วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระรถเมรี...ตำนานตระกูลลาว





ตำนานลาวทั้งล้านช้าง-ล้านนา ยกย่องพระรถ -เมรีเป็นบรรพชน
ต่อมานักปราชญ์ล้านนาได้ยกตำนานพื้นเมืองเรื่องนี้แต่งเป็นชาดกเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ มีรวมอยู่ในปัญญาสชาดก แต่เป็นชาเดกเฉพาะถิ่น เพราะเป็นตำนานพื้นเมืองของชาวลาวทั้งล้านช้าง-ล้านนา เท่านั้น
ตำนานลาวเรียกพระรถว่าพุทธเสน เรียกเมรีว่านางกังรี( กางรี)
นางกังรี เป็นบุตรสาวพระยายักษ์และนางยักษ์ ส่วนพุทธเสนเป็นบุตรของพระยาอินทปัต เจ้าเมืองอินทปัต
ต่อมาพระยายักษ์พ่อนางกังรีตาย นางยักษ์ไปเป็นภรรยาพระยาอินทปัต เมื่อพระยาอินทปัตตาย พุทธเสนก็แต่งงานนางเมรีแล้วปกครองบ้านเมืองสืบต่อ ๆ กันมาเป็นลาว
นานเข้าเรื่องพุทธเสนกับนางกังรีก็ถูกแต่งแต้มเพิ่มเติมขยายความเป็นพระรถเมรี ดังที่รับรู้ทั่วกันในอีกชื่อหนึ่งว่านางสิบสอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.sujitwongthes.com/2012/12/siam17122555



มีบทความเรื่องพระรถ เมรี จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 มีความว่า
พระรถ เมรี เป็นนิทานบรรพชนของผู้คนสองฝั่งโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์ อยู่ในพงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ 1 หน้าแรก มีชื่อ นางกางรี คือนางเมรี กับเจ้าพุทธเสน คือ พระรถ หรือรถเสน
มีคำอธิบายของกรมศิลปากรว่าพระเถระชาวเชียงใหม่ยกเรื่องพระรถ เมรี ไปแต่งไว้ในปัญญาสชาดกเรียก รถเสนชาดก “แต่เค้าโครงเรื่องของพระรถ เมรีนี้มีคล้ายคลึงกับนิทานพื้นบ้านชาติต่าง ๆ อาทิ อินเดีย ลังกา ไทยใหญ่ เขมร พม่า ลาว และอาหรับ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงบอกไว้ด้วยว่าพระรถ เมรี น่าจะมีต้นเค้าจากชาติอื่นที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับไทยในอดีต





วรรณคดีเก่าสุดที่อ้างถึงพระรถ เมรี คือนิราศหริภุญไชย (แต่งราว พ.ศ. 2060) ฉบับเชียงใหม่ดังนี้
กังรีนิราศร้าง รถเสน
หวานหว่านในดินเดน ด่านน้ำ
นางยักษ์ผูกพันเวร มรโมด วันนา
อันพี่พลัดน้องช้ำ เร่งร้ายระเหระหน


แต่ในกรุงศรีอยุธยาแต่งเป็นละคร, กาพย์ขับไม้, ฯลฯ จนถึงยุคต้นกรุงเทพฯ มีแต่งเป็นบทร้องมโหรี, นิราศ เรียกพระรถนิราศ, นิทานกลอน, จนถึงมีภาพเขียนแบบตะวันตกด้วย
นิทานเรื่องพระรถ เมรี แพร่หลายในหมู่ลาวสองฝั่งโขง แม้ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปอยู่ อ. พนัสนิคม (จ. ชลบุรี) กับ อ. พนมสารคาม, และ อ. ราชสาส์น (จ. ฉะเชิงเทรา) ยังบอกเล่าเรื่องพระรถ เมรี ผูกกับสถานที่ต่างๆที่นั่นด้วยจนทุกวันนี้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.sujitwongthes.com
ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท


ชาวลาวเวียง




ชาวลาวเวียง คือ ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ ในช่วงสงครามตีเมืองเวียงจันทน์ของกองทัพสยาม ตั้งแต่สมัยธนบุรี - ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ฝ่ายไทยยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ครอบครัวเชลยชาวลาวเวียงจันทน์ถูกกวาดต้อนเข้ามาไทยในการตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ 1 ปีพ.ศ. 2321 จากนั้นถูกกวาดต้อนเข้ามาอีกในการตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2335 และถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นครั้งที่ 3 ปีพ.ศ. 2369 - 2371 แต่ในสงครามตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ 3 เมื่อปีพ.ศ. 2369 - 2371 กองทัพสยามได้กวาดต้อนผู้คนทั้งหมดในเขตเมืองเวียงจันทน์เข้ามาฝั่งไทย จนเวียงจันทน์ถึงกับเป็นเมืองร้างผู้คน
การตีเมืองเวียงจันทน์มีทั้งหมด 3 ครั้งคือ




1. การตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ 1 ปีพ.ศ. 2321 (ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี) หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงขุ่นข้องหมองใจกับ "เจ้าสิริบุญสาร" ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ เนื่องจากเจ้าสิริบุญสารช่วยเหลือพม่าในการตีกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเจ้าสิริบุญสารได้ผิดใจกับคนลาวด้วยกันคือ พระวอและพระตา ที่อยู่ในความคุ้มครองของธนบุรี
หลังจากที่ตีและเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้แล้วก็จึงกวาดต้อนครอบครัวเชลยศึกชาวเมืองเวียงจันทน์หลายหมื่นครัวเรือน ประมาณ 100,000 คน ข้ามแม่น้ำโขง มาอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี จันทบุรี และบางยี่ขัน ในบรรดาชาวเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาก็มีโอรสของเจ้าสิริบุญสารรวมอยู่ด้วย 3 พระองค์ คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์
2. การตีเมืองเวียงจันทน์ครั้ง 2 ปี พ.ศ. 2335 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ) เจ้านันทเสนผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกทัพไปตีเมืองพวนและเมืองแดง พร้อมกวาดต้อนครอบครัวลาวพวนและลาวทรงดำ มาถวายเพื่อแลกเปลี่ยนกับครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ที่อยู่ในไทย แต่รัชกาลที่ 1 ทรงไม่ประทานให้และทรงปลดเจ้านันทเสนออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับทรงยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์กวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทน์เข้ามาในหัวเมืองชั้นในอีก




3. การตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ. 2369 - 2371 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3) เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงเทพ ได้ยกกองทัพเมืองเวียงจันทน์และกองทัพเมืองจำปาศักดิ์เข้ามายึดเมืองโคราช(นครราชสีมา) พร้อมกับยกกองทัพมากวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ในสระบุรีกลับคืนไปยังเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ยกกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ แล้วกองทัพสยามก็ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง การกวาดต้อนชาวลาวเวียงครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ชาวลาวเวียงถูกกวาดต้อนมา ซึ่งอาจมีครอบครัวเชลยศึกชาวลาวเวียงหลายแสนคนถูกกวาดต้อนมา และถูกจับแยกกันให้ไปอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย เพื่อง่ายแก่การปกครองและเพื่อไม่ให้ชาวลาวเวียงรวมกลุ่มกันได้




กองทัพสยามได้นำพาครอบครัวเชลยลาวเวียง ชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงและแบ่งแยกให้ไปอาศัยอยู่ตามที่สถานที่ต่างๆ ดังนี้
(1) จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์(หัวเมืองเขมรป่าดง) การยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ จำปาศักดิ์จนได้รับชัยชนะ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์มาเป็นจำนวนมาก มาอยู่ที่ ต.สิ ,ต.ขุนหาญ ต.ห้วยจันทน์ อ.ขุนหาญ ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ ,บ้านตาอุด บ้านโสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ส่วนในจังหวัดสุรินทร์มีชาวลาวเวียงในเขตเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ
(2) จังหวัดสระบุรี ซึ่งน่าจะมีชาวลาวเวียงจันทน์เยอะที่สุด เพราะถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สงครามตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแรกในสมัยธนบุรี ชาวลาวเวียง คือชาวลาวจากเวียงจันทน์ ปัจจุบันมีอยู่มากที่อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ ลาวแง้ว คือชาวลาวที่มาจากชนบทชานเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันอยู่ที่บ้านตาลเสี้ยน บ้านหนองระกำ อำเภอพระพุทธบาท และบางหมู่บ้านในอำเภอหนองโดน


(3) จังหวัดลพบุรี มีชุมชนชาวลาวเวียงในลพบุรี แต่ถูกเรียกว่า "ลาวแง้ว" เพราะชาวลาวแง้วมาจากเขตชานเมืองเวียงจันทน์
(4) จังหวัดราชบุรี ไทยลาวตี้ หรือไทยลาวเวียง เป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองราชบุรี(จริงๆแล้วถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึก) ตั้งแต่สมัยธนบุรีตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เขาแร้ง อำเภอเมือง ฯ บ้านฆ้อง บ้านบ่อมะกรูด บ้านเลือก บ้านสิงห์ บ้านกำแพงเหนือ บ้านกำแพงใต้ บ้านดอนทราย บ้านหนองรี บ้านบางลาน อำเภอโพธาราม บ้านดอนเสลา บ้านหนองปลาดุก บ้านหนองอ้อ บ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง บ้านนาสมอ บ้านสูงเนิน บ้านทำเนียบ บ้านเกาะ บ้านหนอง บ้านเก่า บ้านวังมะเดื่อ อำเภอจอมบึง
(5) จังหวัดในแถบภาคตะวันออกมีชุมชนชาวลาวเวียงกระจายกันอยู่ทั่วไป เช่น นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา อ. พนัสนิคม จ.ชลบุรี




(6) จังหวัดอ่างทองและอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ก็มีชุมชนลาวเวียงเช่นกัน
(7) จังหวัดเพชรบุรี มีชุนชนลาวเวียงบ้านสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
(8) จังหวัดสุพรรณบุรี มีชุมชนลาวเวียงในเขต อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
(9) บางกอก หรือ กรุงเทพมหานคร ชาวลาวเวียงที่ได้ถูกนำเข้าไปอยู่ในเขตพระนคร ส่วนใหญ่จะเป็นขุนนางที่มีการศึกษาหรือไม่ก็เชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ทั้งหลาย ในสมัยรัชกาลที่4 ชาวบางกอกนิยม "แอ่วลาว" หรือ "เล่นแคน" กันมากจนต้องสั่งห้ามไม่ให้ชาวบางกอกเล่นแคนในเขตพระนคร ชาวลาวเวียงในเขตพระนครก็ได้เข้ารับราชการและเป็นใหญ่เป็นโตมากมาย เช่น พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย



นอกจากมีชาวลาวที่เข้ามาอยู่เมืองไทยโดยการกวาดต้อนแล้ว ก็ยังมีชาวลาวที่สมัครใจอพยพมาอยู่เมืองไทยอีกส่วนหนึ่งด้วยคือ
ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอินทอาษา ชาวเมืองเวียงจันทน์ ได้พาชาวเมืองเวียงจันทน์ที่ไม่เข้าด้วยเจ้าอนุวงศ์มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงโปรดเกล้าฯให้ชาวลาวไปตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่า"บ้านแดนป่าพระรถ" ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานนามว่า "พนัสนิคม" และให้พระอินทอาษาเป็นผู้สำเร็จราชการ คนพนัสนิคมปัจจุบันจึงเป็นเชื้อสายของคนลาวที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ครั้งนั้น



คนลาวชอบเล่านิทานพระรถเมรี
นิทานเรื่องพระรถ-เมรี เป็นเรื่องราวที่มาจากปัญญาสชาดกที่คนลาวในภาคอีสาน เขมร และทางเหนือของไทยชอบเล่ากัน เมื่อคนลาวมาอยู่ที่พนัสนิคมแล้ว เรื่องพระรถจึงตามมาด้วย ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ใน อ.พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และที่ อำเภอราฃสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงมักตั้งตามชื่อเรียกในนิทาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dooasia.com/chonburi/059k014.shtml









ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น