วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ลมประจำถิ่น....ปากอ่าวบางปะกง
ก่อนจะเล่าสู่ถึง วิถีชาวน้ำเมื่อห้าสิบปีก่อนที่ธรรมชาติได้จัดสรร สัตว์น้ำมาคลาคล่ำในลำน้ำบางปะกง ตรงบางกรูด และบริเวณชายฝั่ง บางกรูดในครั้งนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วย พรรณกุ้ง ปู และปลา ขอแทรกบทความเกี่ยวกับลมประจำถิ่น ซึ่งเป็นถิ่นของบางปะกงบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงที่ต่อเชื่อมกับอ่าวไทย ลมบางประเภท ไม่ได้ลึกเข้ามา ทำให้ คนแปดริ้วทั้งหมดไม่ได้รับรู้และสัมผัสก็จริงอยู่ แต่ ลมเหล่านี้ก็พัดหมุนเวียนตามฤดูกาลมาเนิ่นนาน ลมบางประเภท ก็พัดพามาหาสู่พวกเรารอบๆตัววันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า โดยที่บางคนก็ไม่รู้จักว่า เป็นลมประเภทใด ก็เลยขอนำภาพรวมของลมเหล่านี้มาเล่าสู่ ทั้งหมด
เริ่มต้นด้วยลม ในขณะปัจจุบันนี้คือลมตะวันออกพอดี เราเพิ่งผ่านเทศกาลงานบุญออกพรรษาไปเมื่อ 23 ตุลาคม ขณะนี้ กำลังอยู่ในเทศกาลงานบุญทอดกฐิน
ลมประจำถิ่น
ชาวบางปะกงได้สังเกตเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ได้เรียกชื่อ “ลมประจำถิ่น” ที่ง่ายต่อการจดจำของลูกหลาน เป็นภูมิปัญญาไทยไว้ด้วย
ทิศทางเคลื่อนของลมจะเปลี่ยนไปตามทิศทางการหมุนของเข็มนาฬิกาเลื่อนเวลาทิศทางการพัดพาไปตามฤดูถ้าลมเงียบแสดงว่าลมกำลังจะเปลี่ยนทิศทางใหม่
ลมตะวันออก
อีกชื่อเรียกลมบก หรือ ลมล่อง ลมนี้จะพัดราวออกพรรษาแล้วราวเดือนธันวาคม ถึงมกราคมจากทิศตะวันออกพัดมาพร้อมลมหนาว ใกล้ฝนจะหมดจะมีฝนชุดสุดท้าย (ฝนชะลาน) จะมีกุ้งเคยเข้าที่ปากอ่าว มีโลมา กางอวนกลางคืนในแม่น้ำและปากอ่าวไม่ออกทะเลลึก กุ้งตะกาด ลักษณะเป็นกุ้งตัวเล็กเปลือกแข็งปนเขียวเรื่อ ๆ พวกโป๊ะ พวกรั้วจะได้ผลผลิตจากทะเลจำพวกปลาทู ปลากระตัก จำนวนมาก
ลมเซิง
จะพัดราวหลังตรุษจีน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม พัดเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวกับฤดูร้อน ลมนี้จะพัดมาพร้อมกับฝนตกเล็กน้อยจากเขาทางด้านตอนบนแม่น้ำพร้อมชาวประมงก็จะเริ่มออกทะเลหาปลาตอนกลางวัน ได้กุ้ง ได้เคย กัน
ลมหัวเขา
จะพัดตอนบ่าย ๆราวเดือนเมษายน จากทางตะวันออกเฉียงใต้เข้าฝั่งตรงกับช่วงน้ำจืดน้อยชาวบ้านจะหาจับหอยกิน โดยเฉพาะช่วงน้ำลงบ่าย ๆ จนถึงหัวน้ำขึ้นและเคย กุ้ง ปลา เป็นเดือนที่หากินได้ตลอดเป็นฤดูที่ได้คราวละมาก ๆ ลมชนิดนี้จะมาเพียงระยะสั้น ๆ สลับไปมากับลมตะเภา
ลมตะเภา
อีกชื่อเรียก ลมเข้าอ่าวพัดเราเข้าบ้านทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทิศใต้ ลมนี้จะพัดราวช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน การออกทะเลชาวประมงจะทำกันเป็นร่ำเป็นสัน ทั้งโป๊ะ โดยเฉพาะกลางคืน ในอดีตอาชีพประมงในแม่น้ำถึงปากอ่าวจะใช้โพงพาง จะจับได้ปลาเล็กปลาใหญ่ทุกชนิดตลอดจนเคยที่ใช้ทำกะปิจะได้ดี
ลมสลาตัน
จะพัดจากตะวันตกเฉียงใต้เข้าฝั่งราว ๆ เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ช่วงเข้าพรรษาจะมีฝนตกชุก มีพายุตอนเย็น ๕-๖ โมงเย็น น้ำขึ้นเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำเริ่มจืด หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลมเรียกน้ำ ช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมลมพัดแรงมาก ชาวประมงไม่ค่อยได้ออกทะเล ออกๆหยุดๆ เนื่องจากลมแรง คนที่หากินด้วยโพงพางจะหยุด เคยจะมีน้อยมาก มีพวกกุ้งน้ำจืด กุ้งแห (ลักษณะเดียวกับกุ้งก้ามกรามแต่ตัวเล็กกว่า)
ลมตะวันตก
จะพัดราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนมาเพียงชั่วขณะหนึ่ง ก่อนออกพรรษาพัดจากทิศตะวันตกเข้าฝั่งมักจะมาพร้อมพายุแรง มาตอนกลางคืนหลัง ๔ ทุ่ม ประมงทะเลลึกจะออกหาปลาลำบาก เป็นช่วงที่คนเลี้ยงหอยแมลงภู่ตามกล่ำหอยจับหอยขายได้ แต่จำพวกปลาจะจับได้น้อย
ลมตะโก
ไม่มาบ่อย เป็นลมที่พัดออกจากฝั่ง จะมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะเดือนกันยายน – ตุลาคม ระยะก่อนออกพรรษา พัดพาพร้อมกับน้ำขึ้นมาก น้ำจากตอนบนของแม่น้ำจะเอ่อล้นในจังหวะที่ลมมา น้ำก็จะแรง กุ้งปลาจะไม่ค่อยมี
ลมว่าว
จะพัดหน้าหนาว ออกพรรษาแล้ว ราวเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงทางใต้ น้ำเค็มเริ่มเข้าปากอ่าวเริ่มทำประมงปากอ่าวและในแม่น้ำ โพงพางก็เริ่มทำได้ กุ้ง ปลา เคย ระยะนี้จะมีน้ำสอด
ลมอุกา
จะพัดมาจากอีสาน ไปทางทิศใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือน ธันวาคม เป็นลมพัดมาชั่วขณะหนึ่ง ไม่นานพัดจากฝั่งออกไป ในช่วงแดดออกจัด สีท้องฟ้าจะออกสีเหลือง บางคนเรียกลมพัดเหลือง หรือ อุกาฟ้าเหลือง พัดแรง เรือมักจะแล่นใบเข้าบ้านไม่ไหว ชาวบ้านจะไม่ค่อยออกเรือกัน เรือลากจะไม่ได้ของ จะได้พวกปลาทูที่ว่ายทวนน้ำเข้าไปในโป๊ะมากขึ้น โลมาเริ่มมา พร้อมกับปลาดุกทะเล
ที่มาของข้อมูล ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ 29
มีบางสิ่งที่มีผลกระทบ จากลมเหล่านี้ที่หากพวกเราไม่ระวังก็จะได้ประสบพบเจอ นั่นคือ โรคไข้หัวลม
ไข้หัวลม ก็คือ ไข้อันเกิดจากการเปลี่ยนอากาศซึ่งเป็นไปได้ ทุกฤดูกาล คือการเปลี่ยนจากฤดู ฝนเป็นหนาว หนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นฝน
อาการของโรคก็คือ อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว มีน้ำมูก มีเสมหะติดคอ อ่อนเพลีย เหนื่อย มีไข้เล็กน้อย
ขณะนี้ถือว่าเป็นปลายฝนต้นหนาวพอดี อากาศกำลังเปลี่ยนแปลง ที่บางกรูดระยะนี้ หลาย ๆ บ้าน ก็มีเมนูอาหารหลัก ติดกันบ่อย ๆ ให้สมาชิกของครอบครัว คือแกงส้มดอกแค ดอกแคจิ้มน้ำพริก จะได้ผลดี ต้องใช้ดอกทั้งดอก เพียงตัดขั้วออกเล็กน้อย บางคนเชื่อว่าเกสรของดอกแคมีรสขม ก็จะดึงเกสรออกเช่นบ้านพลอยโพยมเป็นต้น คำโบราณว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา จริงแท้แน่นอน ดอกแคแก้ไข้หัวลมจึงควรใช้ทั้งดอก สมัยนั้นที่บ้านมีดอกแคอยู่แล้วในสวน กุ้งที่จะเอามาแกงส้ม ก็แค่เอาสวิงไปช้อนในท้องร่อง โดยเฉพาะบริเวณปากท่อระบายน้ำลงคลอง รับรองไม่นานก็ได้ กุ้งตะกาด เอามาแกงส้มกับดอกแคได้หม้อใหญ่
คุณยายของพลอยโพยม มีวิธีป้องกันหรือแก้ไข้หัวลมที่แตกต่างจากแกงส้มดอกแค คือ การกินน้ำค้างกลางหาว
น้ำค้างกลางหาวกินได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยภูมิปัญญากันเล็กน้อย
พี่ ๆ เล่าว่าเมื่อคุณตายังมีชีวิตอยู่ คุณตาเป็นคนจัดการในเรื่องนี้ เมื่อสิ้นบุญคุณตาคุณยายจึงสืบต่อวิธีมา
ตอนใกล้หัวค่ำ ท้องฟ้าโปร่งไม่มีเค้าฝน คุณตาจะเอาลูกพลับจีนแห้ง (ซึ่งหาซื้อง่ายทั้งพลับจีนสดและแห้งจากตลาดโรงสีล่าง) มาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่ชามใหญ่ ชงน้ำร้อนลงในชาม แล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไปคนให้น้ำตาลกรวดละลาย (ใช้เวลาเล็กน้อย) กะรสหวานพียงปะแหล้ม ๆ เท่านั้น กะเวลาว่าน้ำค้างเริ่มตก ก็จะนำชามลูกพลับผสมน้ำตาลกรวดที่ละลายหมดดีแล้ว เอาไปวางกลางนอกชานบ้าน จนใกล้ฟ้าสาง หรือ หากทำในช่วงที่น้ำค้างมีมากก็ไม่ถึงใกล้ฟ้าสาง คุณตา คุณยาย ก็จะปลุก สมาชิกของบ้านตื่นขึ้นมากินน้ำค้างกลางหาวในชามลูกพลับชงน้ำตาลกรวด ท่านบอกว่า แก้ไข้หัวลม บรรเทาคนที่มีการเจ็บคอ คนที่ไม่ได้เป็นไข้ ไม่เจ็บคอ ก็ถือเป็นการกินกันไว้ก่อน
นี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่จะสามารถแบ่งน้ำค้างกลางหาวที่รองได้น้อยนิด ได้กินกันทั้งบ้าน หากรองน้ำค้างล้วน ๆ ก็ได้เพียงนิดเดียว
บ้านคนโบราณ ต้องมีนอกชานบ้านเป็นส่วนสำคัญจะขาดเสียไม่ได้ เพื่อการงานอีกมากมายดังจะมีการเล่าสู่ต่อ ๆ ไป
ไข้หัวลมกำลังมาเยือนในขณะนี้ เชิญท่านเลือกวิธีการกันเอง แกงส้มดอกแคก็กินได้เปล่า ๆ เป็นชามใหญ่ ๆ เพราะรสชาตินวลเนียนกว่าแกงส้มอื่น
ที่บ้านของพลอยโพยม ไม่ทำแกงส้มผักรวม เพราะแกงส้มแต่ละชนิด จะมีรสชาติไม่เหมือนกัน แกงส้มผักกระเฉด รสจี๊ดจ๊าด ดันกันระหว่างเปรี้ยวนำหน้าเค็มเล็กน้อย แกงส้มถั่วฝักยาวรสเข้มแต่ไม่ถึงกับดันกัน เปรี้ยวเค็มพอ ๆ กัน แกงส้มดอกแคมีหวานเล็กน้อยรสนวลเนียนระหว่างเค็มกับเปรี้ยว แกงส้มผักกาดเขียวคล้ายแกงส้มดอกแค แต่ไม่มีหวาน แกงส้มฟัก รสเข้มกว่าผักกาดเขียว ฯลฯ เป็นต้น นี่เป็นสูตรลับของแม่ละม่อม ว่าแกงส้มแต่ละผักรสชาติต่างกันตามประเภทของผัก ส่วนรสหวานปกติ จะได้จากการที่แม่ละม่อมโขลกน้ำแกงด้วยกุ้งหรือปลาที่ใช้ในการแกง
นอกเหนือจากการใส่ในน้ำแกงเป็น ตัว ๆ หรือชิ้น ๆ นอกจากการต้องหวานพิเศษ ถึงจะมีการใส่น้ำตาลเล็กน้อย โดยทั่วไป แกงส้มแม่ละม่อมไม่ใช้น้ำตาล น้ำแกงส้มก็เตรียมไว้ก่อนด้วยการต้มกุ้งที่ปอกเปลือกออกแล้ว หรือปลาหั่นชิ้นแล้วพอสุก เอาน้ำในหม้อต้มนั่นแหละมาผสมน้ำแกง ตักกุ้ง ปลา ต้มแล้วบางส่วนไปโขลกน้ำแกง ที่เหลือ ก็ใส่ในน้ำแกง มูลเหตุที่ต้มกุ้งแบบนี้เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ทำให้ไม่มีตู้เย็น เป็นการถนอมอาหารสดกุ้งไว้ใช้ในวันอื่น ๆ ด้วยถ้ากุ้งมีปริมาณมากเกินใช้ในวันนั้น ๆ กุ้งแม้จะช้อนในท้องร่องได้ ก็ใช้วิธี แกะเปลือกออกแล้วเอามาต้มก่อน เพื่อง่าย ในขั้นตอนโขลกน้ำแกงนั่นเอง
ส่วนปลานั้นก็ทำกันสด ๆ เอามาลงหม้อกับข้าว เพราะปลาที่ได้มาสามารถขังเอาไว้ก่อนได้หลายวัน
ท่านนายกสมัคร สุนทรเวช เคยบอกว่าการทำอาหาร น่ะ มันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย แค่ทำให้อาหารนั้นมีรสชาติกลมกล่อมก็เท่านั้นเอง ฟังแล้วง่ายจริงๆ บรรดาท่าน ๆ ไปลองดู อาหารทุกอย่างมีสูตรหรือส่วนประกอบเครื่องปรุงค้นหาได้ง่ายและมากมายหลายสูตร หลายตำรา แค่หาเคล็ดลับของท่านนายกสมัครให้เจอว่า รสชาติกลมกล่อมอยู่ตรงไหนเท่านั้นเอง
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น