วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556
นิทานเรื่องพระรถเมรีหรือนางสิบสอง
นิทานเรื่องพระรถเมรีนี้ เป็นนิทานพื้นบ้าน บางครั้งเรียกว่าเป็นนิทานเรื่องนางสิบสอง
มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า “นนทเศรษฐี” มีบ้านเรือนใหญ่โตและทรัพย์สมบัติมากมายแต่ไม่มีบุตรธิดาไว้สืบสกุล วันหนึ่งจึงเข้าไปในป่าเพื่อทำบุญและขอพรจากพระฤาษี หลังจากนั้นไม่นานภรรยาของนนทเศรษฐีก็ตั้งครรภ์และคลอดลูกสาวจำนวน สิบสองคน คนโดยสุดท้องชื่อเภา
หลังจากคลอดลูกสาวทั้งสิบสองคนแล้ว ฐานะเศรษฐีและภรรยาก็เปลี่ยนไป จากที่เคยร่ำรวยก็กลับกลายเป็นยากจน นนทเสรษฐิพาครอบครัวไปอยู่ที่กระท่อมในทุ่งนาและก็ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการทำนา
ต่อมา นนทเศรษฐีและภรรยาสก็นำลูกสาวทั้งสิบสองคนไปปล่อยในป่าสองครั้ง ในครั้งแรกนางสิบสองกลับมาบ้านได้ ในครั้งที่สองนางสิบสองหลงทางและเดินพลัดหลงเข้าไปในเขตของ “นางยักษ์สันทมาร”หรือ “สันธมาลา” เมื่อนางยักษ์สันทมารได้เห็นก็นึกเอ็นดูจึงแปลงกายเป็นหญิงสาวงามใจดี เอ่ยปากชักชวนให้ไปอยู่ด้วยเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งนางยักษ์สั่งให้บริวารยักษ์ทั้งหลายแปลงเป็นมนุษย์อย่าให้นางสิบสองคนตกใจกลัวและไม่ให้เห็นการกินสัตว์และมนุษย์ของบรรดาพวกยักษ์
วันหนึ่งพี่สาวคนโตได้เห็นนางยักษ์สันทมารกำลังกินเนื้อมนุษย์อยู่โดยบังเอิญและยังได้เห็นมนุษย์ถูกจับมาขังไว้เป็นจำนวนมาก จึงรู้ว่าผู้ที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูพวกตนนั้นเป็นยักษ์ในร่างแปลงของมนุษย์ นางสิบสองกลัวว่าอาจจะถูกยักษ์จับกินในวันข้างหน้าจึงชวนกันหนีออกจากเมืองยักษ์
นางยักษ์ติดตามค้นหาพี่น้องทั้งสิบสองคนไม่พบ เพราะมีพระฤาษีกำลังเข้าฌานอยู่ได้เห็นเหตุการณ์จึงดลใจให้นางยักษ์ไปค้นหาทางอื่นและยกเลิกการค้นหาไปในที่สุด พระฤาษีบอกนางสิบสองว่าเหตุที่พวกนางต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเช่นนี้ ก็เพราะว่าเมื่อชาติที่แล้วพวกนางได้นำลูกสุนัขไปปล่อยทิ้งไว้ในป่า ดังนั้นบาปจึงตามพวกเขามาในชาตินี้และชาติหน้าอีกจนกว่าจะครบ ๕๐๐ ชาติจึงจะหมดกรรม
นางทั้งสิบสองอำลาพระฤาษีออกเดินทางจนไปถุึง “เมืองกุตารนคร” ซึ่งปกครองโดย “พระเจ้ารณสิทธิราช”หรือ “พระเจ้ารถสิทธิ์” และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์ทั้งสิบสองคน
ขอขอบคุณภาพจากwww.thaigoodview.com
ในขณะเดียวกันนางยักษ์สันทมารก็ได้ธิดาบุญธรรมชื่อว่า “เมรี” ผู้ซึ่งเป็นธิดาของเพื่อนสามีของนางที่ตายไปแล้วมีนามว่า “ท้าวปทุมราช” ซึ่งก็เป็นเจ้าเมืองอสูรอีกเมืองหนึ่ง ท้าวปทุมราชมีธิดาแฝดสองคน ชื่อว่า “เมรี”และ “ศรีทัศนา” โดยมีมารดาผู้เป็นมนุษย์มีนามว่า “พระนางศรีสมุทร” โหรหลวงของท้าวปทุมราชทำนายว่า ถ้าให้ธิดาทั้งสองคนอยู่ร่วมกันแล้วจะเกิดความหายนะกับทุกชีวิตในเมือง ท้าวปทุมราชจึงมอบบุตรสาวของตนคนหนึ่งให้นางยักษ์สันทมารเลี้ยงดูนับแต่บัดนั้นมา
ต่อมานางยักษ์สันทมารได้ข่าวว่านางสิบสองยังมีชีวิตอยู่ได้เป็นมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์ ก็เกิดความอิจฉาริษยาและเคียดแค้นมาก นางจึงตามนางสิบสองมายังเมืองกุตารนคร นางสันทมารแปลงร่างเป็นหญิงสาวมีหน้าตาสวยงามกว่านางสิบสองและได้เป็นพระมเหสีองค์ใหม่ และเป็นมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้ารถสิทธิ์ โดยนางยักษ์ใช้มนต์สะกดให้พระเจ้ารถสิทธิ์หลงรักนางจนกระทั่งอยู่ภายใต้อำนาจของนางจนหมดสิ้น
นางยักษ์สันทมารแกล้งป่วยและต้องการนัยน์ตาของหญิงสิบสองคนที่มีพ่อแม่คนเดียวกัน นั่นก็คือนางทั้งสิบสองนั่นเองเพื่อนำมาทำยา พระเจ้ารถสิทธิ์จึงให้ทหารควักดวงตาของนางสิบสองออกมา แต่นางเภาคนสุดท้องโชคดีกว่าพี่สาวคนอื่น ๆ เพราะทรงอนุญาตให้นางเหลือดวงตาไว้ข้างหนึ่ง หลังจากควักดวงตาของนางทั้งสิบสองออกแล้ว พระเจ้ารถสิทธิ์ก็ให้นำอดีตพระมเหสีคือนางสิบสองไปขังไว้ในอุโมงค์มืด นางสิบสองต้องประสบความทุกข์ทรมานอย่างมาก
นางยักษ์สันทมารได้ส่งดวงตาทั้งหมดไปให้ธิดาบุญธรรม(เมรี)ของนางเก็บไว้ที่เมืองยักษ์
ในเวลาต่อมานางสิบสองก็ตั้งครรภ์ โดยเภาน้องคนสุดท้องคั้งครรภ์ทีหลังสุด พระอินทร์ทราบว่านางสิบสองได้รับความทุกข์ทรมานมาก และไม่มีใครดูแลจึงอัญเชิญโพธิสัตว์เทพบุตรให้ไปปฏิสนธิในครรภ์ของน้องคนสุดท้อง สวนนางยักษ์แปลงก็สั่งทหารของตนเฝ้าอุโมงค์ไว้ เพื่อไม่ให้ใครแอบช่วยเหลือนางทั้งสิบสองคนได้ หากใครฝ่าฝืนก็จะโดนลงโทษถึงประหาร
กล่าวกันว่าสาเหตุที่นางสิบสองต้องได้รับความทุกข์เช่นนี้ ก็เพราะเมื่อชาติที่แล้วในขณะเล่นอยู่ริมแม่น้ำ พวกนางจับปลามาสิบสองตัว แล้วใช้เหล็กแหลมทิ่มนัยน์ตาทั้งสองข้างของปลาเหล่านั้นแล้วก็ปล่อยลงในแม่น้ำ แต่น้องคนสุดท้องนั้นทิ่มแทงเพียงตาข้างเดียวของปลาที่ตนจับ ดังนั้นนางจึงถูกควักดวงตาเพียงข้างเดียว
ต่อมาพี่น้องทั้งสิบเอ็ดคนก็คลอดลูกออกมา ด้วยความหิวโหยเพราะอดอยากทำให้นางสิบเอ็ดต้องกินลูกของพวกตนโดยฉีกเนื้อทารกกแบ่งกันกินแต่ละคน ๆ ที่ทะยอยคลอดออกมา แต่นางเภาไม่ยอมกินเนื้อทารกที่ได้รับแบ่งมา ทุกครั้งที่นางได้ส่วนแบ่งนางก็จะนำไปซ่อนไว้ ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่นางคลอดลูกบ้างนางเภาจึงนำเนื้อทารกที่ซ่อนไว้มาแบ่งให้พวกพี่ ๆ แทน เภาตั้งชื่อลูกให้คล้ายกับพระบิดาว่า “รถเสน” พวกทหารที่เฝ้าอุโมงค์รู้เรื่องการถือกำเนิดของรถเสน แต่ก็ไม่มีใครรายงานให้นางยักษ์ทราบ พวกเทหารรักและเมตตากุมารน้อยนี้ แถมยังช่วยเลี้ยงดูอีกด้วย และเมื่อใครถามก็ตอบว่าเป็นลูกของทหารที่เฝ้ายามนั่นเอง รถเสนจึงปลอดภัยและมีเพื่อนเล่นนอกอุโมงค์และสามารถเข้าออกเพื่อดูแลและรับใช้นางสิบสองได้ รถเสนเป็นเด็กดีมีความกตัญญู ดูแล ทำงาน และหาอาหารตลอดจนหาผลไม้ มาให้แม่และป้าอยู่เสมอ
เมื่อรถเสนโตขึ้นก็ถามมารดาถึงสาเหตุที่ต้องมาอยู่ในอุโมงค์นี้ นางเภาจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้รถเสนฟัง รถเสนรู้สึกเสียใจมากที่เห็นนางสิบสองต้องทนทุกข์ทรมานเช่นนี้
พระอินทร์ได้เสด็จลงมาสอนการเล่นการพนันให้กับรถเสน และให้ไก่ชนวิเศษพร้อมทั้งเครื่องแต่งกายแก่รถเสนไว้ ซึ่งรถเสนเองก็เลี้ยงไก่ชนและมีไก่่เป็นเพื่อนเล่น รถเสนขออนุญาตมารดาเพื่อออกจากอุโมงค์เพราะโตแล้ว รถเสนเล่นพนันชนไก่มีชัยชนะได้รางวัลมาซื้ออาหารให้นางสิบสอง รถเสนออกไปเล่นพนันทุกวัน และก็มีชัยชนะทุกครั้งไป นางสิบสองได้กินอิ่มไม่อดอยากอีกต่อไป การพนันชนไก่มีชัยชนะทุกครั้งของรถเสนแพร่ไปถึงพระเจ้ารณสิทธิราชจึงโปรดให้รถเสนเข้าเฝ้า เพื่อเล่นสกาแข่งกับพระองค์พระเจ้ารถสิทธิ์ทรงแพ้รถเสนถึงสองครั้ง รถเสนขอเพียงข้าวสิบสองห่อมาให้นางสิบสอง รถเสนไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใครตามที่แม่สั่งไว้เพื่อไม่ให้ยักษ์แปลงรู้
ต่อมา “ท้าววัตตา”ซึ่งเป็น “เจ้าเมืองจินดา” ได้มาท้าพระเจ้ารณสิทธิราชพนันชนไก่เอาบ้านเอาเมืองกันเป็นเดิมพัน พระเจ้ารถสิทธิ์ทรงวิตกกังวลมาก เนื่องจากไก่ชนของท้าววัตตาเมืองจินดานั้นเก่งมากไม่เคยแพ้ไก่ของผู้ใด พระเจ้ารถสิทธิ์จึงปรึกษาขุนนาง ซึ่งทุกคนลงความเห็นว่าให้รถเสนนำไก่มาสู้พนัน พระเจ้ารถสิทธิ์ก็เห็นดีด้วย จึงได้ให้ทหารนำตัวรถเสนมาเข้าเฝ้าพระเจ้ารถสิทธิ์รับปากว่าหากไก่ของรถเสนชนะอยากจะได้อะไรก็จะให้ รถเสนก็รับอาสา และให้สัตย์ไว้ว่าหากไก่ของตัวเองแพ้ก็ยอมให้ประหารชีวิต ซึ่งผลการแข่งขันนั้นไก่ของรถเสนชนะไก่ของท้าววัตตา เมืองจินดาของท้าววัตตาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกุตารนครของพระเจ้ารถสิทธิ์นับตั้งแต่บัดนั้น
ส่วนรถเสนเมื่อชนะพนันชนไก่ ก็ขอเพียงแต่อาหารอร่อย ๆจากในวังให้มารดากับป้าเพียงสิบสองห่อเท่านั้น พระเจ้ารณสิทธิและชาวกุตารนครเมื่อได้ฟังดังนั้น ต่างก็ตกตะลึงและแปลกใจเป็นอันมาก พระเจ้ารถสิทธิ์จึงสอบถาม รถเสนจึงจำต้องกราบทูลความจริงว่ารถเสนก็คือพระโอรสของพระเจ้ารถสิทธิ์ที่เกิดกับนางเภาน้องสาวคนเล็กของนางทั้งสิบสองอดีตมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์นั่นเอง
พระเจ้ารถสิทธิ์ดีพระทัยและรักรถเสนมาก ประกาศรับรถเสนเป็นพระราชโอรสทรงเลี้ยงดูอย่างดี แต่นางสิบสองยังต้องโทษอยู่ในอุโมงค์มืดอยู่ เพราะพระเจ้ารถสิทธิ์ยังถูกมนต์สะกดให้เชื่อฟังและหลงใหลนางยักษ์แปลงอยู่
นางยักษ์สันทมาร แกล้งทำเป็นป่วยหนักและต้องการผลไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีรสเปรี้ยว เรียกว่า “มะงั่วหาวและมะนาวโห่” เพื่อใช้ทำยา ซึ่งผลไม้นี้มีอยู่แต่เฉพาะในเมืองของนางเท่านั้น เจ้าชายรถเสนอาสาไปนำผลไม้ดังกล่าวมาให้ เจ้าชายรถเสนขอให้ส่งอาหารไปให้นางสิบสองทุก ๆ วันอย่าได้ขาดตกบกพร่อง ซึ่งพระเจ้านถสิทธิ์ทรงรับจัดการให้และทรงอนุญาตให้รถเสนใช้ม้าของพระองค์ชื่อ “ม้าพาชี” ซึ่งสามารถบินไปในอากาศได้เหมือนนก นางยักษ์สันทมารได้ฝากจดหมายของตนไปให้บุตรสาวของนางด้วย
ระหว่างทาง รถเสนหยุดพักที่ศาลาของพระะฤาษีในป่า และนอนหลับพักผ่อนเอาแรงเพื่อเดินทางต่อ พระฤาษีรู้สึกร้อนรนทำสมาธิก้ไม่สงบ จนพบว่ามีจดหมายแขวนอยู่ที่คอม้าเมื่อเปิดจดหมายอ่านก็พบข้อความว่า “ถึงกลางวันให้กินกลางวัน ถึงกลางคืนให้กินกลางคืน”เนื่องจากจ้าชายรถเสน และพระธิดาเมรี เป็นคู่บุญบารมีและมีบุพเพสันนิวาสต่อกัน พระฤาษีจึงเปลี่ยนข้อความใหม่เป็น "ถึงกลางคืนให้รับกลางคืน ถึงกลางวันให้รับกลางวัน ผัวแก้วผัวขวัญของเมรี" รถเสนตื่นขึ้นมา ก็กราบลาพระฤาษีออกเดินทางต่อ
เมื่อมาถึงเมืองของนางสันทมาร รถเสนจึงได้อภิเษกสมรสกับนางเมรีมีความสุข รถเสนแอบเด็ดผลไม้ที่นางสันทมารต้องการและมอมสุรานางเมรี เมื่อเมาสุราเมรีก็บอกที่ซ่อนดวงตาและยารักษาตาแก่่รถเสน บอกเรื่องยาวิเศษอื่น ๆ ซึ่งแต่ละห่อก่อให้เกิดภูเขา ป่าไม้ ลม ไฟ ฝน เมฆ และมหาสมุทรน้ำกรด กับห่อยารักษาดวงตารวมแล้วมีทั้งหมดแปดห่อด้วยกัน
หลังจากที่เมรีหลับสนิทแล้ว รถเสนก็เก็บดวงตาและยาทั้งหมดแอบหนีออกจากเมืองโดยขี่ม้าพาชีหนีไป เมื่อเมรีตื่นขึ้นมาไม่พบรถเสนเมรีก็รีบตามไป เมรีเข้าไปไม่ถึงตัวรถเสนเพราะรถเสนโรยผงยาซึ่งก่อให้เกิดป่า และต้นไม้ใหญ่ขวางทางไว้ แต่ด้วยความมั่นคงต่อความรักในรถเสนอย่างบริสุทธิ์ใจและแรงกล้า เมรีก็สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงที่อุบัติขึ้นโดยยาวิเศษเหล่านั้นได้ ทั้งหมดจนรถเสนใช้ยาห่อสุดท้ายซึ่งก่อให้เกิดมหาสมุทรน้ำกรดขวางหน้า เมรีไม่สามารถติดตามรถเสนได้อีก
เมรีร้องไห้อยู่ตรงนั้นและตั้งจิตอธิษฐานขอให้เกิดเป็นชายาของรถเสนอีก แล้วเมรีก็หัวใจแตกสลายสิ้นชีวิต ณ ตรงนั้นเอง โดยที่รถเสนไม่มีโอกาสรู้
รถเสนตั้งใจว่าเมื่อช่วยนางสิบสองและมอบผลไม้แก่นางยักษ์แล้ว จะกลับมาอยู่กับเมรีอีกแต่ไม่ได้บอกความในใจนี้ให้เมรีรู้ เมื่อกลับมาถึงเมืองกุตารนครแล้วรถเสนก็รีบตรงไปหานางสิบสองใส่ดวงตาและยารักษาให้นางสิบสองมองเห็นสิ่งต่างๆได้เหมือนเดิมแล้วก็เข้าวัง
เมื่อนางสันทมารเห็นรถเสนกลับมาอย่างปลอดภัย ได้รู้ว่ารถเสนแต่งงานกับเมรี ได้นำดวงตามารักษานางสิบสองจนหายดีเป็นปกติ ก็โกรธมากจึงคืนร่างเป็นยักษ์หมายที่จะฆ่ารถเสน แต่รถเสนมีกล่องดวงใจของนางยักษ์อยู่ในมือ เมื่อจะถูกทำร้ายก็ขยี้ดวงใจของนางยักษ์ทำให้นางยักษ์สิ้นชีพ
พระเจ้ารถสิทธิ์จึงพ้นจากเวทย์มนต์ของนางสันทมาร ให้ปล่อยนางสิบสองและรับมาเป็นมเหสีเหมือนเดิม ตั้งใจยกราชสมบัติให้รถเสน แต่รถเสนปฏิเสธและขออนุญาตกลับไปหาเมรี จึงรู้ว่าเมรีหัวใจสลายสิ้นชีวิตตรงจุดที่รถเสนข้ามมหาสมุทรน้ำกรดนั่นเอง รถเสนนั้นรักและซาบซึ้งในความรักของเมรี ได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นคู่ครองกับเมรีอีกในชาติต่อ ๆไปและตรอมใจตายตรงจุดที่เมรีสิ้นใจเช่นเดียวกัน
ซึ่งเมรีนั้นเมื่อก่อนตายนั้น เมรีได้ตัั้งคำอธิษฐานไว้ว่า
...ชาตินี้มีกรรมน้องตามมา ชาติหน้าพี่ยาตามน้องไป
ชาตินี้น้องตามพี่มา ชาติหน้าให้พี่ยาตามน้องไป…
ชาติต่อมาเมรีไปเกิดเป็น “มโนราห์” เจ้าชายรถเสนไปเกิดเป็น “พระสุธน” และเกิดตำนานหรือนิทานอีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า "พระสุธน-มโนราห์"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.sujipuli.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539241850
“นิทาน” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายความหมายไว้ว่า “นิทาน คือ เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก และนิทานอีสป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีท่านผู้รู้อธิบายความหมายไว้คล้าย ๆ กัน เช่น
กิ่งแก้ว อัตถากร (2519, หน้า 12) อธิบายว่า นิทาน หมายถึง เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ แต่ก็มีอยู่ส่วนมากที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ และนอกจากนี้ยังอธิบายว่านิทานเป็นเรื่องเล่าทั่วไป มิได้จงใจแสดงประวัติความเป็นมา จุดใหญ่เล่าเพื่อความสนุกสนาน บางครั้งก็จะแทรกคติเพื่อสอนใจไปด้วย นิทานมิใช่เรื่องเฉพาะเด็ก นิทานสำหรับผู้ใหญ่ก็มีจำนวนมาก และเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น
สุมามาลย์ พงษ์ไพบูลย์ (2542, หน้า 7) กล่าวว่า นิทานเป็นคำศัพท์ภาษาบาลี หมายถึง คำเล่าเรื่อง ไม่ว่าเป็นเรื่องประเภทใด แต่อยู่ที่ลักษณะการเล่าที่เป็นกันเอง แม้จะเป็นข้อเขียนก็มีลักษณะคล้ายกับการเล่าที่เป็นวาจา โดยใช้ภาษาพูดหรือภาษาปากในการเล่า กล่าวโดยสรุป นิทาน คือ เรื่องเล่าที่มนุษย์ผูกเรื่องขึ้นด้วยภูมิปัญญา โดยส่วนใหญ่จะถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ เนื้อเรื่องมีหลากหลายและใช้เล่าเพื่อจุดประสงค์ต่างๆกัน ตามโอกาสและสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น คำที่ใช้เรียกนิทานมีต่างๆกันไป เช่น นิทานชาวบ้าน นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง วรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นต้น ในที่นี้จะใช้ว่านิทานพื้นบ้าน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.baanmaha.com
ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น