คำว่าบางกรูด เป็นนามเรียกของ
ตำบลบางกรูด
ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอบ้านโพธิ์
บ้านบางกรูด
ซึ่งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลท่าพลับ ( คือบริเวณที่ตั้งวัดบางกรูดและพื้นที่โดยรอบวัด)
วัดบางกรูด
ซึ่งเดิมมีชื่อว่า วัดบางกรูดวิสุทธาราม แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดประศาสน์โสภณ แต่ผู้คนยังคงนอยมเรียกหาวัดนี้ว่าวัดบางกรูดตามนามเดิม
คลองบางกรูด
ซึ่งเป็นคลองที่อ้อมด้านหลังโรงเรียนวัดบางกรูด ฯ ซึ่งเรียกตามนามเดิมของวัดบางกรูด คลองนี้จะผ่านโบสถ์วัดบางกรูดและไหลสู่แม่น้ำบางปะกง เป็นที่สันนิษฐานนามของวัดบางกรูดว่านั้นน่าจะเรียกตามชื่อของคลองบางกรูดนี้เอง ในอดีตเคยเป็นที่หลบภัยพายุของเรือสำเภาที่ผ่านมาบริเวณชุมชนนี้
โรงเรียนวัดบางกรูด
ปัจจุบันเรียกว่าโรงเรียนวัดประศาสน์โสภณ (ท่าพลับสุนทร)
คลองบางกรูด
ตำบลบางกรูด ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกร และค้าขาย มีวัด ๒ วัด ได้แก่ วัดผาณิตราม และวัดมงคลโสภิต ปัจจุบันมี ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านอู่ตะเภา หมู่บ้านบางชายสอ และหมู่บ้านท่าถั่ว
ตำบลบางกรูด มีหลักฐานว่า สภาพเดิมเป็นป่า มีต้นมะกรูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตอาณาเขตของตำบลครอบคลุมไปถึงหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด(ปัจจุบันอยู่ตำบลท่าพลับ) หมู่บ้านบางเสา(ปัจจุบันอยู่ตำบลบางพระ) การ ตั้งชื่อตำบล สันนิษฐานว่าตั้งตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่มากตามธรรมชาติ
ต้นมะกรูด
ในอดีต ตำบลบางกรูด โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำ โรงเลื่อย แปรรูปไม้ และโรงงานประกอบบ้านทรงไทยขายเป็นหลัง ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว
ตำบลบางกรูดมีความเกี่ยวข้องกับตำบลท่าพลับเนื่องจากมีชื่อบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นถาวรวัตถุคงใช้ชื่อบางกรูดปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของตำบลท่าพลับเช่น วัดบางกรูด (เดิมมีชื่อว่าวัดบางกรูดวิสุทธาราม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดประศาสน์โสภณ ) คลองบางกรูด โรงเรียนวัดบางกรูด(ปัจจุบันเรียกว่าโรงเรียนวัดประศาสน์โสภณ (ท่าพลับสุนทร)
การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นก็เกิดเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงสร้างวัด หรือ ศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถ้าหากจะคะเนว่าชุมชนใดมีอายุเท่าใด หลักฐานที่พอจะเป็นที่เชื่อถือได้ก็คืออายุของวัดนั่นเอง
วัดบางกรูดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๔ ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อนับอายุถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๖ ) อายุ ๒๕๒ ปี นับได้ว่า เป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นเป็นวัดที่สองของอำเภอ ส่วนวัดแรกคือ วัดประชาบำรุงกิจ อยู่ที่ตำบลสิบเอ็ดศอก ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๐
เนื่องจากความยาวนานของจำนวนปีที่มีการสร้างวัดขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถสืบค้นประวัติความเป็นมาของการสร้างวัดได้ ดังนั้นชุมชนบางกรูดจึงน่าจะมีมาก่อน ปี พ.ศ. ๒๓๐๔ เมื่อเกิดชุมชนแล้วจึงมีการสร้างวัดขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดให้ปักหมายเขตตำบลให้ขัดเจน โดยยึดเอา ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือสิ่งใดเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุให้มีการปรับปรุงเขตตำบลขึ้น สำหรับชื่อบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นถาวรวัตถุคงใช้ชื่อเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หมู่บ้านบ้านบางกรูดซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด รวมทั้งคลองบางกรูด โรงเรียนวัดบางกรูดจึงแยกไปอยู่ตำบลท่าพลับ หมู่บ้านบางเสาไปอยู่ตำบลบางพระ
ด้วยเหตุผลเดียวกันวัดสนามจันทร์ และ หมู่ ๑ บ้านสนามจันทร์ เดิมนั้นอยู่ในตำบลสนามจันทร์ แต่ปัจจุบันอยู่ในตำบลบ้านโพธิ์
วัดบางกรูด เดิมมีชื่อว่า วัดบางกรูดวิสุทธาราม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดประศาสน์โสภณ แต่ผู้คนยังคงนิยมเรียกวัดนี้ว่าวัดบางกรูดตามนามเดิม วัดนี้เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระอุปัชฌาย์แย้มเป็นเจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณรในยุคนี้มีไม่น้อยกว่า ๘๐ รูป ในบางปีมีถึง ๑๐๐ รูป .เคยเปิดโรงเรียนสอนนักธรรม มีนักเรียนสอบไล่ได้รวมถึง ๘๐ รูป เป็นนักธรรมตรี ๖๑ รูป นักธรรมโท ๑๔ รูป นักธรรมเอก ๕ รูป
วัดยังมีการเปิดสอนการเรียนธรรมศึกษามีการสอบผ่านธรรมศึกษาตรี ๑๓ คนและธรรมศึกษาโท ๔ คน ความก้าวหน้าในการศึกษาธรรมทำให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม วน นามฉายา ฐิติญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๑ ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โปรดที่จะมาพักค้างคืนที่วัดบางกรูดอยู่เนือง ๆ ในการออกเยี่ยมเยือนวัดต่างๆ ในมณฑล(ภายหลังท่านเคยปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช)
วัดบางกรูดอยู่กึ่งกลางระหว่างโค้งคุ้งน้ำ สองโค้งคุ้ง คุ้งน้ำหนึ่งขึ้นไปทางตัวเมือง บริเวณที่ปัจจุบันคือ ซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์โฮเต็ล ฉะเชิงเทรา (ในสมัยแรกก่อสร้าง คือโรงแรม วังธารา ปริ๊นเซส จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาเป็น โรงแรมวังธารา รีสอร์ท และเป็น ซันธารา ฯ ในปัจจุบัน) และอีกคุ้งน้ำที่ลงไปทางปากอ่าว คือบริเวณที่เรียกว่าโรงสีล่าง
กุลบุตรกุลธิดาของชุมชนบางกรูดได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดบางกรูด
โรงเรียนวัดบางกรูด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ (ปัจจุบันมีอายุ ๑๐๕ ปี) ก่อตั้งโดยพระอาจารย์ภู่ แห่งวัดสนามจันทร์ โดยมีเจ้าอาวาสวัดบางกรูดวิสุทธาราม เป็นผู้อุปการะโรงเรียนและเป็นผู้จัดการโรงเรียน มีครูใช้และครูช้วนเป็นผู้สอน โรงเรียนมีฐานะเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ (โรงเรียนราษฎร์) รายได้ของครู เก็บเงินจากนักเรียนคนละ ๕๐ สตางค์ต่อเดือน เอาไปเฉลี่ยเป็นค่าจ้างสอนแก่ครู ใน ๑ เดือน ครูจะมีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า ๔-๕ บาท และไม่เกิน ๑๐ บาท แล้วแต่จำนวนนักเรียนที่เข้ามาเรียน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงได้เปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนประชาบาล ปัจจุบันเรียกว่าโรงเรียนวัดประศาสน์โสภณ (ท่าพลับสุนทร)
เคยเปิดสอนถึงชั้นประถมหก จนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงลดชั้นเรียนถึงแค่ฃั้น ป.สี่ เพราะมีครูไม่พอ มีครูเพียง สองคนในขณะที่มีนักเรียนเป็นร้อยคน
ความรุ่งเรืองของย่านบางกรูดในอดีตปรากฏอยู่ในข้อมูลในส่วนของตำบลท่าพลับดังนี้
ตำบลท่าพลับ เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทางการเกษตร มีโรงหีบอ้อย โรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงสีกลาง แห่งหนึ่ง และโรงสีล่าง หรือโรงสีพระยาสมุทรอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งไปยังกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จำนวนมาก
สัญลักษณ์ของโรงสีที่เคยมีปล่องสูงตระหง่านริมฝั่งแม่น้ำเหนือทิวจาก และพรรณไม้ชายเลนอื่น ๆ ทั้งสองฝั่งคงเหลือเพียงฝั่งตำบลบางกรูด ส่วนฝั่งของตำบลท่าพลับ ปล่องโรงสีที่มีขนาดทั้งความสูงและความใหญ่โตที่เป็นร่องรอยประกาศความความเจริญของชุมชน ได้ถูกรื้อทิ้งไปหมดสิ้นแล้ว
ต้นพลับและผลพลับ(ไทย)
ชื่อตำบลท่าพลับ สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อของต้นพลับซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นตะโก ผลรับประทานได้ บางคนเรียกว่า ต้นมะพลับ ผลดิบ เอายางมาย้อมสวิง แห อวน ได้ ประกอบกับผืนดินของตำบลนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีท่าเรือใช้ในการสัญจรไปมามาก จึงเรียกชื่อตำบลว่า “ตำบลท่าพลับ” ชื่อตำบลนี้มีปรากฏในหน้าโฉนดที่ดินของวัดบางกรูด ซึ่งออกให้เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๙
ในครั้งนั้น อำเภอบ้านโพธิ์ มีชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตำบลท่าพลับปัจจุบันมี ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านบางกรูด บ้านตลาดโรงสีล่าง บ้านวัดเกาะชัน และบ้านก้นกรอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น