ประวัติพระวิปัสสนาจารย์ พระคันธสาราภิวงศ์
พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร (ศุภสถาพร)
อายุ ๕๒ ปี พรรษา ๓๑ วิทยฐานะ น.ธ.เอก, ป.ธ. ๙, ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, เจติยังคณะ คณวาจกธรรมาจริยะ และสาสนธชธรรมาจริยะ (เทียบเท่า ป.ธ. ๙ ของประเทศไทย) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
บรรพชา
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 เมื่ออายุ 12 ปี ณ จิตตภาวันวิทยาลัยพัทยา โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เป็นอุปัชฌาย์
อุปสมบท
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง โดยมีพระธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ เป็นอุปัชฌาย์
วิทยฐานะ
พ.ศ. 2516 สำเร็จประถมศึกษาปีที่ 5
พ.ศ. 2522 สอบได้ชั้นโสตุชนปันติ (ชั้นนักศึกษา) วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
พ.ศ. 2527 เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศเมียนม่าร์ โดยพำนักอยู่ที่วัดวิสุทธาราม จังหวัดแปร(prome) 7 ปี และ วัดวิสุทธารามจังหวัดมันดเลย์ 3 ปี
พ.ศ. 2529 สอบได้ชั้นพื้นฐาน ของรัฐบาลพม่า (เกียรตินิยมของภาค)
พ.ศ. 2530 สอบได้ชั้นนักศึกษา ของสมาคมพุทธสาสนานุเคราะห์ จ.แปร (เกียรตินิยม)
พ.ศ. 2531 สอบได้ชั้นนักศึกษา ของสมาคมเอกชนเจติยังคณะ ประเทศเมียนม่าร์ (สอบได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ)
พ.ศ. 2534 สอบได้ ธรรมาจริยะ ของสมาคมเอกชนเจติยังคณะ ประเทศเมียนม่าร์ ได้รับเกียรติบัตรเป็น เจติยัง คณะคณวาจกธรรมาจริยะ (เกียรตินิยมอันดับ 2 ของประเทศ)
พ.ศ. 2535 สอบได้ ธรรมาจริยะ ของรัฐบาลพม่า ได้รับเกียรติบัตรเป็น สาสนธชธรรมาจริยะ
พ.ศ. 2547 สอบได้ ป.ธ .8
พ.ศ. 2556 สอบได้ ป.ธ.9 และ สำเร็จปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เกียรติคุณ
เข็มเชิดชูเกียรติวิปัสสนาจารย์ ถวายเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี สถาปนายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543
เกียรติบัตรในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นสาขาพระพุทธศาสนา มูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
เสาเสมาธรรมจักร ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือพระพุทธศาสนา วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2550
ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550
ผลงานเขียนหนังสือ
ฝ่ายอภิธรรม
1. อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี (แปล)
2. พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์ และประวัติคัมภีร์สัททาวิเสส
3. สัจจสังเขป (แปลและอธิบาย)
4. อภิธัมมาวตาร (แปลและอธิบาย)
5. อัฏฐสาลินี (แปลและอธิบาย)
ผลงานฝ่ายพระสูตร
6. เนตติปกรณ์ (แปลและอธิบาย)
7. เนตติอรรถกถา (แปลและอธิบาย)
8. เนตติฏีกา (แปลและอธิบาย)
ผลงานฝ่ายพระวินัย
9. สารัตถทีปนี มหาวรรค (แปลและอธิบาย)
10. สารัตถทีปนี จูฬวรรค และปริวารวรรค (แปลและอธิบาย)
11. กังขาวิตรณี เล่ม 1 (แปลและอธิบาย)
ผลงานวิปัสสนา
12. สติปัฏฐาน ทางสายเดียว
13. การเจริญสติปัฏฐาน
14. ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
15. วิปัสสนานัย เล่ม 1 (แปล)
16. วิปัสสนานัย เล่ม 2 (แปล)
17. อานาปานทีปนี (แปล)
18. โพธิปักขิยธรรม
19. มหาสติปัฏฐานสูตร (แปล)
20. ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (แปล)
21. ปฏิจจสมุปบาท (แปล)
22. นิพพานกถา (แปล)
23. ส่องสภาวธรรม
ผลงานฝ่ายหลักภาษา
24. สังวัณณนานิยาม และสาธนะในกิต์ก
25. พาลาวตาร (ปริวรรต)
26. กัจจายนสารมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งกัจจายนสาระ)
27. สังวัณณนามัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งสังวัณณนา)
28. คันถาภรณมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งคันถาภรณะ)
29. ถาม-ตอบคัณฐิบทในคัมภีร์ปทรูปสิทธิ
30. วฤตตรัตนากร (แปล)
31. วุตโตทยมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งวุตโตทัย)
32. สุโพธาลังการมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งสุโพธาลังการ)
33. ปทสังคหะ (ปริวรรต)
34. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 1 สันธิ, นาม, การก)
35. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 2 สมาส)
36. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 3 ตัทธิต)
37. ฉันท์ 4 ฉบับ (ปริวรรต)
ผลงานฝ่ายปกิณกธรรม
38. พระปริตรธรรม
39. ทารุกขันโธปมสูตร (แปลจาก Parable Of The Log)
40. นมักการะ
41. มหาปณามะ (แปล)
42. เตลกฏาหคาถา (แปล)
43. เมตตาภาวนา
44. คุณธรรมของคนดี
45. พรหมวิหาร 4
46. ปัชชมธุ (แปลและอธิบาย)
47. ชินาลังการ
48. คำอธิบายเมตตปริตร
49. ปรองตองประคองมิตร
50. บทสวดอุปปาตสันติ (แปลและอธิบาย)
51. ประกายส่องใจ
52. เมตตา
* 53. พรหมวิหาร (แปลและอธิบาย)
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.wattamaoh.org/home/wattamaoh/master-history-2
วัดท่ามะโอ
ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้น ปี พ.ศ.2437 (จ.ศ.1256)
ประวัติวัดท่ามะโอ
วัดท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 อุบาสกชาวพม่าชื่อ “อูจันทณ์โอง” เป็นผู้สร้าง มีประวัติย่อต่อไปนี้
ในรัชการพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี มีอุบาสกชาวพม่าชื่ออูจันทร์โองได้เข้ามาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าไม้ในจังหวัดลำปาง
อุบาสกอูจันทร์โองเป็นผู้นับถือและเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมั่นคง สมบูรณ์ด้วยศรัทธาปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนา ได้บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินในบริเวณท่ามะโอ ริมแม่น้ำวัง สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 (ตรงกับ จ.ศ. 1256) เมื่อสร้างวัดขึ้นแล้ว ก็ได้สร้างถาวรวัตถภายในวัดคือ กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ วัจจกุฏิ บ่อน้ำ โรงพระอุโบสถและกำแพงก่ออิฐ ได้อุปถัมภ์พระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในวัดด้วยปัจจัย 4 เป็นประจำเสมอมา เมื่อท่าถึงแก่กรรมแล้ว บรรดาบุตรหลานของท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดและพระภิกษุสามเณรสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้
ชื่อของวัดนี้ เรียกตามคำบาลีว่า “มาตุลุงคติตถาราม” เรียกตามภาษาไทยว่า “วัดท่ามะโอ” เพราะอาศัยท่ามะโอหรือท่าส้มโอ คำว่า “วัด” ตรงกับคำบาลีว่า “อาราม” คำว่า “ท่า” ตรงกับคำบาลีว่า “ติตถะ” คำว่า “มะโอ” ตรงกับคำบาลีว่า “มาตุลุงคะ” คำทั้ง 3 คือ อารามะ, ติติถะ, มาตุลุงคะ เมื่อสับเปลี่ยนคำหน้าไปไว้หลัง สับเปลี่ยนคำหลังมาไว้หน้า ก็สำเร็จรูปเป็น “มาตุลุงคติตถาราม” แปลว่า “วัดท่ามะโอ
ลำดับเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ
รูปที่ 1 ท่านพระอาจารย์ อู นันทิยะ ถึงมรณภาพปีใดไม่ปรากฏ
รูปที่ 2 ท่านพระอาจารย์ อู ติกขะ ถึงมรณภาพปีใดไม่ปรากฏ
รูปที่ 3 ท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ อัคคมหาบัณฑิต ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509
รูปที่ 4 ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ธัมมาจริยะ ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ที่ 5 กรกฏาคม 2555
รูปที่ 5 ท่านพระอาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์
สำนักเรียนบาลีใหญ่ที่วัดท่ามะโอ
เมื่อ พ.ศ 2509 ท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ เจ้าอาวาสรูปที่ 3 ได้ขอท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ต่อสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า เพื่อมาอยู่วัดท่ามะโอ สภาพุทธศาสนาได้อนุมัติและได้แจ้งให้ทางวัดโพธารามทราบ ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ได้เดินทางจากวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2508 และถึงวัดท่ามะโอโนวันเดียวกัน เมื่อท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ ถึงมรณภาพแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดท่ามะโอ และได้ตั้งโรงเรียนปริบัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=38793
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ปีนี้ พลอยโพยมได้เข้าปฎิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ศูนย์ 2 จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 8-16 มิถุนายน ก่อนเข้าปฎิบัติ เพื่อนร่วมคณะในมหาวิทยาลัยโทรมาชวนไปงานเลี้ยงรุ่น คณะบัญชี จัดที่โรงแรมมณเฑียร วิเวอร์ไซด์ ที่ไปมาคราวที่แล้ว สนุกสนานจนลืมเวลา มีconcept น่าสนุกสนาน คือให้ใส่ชุดนิสิต ปีที่ 1 ไปงาน (แต่ไม่บังคับ) ความอยากไปเต้นระริกในหัวใจ แต่พลอยโพยมก็เลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมไปเพื่ออนาคตไปเพื่อทำวันนี้ปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เก็บเกี่ยวผลบุญกุศลไว้ชาติหน้า การไปงานสังสรรค์ศิษย์เก่าเป็นการถอยหลังกลับสู่อดีต มีความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นกิเลศโลภะคือความอยากเป็นตัวนำ
หลักสูตรนี้พระวิปัสสนาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์ เดินทางจากวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางมาสอนให้ผู้เข้าปฎิบัติธรรม
เมื่อคราวปฏิบัติธรรมเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อต้นปีนี้พลอยโพยมได้รับคำชักชวนจากกัลยาณมิตรในที่ปฏิบัติธรรมชักชวนไว้ให้มาปฏิบัติในหลักสูตรนี้ มีคนตกลงใจเข้าปฎิบัติเป็นครั้งแรกกับพระอาจารย์หลายคนทีเดียว
พอพบพระอาจารย์ก็ผิดคาดที่วาดภาพไว้ เพราะพลอยโพยมรู้จักชื่อท่านว่าเป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้มากเขียนหนังสือธรรมะมากมายเป็นหนังสือยาก ๆ หลวงพี่อโณทัยมีหนังสือธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ 10 กว่าเล่ม พอรับกรรมฐานเสร็จ ฟังพระอาจารย์ปฐมนิเทศวิธีปฎิบัติแล้วก็ทึ่ง พระอาจารย์เป็นพระอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน ที่สำคัญดูท่านอ่อนเยาว์กว่าอายุในประวัติมาก
ท่ากราบสติปัฏฐานที่แตกต่างจากที่เคยกราบมาหลายปี ท่าเดินจงกรมที่ดูแปลกตาจากการปฐมนิเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจก่อนเข้าปฏิบัติคือเราจะปฎิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์อย่างไม่ลังเลสงสัย ท่านให้ทำอย่างไรก็จะก้มหน้าก้มตาปฏิบัติ แล้วก็ค่อย ๆ เห็นผลของการเป็นคนว่านอนสอนง่าย
พลอยโพยมเดินจงกรมติดต่อกันสองชั่วโมง ไม่เมื่อย ไม่เหนื่อย ไม่ล้า ไม่ตัองมีการหยุดกำหนดในใจว่าเหนื่อยหนอเลย สภาวะการรับรู้เดินสามจังหวะได้รับรู้สภาวะเท่าการเดิน 6 จังหวะ
การกราบพระที่ไม่รู้สึกว่าเป็นมือเป็นแขนเป็นนิ้ว รู้อีกทีเวลามีการสัมผัสระหว่างกัน
การฟังธรรมที่ได้รับความรู้อีกมากมาย
8 วันของการปฏฏิบัติ ผ่านไปรวดเร็วจนถึงวันสุดท้าย
ในวันสุดท้ายมีการให้ผู้ปฎิบัติธรรมแสดงความรู้สึก มีผู้เข้าปฎิบัติสรุปถึงพระอาจารย์ว่า
1. ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ทัศนะคติและอารมณ์เป็นบวกตลอดเวลา
2. ท่านเก๋งทั้งบุ๋นและบู๊ แสดงธรรมที่เอื้อต่อการปฎิบัติ เรื่องยากพูดให้เข้าใจง่าย
3. ท่านใช้หลักความพอดี พอดีสำหรับผู้เข้าปฎิบัติธรรม จึงไม่มีผู้เข้าปฏิบัติธรรมคนใดเครียด เหนื่อย และล้้าเลยสักคนเดียว ท่านให้ผู้เข้าปฏิบัติธรรมปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาตลอดทั้ง 8 วัน ผู้เข้าปฎิบัติประยุกต์การปฏิบัติให้เข้ากันกับตัวเอง และเอื้อที่ตนเองจะก้าวหน้าในการปฏิบัติ ผู้ปฎิบัติต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการปฎิบัติธรรม
ท่านไม่ห้ามผู้ปฏิบัติต้องลืมความรู้เก่า วางความรู้เก่า ท่านจะเน้นว่าอะไรที่เด่นชัดก็ให้ใช้วิธีการนั้น เมื่อไปสอบอารมณ์และผู้ปฏิบัติเกิดสภาวะธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติแบบเดิมที่เคยปฏิบัติมา หากสภาวะชัดเจนมากท่านก็ให้พิจารณาตามที่เคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่เมื่อสภาวะนั้นคลายไปแล้ว ก็ต้องใช้วิธีการของพระอาจารย์
ผู้เข่้าร่วมปฎิบัติธรรมมีผู้สูงวัย ระดับ อายุ 84 ปี 80 ปี 70 ปีขึ้นไป 60 ปี ขึ้นไป นับแล้วเกือบยี่สิบคนได้กระมังจากจำนวนผู้เข้าปฏิบัติธรรมทั้งหมด 79 คน เป็นผู้ไม่เคยปฏืบัติกับพระอาจารย์มาก่อนเลย 50 คนเศษ
นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงวิธีการปฏิบัติของท่านได้ดี ( การกราบพระ และนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติแม้นั่งเก้าอี้ ก็ได้รับรู้สภาวะเท่ากับนั่งกับพื้น และจะนั่งได้ดีไม่มีเวทนารบกวนนัก เหมาะกับการเจริญเมตตาภาวนา หรือเจริญพุทธคุณมาก)
แต่ทั้งนี้ พระอาจารย์ท่านจะเน้นวิธีการกราบพระ และเดินจงกรม ให้ใช้วิธีของท่าน
พลอยโพยมตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง นับว่าก็ได้มีโอกาสอีกครั้งที่ได้สะสมผลบุญ เป็นเนื้อนาบุญต่อไปภายภาคหน้า ในภพชาติต่อไป จึงขอน้อมนำจิตส่งผลบุญกุศลที่ได้ไปทำทาน ถือศีล 8 และภาวนา ตลอด 8 คืน 9 วันในครั้งนี้มายังท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ท่านน้อมนำจิต อนุโมทนารับบุญกุศลของพลอยโพยมในครั้งนี้ด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ
ขอเพิ่มเติมประวัติส่วนตัวของพระอาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์
พระัอาจารย์เล่าว่า
โยมพ่อของท่านชื่อก๊กคุณ แซ่เฮ่ง เป็นชาวไหหลำจากจีนแผ่นดินใหญ่แต่เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เรียนหนังสือเก่งจึงได้ทุนไปเรียนแพทย์ที่ฮ่องกงจนจบเป็นศัลยแพทย์ เมื่อเรียนจบได้ไปทำงานที่เมืองงจีน จนพบและสมรสกับโยมแม่ ชื่อมังหวั่น แซ่ตัน เมื่อแต่งงานได้ไม่นานเมืองจีนก็เกิดสงครามทั้งสองท่านจึงมาอยู่เมืองไทยและสร้างครอบครัวในเมืองไทย
พระอาจารย์เกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน มีพี่สาว 4 คน พี่ชาย 1 คนอยู่พระโขนง เมื่อพระอาจารย์อายุเพียง 3-4 ขวบ โยมพ่อท่านก็สิ้นบุญในขณะอายุเพียง 50 ปีเศษ
เมื่อพระอาจารย์อายุได้ 12 ขวบ พี่สาวเห็นว่าท่านซนและดื้อเพราะเป็นลูกคนสุดท้อง ใคร ๆ ก็ตามใจ จึงจัดให้ท่านบวชเป็นสามเณรในช่วงปิดภาคฤดูร้อนที่จิตตภาวันวิทยาลัย ที่พัทยา โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาสตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ติดใจชอบเรียนภาษาบาลีและอภิธรรมมาก จึงขออนุญาตโยมแม่ขอไม่สึกเพราะอยากบวชเรียนต่อ โยมแม่ท่านก็อนุญาต
ภาษาบาลีที่เรียนที่จิตตภาวันวิทยาลัยนั้นเป็นภาษาบาลีน้อย ตอนนั้นภาษาบาลีใหญ่สูญไปจากเมืองไทยได้ประมาณ 70 ปีแล้ว หลวงพ่อกิตติวุฒโฒ ได้ส่งพระอาจารย์ไปเรียนภาษาบาลีใหญ่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อธัมมานันทะมหาเถระ ธรรมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จนจบขั้นโสตุชนปันติ (ชั้นนักศึกษา) ที่วัดท่ามะโอตอนอายุ 18 ปี
ท่านอาจารย์ได้ส่งพระอาจารย์ไป้เรียนต่อที่ประเทศพม่า เมื่ออายุ 21 ปี พระอาจารย์อุปสมบทที่วัดสาสนยิตตา จังหวัดย่างกุ้ง โดยมีท่านอาจารย์มหาสีสยาดอ (พระโสภณมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระแห่งวัดท่ามะโอเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีฉายาว่า พระคันธสาโร (แปลว่าผู้เปรียบดังไม้จันทร์หอม) พอบวชแล้วก็รับการอบรมวิปัสสนากรรมฐานกับท่านอาจารย์สุชาตมหาเถระรองเจ้าอาวาสวัดสาสนยิตตาจนครบ 3 เดือน วีซ่าหมดจึงกลับประเทศไทย
เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้อุปสมบทใหม่อีกครั้งที่วัดท่ามะโอโดยมีหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ กลับมาอยู่เมืองไทยได้ 3 ปี จึงกลับไปเรียนที่พม่า ขณะอายุ 24 ปี (พ.ศ. 2528)
เมื่อไปเรียนที่พม่าใหม่ ๆ ท่านไม่รู้ทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ ต้องสื่อสารกันด้วยภาษาบาลีอย่างเดียวเป็นปี ๆ กว่าจะเริ่มใช้ภาษาพม่าได้คล่อง มีเรื่อง ขำ ๆ เกิดอยู่เนือง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระอาจารย์มีโอกาสจะได้เข้าพบอธิบดีกรมการศาสนาของพม่า ก็ไม่รู้จะกล่าวทักทายท่านเป็นภาษาพม่าว่าอย่างไร ปรึกษาคนพม่าที่สนิทกัน เขาก็สอนมาประโยคหนึ่ง โชคดีที่พระอาจารย์สังเกตเห็นว่าคนสอนดูจะยิ้มกริ่มเกินปกติก็เลยเพียงแต่จดจำประโยคเหล่านั้นเอาไว้โดยมิได้นำไปกล่าวทักทายท่านอธิบดีอย่างที่ตั้งใจ นับเป็นโชคดีจริง ๆ เพราะมารู้เอาทีหลังว่าภาษาพม่าประโยคนั้นแปลว่า "สวัสดีท่านพ่อตา"
การศึกษาครั้งนี้พระอาจารย์เรียนอยู่ที่วัดวิสุทธารามพราณสี จังหวัดแปร
โยมแม่ของท่านสิ้นชีวิตในขณะที่ท่านยังศึกษาอยู่ที่ประเทศพม่าเมื่ออายุ 72 ปี
จากแปร พระอาจารย์ไปศึกษาภาษาสันสกฤต และภาษาาอังกฤษต่ออีก 3 ปีที่จังหวัดมันดเลย์โดยพำนักที่วัดวิสุทธาราม ชเวโบงโวง มันดเลย์ จนอายุได้ 34 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2538
ตอนเตรียมตัวกลับเมืองไทย พระอาจารย์รวบรวมหนังสือตำราต่าง ๆ ทั้งตำราธรรมะ วิปัสสนากรรมฐาน ประวัติศาสตร์ อรรถกถา ฎีกาฉบับพม่า และตำราภาษาบาลีพม่า รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 3,000 เล่ม เพื่อนที่วัดท่ามะโอ บอกพระอาจารย์บอกว่าตอนไปขนหนังสือขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ต้องใช้รถหกกล้อขนหนังสือ
เมื่อกลับมาเมืองไทย พระอาจารย์ก็ช่วยแบ่งเบาภาระของหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระ วัดท่ามะโอ โดยเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายการศึกษาของวัดท่ามะโอ พร้อม ๆ กับเริ่มงานด้านการเขียน และแปลหนังสือไปด้วย
พระอาจารย์ได้สร้างอาคารปฏิบัติธรรม "อาคารภาวนามัญชรี " ในปี พ.ศ.2547
ในปี พ.ศ.2551 สร้างอาคารปฏิบัติธรรม "อาคารภาวนาวัลลรี"
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพจาก
"หนังสือที่ระลึกในพิธีฉลองและมุทิตาสักการะ
แด่พระคันธสาราภิวงศ์ สาสนธรรมาจริยะ
เจติยังคณะ คณวาจกกรรมมจริยะ
ครูสอนธรรมผู้เป็นธงชัยแห่งพระศาสนา"
http://www.wattamaoh.org/home/forum/index
นมัสการท่านเจ้าอาวาส ผมเป็นคนท่ามะโอ ผมเคยบวชพระที่ท่านอาจารย์ธรรมานันทะเป็นพระอุปัชฌาย์ สมัยปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และย้ายไปจำพรรษที่วัดป่าฝาง ผมอยากให้นำรูปภาพเก่าของวัดท่ามะโอมาลงให้มากๆครับ ทำให้คิดถึงอดีตซึ่งผมไม่มีรูปเก่าๆเก็บไว้เลย เสียใจที่ท่านหลวงพ่อธรรมานันทะท่านมรณะภาพ ซึ่งผมก็ไม่มีโอกาสได้ไปกราบท่าน ปัจจุบัน ผมทำงานที่จังหวัดนนทบุรีครับ ก็ ๑๗ ปีมาแล้ว
ตอบลบพลอยโพยมได้กราบนมัสการส่ง Link บทความนี้และความคิดเห็นของคุณชาญชัย กราบเรียนพระอาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์ ให้แล้ว ส่งกำลังใจให้คุณได้มีโอกาสก็กลับไปเยี่ยมวัดท่ามะโอ และมีโอกาสเข้าปฏิบัติธรรมแบบฆราวาสพลอยโพยมเองเพิ่งบวชพระลูกชายและพระหลานชายพร้อมกัน 2 องค์ขณะนี้กำลังปฏิบัติธรรมอยู่กับพระอาจารย์ที่วัดท่ามะโอค่ะ ร่วมอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ กันค่ะ
ตอบลบยังมีหนังสือของ อ.สมลักษณ์อีกหรือไม่ หากมีจะขอรับได้ที่ไหน มีประโยชน์มาก
ตอบลบผม บวชเณร พร้อม ท่านสมลักษณ์ ปี 2516 และ อภิธรรม วัดเขาพุทธโคดม แต่ไป ลำปาง ท่ามะโอ ก่อนเล็กน้อย เรียนจบ รุ่นแรก และ กลับไปสอน บาลี ตามคำมั่นสัญญา ที่จิตตภาวัน
ตอบลบกราบ กตัญญู หลวงพ่อ ท่ามะโอ
นมัสการ พระมหาสมลักษณ์ สหธัมมิก
อยาก ชม ภาพ บรรยากาศ สมัย ไปเรียน ปี 2518
ขอบคุณมากครับ
ภิญโญ พ้องประพันธ์พร
ชื่นชมวัดท่ามะโอมากค่ะ
ตอบลบ