วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ




พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ

พระอาจารย์ มีนามเดิมว่า หม่องขิ่น ถือกำเนิดในสกุล ตวยเต้าจี้ ซึ่งเป็นสกุลขุนนางชั้นสูงของพม่า พระอาจารย์เกิดเมื่อ ๑ ๗ฯ ๘ ปีกุน พุทธศักราช ๒๔๕๔ ที่ตำบลจวนละเหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ ประเทศพม่า โยมบิดามีนามเดิมว่า อุโพอ้าน โยมมารดามีนามว่า ดอร์เปียว มีพี่น้อง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง


ชีวิตในช่วงปฐมวัย
พระอาจารย์ได้รับการศึกษาขั้นต้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ อายุได้ ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่หลักสูตร นะโม พุทธายะ สิทธัง ไปจนถึงทศมหาชาดก ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานการศึกษาที่กุลบุตรของพม่าจะต้องเรียนในสมัยนั้น


พระอาจารย์ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์
พระอาจารย์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุได้ ๑๕ ปี โดยมีพระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดโชติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ และในเวลาต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า อาสโภ ณ พัทธสีมาวัดจวนละ เหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ โดยมี
- พระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์
- พระภัททันตะ อูเกลาสมหาเถระ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระภัททันตะ อูปัญญามหาเถระ เป็นพระอนุสาวนาจารย์




ภาคคันถะธุระ
พระอาจารย์ได้รับการศึกษา ดังนี้คือ
๑. ระเบียบวินัย ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ
๒. ไวยากรณ์บาลีมหากัจจายน์
๓. อภิธรรมมัตถสังคหอรรถกถา
๔. ศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงที่มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย


วุฒิธัมมาจริยะ
เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี ๗ พรรษา พระอาจารย์สอบได้วุฒิชั้น “ธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแห่ง การศึกษาคณะสงฆ์พม่า


ตำแหน่งในมหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย
ได้รับความเห็นชอบ มีมติเอกฉันท์จากบรรดาพระมหาเถระปาติโมกข์แห่งมหาวิทยาลัยให้ ดำรงตำแหน่ง “คณะวาจกสะยาดอ” คือ เป็นพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ประจำมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ให้การศึกษาพระไตรปิฎก บาลี อรรถกถา ฎีกา และพระคัมภีร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้นมา


ภาควิปัสสนาธุระ
๑. เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดสวนลน จังหวัดเมียนฉั่น โดยมีท่านพระอาจารย์ ภัททันตะ กวิมหาเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ เป็นผู้บอกกรรมฐานให้
๒. เดินทางไปเข้าวิปัสสนากรรมฐานต่อ ณ วัดมหาสี ตำบลเชตโข่น จังหวัดสวยะโบ่ ซึ่งเป็นสำนักของมหาสี สะยาดอ



ตำแหน่งพระวิปัสสนาจารย์
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ พระอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดวิชา “วิปัสสนาจารย์” จาก พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต (มหาสี สะยาดอ) ผู้เป็นพระปรมาจารย์ต้นตำรับ “พองหนอ ยุบหนอ” และได้รับมอบหมายให้เป็นวิปัสสนาจารย์ประจำสำนักมหาสีสาสนยิสสา แห่งนครย่างกุ้ง


ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มีความประสงค์จะวางรากฐานวิปัสสนาธุระไว้ ณ ประเทศไทยจึงได้แสดงความจำนงไปยังสภาพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย สภาการพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่าจึงมอบหมายให้ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามความต้องการของสมเด็จพระ พุฒาจารย์ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิตพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะเป็นผู้รับภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย รับหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ พระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระ ธัมมจาริยะได้รับอาราธนาจากนายธรรมนูญ สิงคารวณิช และพระภิกษุเดือน เนื่องจำนงค์ ให้มาเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานประจำสำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม




ผลงานรจนาหนังสือธรรมะ
แม้ว่าพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ จะมีหน้าที่ในการบอกกรรมฐานแก่ศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว แต่ก็ยังอุตสาหะรจนาหนังสือธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นภาษาไทยไว้ดังต่อไปนี้
๑. แว่นธรรมปฏิบัติ
๒. แนวปฏิบัติวิปัสสนา
๓. หลักการเจริญวิปัสสนา
๔. ปฏิจจสมุปบาทจักกเทศนา
๕. วิปัสสนาทีปนีฎีกา




รวมระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ พำนัก ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ( ๑๐ ปี )
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ พำนัก ณ สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี (๓๗ ปี)
๑ มีนาคม ๒๕๔๒ ย้ายมาพำนัก ณ สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ( ๓ ปี )
๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ พำนัก ณ วัดภัททันตะอาสภาราม ตำบลหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจาริยะ ได้ถึงแก่มรณภาพ ณ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา ๑๙.๕๕ น. รวมอายุ ๑๐๐ พรรษา ๘๑


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://bhaddanta.blogspot.com/2005/09/blog-post.html




เพิ่มเติม บทความจากหนังสืออาสภาสาส์น

อาสภาสาส์นฉบับนี้ขอถวายความอาลัยแก่การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของหลวงพ่อใหญ่ พระภัททันตะอาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่ศิษยานุศิษย์ และนับเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ของวงการวิปัสสนากรรมฐาน เพราะหลวงพ่อใหญ่เป็นพุทธบุตรที่สืบทอดวิปัสสนาวงศ์จากบูรพาจารย์ ด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามนัยสติปัฏฐานสี่ แบบพองยุบ การละสังขารของหลวงพ่อใหญ่ เป็นการตอกย้ำให้เราเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร คือ อนิจจัง ความเป็นสิ่งที่ทนอยู่ได้ ยาก คือ ทุกขัง และความไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คือ อนัตตา



ประวัติของหลวงพ่อใหญ่
• พ.ศ. ๒๔๕๔ ถือกำเนิดในตระกูลขุนนางชั้นสูงของประเทศพม่า
• พ.ศ. ๒๔๖๙ บรรพชาเป็นสามเณร
• พ.ศ. ๒๔๗๓ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
• พ.ศ. ๒๔๗๙ สอบได้วุฒิธัมมาจริยะ ชั้นสูงสุดทางการศึกษาของสงฆ์ในพม่าสมัยนั้น
• พ.ศ. ๒๔๘๓ ดำรงตำแหน่ง “คณะวาจกสะยาดอ” ในมหาวิสุตาราม มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. ๒๔๙๓ ตั้งใจเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีท่านพระอาจารย์ภัททันตะกวิมหาเถระ และ พระอาจารย์ภัททันตะโสภณมหาเถระ (มหาสีสะยาดอ) เป็นผู้บอกสอนวิปัสสนากรรมฐาน
• พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์มหาสีสะยาดอ ได้แต่งตั้ง พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะอาสภมหาเถระเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ประจำสำนักมหาสีสาสนยิสสา แห่งนคร ย่างกุ้ง ประเทศพม่า



• พ.ศ. ๒๔๙๕ พระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถระ) สังฆมนตรีว่าการองค์การ ปกครองสงฆ์ แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงครามนายก รัฐมนตรีไทย ได้ส่งสาส์นถึงรัฐบาลพม่า ให้ส่งพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนามายัง ประเทศไทย เพื่อเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์มหาสีสะยาดอ ได้เลือกพระ อาจารย์ ดร.ภัททันตะอาสภมหาเถระด้วยตัวท่านเอง เพื่อมาทำหน้าที่พระธรรมทูต จากประเทศพม่า เพื่อเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย
• พ.ศ. ๒๔๙๖ เดินทางมาถึงประเทศไทย เริ่มต้นการเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐานร่วมกับศิษย์ของท่าน คือ พระมหาโชดกญาณสิทฺธิ (พระธรรมธีรราชมหามุนี สมณศักดิ์สุดท้ายก่อนมรณภาพ) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
• พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ร่วมก่อตั้งและเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยได้บอกสอนวิปัสสนากรรมฐาน ที่สำนักแห่งนี้เป็นเวลา นานถึง ๓๗ ปี
• พ.ศ. ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มอบถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ แก่พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะอาสภมหาเถระ



• พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับการอาราธนาจากคุณสมมิตร ทวีรุจจนะและครอบครัว ให้มาพำนักจำพรรษา และบอกสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี อำเภอบ้านบึง จังหวัด ชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๔๕ มหาวิทยาลัยศรีปทุมมอบถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะอาสภมหาเถระ
• พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นประธานสงฆ์และพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พำนักจำพรรษาบอกสอนวิปัสสนา กรรมฐานแก่สานุศิษย์ และสาธุชนผู้สนใจเข้าปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดภัททันตะอาสภาราม ตำบลหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๕๐ พำนักชั่วคราว ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อสะดวกแก่การเข้ารับรักษาอาการอาพาธและเข้าพำนักที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อรับการรักษาอาการอาพาธตั้งแต่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
• พ.ศ. ๒๕๕๓ ละสังขารเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ด้วยโรคปอดอักเสบที่โรงพยาบาล ศิริราช สิริรวมอายุได้ ๑๐๐ ปี ๘๑ พรรษา




หลวงพ่อ ดร.พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะอัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ ปูชนียบุคคลของวัดภัททันตะอาสภาราม ซึ่งชื่อวัด“ภัททันตะอาสภาราม”ก็คือชื่อของท่าน แปลว่า อารามอันเป็นที่อยู่ของพระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ที่เหล่าศิษย์เรียกกันติดปาก ว่า “หลวงพ่อใหญ่”

ในสมัยที่หลวงพ่อใหญ่ยังแข็งแรง ท่าน ได้ทุ่มเทในการสอนวิปัสสนากรรมฐานให้แก่โยคี ผู้ปฏิบัติ ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสที่สนใจใฝ่ศึกษา พระครู ภาวนาวราลังการ วิ. : สมศักดิ์ โสรโท ซึ่งเป็น ลูกศิษย์ของหลวงพ่อใหญ่อีกรูปหนึ่ง ก็พยายาม สานต่องานต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงการสร้างวัดภัททันตะอาสภารามแห่งนี้ แม้ จะเหน็ดเหนื่อยบ้าง แต่เพื่อเป็นการบูชาคุณของ หลวงพ่อใหญ่ เพื่อให้นามของท่านได้ปรากฏเป็น อนุสรณ์ ให้ผู้ที่มาเยือนและผู้ที่อยู่ปฏิบัติธรรมได้ รู้ถึงความเป็นมาและรำลึกถึงพระคุณของหลวงพ่อ ใหญ่สืบไปก็เพียงพอแล้ว



หลวงพ่อ ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ เป็นพระ อาจารย์ในสายวิปัสสนาวงศ์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ ครั้งพุทธกาลตามสายพระอรหันต์ ซึ่งในคราว กระทำสังคายนาครั้งที่ ๓
พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งพระอรหันต์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึง ๙สาย หนึ่งในนั้นคือ สายสุวรรณภูมิซึ่งมีท่านพระโสณะและพระอุตตระเป็นพระอรหันต์ที่มาประกาศธรรมและสั่งสอนธรรมในดินแดนแถบนี้ ซึ่งปัจจุบันได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย เมื่อพระเถระทั้งสองประกาศธรรมแล้ว ก็มีการสืบทอดแนวปฏิบัติต่อๆ กันมาโดยลำดับ

ในยุคที่มีการปฏิบัติแนวสติปัฏฐานสี่นั้น ได้ปรากฏแนวการสอนวิปัสสนาแบบดูอาการเคลื่อนไหวของท้อง ซึ่งในกาลต่อมาได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยมีท่านพระมหาสีสะยาดอ (โสภณมหาเถระ) เดินทางไปสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ จนได้รับการขนานนามว่า พองยุบในแนวสติปัฏฐานสี่ ยังประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วว่า “พองยุบบันลือโลก” และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านมหาสีสะยาดอ จึงเรียกการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “มหาสีเทคนิค” ปัจจุบันมีลูกศิษย์เป็นเครือข่ายมากกว่า ๕๐๐ สาขาทั่วโลก



และหนึ่งในศิษย์ของท่านมหาสีสะยาดอ คือ หลวงพ่อภัททันตะอาสภมหาเถระที่ได้สืบทอดวิปัสสนากรรมฐานในแนวนี้ และได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ โดยได้รับอาราธนานิมนต์จากรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยในสมัยนั้น นำโดยพระพิมลธรรม ( อาจ อาสภมหาเถระ ) ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตรักษาการสมเด็จพระสังฆราช อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ทำให้งานวิปัสสนากรรมฐานในขณะนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก

มีผู้เลื่อมใสศรัทธา ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสเข้ามาปฏิบัติกันมากถึงขนาดว่าระเบียงพระวิหารรอบพระอุโบสถถูกเนรมิตเป็นห้องกระจกเพื่อใช้เป็นห้องกรรมฐาน แม้แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ทรงสนพระทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า ก็ยังทรงเสด็จมาศึกษาปฏิบัติ และทรงเลื่อมใสศรัทธาปฏิบัติต่อเนื่อง กระทั่งต้องนิมนต์พระอุดมวิชาญาณ (โชดก ญาณสิทฺธิ;สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาคือ พระธรรมธีรราชมหามุนี) เป็นผู้ถวายพระกรรมฐานและสอบอารมณ์ ณ วังสระปทุม
พระอุดมวิชาญาณ ครั้งที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ นั้น พระพิมลธรรม(อาจ อาสภมหาเถระ) ได้ส่งให้ไปเรียนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่า และได้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อใหญ่ตั้งแต่ครั้งนั้น ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ได้สำเร็จภารกิจแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และได้เดินทางกลับมาเป็นพระวิปัสสนาจารย์ พร้อมกันนี้ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมยังได้นิมนต์พระเถระพม่า ๒ รูป คือ หลวงพ่อ ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระรูปหนึ่งและอีกรูปหนึ่งคือท่านอาจารย์อินทวังสะ (ภายหลังเดินทางกลับไปประเทศพม่า) มาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ เป็นระยะเวลาถึง ๑๐ ปี



ฉะนั้น วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสีในประเทศไทย จึงเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ที่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบันก็ ๕๗ ปีแล้ว
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ เกิดความเข้าใจผิดจากฝ่ายบ้านเมืองและคณะสงฆ์ เป็นเหตุให้พระพิมลธรรม ( อาจ อาสภมหาเถระ ) ถูกจับกุมตัวและถอดยศเพื่อดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา ทำให้งานวิปัสสนากรรมฐานแนวนี้สะดุดลงไปโดยปริยาย

เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้ทำให้หลวงพ่อใหญ่เกิดความหวั่นไหวแต่อย่างใด มีเพียงผลกระทบบ้างเล็กน้อย คือ คณะศิษย์ของท่านนำโดยคุณธรรมนูญ สิงคารวณิช ได้กราบอาราธนานิมนต์ท่านมาพำนักยังสำนักแห่งใหม่ที่ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งต่อมาคือ สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม อันเป็นสถานที่ให้การอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้สนใจทั่วไป ในสมัยก่อตั้งวิเวกอาศรมนั้นอดีตฯพณฯนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ก็เคยมาเยี่ยมเยียนหรือสนทนาธรรมกับหลวงพ่อใหญ่ จนเป็นเหตุให้ได้ชื่อสำนักแห่งนี้ว่า “สำนักวิปัสสนากรรมฐานวิเวกอาศรม” เพราะการปรารภของ ฯพณฯ สถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อใหญ่ ได้ทำหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ สอนวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ เป็นต้นมา
โดยศิษย์รุ่นแรกๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในครั้งนั้น คือ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณสํวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งท่านได้รจนาหนังสือเกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐานคือวิปัสสนาทีปนีไว้ ต่อมาท่านได้เดินทางไปประเทศพม่าและมรณภาพด้วยอาพาธที่นั่น
ส่วนพระพรหมโมลี( สมศักดิ์ อุปสโม)รูปปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติการาม เจ้าคณะภาค ๑ เองก็เคยมาปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อใหญ่ที่วิเวกอาศรมแห่งนี้ หลวงพ่อใหญ่ได้ทุ่มเทสั่งสอนศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย




ในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ท่านรับอาราธนานิมนต์มาพำนักที่สำนักวิปัสสนาสมมิตร – ปราณี โดยเจ้าของที่ดิน คือ คุณพ่อสมมิตร-คุณแม่ปราณี(ถึงแก่กรรม) ทวีรุจจนะ พร้อมลูกชาย คุณสุทธิบุญ ทวีรุจจนะ ได้ดัดแปลงสถานที่จากโรงงานทำอาหารสัตว์ให้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และได้สร้างอุโบสถ(ชั่วคราว) เพื่อให้สามารถประกอบพิธีสงฆ์ตามพระวินัยได้อย่างถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา พัทธสีมาเท่านั้น แต่มีการทำพิธีสวดสมมุติสีมาตามพระวินัยกำหนดทุกประการ

ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ คณะศิษย์ได้ริเริ่มสร้างวัดภัททันตะอาสภารามขึ้น เพื่อน้อมถวายเป็นอาจริยบูชาอันจะเป็นการประกาศยกย่องเกียรติคุณของหลวงพ่อใหญ่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธุชนทั้งหลาย และเพื่อเป็นการสานต่อเจตนาของหลวงพ่อใหญ่ในการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ ตลอดจนเป็นที่ฝึกหัดบุคลากรด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งเป็นที่ฝึกอบรมทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีศรัทธาของคหบดีท่านหนึ่งคือ นายสัตวแพทย์จำเลือง พานเพียรศิลป์ ซื้อที่ดินจำนวน ๒๗ ไร๒ งาน และคุณเกษมศรี อนัมบุตร ได้ซื้อที่ดิน ที่อยู่ติดกันเพิ่มอีกจำนวน ๒ ไร่ ๘๖ ตารางวา (ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้อยู่ติดกับสำนักวิปัสสนาสม มิตร-ปราณีที่หลวงพ่อใหญ่เคยพำนัก) ถวาย ให้เป็นที่ดำเนินการสร้างวัดฯเป็นครั้งแรก




ต่อจากนั้นคณะศิษย์ ได้ดำเนินการก่อสร้าง เสนาสนะที่จำเป็นเพิ่มเติมมาเป็นระยะๆ โดย คำนึงถึงประโยชน์ ประหยัด ประสิทธิภาพ ไม่ได้ เน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ เกื้อกูลการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้ที่สนใจ ใฝ่ศึกษา โดยดำเนินการก่อสร้างเท่าที่จำเป็นใน การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างที่ญาติโยมเห็น อยู่ปัจจุบันนี้ กิจกรรมการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากระยะแรกที่ยัง ไม่มีอาคารสถานที่ ผู้มาปฏิบัติไม่มีที่พัก พระ ภิกษุสงฆ์ต้องสร้างกระต๊อบหรือปักกลดอยู่ ปัจจุบันอาคารสถานที่มีค่อนข้างเพียงพอ ซึ่งต่อมาคณะศิษย์กับญาติโยมส่วนหนึ่งได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินที่อยู่ติดกันเพิ่มอีกแปลงหนึ่ง จำนวน ๑๐ไร่ ๒๐ ตารางวา รวมแล้วขณะนี้ ทางวัดมีที่ดิน จำนวน ๔๘ ไร่ ๓ งาน ๖ ตารางวา
เป็นเรื่องราวพอสังเขป เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ระลึกถึงความเป็นมาว่า “กว่าจะเป็นวัด ภัททันตะอาสภาราม” นั้นมีความเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะการสร้างวัดนี้เพื่อถวายเป็นอาจริยบูชา





พลอยโพยมเข้าปฎิบัติธรรมมา 15 วัน โดยปฎิบัติเดี่ยวในห้องพัก ทุกวันที่ขึ้นไปสมาทานศีลแปดและฟังธรรมบรรยายที่หอธรรมชั้นสองของอาคารปฎิบัติธรรม ก็จะได้กราบรูปหล่อเล็ก ๆ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

และพระอาจารย์พระครูปลัดประจาก พระมหาทองมั่น พระอาจารย์ผู้สอนมักกล่าวถึงหลวงพ่อใหญ่พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อยู่เนือง ๆ
พลอยโพยมซาบซึ้งในเมตตาของพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระมานานแล้ว ที่ท่านละทิ้งประเทศประเทศพม่าบ้านเกิดเมืองนอนมาสอนกรรมฐานให้คนไทย เริ่มต้นจากภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหากท่านจะคิดกลับพม่าก็ย่อมได้ เพราะงานวิปัสนากรรมฐานได้เจรืญขึ้นเป็นลำดับในประเทศไทย แต่ท่านก็ยังมีเมตตาต่อบรรดาลูกศิษย์ลูกหาอยู่ประเทศไทยต่อจวบจนท่านละสังขารไป
นอกจากนี้พลอยโพยมยังมีโอกาสปฎิบัติธรรมกับพระพม่าอีก 2-3 องค์ รับสื่อความรู้สึกเวลาพบท่านทุกองค์ในความเมตตากรุณาที่ฉายออกจากหน้าตา กริยาท่าที ของบรรดาพระอาจารย์พม่า ทุกครั้ง
ขอให้ทุกท่านน้อมใจอนุโมทนารับบุญกุศลที่พลอยโพยมเข้าปฎิบัติธรรมในครั้งนี้ด้วยความตั้งอกตั้งใจปฎิบัติธรรมด้วยวิริยะอุตสาหะมีความพากเพียรอย่างยิ่งยวด สาธุ สาธุ สาธุ....




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น