วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ฃลวิถี.....ที่บางกรูด 6.......
กบหนอง ภาพจาก http://pineapple-eyes.snru.ac.th
การออกจับกบในท้องนา
ในฤดูแล้ง กบจะขุดรูอยู่จำศีลไม่ออกมาหาอาหาร( พลอยโพยมคิดว่า ถ้าออกมาก็ไม่เจออาหาร และตัวกบเองอาจถูกแดดเผาตายเสียมากกว่า คงจะไม่ได้คืนกลับถึงรูที่กบอาศัยอยู่ นับได้ว่ากบนี้เป็นสัตว์ฉลาด)
เมื่อถึงฤดูฝน หลังฝนตกในเวลาหัวค่ำ บรรดา กบ เขียดและอึ่งอ่างก็จะพากันส่งเสียงระงม เซ็งแช่ ส่วนใหญ่จะส่งเสียงร้องกันตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่น
ก่อนที่ชาวนาจะเริ่มไถนาปลูกข้าวนั้นน้ำในท้องนาจะเริ่มเจิ่งนองตามปริมาณของฝนที่ตกสะสมกันมา กบที่จำศีลอยู่รู้ว่าออกมาหากินนอกรูได้แล้ว รวมทั้งเพื่อการขยายพันธุ์ประชากรกบด้วย กบพากันออกมาเริงร่ากับน้ำฝนหลังฝนตก ส่งเสียงกันทั้งกบ เขียด ทั้งอึ่งอ่าง ระเบ็งเซ็งแซ่ ถึงขั้นใช้คำว่าอึงอล ดังแซดกันเลยทีเดียว
สงสัยว่าจะเป็นเพราะ...ความที่จำศีลอยู่นานหลายเดือนตามช่วงเวลาหน้าแล้ง บรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้ ไม่ได้ส่งเสียงมานานหลายเดือนจึงพากันร้องอึงอื้อ สื่อความซึ่งกันและกัน บางคืนก็ส่งเสียงกันจนค่อนคืนเลยก็มี เสียงของอึ่งอ่างก็อึงมี่ไม่มียอมแพ้เสียงกบเชียวละ ...(เขียนแซวพวกสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกข้างต้นเท่านั้นเอง)
เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาและผู้อยู่ใกล้ทุ่งนาก็มีฤดูกาลออกจับกบเช่นกัน ตามคำยั่วยวน ชวนเชิญ ของบรรดาตัวคุณกบเอง
ว่ากันว่า โอ๊บ.. โอ๊บ... นั้นเป็นเสียงร้องของกบตัวผู้ ที่ส่งเสียงเรียกหานางสาวกบ หรือกบตัวเมีย แม้จะส่งเสียงกันตั้งแต่หัวค่ำ แต่นักหากบก็ยังไม่ออกไปจับกบ ต้องรอตอนดึกๆ เพราะในตอนดึก กบตัวเมียก็จะตกลงปลงใจเลือกคู่ยอมมาจู๋จี๋กับกบตัวผู้ที่หมายตาไว้ตั้งแต่หัวค่ำ นักจับกบจะสามารถจับกบได้ทีละคู่ๆ ซึ่งหากออกมาจับช่วงหัวค่ำก็จะได้กบทีละตัว ๆ นั่นเอง
เป็นเรื่องที่ พี่ๆ น้องๆ ผู้ชาย ในบ้านไม่ยอมพลาดโอกาสทองนี้เหมือนกัน ต่างชักชวนนัดหมายให้ออกไปร่วมด้วยช่วยกันจับกบเหมือนบ้านอื่นๆ พอถึงเวลาก็ขมีขมันจุดตะเกียงเจ้าพายุ (ซึ่งที่บางกรูดเรียกตะเกียงนี้ว่าตะเกียงอีด้า อันเป็นการเรียกชื่อของยี่ห้อตะเกียงเจ้าพายุนั่นเอง ) หรือตะเกียงแก๊ส หรือใช้ไฟฉายแปดท่อน (ต่อมามีไฟฉายใช้แบตเตอรี่ ซึ่งส่องสว่างได้ไกลกว่าไฟฉาย แปดท่อนมากจึงเปลี่ยนเป็นใช้ไฟฉายแบตเตอรี่แทน) ออกไปจับกบที่ท้องนาในตอนดึกๆ สะพายข้องติดตัวเอาไว้ใส่กบที่จับได้
เสียงกบที่ร้องดัง โอ๊บ.. โอ๊บ ...นั้น เป็นการบอกแจ้งตำแหน่งแห่งที่ของตัวกบเองซึ่งจะอยู่ไกลตัวคนออกไปจับมาก จึงต้องใช้ตะเกียงที่มีแสงสว่างส่องได้ระยะไกลมองหาตัวกบ กบที่จับได้จะได้เป็นคู่ๆ คือตัวผู้และตัวเมียพร้อมๆกัน ( ตัวผู้อยู่บน ตัวเมียอยู่ล่าง.....บาปซ้อนบาปนะนี่ที่ไปจับในช่วงเวลากบเขามีความสุขกันอยู่..โธ่เอ๋ย..มนุษย์ สุดแสนใจร้าย...แถมยังตัดวงจรลูกกบที่จะได้เกิดมาอีก )
เมื่อจะกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นภารกิจจับกบ เด็กผู้ชายจะเอาข้องใส่กบฝากไว้ที่บ้านน้านุ้ย ลูก ๆ ของน้านุ้ยจะช่วยกันสำเร็จโทษพร้อมทั้งลอกหนังให้ ก่อนเอากบมาส่งคืนให้ในตอนเช้า ส่วนใหญ่เอากบนี้มาผัดกระเพราและ ผัดขิง
(ในทางธรรม ถือว่า การใช้ให้คนอื่นฆ่า บาป เท่ากันระหว่างผู้ใช้... จ้างวาน.. และลงมือฆ่า.
คุณยายของพลอยโพยม ไม่รับประทานกบรวมถึงสัตว์ที่ท่านคิดว่าไม่น่าเกิดมาเพื่อเป็นอาหารอีกหลายอย่าง เช่น เป็ดไก่ วัว ควาย รับประทานเพียงเนื้อหมู กุ้ง ปูบางชนิด ปลาบางชนิด สัตว์บางชนิดเด็กๆต้องแอบทำข้างล่าง แอบกินกันเองในหมู่เด็กๆ)
(เสียงร้องของกบ - กบมักส่งเสียงร้องยามที่ฝนตก กบในภาษาไทยร้องว่า "โอ๊บ โอ๊บ" ภาษาเกาหลีร้องว่า "แค-กรู-แค-กรู" ภาษาจีน ร้องว่า "กวา กวา
กบ...ใช้เวลาประมาณ 6 วันหลังจากการปฏิสนธิ เอมบริโอจะเจริญเป็นลูกอ๊อด (tadpole) และสามารถหาอาหารกินเองได้
(จากวิกิพีเดีย)
อวนในภาพนี้เป็นอวนปากสี่เหลี่ยม ไม่ใช้ขอบสวิง และใฃ้ถังพลาสติก แทนลูกมะพร้าวผูกคู่อย่างในอดีต
การรอเคยกะปิในแม่น้ำ
อุปกรณ์ที่ใช้ คืออวน ปากสี่เหลี่ยม หรือสวิงรอเคย
ขอเล่าเฉพาะวิธีการที่ทำกันในบ้านของพลอยโพยม ซึ่งเลือกใช้สวิงรอเคย
เครื่องมือประกอบด้วย สวิงรอเคย ลำไม้ไผ่ ลูกมะพร้าวแห้งผูกเป็นคู่ๆ สมอเรือ เรือพายบางครั้งเป็นเรือมาดติดเครื่องยนต์ท้ายลำเรือสำหรับการออกไปลงสวิงและการไปกู้ เคยกะปิ
ในหน้าน้ำกร่อยจนถึงระดับเค็ม นอกจากการพายเคยกะปิในเวลาน้ำขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าบ้านแล้ว ยังมีวิธีการชาวบ้านๆ ที่ดักจับเคยกะปิได้อีกวิธีคือการใช้สวิงรอเคย เป็นสวิงปากกลมขอบไม้ไผ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตรครึ่ง เนื้ออวนสวิงเป็นไนลอนตาถี่ ยาวประมาณ 3 เมตร (ขนาดของสวิงเลือกตามใจชอบของผู้ใช้งานได้)
ใช้เชือกไนลอน ผูกขอบปากสวิงสามมุม แล้วมีเชือกเส้นที่สี่โยงจากจุดบรรจบของเชือกสามเส้นไปยังลำไม้ไผ่ ผูกยึดสวิงไว้กับลำไม้ไผ่รวมจำนวนสวิง 4 ปาก ต่อ 1 ลำไม้ไผ่ ที่กึ่งกลางลำไม้ไผ่ผูกตรึงด้วยเชือกโยงสมอเรืออีกหนึ่งเส้น ทิ้งสมอเรือฝังดินในบริเวณที่เลือกไว้ สมอเรือจะยึดสวิงทั้ง 4 ปากนี้ให้อยู่กับที่ (สวิงจะมีกี่ปากก็ได้ขึ้นกับขนาดของสมอเรือนั่นเอง) และมีเชือกอีก 1 เส้นปลายด้านหนึ่งผูกที่ขอบสวิงด้านบน อีกด้านของปลายเชือกผูกด้วยลูกมะพร้าวแห้ง สวิงปากละ 1 คู่ มะพร้าวแห้ง ( หรือบางบ้านใช้ ถังพลาสติก ก็ได้) กะระยะเชือกตรึงลูกมะพร้าวให้ลูกมะพร้าวลอยพ้นน้ำเป็นจุดสังเกตว่าปากสวิงอยู่ ณ จุดใด การนำสวิงลงน้ำต้องลงสวิงทีละปากโดยต้องมีความสมดุลของสวิงทั้ง 4 ปากนี้ด้วย การผูกเชือกทุกจุดต้องมั่นใจว่าแน่นหนา ในสมัยนั้นมีบางบ้านที่ผูกเชือกไม่แน่นดีสวิงก็หลุดลอยไป แต่ก็ยังตามคืนได้เพราะมีลูกมะพร้าวเป็นจุดสังเกตที่อยู่ของสวิงนั่นเอง
การรอเคยกะปินี้ จะทำกันเพียงวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงหัวน้ำขึ้นและช่วงหัวน้ำลง ( ยกเว้นเวลากลางคืน) โดยกลับทิศทางของปากสวิงรับกระแสน้ำที่ไหลขึ้นหรือไหลลง
ประมาณเวลาว่าน่าจะมีเคยเข้ามาในสวิงพอสมควรแล้ว ก็นำเรือออกไปกู้สวิงซึ่งต้องออกไปอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งนั้นพายเรือและกำกับเรือให้ไม่หมุนคว้างไปมาโดยนั่งอยู่ท้ายลำเรือ อีกคนอยู่กลางลำเรือดึงสาวลูกมะพร้าว ณ จุดบอกสถานที่สวิงขึ้นมา เมื่อจับขอบสวิงได้ ยกสวิงขึ้นบนเรือ โดยค่อยๆดึงและค่อยๆหมุนขอบสวิงเลื่อนขึ้นมาบนเรือ ไม่ใช่เอาสองมือยกปากสวิงขึ้นจากน้ำ (ถึงอยากยกท่านี้ก็ยกไม่ไหวอยู่ดี ) เพราะสวิงที่มีอวนทั้งใหญ่ทั้งยาวมีน้ำหนักมากเมื่ออยู่ในน้ำ จังหวะนี้เรือจะเอียงเข้าหาสวิง คนนั่งท้ายเรือต้องช่วยออกแรงขืนลำเรือไปด้านตรงข้ามด้วย เมื่อเลื่อนขอบสวิงขึ้นมาบนเรือได้แล้วจึงค่อยๆสาวอวน จนถึงก้นอวน คว่ำก้นอวนเทเคยกะปิ และอื่นๆ ลงในตะแกรงไม้ไผ่สาน แล้วปล่อยสวิงและลูกมะพร้าวคืนลงน้ำ ทำจนครบสวิงทุกปาก นำเรือกลับเข้าฝั่ง หลังจากกู้สวิงในแต่ละครั้งทำให้พอจะคำนวณระยะเวลาได้ว่าควรใช้เวลานานเท่าไรดีที่จะออกไปกู้สวิงรอเคยครั้งถัดไป
คราวน้ำขึ้นหรือคราวน้ำลงแต่ละคราวน้ำจะกู้สวิงจำนวนกี่ครั้งนั้น ขึ้นกับปริมาณของเคยกะปิที่กู้ได้ หากแต่ละครั้งที่กู้สวิงขึ้นมามีเคยมาก ต้องกู้สวิงโดยใช้ระยะเวลาถี่ขึ้น หากออกไปกู้สวิงแล้วได้เคยกะปิน้อยต้องทอดเวลาให้ห่างออกไป
ในตะแกรงไม้ไผ่สานมีทั้งเคยกะปิ กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด กุ้งกะเปาะ ปลา และลูกปลาต่างๆ หลายชนิดที่เป็นปลาน้ำกร่อย ปลาน้ำเค็มเช่น ปลาซิว ปลากะตัก ปลาแขยง ฯลฯเป็นต้น รวมทั้งศัตรูตัวร้ายคือแมงกะพรุนทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กรวมทั้งเศษผงต่างๆ
การกู้สวิงในช่วงน้ำลงมากๆ กระแสน้ำจะแรงมาก มีความยากลำบากในการกู้สวิงกว่า ช่วงน้ำขึ้น ยิ่งในบางครั้ง บางวัน มีพายุลมแรงเพราะมีพายุฝน แถมน้ำยังเชี่ยวแรงขณะกำลังกู้สวิงอยู่ในแม่น้ำก็ยิ่งลำบากขึ้นอีก ถือว่าเป็นการผจญภัยนิดหน่อยให้ระทึกใจกลางลำน้ำ แต่ไม่ถึงกับเกิดอันตรายแต่อย่างใด หากยังอยู่ริมฝั่ง แล้วเกิดพายุฝนลมแรง ก็จะระงับการออกไปกู้สวิง รอจนกว่าพายุ ฝนฟ้า สงบดีก่อนจึงจะนำเรือออกไปกู้สวิงใหม่
เมื่อกลับถึงบ้าน นำแตะแกรงไม้ไผ่สานที่ใส่เคยกะปินั้นลงลอยน้ำในแม่น้ำให้เศษผงและแมงกะพรุนออกไปจากตะแกรงก่อน แล้วจึงมาคัดเลือกสรรพชีวิตที่เหลือในตะแกรง สัตว์น้ำอื่นๆ ถือเป็นผลพลอยได้ประเภทของแถมจากเคยกะปิ
ต้องมีการจัดเก็บอุปกรณ์รอเคยทั้งหมดในแต่ละวันกลับบ้าน สำหรับวันใหม่ก็นำอุปกรณ์ทั้งหมดไปลงน้ำใหม่ หากรู้สึกว่าวันนี้รอเคยกะปิได้น้อยกว่าคนอื่นๆ อาจเป็นเพราะทิ้งสมอและสวิงรอเคยไม่ถูกร่องน้ำที่มีกระแสของเคยกะปิเคลื่อนที่ วันถัดไปอาจมีการขยับสถานที่ทิ้งสมอเรือ
เคยกะปิที่ได้เป็นเคยตาดำเพียงแต่ตัวเล็กกว่าเคยที่ได้จากการพายเรือริมฝั่ง แต่บางช่วงเวลาก็มีเคยตัวเล็กละเอียดสีดำที่ชาวบางกรูดเรียกว่าเคยนุ่นเข้ามาในบางคราวน้ำเหมือนกัน เป็นเคยที่ใช้ทำกะปิแล้วกะปิจะออกสีดำไม่น่ากิน ไม่กล้าแจกจ่ายให้ญาติ ๆ ด้วย ไม่เหมือนเคยกะปิทั่วๆไปที่แม่ค้าขายกะปิมักเชิญชวนคนซื้อว่า นี่เคยแม่น้ำนะจ๊ะ ราคาของเคยตาดำจากแม่น้ำและกะปิที่ทำเสร็จแล้วจะมีราคาแพงกว่ากะปิจากเคยอื่น ๆหรือเคยนุ่นตัวละเอียดฝอย มิหนำซ้ำยังทำกะปิได้เป็นเนื้อกะปิน้อยอีกต่างหาก
ช่วงการรอเคยกะปิจะเป็นช่วงปิดภาคเรียนใหญ่พอดี ทำให้รอเคยกะปิได้เกือบทุกวัน แต่เมื่อพี่ชายทั้งหลายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อน ก็ไม่มีการรอสวิงเคยกะปิกันอีก เพราะน้องชายก็ยังเล็กเกินไป คุณยายต้องสั่งซื้อเคยกะปิจากโพงพางมาทำกะปิ คุณพ่อของพลอยโพยมไม่ถนัดในการรอเคยหรือพายเคยกะปิ รวมทั้งต้องไปทำงานอีกประการด้วย
การทำกะปินี้ มีผลผลิตพลอยได้ที่เยี่ยมยอดมากอีกอย่างหนึ่งคือน้ำปลา ทั้งหัวน้ำปลาที่ใช้ขบวนการแปรรูปจากแสงแดดที่แผดกล้าทำให้ได้น้ำปลาดิบ ส่วนหางน้ำปลานั้นเป็นน้ำปลาที่ผ่านการต้มไฟ
สำหรับสัตว์น้ำทุกชนิด คงมีความรู้สึกว่า มนุษย์นั้นเป็นดังพญายม ยักษ์มาร หรืออสูรร้าย ของบรรดา กุ้ง ปู ปลา อีกทั้งกบด้วย
พลอยโพยมดีใจในการที่ต้องย้ายบ้านเรือนมาอยู่ที่ใหม่ ได้ตัดวงจรของบาปกรรมในสมัยเด็กๆ ไว้เพียงแค่นั้น แม้จะเป็นการจับสัตว์น้ำมาเพื่อการบริโภคในครอบครัว ไม่ได้เพื่อการขาย
ในวันนี้เมื่อมานึกย้อนเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเอามาเล่าสู่ท่านผู้อ่านถึง “กาลครั้งหนึ่งไม่นานนั้น ราวคืนวันผันผ่านเมื่อวานนี้ “ แล้ว เศร้าใจจริงๆมิได้เสแสร้งแกล้งเขียนให้ดูดี อย่าไปว่าปลาในเรื่องของปลาใหญ่ กินปลาเล็ก กินกุ้งน้อยเลย มนุษย์นี่แหละกินหมดทุกอย่าง ทั้งปลาใหญ่ กุ้งใหญ่ ปลาเล็ก กุ้งน้อย อีกทั้งกบทั้งปูด้วย แถมยังสรรหาวิธีการต่างๆมากมายเพื่อจับพวกเขามา ภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่างล้วนเป็นวิธีการหาทางสร้างบาปให้ตัวเองโดยแท้ ช่างเป็นเรื่องของบาปกรรม สร้างเวร สร้างกรรม จริงๆ
พลอยโพยม และพี่ๆน้อง ๆ ผู้ชาย สำนึกในบาปกรรมเหล่านี้ ก็ได้แต่เพียรพยายามเข้าปฏิบัติธรรมตามวาระโอกาสที่จะทำได้ เมื่อมาอยู่ที่แห่งใหม่ เราเคยเป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในบ่อดินอยู่หลายปี หลังจากเข้าปฏิบัติธรรมแล้วเราก็เลิกราการเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันบ่อดินเจ็ดสิบกว่าไร่ ที่เคยเลี้ยงสัตว์น้ำถูกทิ้งรกร้าง ปลูกแต่ไม้ป่ายืนต้นทดแทนตามคันบ่อ ส่วนบ่อนั้นว่างเปล่ามีแต่หญ้าขึ้นเต็มบ่อ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น