกว่าฤดูวสันต์ของอินเดีย จัดเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่หนาวจัด ต้นไม้ผลิใบให้ความสดชื่น บังเอิญช่วงเวลานี้ตรงกับช่วงเวลาที่คนไทยเราในสมัยโบราณว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย


สำหรับคำว่า “สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีหนึ่ง ก็เรียกว่าสงกรานต์ แต่ละราศีก็มีกลุ่มดาวอยู่ในนั้น เป็นเฉพาะของราศีหนึ่ง ๆ เหตุนี้ ราศี จะแปลว่ากอง ว่าหมู่ เช่น บุญราศี ก็แปลว่า กองบุญ

เมื่อดวงอาทิตย์โคจรเข้าไปในราศีใดและกว่าจะผ่านพ้นราศีนั้นไปสู่อีกราศีหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน วันเวลาที่ดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่อีกราศีหนึ่ง ท่านเรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ คือ ในเดือนเมษายน เขาเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นเป็นปีใหม่




ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"

วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และ วันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"

จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ ๑๔-๑๖ เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง

วันเถลิงศก หรือ วันพระยาวัน
คือ วันเริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันเริ่มปีใหม่


นางสงกรานต์ชื่อ กิริณี
เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คชสาร (ช้าง)

ทั้งสามวันนี้หากคำนวณตามโหราศาสตร์จริงๆอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้นวันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้

วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี


นางสงกรานต์ชื่อโคราคะ
เสด็จนั่งเหนือพยัคฆา (เสือ)

ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราวจะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ



นางสงกรานต์ชื่อ มโหธร
เสด็จเหนือปฤษฎางค์มยุรปักษา (นกยูง)

วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่งว่า การแบ่งวันสงกรานต์ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก เปรียบเหมือนบุคคลจะขึ้นเรือน
วันสงกรานต์นั้นเหมือนขึ้นไปเพียงบันได วันเนาเปรียบเสมือนขึ้นไปถึงนอกชาน วันเถลิงศกนั้นคือพระยาวันเหมือนเข้าถึงในเรือน

อุปมานี้ว่าด้วยสงกรานต์สามวัน คือพระอาทิตย์ยกก่อนเวลาเที่ยงคืน นับวันต้นเป็นวัน มหาสงกรานต์ วันที่สองเป็นวันเนา วันที่สามเป็นวันเถลิงศก ถ้าอุปมาสงกรานต์ สี่วัน อุปมาว่า
วันแรกมาถึงเชิงบันได หรือก้าวขึ้นไปได้ชั้นหนึ่งหรือสองชั้น วันเนาที่หนึ่งถึงยอดบันได วันเนาที่สองถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือ พระยาวันถึงในเรือน


นางสงกรานต์ชื่อทุงษะ
เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเหนือปฤษฎางค์ ครุฑ

วันมหาสงกรานต์
ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่สู้งอกงามนัก
ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิงคุณนาย จะเรืองอำนาจ
ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้
ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ
ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนและพายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก



นางสงกรานต์ชื่อรากษส
เสด็จเหนือปฤษฎางค์ วราหะ (หมู)

วันเนา

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจ
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะเป็นโรคสัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพง



นางสงกรานต์ชื่อกิมิทา
เสด็จยืนเหนือปฤษฎางค์มหิงสา (ควาย)

วันเถลิงศก

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศา
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง
ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อ
ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐ
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมาก
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อ


นางสงกรานต์ชื่อมณฑา
ทรงไสยาสน์มาเหนือปฤษฎางค์คัทรภะ (ลา)


ตำนานสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์และนางสงกรานต์ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือ ในวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์


นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด มีด้วยกัน ๗ องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็น “ภรรยาน้อย”ของพระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมในตำนาน

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)


สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

หมายเหตุ
ชื่อนางสงกรานต์ในบางตำราจะไม่ตรงกับที่จารึกตำนานมหาสงกรานต์ในบางชื่อ อาจจะได้ตำรามาจากคนละแหล่ง หรือคัดลอกมาผิด


ประกาศสงกรานต์ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๕

ปี มะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๗๔ ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทาง สุริยคติ เป็นอธิกสุรทิน

วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๑๒ นาที ๐๐ วินาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหาร กล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้าย ทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเนตรมาเหนือหลัง มหิงสา ( ควาย) เป็นพาหนะ

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๘ วินาที เปลี่ยน จุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๗๔ ปีนี้ วันจันทร์ เป็น ธงชัย, วันเสาร์เป็น อธิบดี ,วันอาทิตย์ เป็น อุบาทว์ , วันจันทร์เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๕๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๕๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๐๐ห่า ตกในป่า หิมพานต์ ๑๕๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า นาคให้น้ำ ๓ ตัว

เกณฑ์ ธัญญาหาร ได้เศษ ๒ ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินา จะเกิดกิมิชาติ (ด้วงกับแมลง)

จะได้ผล กึ่ง เสีย กึ่ง
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศี วาโย (ลม) น้ำน้อย




ที่มาของข้อมูลและภาพ ตรุษสงกรานต์ของ ส. พลายน้อย
http://www.panyathai.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น