ดอกคำมอกหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia sootepensis Hutch.
ชื่อวงศ์ Rubiaceae
ชื่อพื้นเมืองอื่น ไช่เน่า คำมอกช้าง ผ่าด้าม ยางมอกใหญ่ แสลงหอมไก๋ หอมไก๋
ดอกคำมอกหลวง มีสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็น สีเหลืองเข้ม
มีกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นหลอดรูปกรวย ยาว 1.2-2 เซนติเมตร ปลายเป็นพูด้านหนึ่งแยกลึก ด้านนอกมีขนละเอียดเหนียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกหนา ขอบกลีบม้วนและบิด ดอกบานเต็มที่กว้าง 8-10 เซนติเมตร
ผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงรีหรือไข่ กว้าง 1.8-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.2-4 เซนติเมตร มีสันตื้น 5-6 เส้น ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม เปลือกหุ้มเมล็ดเเข็ง เมล็ดกลมถึงแบน มีจำนวนมาก
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมแผ่กว้าง ลำต้นบิดงอ เปลือกสีครีมอ่อนหรือเทา ค่อนข้างเรียบหรือหลุดลอกเป็นแผ่นบางๆ
เป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงา ดอกสวยมีสีสัน กลิ่นหอมมาก ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และบานนาน 2-3 วัน
ประโยชน์ : เมล็ดต้มเคี่ยวกับน้ำ เป็นยาสระผมฆ่าเหา
ฤดูที่ดอกบาน มี.ค.-ก.ค
ลักษณะนิสัย ขึ้นได้ในดินทั่วไป
ความชื้น ปานกลาง
เป็นไม้ที่อยู่ในแสงแดดเต็มวันได้
ที่มาของข้อมูล นานาการ์เดนท์
และ http://158.108.80.10/plantwebsite/webpage
พลอยโพยมปลูกต้นคำมอกหลวงไว้หลายปีแล้ว กว่าจะได้ชมดอกต้นก็สูงมาก ไม่ได้สังเกตุในปีแรกที่มีดอกจนมาเห็นดอกที่ร่วงหล่นลงมาจากต้นแล้ว ปีต่อมาต้องใช้เก้าอี้ไม้สูงเมตรเศษ ๆ ปีนขึ้นไปถ่ายรูปดอกที่บานแล้ว (ขณะนี้ถูกสั่งห้ามปีนเก้าอี้ถ่ายรูปเสียแล้วโดยลูกชาย) เพราะพื้นดินไม่เรียบเสมอกันนั่นเอง อย่าว่าแต่ปีนเก้าอี้เลย อันที่จริงพลอยโพยมปีนต้นไม้เก่งกว่าเพื่อน ๆ เด็กหญิงด้วยกันในสมัยก่อน เมื่อสองปีที่แล้วพลอยโพยมยังปีนพะองขึ้นไปถ่ายรูปการรองน้ำตาลจากจั่นมะพร้าวบนต้นมะพร้าวได้เลย สบายมากเสียด้วยซี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น