วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 4

คุณตาชาญ เจริญวงษ์ (กุ่ยชุน แซ่อื้อ)




หลาน ๆ เรียกท่านว่าก๋งหนวด ก๋งหนวดเรียนหนังสือเป็นภาษาจีนทั้งการบวกลบเลข เรียนวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ของเมืองจีน ก๋งหนวดเป็นคนพูดน้อยหากไม่ถามก๋งก็จะไม่พูดเล่าอะไรให้ฟัง แต่ถ้าซักถาม ก๋งก็จะบอกเล่าคลายข้อสงสัยได้ ถ้าถามเรื่องเมืองจีนก๋งก็จะอธิบายให้ฟัง โดยก๋งไม่เคยไปเมืองจีนเลย ก็เล่าตามที่อ่านและเรียนมานั่นเอง ถามเรื่องสามก๊กก๋งก็จะเล่าให้ฟังยืดยาว ก๋งบอกกับน้าสีนวล บุตรสาวของก๋งว่าก๋งเป็นคนขี้หนาวเพราะสืบทอดสายเลือดมาจากการที่มีบรรพบุรูษ เป็นคนภูเขา

ก๋งเป็นคนทำอะไรช้า ๆ พูดช้า ๆ เนิบ ๆ เวลาทำเสียงดุก็ดุเนิบ ๆ ว่า ทำไมต้องวิ่งเดินก็ได้นี่นา หยิบค่อย ๆ เดี๋ยวของแตก ก๋งมีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อคุณยายลั้งเป็นบุตรสาวคุณยายปริก คุณยายปริกเป็นพี่สาวอีกคนของก๋งบุญ พัวพันธุ์ ภรรยาคนที่สองชื่อคุณยายเกลี้ยง มาลาทอง เป็นญาติกับยายขา วนไปวนมาในวงญาติกันตรงนี้เอง พอก๋งอยู่กับคุณยายเกลี้ยงจึงย้ายออกจากบ้านอื้อเฮียบหมง ไปอยู่บ้านล่างใกล้วัดเกาะชันกลายเป็นคนตำบลท่าพลับ แต่ก๋ง ก็จะพายเรือขึ้นมาที่บ้านอื้อเฮียบหมงบ่อย ๆ มาทีละหลาย ๆ วัน เป็นคนทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแซ่อื้อทั้งตรุษจีน สารทจีน ไหว้พระจันทร์ สารทขนมอี๋ ขนมจ้าง และอื่น ๆ

พอก๋งขี้นมาบ้านบนนี้ใครอยากกินน้ำชาก็ไปหาก๋ง เพราะก๋งต้องดื่มน้ำชา(ก๋งไม่ดื่มน้ำเปล่า) จึงมีปั้นชาที่มีน้ำชาอยู่ในปั้นชาตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ปั้นชาสมัยคุณน้าวิจิตรเป็นเด็ก เป็นปั้นชาคล้ายเครื่องปั้นดินเผาไทยแต่ไม่ใช่ ปั้นเล็กๆ สีแดงคล้ำออกสีเลืดหมูจาง ๆ หูปั้นชาเป็นทองเหลือง ปั้นชาใบนี้มีความพิเศษที่มีคราบใบชาจับรวมตัวเป็นก้อนอยู่ในปั้นชา ที่ก๋งปล่อยทิ้งไว้ เวลาชงชาคราบชาที่จับตัวเป็นก้อนนี้จะเสริมรสชาติน้ำชา ใคร ๆ มากินน้ำชาปั้นนี้ (เรียกปั้นชา หรือป้านชา ก็ได้) ก็จะบอกว่าน้ำชาอร่อยกว่ากินจากปั้นชาใบอื่น ๆ ปั้นชาใบนี้ทิ้งให้แห้งหลายวันไม่ได้ต้องมีน้ำอยู่เกือบตลอดเวลา เว้นระยะไม่มีน้ำใส่ในปั้นชาได้แค่วันสองวัน

แต่พอมารุ่นพลอยโพยม ไม่เคยเห็นปั้นชาใบนั้ เห็นแต่ก๋งดื่มน้ำชาจากกาน้ำชาเป็นรูปตัวเป็ดที่มีปีกเป็ดนูนออกมาจากลำตัว เวลารินน้ำชา น้ำชาจะออกมาจากปากเป็ด แม้ก๋งจะเป็นคนที่ดื่มน้ำชาประจำเพียงคนเดียว แต่ในถาดกาจะมีถ้วยดื่มชาหลายใบไว้คอยรับแขกที่มาหาก๋ง รวมทั้งเด็ก ๆ ที่เห็นก๋งดื่มชา แล้วอยากดื่มบ้าง พอเอื้อมมือหยิบถ้วยชาปั๊บก๋งก็จะบอกค่อย ๆ เนิบ ๆ ว่า หยิบดี ๆ หยิบค่อย ๆ เดี๋ยวตกแตก เวลาดื่มชาก๋งจะกรีดนิ้ว จับถ้วยชาแค่ 2 นิ้ว ค่อย ๆ ยกถ้วยชาขึ้นมาดื่มช้าๆ แบบสำราญอารมณ์ประมาณนั้นเลยทีเดียว ท่าทางก๋งสวยงามติดตาพลอยโพยมมาจนทุกวันนี้ สงสัยในใจว่าตอนก๋งหนุ่ม ๆ ก๋งคงมีอิริยาบทต่างๆ แบบคุณชายเมืองจีนแน่เลยทีเดียว
ก๋งจะเล่าเรื่องถ้วยชามกังไส ว่าเนื้อบางเฉียบ เนื้อละเอียดมากเป็นของราคาแพง
ถ้าก๋งไม่ลงมือทำอาหาร (สำหรับไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุุรุษ) ก็จะเห็นก๋งเอาแต่อ่านหนังสือจีน ขยันอ่านจริง ๆ อ่านทุกวันทุกครั้งที่พลอยโพยมไปบ้านอื้อเฮียบหมง ช่วงเวลาที่ก๋งขึ้นมาที่บ้านนี้

ก๋งมีฝีมือทำกับข้าวหลายอย่างโดยเฉพาะเผือกผัดน้ำตาลทราย ก๋งจะหั่นเผือกเป็นชิ้นเหลี่ยมลูกเต๋าก้อนค่อนข้างโต จำไม่ได้ว่าต้องต้มก่อนหรือไม่ จำแต่ว่าต้องทอดในน้ำมันก่อน แล้วจึงเคี่ยวน้ำตาลทรายจนเข้มข้นแล้วเอาเผือกที่ทอดทิ้งให้สเด็ดน้ำมันเอาลงไปผัด เกร็ดน้ำตาลเกาะรอบผิวของก้อนเผือก ปัจจุบันเป็นที่เรียกหาเผือกผัดนี้ว่าเผือกหิมะกันก็มี ก๋งทำได้อร่อยมากถึงมากที่สุด พลอยโพยมไปชะเง้อคอยแล้วคอยอีก ก็ทำไม่เสร็จสักทีเพราะใช้เวลามาก เสร็จแล้วก็ต้องรอให้ก๋งใส่จานเอาไปไหว้ก่อนจึงจะได้กิน

ในสมัยที่พลอยโพยมเป็นผู้จัดการสาขาธนาคาร เจ้านายมักพาผู้จัดการสาขาไปกินอาหารจีนบ่อย ๆ โดยเฉพาะมีเจ้านายระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (คุณจิตราพร แตงสุวรรณ ที่คุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี เข้ามาเป็นเขย ) เมื่อยามที่ท่านเกษียณงานไปแล้ว พวกผู้จัดการสาขาและผู้บริหารอีกสองสามท่านกลุ่มของพลอยโพยมยังไปกราบอวยพรปีใหม่ท่านทุกปี ท่านจะพาไปกินอาหารหลากหลายประเภท แพง ๆ ดี ๆ ทั้งนั้น มีทั้งอาหาร จีน ฝรั่ง อิตาเลียน มีปีหนึ่งท่านเลี้ยงโต๊ะจีนมูลค่าตัวละสี่หมื่นบาทแพงจนพวกลูกน้องตกใจ เพราะของที่นำมาปรุงอาหารทั้งกุ้งหอย ปู ปลา ล้วนเป็นของสั่งมาจากนอก ไกลแสนไกลจากเกาะต่าง ๆ รวมทั้งมีเจ้านายระดับผ.อ. อีกท่านก็ชอบพาไปทานอาหารจีน
มีคราวหนึ่งเคยมีรายการเผือกทอด พลอยโพยมดีใจมาก แต่พอกินแล้วอยากบอกก๋งเหลือเกินว่า ฝีมือก๋งยอดเยี่ยมไร้เทียมทานจริง ๆ

คุณยายลั้ง เจริญวงษ์


พลอยโพยมจำเรื่องราวของท่านไม่ได้เลย

คุณยายเกลี้ยง เจริญวงษ์ (มาลาทอง)




ภรรยาคนที่สองของก๋งชาญ เจริญวงษ์ท่านเป็นญาติกับยายขา ท่านเป็นคนอารมณ์ดีมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา ท่านมียิ้มสยามประดับบนใบหน้า แต่ว่ายิ้มนี้จะเห็นน้ำหมากในปากท่านด้วยท่านจะเรียกลูกหลานว่า หนูมาตลอด ท่านเรียกแม่ละม่อมว่าหนูม่อมมาตั้งแต่หนูม่อมเป็นเด็กจนหนูม่อมอายุ แปดสิบกว่าแล้ว ท่านก็ยังเรียกหนูม่อมอยู่นั่นเอง คุณยายเกลี้ยงตำน้ำพริกมะขามและปูเค็มคลุกมะขามอ่อน (ปูแสม ) ได้อร่อยมาก ท่านทำโดยไม่มีการชิมรสชาติเวลาปรุง ส่วนประกอบนั้นท่านจะหยิบด้วยลักษณะชินมือ หยิบเครื่องปรุงทุกอย่างแบบใส่ผลั็วะ ใส่ผลั็วะ ๆ ลงในครกเลย ท่านไม่ต้องเอาเครื่องปรุงมากองให้กะคะเนด้วยสายตาแบบแม่ละม่อมด้วย ท่านหยิบแบบขยุ้ม ๆ ส่วนประกอบทุกอย่างของเครื่องปรุง แปลกมากที่เมื่อตำน้ำพริกเสร็จก็ได้รสชาติที่คล้ายคลึงกันเทุกครั้ง แต่สูตรเฉพาะตัวท่านคือท่านจะเหยาะน้ำปลาลงข้างถ้วยน้ำพริกมะขาม ด้วยการเทกระฉอก ๆ น้ำปลาจากขวดอีกเหมือนกันแล้วแต่คนกินว่าจะเอาน้ำปลาคลุกน้ำพริกทั้งถ้วย หรือตักแบบทีละช้อน ๆโดยตักแบบติดน้ำปลามานิด ๆ หรือไม่ สุดแต่ใจใครจะชอบนั่นเอง เด็กรุ่นหลัง ๆ อย่างพลอยโพยมไม่ทันได้กินน้ำพริกมะขามฝีมือก๋งบุญที่นายแพทย์วิจิตรบอกว่าอร่อยที่สุด แต่พวกเรารุ่นหลังก็รู้สึกว่าน้ำพริกมะขามของคุณยายเกลี้ยงอร่อยที่สุดเหมือนกันสำหรับรุ่นเรา ๆ

มีตำพูดที่ติดปากคุณยายเกลี้ยงคือคำว่าสงกรานต์ เวลาพูดถึงช่วงเวลาจะทำอะไร ๆ คุณยายจะใช้เกณฑ์ว่า ก่อนสงกรานต์หรือหลังสงกรานต์เป็นตัวกำกับต่อท้ายช่วงเวลานั้น ๆ มิหนำซ้ำคุณยายเกลี้ยงออกเสียงสงกรานต์เป็นสังกรานต์ด้วยอีกต่างหากเป็นเอกลักษณ์ที่คุณยายจะเรียกแบบนี้ใครจะทำไมไม่ใช่ว่าออกเสียงไม่ถูก น้ำเสียงของคุณยายก็เป็นเอกลักษณ์คือลากเสียงคำสุดท้ายยาว ๆ

คุณยายเกลี้ยงมีกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่มีใครทราบเหตุผลคือคุณยายชอบไปดูการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมักเรียกกันว่า ไล่ทหาร คุณยายจะชวนน้องสาวคือคุณยายก้าน เจริญวงษ์ ( มาลาทอง )ไปเป็นเพื่อนไปดูเขาไล่ทหารกันที่อำเภอ เป็นประจำ คุณยายรู้สึกสนุกสนานมาก ทั้งที่คุณยายก็มีบุตรชายเพียงคนเดียว แถมไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารเพราะเรียนหนังสือจบแล้วก็รับราชการเป็นคุณครู

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 3



แซ่อื้อ รุ่นที่ 23 คือก๋งโหงว แซ่อื้อ และ ก๋งไซ แซ่อื้อ ไม่มีข้อมูล

บรรพบุรุษรุ่นที่ 24 ในความทรงจำ


ชวดอิ่ม อื้อเฮียบหมง
พอมีเรื่องราวให้พอเล่าสู่ได้จากนายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ ว่า
ชวดอิ่มเป็นคนรูปร่างเล็ก ผิวขาว หน้าตาค่อนไปทางคนจีนมองปุ๊บก็รู้ว่าเป็นคนจีน แต่ชวดอิ่มพูดภาษาไทยใช้ชีวิตตามวิถีไทย ช่วยเลี้ยงหลายยายหลานย่าของชวดจู เอ็นดูดุณน้าเอนกบุตรสาวก๋งชาญ เจริญวงษ์มาก ในช่วงนั้นยังมีญาติอื่นๆ เช่น ก๋งจ้อยบิดาป้าถนอม ตรีเจริญ มีก๋งหลีอยู่ร่วมบ้านต่อมาภายหลังจึงแยกบ้านออกไปมีครอบครัวที่อื่น ชวดอิ่มสิ้นชีวิตที่บ้านอื้อเฮียบหมง ตำบลบางกรูดสมัยนายแพทย์วิจิตรยังเด็กอยู่แต่ยังพอจำความได้จนต่อมานายแพทย์วิจิตรสอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ได้

ขณะ้เรียนใกล้จบแพทย์ นายแพทย์วิจิตร (กางเกงสีอ่อน) กับพี่ชายพี่สาวสองคน พลอยโพยมกำลังอยู่ในท้องแม่ละม่อม

เมื่อสอบคัดเลือกผ่านแล้ว นักเรียนเตรียมแพทย์จะต้องจับสลากว่านักศึกษาคนไหนได้เรียนเป็นแพทย์จุฬา คนไหนเรียนเป็นแพทย์ศิริราช และจะเข้าเรียนวิชาเบื้องต้นที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อนเป็นเวลา 2 ปี แต่แยกเรียนกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เป็นคนละกลุ่มกัน เมื่อจบหลักสูตรเตรียมแพทย์ 2 ปี แล้ว นักเรียนเตรียมแพทย์ที่จับสลากว่าจะต้องเป็นแพทย์ศิริราชจึงจะข้ามฟากไปเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช (คำศัพท์ว่าข้ามฟาก อันหมายถึงข้ามฟากจากฝั่งกรุงเทพมหานคร ไปฟากฝั่งธนบุรี ) อีก 4 ปี กลุ่มนักศึกษา นิสิต วิทยาศาสตร์เตรียมแพทย์นี้ประกอบด้วย นักเรียนเตรียมแพทย์ เตรียมทันตแพทย์ เตรียมสัตว์แพทย์ เตรียมเภสัชกร

นิสิตและนักศึกษาที่เรียนไม่จบในเวลา 4 ปี ต้องเรียน summer หากเรียน summer แล้วก็สอบไม่ผ่านอีก คราวนี้ก็เป็นการเรียนซ้ำทั้งปี การเรียน summer ในสมัยก่อนสำหรับเรียนแก้ตัวให้สอบผ่านจบการศึกษา

มีบางวิชาที่นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ต้องเรียนร่วมกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งมีการแนะนำตัวกันว่านิสิตนักศึกษามาจากถิ่นฐานบ้านเกิดจังหวัดใดกัน

ครอบครัวพ่อแม่ลูกสี่คนของก๋งบุญ ยายขา พัวพันธุ์

คุณน้าแนะนำชื่อเสียงเรียงนามแล้วก็บอกว่าตนเองมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เมืองแปดริ้ว หลังจากนั้นก็มี นิสิตคณะวิศวกรรมชายคนหนึ่งชื่อคุณ ชาญ มาแสดงตนกับคุณน้าว่า คุณชาญเป็นลูกศิษย์ของพระญวน ของวัดญวนที่บางโพ ( คือวัดอนัมนิกายาราม ตั้งอยู่ที่ใกล้สี่แยกบางโพ ) ในสมัยเด็ก ๆ เคยติดตามพระอาจารย์มาสวดในพิธีกงเต๊กที่เมืองแปดริ้วบ้านทรงเรือนไทยริมแม่น้ำหลังใหญ่ ทั้งพระญวนและลูกศิษย์วัดต้องมาค้างคืนที่บ้านที่จัดงานศพจนเสร็จพิธีตามกำหนดการสวดกงเต๊ก บ้านที่มาพักอยู่ริมน้ำอยู่หน้าวัดซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าชื่อว่าวัดอะไร แต่ลักษณะการบรรยายลักษณะของบ้านเป็นลักษณะบ้านอื้อเฮียบหมง และเป็นการมาสวดกงเต๊กงานศพของชวดอิ่ม

ลักษณะบ้านเรือนไทยคือประกอบด้วยเรือนสามหลังคือ มีเรือนใหญ่เป็นเรือนกลาง มีเรือนขวางซ้ายขวา มีจั่วแหลม ในสมัยก่อนเป็นเรือนหลังคามุงจากในแถบย่านบางกรูดมีด้วยกัน 4 หลัง คือ
1. บ้านอื้อเฮียบหมง ของตระกูลอื้อ
2. บ้านนางว้วย รักษาทรัพย์ (เดิมคุณยายว้วย เป็นบุตรหญิงจากสกุลหวั่งหลี ท่านมีของใช้ประจำบ้านเช่นมีถาดทองเหลืองซึ่งประทับตราหวั่งหลี ) บ้านหลังนี้มีลักษณะเป็นจีนมากที่สุด โครงสร้างเป็นเรือนไทยแต่ส่วนประกอบเช่นลูกกรงบานประตูหน้าต่างและของใช้ในบ้านเป็นจีน บ้านหลังนี้ใหญ่ที่สุดอยู่ใกล้กับบ้านอื้อเฮียบหมงติดริมแม่น้ำบางปะกง
3. บ้านของนายโต แซ่พัว (ต่อมาเป็นขุนบำรุงจีนรักษ์) ภายหลังนายโต แซ่พัวได้ขอตั้งนามสกุล สูยะวณิช ในขณะที่นายบุญ แซ่พัว บุตรชายคนสุดท้องของนายพุก แซ่พัว (นายพุก แซ่พัวเป็นน้องชายนายโต แซ่พัว) รอนามสกุลที่ยื่นขอไม่ไหวรู้สึกว่านานเกินไป จึงไปขอตั้งนามสกุล จากแซ่พัว เป็นพัวพันธุ์ บรรดาบุตรของนายพุก แซ่พัว ซึ่งเป็นพี่นายบุญ แซ่พัวก็เลยใช้นามสกุลพัวพันธุ์ เพราะรอนามสกุลจากก๋งโตไม่ไหว
แซ่พัวที่บางกรูดจึงแยกเป็นสองนามสกุล คือ สูยะวณิช และพัวพันธุ์
หากแต่ว่าบ้านก๋งโต แซ่พัว นั้นอยู่ในคลองศาลเจ้าไม่ติดแม่น้ำบางปะกง
4. บ้านนางทองสุข แซ่พัว บุตรสาวของนายพุก แซ่พัว ซึ่งสมรสกับนายฮวด แซ่ตั้น ต่อมานายฮวด แซ่ตั้น เป็นขุนบำรุงจีนภักดี และเปลี่ยนแซ่ตั๊นเป็นนามสกุล บำรุงวงศ์ บ้านเรือนไทยหลังนี้ที่ปลูกหลังล่าสุด นางทองสุข เป็นพี่สาวคนที่สองของนายบุญ พัวพันธุ์
บ้านที่มีงานกงเต๊กในช่วงเวลาที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และนักเรียนเตรียมแพทย์คุยกันนั้นเป็นบ้านอื้อเฮียบหมง ทำพิธีกงเต๊กให้ชวดอิ่่ม อื้อเฮียบหมง ภรรยา ก๋งโหงว แซ่อื้อ นั่นเอง คุณชาญเล่าว่าเป็นการติดตามพระอาจารย์มาสวดกงเต็กที่สนุกสนาน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

นับว่าโลกกลมจริง ๆ ที่เด็กชาย 2 คนที่ไม่เคยรู้จักกันเคยอยู่ร่วมในเคหะสถานบ้านเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วจู่ ๆ เด็กชายทั้ง 2 คน ก็มาพบกันตอนโตมาเล่าเรื่องความหลังครั้งวัยเด็ก สู่กันฟัง

ชวดจู แซ่อื้อ (เจริญวงษ์ )




หลาน ๆ ของชวดจู เจริญวงษ์ ในรุ่นคุณน้า หรือแม่ละม่อมของพลอยโพยมจะพูดตรงกันว่า ชวดจูเป็นคนที่ใจดีที่สุด ชวดจูมีบุตรคนที่สามเป็นหญิง ชื่อคุณยายอุไร ได้แต่งงานกับนายร้อยทหารและมีหลานชายหญิงให้ชวดจู 10 คน หลานคนที่ 2 เป็นชายเป็นนักเรียนนายเรือหากแต่งชุดนายเรือมาเยี่ยมชวดจู ชวดจูจะรู้สึกเกรงชุดเครื่องแบบนายเรือให้ความสนิทสนมกับหลานชายคนนี้น้อยที่สุด จนคุณยายอุไร พูดกับชวดจูว่า แม่อย่าเกรงใจเขาเป็นหลานของแม่นะไม่ใช่คนอื่น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คุณยายอุไรพาครอบครัวหลบสงครามจากกรุงเทพมาพักที่บ้านอื้อเฮียบหมง คุณน้าไพจิตร จันทรวงศ์ (สัตยมานะ) เล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงชีวิตที่สนุกสนานมากไม่รู้ลืม เด็ก ๆ ในบ้านมากมายทั้งหลานชวดจูจากกรุงเทพ หลานชวดจูที่บางกรูด เวลานอน จะกางมุ้งชิดติดกันเรียงเต็มตามพื้นที่ของบ้านเวลาจะเข้ามุ้งต้องจำให้ดีว่าตัวเองนอนมุ้งไหน ตอนกลางวันก็ออกไปสนุกสนานกันกับกิจกรรมในสวน หลังสวนเป็นทุ่งนา ไปไหนมาไหนก็เดินเท้าเปล่า หลาน ๆ ที่กรุงเทพ ฯ มาใช้ขีวิตที่บ้านบางกรูดถึง 2 ปี ชวดจูดูแลเลี้ยงดูลูกหลานอย่างดีไม่เคยดุใคร ใจดีเป็นที่สุด

เมื่อถึงกาลเวลาที่ชวดจูจะจากไป ชวดจูป่วยรักษาตัวที่บ้าน แม่ละม่อมเล่าว่า ได้เห็นชวดจูสิ้นลมหายใจกับตาตนเอง ชวดจูตัดผมสั้นแต่ยามหมดลมหายใจเส้นผมของชวดจูชี้ตั้งขึ้น

ก๋งบุญ พัวพันธุ์ ( นายบุญ แซ่พัว )




ก๋งบุญเป็นเขยของสกุลเจริญวงษ์ แต่งงานกับยายขา หรือคุณยายสมใจ พัวพันธุ์ (เจริญวงษฺ์) ต่อมาได้ปลูกบ้านริมแม่น้ำอยู่ชิดติดบ้านอื้อเฮียบหมง คั่นกลางบ้านอื้อเฮียบหมงและบ้านคุณยายว้วย และภายหลังบ้านก๋งบุญเป็นบ้านเลขที่ 2 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด เป็นเรือนปั้นหยาทรงยาวชั้นเดียวมุงกระเบื้องเป็นแผ่นเล็ก ๆ สีแดง นายแพทย์วิจิตรเล่าว่า คุณยายใหญ่ แซ่พัว พี่สาวคนโตของก๋งบุญ ซึ่งแต่งงานกับก๋งเสือ วงศ์พยัคฆ์ไปอยู่บ้านก๋งเสือที่คลองสวน มาเยี่ยมน้องชายเห็นก๋งบุญปลูกเรือนปั้นหยา คุณยายใหญ่ ร้องว่า ชะ ชะ ไอ้บุญปลูกเรือนปั้นหยา แต่แล้วไม่นานคุณยายใหญ่เอง ก็ปลูกเรือนปั้นหยาหลังใหญ่แถมเป็นสองชั้นด้วยที่บ้านคลองสวน (คลองสวน ตำบลเดียวกับตลาดคลองสวน 100 ปี) คุณยายใหญ่ เป็นพี่สาวคุณยายทองสุข แซ่พัวด้วย
ก๋งบุญตำน้ำพริกมะขามอร่อยมาก ปัจจุบันนายแพทย์วิจิตร อายุ 83 ปีแล้ว ยังจำรสมือก๋งบุญได้ บอกว่าไม่มีใครตำน้ำพริกมะขามได้อร่อยเท่าก๋งบุญและก๋งบุญยังมีฝีมือในการหมักเกลือปลาที่จะตากแห้ง เมื่อคุณป้าละออ หรือแม่ละม่อมทำปลาเสร็จต้องให้ก๋งบุญเป็นคนใส่เกลือและคลุกเคล้าเกลือ เสร็จแล้วแม่ละม่อมจึงเอาไปตากแดด




ก๋งบุญเป็นคนสนใจฟังข่าวสารและเป็นคนทันสมัยจากการรับฟังข่าวสาร ขณะที่บุตรชายคนเล็กเรียนแพทย์อยู่ ก๋งบุญเคยบอกว่า อีกไม่นานเมืองไทยจะมีถนนหนทางมากมายโยงใยเป็นใยแมงมุม เส้นถนนยาวและวกวนแบบเส้นขนมจีน บุตรชายฟังแล้วก็หัวเราะเตี่ยตัวเอง
ในช่วงสงครามโลก ก๋งบุญฟังข่าวสารแล้วจะบอกเล่าคนในบ้าน เช่นอเมริกาทิ้งอาวุธลับร้ายแรงที่เมืองญี่ปุ่น แรงระเบิดปรณูไปไกลหลายไมล์ ยายขาและคนอื่นๆ ก็งง งง ว่า ไมล์หมายถึงอะไรกัน
ก๋งบุญจะข้ามฝั่งไปที่วัดบางกรูดทุกเย็นเพื่อไปฟังข่าวสารจากวิทยุที่กูฎิพระครูโสภณญาณวิจิตร (พระใบฎีกาซุ่นฮวด) เจ้าอาวาสวัด วิทยุในสมัยที่มีสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นวิทยุที่ไม่มีลำโพง คนฟังจะต้องสวมหูฟังจึงจะได้ยิน ต่อมาได้พัฒนาการมีลำโพงให้เสียงออกจากเครื่องรับวิทยุได้ ก๋งบุญซื้อมาที่บ้านเป็นวิทยุแบบหลอด ต้องมีสายอากาศรับสัญญาณ ก๋งบุญต้องใช้ไม้ไผ่ลำยาว ๆ ปักโยงสายอากาศทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านสองเสา พอเปิดวิทยุ น้า ๆ ในบ้านก็ลุ้นกันใหญ่ว่าจะมีเสียงออกมาอย่างไร ปรากฎว่าไม่มีเสียงออกจากเครื่องรับวิทยุ มะรุมมะตุ้มมุงดูวิทยุแล้วก็ร้องอ๋อ ว่า ต้องมีสายเสียบจากเครื่องรับวิทยุลงพื้นดินอีกสายหนึ่งด้วย พอมีเสียงจากวิทยุก็เฮดีใจกันใหญ่ทีเดียว

ภาพเรือสำเภาที่โลงจำลอง สื่อว่าบรรพบุรุษ แซ่อื้อ เดินทางมาจากเมืองจีนด้วยเรือสำเภา และลูกหลานขอน้อมส่งท่านบรรพบุรูษทั้งหลายลงเรือสำเภาทองล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ชั้นวิมานเมืองแมนแดนสงบ

ก๋งบุญเป็นคนขยันมากเข้าสวนแต่เช้าตรู่ทำงานในสวนก่อนที่จะขึ้นบ้านมารับประทานอาหารเช้า
ก๋งบุญถักสวิง แห เก่งมาก ถักอย่างใจเย็นค่อย ๆ สอดเส้นด้าย ถักเสร็จ ก็จะตั้งไฟย้อมแหสวิงด้วยลูกตะโกดิบเพื่อรักษาให้เส้นด้ายมีความคงทน
อีกทั้งในช่วงที่ก๋งบุญมีชีวิตอยู่ ก๋งเป็นคนทำลูกพลับจีนแห้งชงกับน้ำตาลกรวดเอาไปรองรับน้ำค้างตอนกลางคืน ให้ลูกหลานและคนในบ้านกินน้ำค้างกลางหาว เมื่อสื้นบุญก๋งบุญแล้ว ยายขาจึงเป็นคนทำต่อ



นอกจากนี้ก๋งบุญยังมีความรู้ในด้านช่างไม้ มีหีบเก็บอุปกรณ์ช่างไม้ครบถ้วนที่ช่างไม้ต้องมี ก๋งบุญสอนวิชาคิดหน้าไม้ให้คุณน้ามิ่งขวัญ พัวพันธู์ คำนวณการปลูกบ้านว่าใช้ไม้ฝาบ้านเท่าใด พื้นบ้านใช้ไม้เท่าใด พี่อรรถโกวิทชอบไปป้วนเปี้ยนเวลาก๋งบุญใช้กบไสไม้ ใช้เลื่ิอยเลื่อยไม้ เมื่อก๋งบุญใช้เครื่องมือเสร็จ เด็กชายอรรถโกวิท สงวนสัตย์จะช่วยก๋งบุญเช็ดถูเครื่องมือช่างด้วยน้ำมันมะพร้าวแล้วลำเลียงเก็บลงในหีบเครื่องมือซึ่งเป็นหีบไม้




และในงานทำบุญลอยอัฐิบรรพบุรุษ พี่อรรถโกวิท ขอแสดงฝีมือการเป็นหลานก๋งบุญ สร้างเมรุจำลองรวมทั้งโลงใส่อัฐิในการตั้งสวดพระอภิธรรม มาติกาบังสุกุล วางดอกไม้จันทน์ และนำโลงบรรจุอัฐิไปประชุมเพลิง ทำงานไประลึกถึงก๋งบุญไปเล่าให้น้อง ๆ ที่มาช่วยประกอบฟัง ก่อนลงมือใบไผ่ลูกชายของพลอยโพยมบอกว่า ลุงเปี๊ยกครับจ้างเขาทำเถอะครับ ลุงเปี๊ยกตอบว่าลุงจะทำเอง งานนี้มีหลานชายอีกคนชื่อขนมปังหรือ นายวัชรปรัสถ์ อยู่เย็น ออกแบบให้ตามรูปแบบที่พี่อรรถโกวิทเลือกไว้





ก๋งบุญเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต้องผ่าตัด เวลาเจ็บก๋งบุญจะบ่นว่าหมอลูกชายทั้งที่ไม่ใช่คนรักษาก๋ง แม้ว่าลูกชายเป็นศัลยแพทย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นหมอผ่าตัดให้ก๋ง แต่เวลาเจอหมอลูกชายความเจ็บแผลทำให้ก๋งบ่นหมอลูกชายว่า เป็นหมอหรือเป็นหมอหมา ๆ กันแน่
ก๋งบุญเสียชีวิตในปี พ.ศ 2500 หลังจากบุตรชายเรียนจบแพทย์เพียง 2 ปี คูณน้า นายแพทย์วิจิตร เล่าว่า ท่านได้รับเงินเดือนหมอเดือนละ 80 บาท ทำงานทั้งปี ยังได้รับเงินเดือนไม่ถึงหนึ่งพันบาทเลย

ผลงานของหลานชายก๋งบุญ พัวพันธุ์

นอกจากนี้ก๋งบุญยังเป็นคนชอบท่องเที่ยวไปตามสถานที่จังหวัดต่าง ๆ ที่มีญาติ ๆ ไปรับราชการต่างแดน ท่านขึ้นไปเที่ยวไกลถึงเมืองเหนือโดยทางเรือ


ก๋งบุญ เป็นบุตรชายคนสุดท้อง (คนที่เก้า) ของก๋งพุก ชวดอ่วม แซ่พัว ทั้ง ๆ ที่ก๋งพุกมีบุตรชายหญิง 9 คนแล้วท่านก็ยังมีบุตรบุญธรรมเลี้ยงดูอีกคนเป็นชายเรียกกันว่า ก๋งจั๊บที่แปลว่าสิบอีก 1 คน อายุของก๋งบุญห่างกับบรรดาพี่สาวมาก เมื่อบรรดาพี่สาวแต่งงานและมีบุตร ก๋งบุญก็มีวัยไล่เลี่ยกับบุตรทั้งหลายของพี่สาว ทำให้หากเมื่อนับญาติกับหลาน ๆ สาย แซ่พัว ซึ่งต่อมาเป็นสกุล สูยะวณิช (จากก๋งโต พี่ชายก๋งพุก) และพัวพันธุ์ หลาน ๆ สายตรงก๋งบุญ จะมีลำดับศักดิ์เป็น น้า หรือเป็นอาของญาติวัยหรือรุ่นเดียวกัน

ยายขา หรือคุณยายสมใจ พัวพันธุ์ ( กุ่ยเอ็ง แซ่อื้อ - เจริญวงษ์)




พี่อรรถโกวิทยิ้มน้อยยิ้มใหญ่บอกว่านึกภาพยายขาแล้วขอตั้งยายขาให้เป็นปรมาจารย์อั้งชิดกงหญิงเมืองไทย อั้งชิดกงนั้นเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจกอาจารย์ของก๊วยเจ๋งในอมตะนิยายจีนสนั่นโลกเรื่องมังกรหยก ทั้งนี้เพราะยายขาจะใส่เสื้อทุกตัวจนหมดอายุของเนื้อผ้า เสื้อทำงานของยายขามักเป็นเสื้อแขนยาว ปะชุนไปทั่วทั้งตัว ด้วยฝีมือแม่่ละม่อมบุตรสาวคนที่สองที่ยายขาอุตส่าห์ส่งเสียให้ไปเรียนตัดเสื้อที่ร้านวีปิง ในนครหลวง จะเห็นยายขาใส่เสื้อสวยงามเวลารับแขกลูกหลานจากกรุงเทพ ฯ ไปวัด หรือไปทำธุระที่อื่น นอกบ้าน หรือเข้ากรุงเทพ ฯ แม่ละม่อมปะชุนผ้าได้สวยงามเป็นระเบียบเวลาเย็บจักรกลับไปกลับมาบนเศษผ้าที่นำมาปะ ถี่ยิบแน่นปึ๊ก ฝีมือแม่ละม่อมนั้นตัดชุดแต่งงานให้ญาติผู้น้องหญิงหลายคนได้สวยงาม ไม่ว่าเป็นผ้าลูกไม้หรือผ้าแพร คราวงานศพก๋งบุญแม่ละม่อมตัดเย็บเสื้อผ้าให้คนในบ้านนานหลายอาทิตย์ อย่างพิถีพิถัน ของผู้หญิง เด็กหญิงแม่ละม่อมจะประดับลูกไม้ ต่าง ๆ กันกับแต่ละชุด




ส่วนกางเกงเด็กผู้ชายที่ใส่่ประจำวันหากขาดตรงก้นแม่ละม่อมนิยมปะเป็นรูปใบโพธิ์ ด้วยเศษผ้าเท่าที่มีบางครั้งก็ฉูดฉาดบาดตา เด็กผู้ชายออกจะเขิน ๆ ที่นุ่งกางเกงไม่เหมือนเด็กชายอื่นๆ ต่อมาพอวัยรุ่นสมัยใหม่นิยมนุ่งกางเกงมีรอยขาด หรือเล่นลวดลาย ทุกคนคิดถึงฝีมือแม่ละม่อมอยากให้แม่ละม่อมปะชุนกางเกงเป็นรูปแปลก ๆ อีก แต่แม่ละม่อมหมดแรงถีบจักรด้วยกำลังขาของแม่ละม่อมเสียแล้ว แม่ละม่อมได้แต่หัวเราะ หึ หึ เวลาลูกชายบอกว่าอยากใส่กางเกงก้นใบโพธิ์อีก
เวลายายขาเข้ากรุงเทพก็จะนุ่งผ้าถุงไหมสำเร็จ ใส่เสื้อคอปก สุภาพเรียบร้อยสวยงามทันสมัยในยุคนั้น



นิยายเรื่องมังกรหยกไม่ว่าเป็นภาพยนตร์หรือละครซีรี่ย์ ตัวแสดงเป็นอั้งชิดกงต้องใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาดกะรุ่งกะริ่ง เสื้อผ้ามีรอยปะชุน



ยายขาเป็นคนขยันมากไม่เคยเห็นยายขานั่งเฉย ๆ เลย มีงานทำทั้งวันภาพที่ชินตาคืองานจักสานที่ยายขานั่งเหลาไม้ไผ่เป็นเส้นบาง ๆ ด้วยมีดตอก สานขึ้นลายสองและอื่นๆ สานกระด้งตะแกรง ของใช้มากมายไม่ต้องซื้อหา ทอเสื่อ ขัดถูพื้นบ้านด้วยลูกเตยทะเล ทำกะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง หัวไชโป้ ฯลฯ
ยายขามีฝีมือกวนกระยาสารทน้ำตาลปี๊บและส่งไปช่วยงานทอดกฐินของวัดบางกรูดเป็นปี๊บ ๆ เวลาเปิดฝาปี๊บ กลิ่นหอมของกระยาสารทหอมยวนยั่วใจฟุ้งไปทั่วศาลาการเปรียญวัด ลูกหลานบ้านพี่ีอุทัยวรรณเจ้าของกระยาสารทน้ำอ้อยต้องใจ คอยรอกินกระยาสารทน้ำตาลปี๊บของยายขากัน

คุณน้าแดง สุภาภรณ์ สัตยมานะ เล่าว่ายายขาเป็นดอกไม้งามสะดุดตาก๋งบุญ จนก๋งบุญต้องล่มเรือที่ยายขานั่งมาแล้วอุ้มยายขาขึ้นเรือของก๋งบุญ ตำนานสาวงามบางกรูดนอกจากพี่อุทัยวรรณ คุณยายอุไรแล้วยังมียายขาอีกท่านหนึ่งด้วย
ตัวยายขานั้นว่ายน้ำไม่เป็น จึงมิรู้คิดจะทำอย่างไร และเนื่องจากก๋งบุญ แซ่พัว และ กุ่ยเอ๋ง แซ่อื้อ (ยายขา) มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน ก๋งบุญมีลำดับศักดิ์เป็นอาของยายขาทำให้กรณีล่มเรืออุ้มสาวไม่เป็นกรณีพิพาทของสองตระกูล กลายเป็นเรื่องเล่าขานตำนานหนึ่งของวงศ์ตระกูล

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 2





ในปี พ.ศ. 2443 (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ห้า) นายโหงว แซ่อื้อ ได้รับเงินรางวัลจากหวย ก.ข. เล่ากันว่าเป็นเงินถึง สี่หมื่นบาท (ที่ได้รับรางวัลมากเช่นนี้เพราะ เมื่อถูกได้เงินรางวัลในรอบแรกแล้ว ผู้ถูกรางวัลยังไม่ไปรับเงินรางวัล แต่แจ้งความประสงค์นำเงินถูกรางวัลซื้อหวย รอบสอง และเผอิญในรอบที่สองก็ถูกได้รับรางวัลอีก เงินรางวัลในรอบที่สองจะได้รับเป็นทวีคูณ-คำบอกเล่าของนายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์)
นายโหงว แซ่อื้อ ได้สร้างเจดีย์ฐานกลมสูง 5 วาเศษ ห่างกำแพงอุโบสถด้านหลังซึ่งหันหน้า ( ประตูด้านหลังพระอุโบสถ ) สู่แม่น้ำบางปะกงประมาณ 10 วาเศษ ถวายให้วัดบางกรูดวิสุทธาราม (วัดประศาสน์โสภณในปัจจุบัน) ในสมัยเจ้าอธิการหลำ ( เป็นคำเรียกเจ้าอาวาสโดยพระใบฏิกาซุ่นฮวดนักธรรมเอก)




ค่าก่อสร้างเป็นเงิน แปดร้อยบาท ( ในขณะ ที่คุณครูทองดี วงศ์ศิริ ครูใหญ่โรงเรียนวัดบางกรูดได้ซื้อสวนที่วนบางเสา หมู่ 1 ตำบลบางกรูด เนื้อที่ 6 ไร่เศษด้วยเงิน สามร้อยหกสิบบาท ในระหว่าปี พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2474 และมีผู้ซื้อที่ดินบริเวณ หมู่ที่ 4 บ้านบางเฟื้อ ตำบลบางกรูด เนื้อที่ 5 - 6 ไร่ เป็นเงิน สองร้อยสี่สิบบาท ในราวปลายปี พ.ศ. 2446 เพื่อสร้างวัดผาณิตาราม ) มูลค่าก่อสร้างเจดีย์ แปดร้อยบาทนับว่าเป็นเงินสูงมาก
นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ คุณน้าสีนวล เจริญวงษ์ เล่าว่า สมัยเด็ก ๆ เห็นเจดีย์องค์นี้เป็นทรงระฆังคว่ำเรียบ แต่เมื่อมีการซ่อมแซมเจดีย์ ในปี พ.ศ. 2527 พระครูประสาทสรคุณเจ้าอาวาสวัดบางกรูดในขณะนั้นได้เพิ่มวงรอบเจดีย์ และเสริมยอดเจดีย์ให้สูงขึ้นจนมีรูปทรงดังปัจจุบัน

ที่มาของข้อมูล
จากหนังสือประวัติวัดบางกรูดวิสุทธาราม พ.ศ. 2480
หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ อาจารย์ทองดี วงศ์ศิริ
หนังสือ 100 ปีวัดผาณิตาราม

ป้ายชื่อบ้าน อื้อเฮียบหมง

ต่อมาคุณยายประไพ เจริญวงษ์ บุตรนายไซ แซ่อื้อ นางจู แซ่อื้อ (ภายหลังใช้สกุลเจริญวงษ์) และเป็นหนึ่งในสองของการเป็นบุตรบุญธรรมของนายโหงว แซ่อื้อ นางอิ่ม อื้อเฮียบหมง เป็นบรรพบุรุษท่านสุดท้ายที่พำนักในบ้าน อื้อเฮียบหมง เลขที่ 1 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด ได้รื้อบ้านถวายวัดบางกรูด ทำให้อัฐิบรรพบุรุษมากมายประมาณ 20 ท่าน ไม่มีที่ตั้งอัฐิให้ลูกหลานได้กราบไหว้ หลาน ๆ จึงขออนุญาตวัดนำอัฐิบรรพบุรุษมาขอบรรจุในเจดีย์ที่นายโหงว ฯ ได้สร้างไว้

ประตูหน้าบ้านอื้อเฮียบหมงที่ถูกรื้อ และหลานชายคนโปรดของคุณยายประไพเก็บรักษา ป้ายชื่อบ้า่นและช่องประตูหน้าบ้านไว้

ในอดีตบ้านอื้อเฮียบหมงนี้รับจ้างทำทองรูปพรรณ เมื่อมีการรื้อบ้านถวายวัด ช่างของวัด (ยุคพระครูประสาทสรคูณ) ที่มารื้อถอนบ้านพบทองรูปพรรณเป็นสายสร้อยรวมเนื้อทอง ห้าบาท บรรจุตามหัวเสาภายในบ้าน และนำไปแบ่งกัน

และภารโรงโรงเรียนวัดบางกรูด (เรียกตามนามเดิม)เล่าให้ฟังวันเชิญอัฐิบรรพบุรุษออกจากเจดีย์ว่าได้ใช้เสาและกระดานบางส่วนจากบ้านหลังนี้ไปซ่อมแซมโรงเรียน



เจดีย์องค์นี้ถูกพวกมิจฉาชีพมาขุดเจาะเพิ่อค้นหาของมีค่าในเจดีย์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ก่อนมีการนำอัฐิบรรพบุรุษเข้ามาบรรจุ เล่ากันว่าพบไข่มุกและพระทองคำบรรจุภายในองค์เจดีย์ ครั้งที่สองพวกมิจฉาชีพเจาะเจดีย์เข้าไป รื้อค้น โกฐ(ทองเหลือง) โหลแก้วใสขาวใบใหญ่มีฝาปิด (บรรจุอัฐิรวมหลาย ๆ ท่าน) โหลสี โหลขาวใบเล็ก ชุดขามแก้วมีฝาปิด ชามกระเบื้องเคลือบมีฝาปิด โถกระเบื้องเคลือบ และในราวปี พ.ศ. 2549 ตระกูล สัตยมานะ ได้นำอัฐิ หลวงสมรรถยุทธการ (ฉัตร สัตยมานะ ) นางอุไร สัตยมานะ หลวงจรูญอักษรศักดิ์ และนางวงศ์ อุรัสยะนันท์ เข้ามาบรรจุร่วม จึงมีโถเบญจรงค์และโกฐกระเบื้องเคลือบ โกฐทองเหลืองฉลุและแกะลายสวยงาม บรรจุอยู่ สิ่งที่บรรจุอัฐิเหล่านี้ล้มระเนระนาด และอาจมีการสูญหาย ซึ่งทางวัดเป็นผู้ดำเนินการปิดรอยเจาะนี้ และได้นำพระเครื่องเข้าไปบรรจุรอบฐานตั้งอัฐิ และตามรอบวงเจดีย์ภายใน ประมาณ 200 องค์ ซึ่งลูกหลานไม่ทราบเรื่องการบรรจุพระเครื่อง



ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ได้เกิดฟ้าผ่ายอดเจดีย์หักลงมา (ได้พยายามค้นหาพระทองคำหนัก 2 บาท ซึ่งบรรจุใหม่บริเวณรอยต่อยอดเจดีย์เก่าและเสริมใหม่ในปี พ.ศ. 2527 ที่มีการซ่อมเจดีย์และเสริมยอดใหม่ ไม่พบ ผู้รู้บอกว่าทองคำถ้าถูกฟ้าผ่าจะสลายตัว การบรรจุพระทองคำหนัก 2 บาทนี้ พระครูประสาทสรคุณ เจ้าอาวาสวัดได้เชิญ นางทวี วิไลพันธุ์ บุตรสาวนายมานิตย์ เจริญวงษ์ และนางทรงลักษณ์ อยู่เย็น หลานสาว นางสมใจ พัวพันธุ์ มาเป็นพยาน ) ฟ้าผ่าทำให้มีเศษอิฐ ปูน ร่วงลงสู่ภายในใจกลางเจดีย์ส่งผลให้สิ่งที่ใช้บรรจุอัฐิตามที่เจาะเจดีย์เข้าไปภายหลังพบว่าแตกหักเป็นส่วนใหญ่









ลูกหลานสกุลเจริญวงษ์ พัวพันธุ์ สัตยมานะ และที่แตกสกุลเป็นอุดมพงษ์ สงวนสัตย์และเครือรัตน์ ได้ร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จดังภาพที่เห็นเป็นปัจจุบัน ช่างที่รับเหมาซ่อมแซมแจ้งว่าเจดีย์นี้ก่อสร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว พบภาวะน้ำท่วมใหญ (2 ครั้ง) อาจมีการพังทรุดลงมาในวันข้างหน้าซึ่งประมาณไม่ได้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ได้มีการปรึกษาหารือกันว่า หากเกิดเหตุเจดีย์พังทรุดในรุ่นลูกหลานถัดไปอีกหลายรุ่น จะมีการจัดการอย่างไรกับอัฐิบรรพบุรุษที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์ ดังนั้นทายาทในรุ่นปัจจุบันควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนมีปัญหา จึงตกลงให้มีการทำบุญและประชุมเพลิงอัฐิใหม่อย่างถูกต้องตามขนบประเพณี แล้วเชิญอัฐิบรรพบุรุษทั้งหมดลอยลงสู่แม่น้ำบางปะกง



และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 ทางวัดมีการซ่อมแซมปิดทองพระพุทธรูปในพระอุโบสถทั้งหมด เป็นพระประธาน 1 องค์ พระพุทธรูปบนแท่นชุกชี 6 องค์ นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์และนายอภินันท์ พัวพันธุ์ได้ไปขอเป็นเจ้าภาพร่วมกับบุตร ธิดาของนายสนั่น ใจเอื้อ โดยเป็นขอเจ้าภาพครึ่งหนึ่งในส่วนของการการปิดทองพระ ทั้งนี้เนื่องจาก
คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ เป็น หนึ่งในสามของผู้บูรณะซ่อมแซมหุ้มปูนองค์พระประธานองค์เดิมจากปางสมาธิเป็นปางมารวิชัย ใน ปี พ.ศ. 2500
นายมังกร นางละม่อม สงวนสัตย์สร้างพระปางมารวิชัยหน้าตัก 28 นิ้วเศษ 1 องค์
นายเกษม นางอุระมิลา สัตยมานะ สร้างพระพุทธรูป 1 องค์ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร รวม 3 องค์ถวาย บนแท่นชุกชี
นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ซ่อมแซมบานประตูพระอุโบสถด้านหลัง 2 ช่องประตู รวม 4 บานประตู














และลูกหลานแซ่อื้อร่วมกันบูรณะเจดีย์
จึงได้มีการทำบุญกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เป็นการชุมนุมสายตระกูลแซ่อื้อ เพื่อ
ทำบุญฉลองเจดีย์ , การปิดทองพระในพระอุโบสถและลอยอัฐิบรรพบุรุษตระกูล แซ่อื้อ
ณ วัดประศาสน์โสภณ (บางกรูด)
หมายเหตุเมื่อซ่อมและเรียกคืนข้อมูลใน Hard DisK ได้ จะแทรกภาพประกอบตามที่นำเสนอใน power point ภายหลัง

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 1



พลอยโพยมขออภัยท่านผู้อ่านที่เข้ามาอ่านบทความวิถีชีวิตไทยในวันวานเมื่อ 50 ปีเศษที่ย่านบ้่านตำบลบางกรูด และสารพันเรื่องเล่่าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เขียน เนื่องจากบทความระยะสามสี่วันนี้พลอยโพยมจะเล่าเรื่องส่วนตัวจริง ๆ ของตัวเอง

ช่วงเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมาพลอยโพยมและญาติพี่น้องอีกหลายท่านร่วมกันเตรียมงาน หาข้อมูล หาภาพ เตรียมข้อมูล สำหรับงานสำคัญของสายตระกูล แซ่อื้อ ของคุณยายสมใจ พัวพันธุ์ (เจริญวงษ์) และเพิ่งเสร็จสิ้นงานการทำบุญฉลองเจดีย์ ฉลองการบูรณะพระพุทธรูปในพระอุโบสถและลอยอัฐิบรรพบุรุษตระกูล แซ่อื้อ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม  พ.ศ. 2556 ที่วัดประศาสน์โสภณ (บางกรูด) ส่วนหนึ่งของงานคือการนำเสนอ POWER POINT แต่ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้นำเสนอ คือฉาก ทำให้ ญาติ ๆ ที่มาร่วมงาน ร้อยกว่าท่านเห็นภาพไม่ชัด พลอยโพยมจึงขอให้ ญาติ ๆ เข้ามาอ่านบทความและภาพที่นำเสนอ POWER POINT ใน BLOG วันวานของบางกรูด ทดแทน เพราะสิ่งที่พลอยโพยมนำเสนอนั้นเป็นเรื่องราวที่ญาติผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่ไม่เคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติ ๆ ที่ติดภารกิจมาร่วมงานไม่ได้

พลอยโพยมขออภัยที่ต้องใช้ BLOG นี้นำเสนอประวัติเรื่องราวของสายตระกูลตนเอง บทความอาจไม่มีประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ที่เข้ามาอ่านบทความ แต่มีความหมายมากสำหรับญาติพี่น้องร่วมสายตระกูล จึงขอใช้พื้นที่สักระยะสั้น ๆ
เรื่องราวที่ใช้นำเสนอด้วย POWER POINT มีดังนี้








แซ่อื้อ




ตระกูลแซ่อื้อจากเมืองแต้จิ๋วประเทศจีน สู่สยามประเทศ
กำเนิดสกุลเจริญวงษ์และสายสัมพันธ์กับสกุล พัวพันธุ์ , สัตยมานะ




ภาพวาดของเมืองกวางตุ้ง
ขอขอบคุณภาพจาก http://haab.catholic.or.th/article/articleart1/art39/art39.html



ภาพเรือสำเภา
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.phuket-trips.com/th/june-bahtra-daytrip.htm






ป้ายไม้ธรรมดาประวัตินายตงจงอื้อ และ ป้ายไม้ทาสีทองด้วยทองคำเปลวประวัตินายกงหงงอื้อ



รายละเอียดของแผ่นป้ายนายตงจงอื้อ

ผู้ชายชื่อ ตงจง อื้อ เกิดเมื่อ ปีมะเส็ง เดือน 8 เสียชีวิต ปีมะโรง ขณะที่มีอายุ 66 ปี ผู้หญิงชื่อ ไช้เนี๊ยว แซ่ลิ้ม เสียชีวิตในปีมะเมีย
อ่านรายละเอียดเมื่อพ.ศ.2555 ตรงกับปีมะโรง ให้เอา 66 ปี บวก รอบนักษัตร คือ 61 ปี บางคนใช้ 60 ปี เท่ากับ 127 ปี ในปี พ.ศ. 2556 รวมเป็นเวลา 128 ปี จากปีที่เกิด




รายละเอียดของแผ่นป้ายนายกงหงงอื้อ

ส่วนชั้นในของแผ่นป้ายมีใจความว่า
“ เป็นลำดับที่ 20 ของสายบรรพบุรุษตระกูลอื้อ ผู้ชายชื่อกงหงง แซ่อื้อ เกิด ปีวอก เดือน 6 วันที่ 16 ช่วง เวลา 9-11 โมง ตอนกลางคืนเมื่อปีที่ 10 ยุคฮ่ำฮง เสียชีวิตเมื่อ ปีระกา เดือน 2 วันที่ 19 ช่วงเวลา7-9 โมงในปีที่ 1 ยุคซวงท่ง ผู้หญิงชื่อ หงี่เซี้ยง แซ่เงี๊ยบ เกิด ปีระกา เดือน 1 วันที่ 11 เป็นปีที่ 11 ยุคฮ่ำฮง ไม่มีระบุปีที่เสียชีวิต มาจากเมืองแต้จิ๋ว เขตไห่หยาง ตำบลคิ้วโค่ย (คิ้วโค่ยโต่ว) ภูเขาตงซัว ได้เดินทางมาเมืองไทย ที่เมืองปั๊กลิ่ว มาปักหลักฐานอยู่ข้าง ๆ ถ่งทั้งเซี้ยง “
นายกงหงง อื้อ มีอายุ รวม 48-49 ปี หากนับถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2556 รวมเป็นเวลา 153 ปี จากปีที่เกิด

ฮ่ำฮง เป็นชื่อยุคซึ่งจะเรียกตามการครองราชย์ของจักรพรรดิต่าง ๆ กัน ยุคฮ่ำฮงเป็นยุคของจักรพรรดิเสียนเฟิง ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์ชิง เป็นจักรพรรดิอยู่ 11 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2393 - 2404) ตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย จักรพรรดิเสียนเฟิงมีเจ้าจอมซึ่งต่อมาคือซูสีไทเฮา ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2454 ในยุคซวงท่งของจักรพรรดิปูยี่(ผู่อี๋ ,Puyi ) ระหว่างปี พ.ศ. 2451-2554 เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์
ที่มาของข้อมูล –วิกิพีเดีย

เมือง แต้จิ๋ว (Teochiu) ปัจจุบันเรียกว่าเมือง เฉาโจว (Chaozhou) หรือเฉาอัน (Chaoan) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง
มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นภูเขา 50.45% ที่ราบ 35.5% อ่าวและชายฝั่งทะเล 14.05%

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า ชาวจีนที่เดินทางมาไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่นั้นเป็นจีนฮกเกี้ยน มักมีอาชีพรับราชการ แต่หลังสมัยอยุธยานั้น จะมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก จีนฮกเกี้ยนมีเป็นจำนวนมากแถบภาคใต้ของจังหวัดภูเก็ต ปัตตานี สงขลา และระนอง สำหรับจีนแต้จิ๋ว อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นส่วนใหญ่ ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในระยะหลังปี 2310 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนและได้รับสิทธิพิเศษบางประการเพราะพระเจ้าตากสินทรงมีพระบิดาเป็นชาวแต้จิ๋ว
พวกแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะอพยพมาทางเรือ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ได้แก่เมืองต่าง ๆ ในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว และในกรุงเทพฯ ต่อมาภายหลังในคริสตศตวรรษที่ 19 พวกแต้จิ๋วจึงขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกเขตดังกล่าว ได้แก่ อุตรดิตถ์ ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ตลอดจนพิจิตร พิษณุโลก สวรรคโลก เด่นชัย เมื่อมีการสร้างทางรถไฟไปถึงแก่งคอยและขึ้นไปทางเหนือ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.angelfire.com/mi4/hainanthai/taijuy.html

ในปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวจีนอพยพเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกิดทุพภิกขภัย เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองฉะเชิงเทรามากเพื่อทำไร่อ้อยและตั้งโรงหีบอ้อยสำหรับทำน้ำตาล เมืองฉะเชิงเทรามีโรงหีบอ้อยตั้ง 28 โรง มีโรงหีบอ้อยหลวง 1 โรง ที่เมืองพนัสนิคม 1 โรง
แม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นทางที่มีเรือสำเภาแล่นไปเมืองจีน เพื่อขนน้ำตาลไปขาย
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลท่าพลับและตำบลบางกรูดเคยมีโรงสีไฟเครื่องจักร ที่เรียกว่าโรงสีกลไฟ 3 โรงริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง คือโรงสีบน โรงสีกลาง โรงสีล่าง สามารถส่งข้าวออกไปขายที่สิงค์โปร์ ฮ่องกงได้โดยตรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ปริญญานิพนธ์ของ อังคณา แสงสว่าง

หลักฐานการเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินของคนจีนก็คือคือศาลเจ้าและโรงเจ ซึ่งตามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงจะมีศาลเจ้าและโรงเจหลายแห่ง
หมายเหตุ

ที่บ้านฝั่งตรงข้ามวัดบางกรูดบริเวณบ้านบรรพบุรุษของพลอยโพยม มีศาลเจ้า 1 แห่ง บางคนอ่านชื่อป้ายศาลเจ้าว่า ทั้งเซี้ยงโกวเมี่ย ซึ่งเมื่อนำภาพอักษรจีนบนป้ายชื่อศาลเจ้าไปให้คนอ่านแผ่นป้ายประวัติ ผู้อ่านและแปลไทยให้บอกว่าเป็นสถานที่เดียวกัน








และเยื้อง ๆ กับบ้านบรรพบุรุษนี้เคยมีโรงสีกลางซึ่งมีปล่องไฟสูงใหญ่มาก จากคำบอกเล่าของนายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ๋คือ ก๋งบุญเล่าให้ฟังสมัยคุณน้าเป็นเด็ก ๆ ว่าเรือบรรทุกข้าวเป็นเรือกระแซงลำใหญ่ จะจอดรอเทียบท่าโรงสีกลางโดยจอดเรียงรายเต็มท่าน้ำก่อนแล้วต้องผูกโยงลำเรือ ต่อ ๆ กันมาถึงกลางลำน้ำบางปะกง โรงสีกลางมีกำลังการสีข่าว วันละ 100 เกวียน

เรือกระแซงขนาดเล็ก

เรือเอี๊ยมจุน

ประวัติสกุลเจริญวงษ์

1. นายกงหงงอื้อ ทายาทสกุลอื้อลำดับที่ 20 เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2403 มีภรรยาชื่อนางหงี่เซี้ยง แซ่เงี๊ยบ
เกิดปี พ.ศ. 2404 เดินทางมาจากเมืองแต้จิ๋ว เขตไห่หยาง ตำบลคิ้วโค่ย (คิ้วโค่ยโต่ว) ภูเขา ตงซัว
ได้มาประเทศไทยที่เมือง แปดริ้ว (ปั๊กลิ่ว ) โดยมาปักหลักฐานอยู่ข้าง ๆ ถ่งทั้งเซี้ยง ท่านกงหงง อื้อ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2451

2.นายตงจงอื้อ มีภรรยาชื่อ ไช้เนี๊ยว แซ่ลิ้ม เกิด ปีมะเส็ง เดือน 8 เสียชีวิต ปีมะโรง เมื่ออายุ ได้ 66 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2556 รวมเป็นเวลาผ่านมา 128 ปี จากปีเกิด

3.นายจี้เค็ง แซ่อื้อ มีภรรยาชื่อ อำแดงแจ่ม ทั้งสองชื่อนี้ปรากฏในโฉนดที่ดินที่ หมู่ 9 บ้านท่าพลับ ตำบลท่าพลับว่าเป็นบิดามารดา ของนายโหงว แซ่อื้อ

4.นายโหงว แซ่อื้อ เป็นบุตร นายจี้เค็ง แซ่อื้อ และอำแดงแจ่ม มีภรรยาชื่อ นางอิ่ม อื้อเฮียบหมง บรรพบุรุษแซ่อื้อพำนักที่บ้านซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไทยปนจีนหลังใหญ่ คือมีเรือนใหญ่ตรงกลางมีเรือนขวางซ้ายขวา บ้านเรือนกลางยกระดับ 3 ชั้น คือจากนอกชานชั้นที่ 1 และยกระดับในเรือนอีก 2 ระดับ รวมทั้งมีเล่าเต้ง (ชั้นบน) ต่อมาเป็นบ้านเลขที่ 1 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาจากญาติผู้ใหญ่รุ่นก๋งว่าบ้านหลังนี้สร้างโดยย่าแดง ( ยังหาความสัมพันธ์ของย่าแดงไม่ได้ว่าคือใคร ) นายโหงว และนางอิ่มไม่มีบุตรธิดา แต่นายโหงว มีน้องชาย คือ นายไซ แช่อื้อ

5.นายไซ แซ่อื้อ มีภรรยาชื่อ นางจู มีบุตรธิดา รวม 5 คน ต่อมานายมานิตย์ ( กุ่ยฮั้ว แซ่อื้อ) บุตรชายคนที่สี่ของนายไซ นางจู ได้ขอตั้งนามสกุล เจริญวงษ์ โดยนางจู ยังมีชีวิตทันได้ใช้นามสกุล เจริญวงษ์ เป็นนางจู เจริญวงษ์



ก่อนนายกงหงง อื้อเข้ามาอยู่เมืองไทย มีคนในตระกูลอื้อ ซึ่งเข้ามาปักหลักฐานที่ตำบลบางกรูด ได้ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลเจ้าทั้งเซี้ยงโกวเมี่ย ที่ตำบลบางกรูด 3 คน คนที่หนึ่งมีชื่อว่าอื้อกุ่ยชุน คนที่สองชื่ออื้อกวง...(ตัวสุดท้ายอ่านไม่ชัด) และคนที่สาม อ่านได้แต่คำว่าอื้อ.. (อ่านจากป้ายรายนามผู้บริจาคเงินสร้างศาลเจ้าซึ่งสีหมึกดำที่ใช้เขียนเลือนรางมาก)
นายกงหงง อื้อ นับอายุถึงปัจจุบัน 153 ปี อาจมีบุตร ธิดา ท่านอื่นอีก แต่หาข้อมูลไม่ได้
นายตงจง แซ่อื้อ เกิดหลังนายกงหงง นับอายุถึงปัจจุบัน 128 ปี อาจมีบุตรธิดา ท่านอื่น ๆ อีก
นายจี้เค็ง แซ่อื้อและอำแดงแจ่ม มีบุตรชาย 2 คนคือ นายโหงว แซ่อื้อ และนายไซ แซ่อื้อ
สันนิษฐานว่า

นายโหงว และนายไซ น่าจะเป็นทายาทแซ่อื้อ ลำดับที่ 23
บุตรธิดาของ นายไซ แซ่อื้อและ นางจู เจริญวงษ์ น่าจะเป็น แซ่อื้อ ลำดับที่ 24

นายโหงว แซ่อื้อและ นางอิ่ม อื้อเฮียบหมง ได้ขอบุตรคนที่ 2 และธิดาคนที่ 5 ของนายไซ นางจู มาเป็นบุตรบุญธรรม

ลำดับของบรรพบุรุษสรุปได้ตามหลักฐานที่มีอยู่เป็นดังนี้

นายกงหงง แซ่อื้อ นางหงี่เซี้ยง แซ่เงี๊ยบ
นายตงจง แซ่อื้อ นางไช้เนี๊ยว แซ่ลิ้ม
นายจี้เค็ง แซ่อื้อ อำแดงแจ่ม มีบุตรชาย 2 คน คือ
1.นายโหงว แซ่อื้อ สมรสกับ นางอิ่ม อื้อเฮียบหมง ไม่มีบุตร ธิดา
2.นายไซ แซ่อื้อ สมรสกับ นางจู แซ่อื้อ(ภายหลังใช้สกุล เจริญวงษ์) มีบุตรธิดา 5 คน คือ
1. นางสาวสมใจ เจริญวงษ์ (กุ่ยเอ็ง)
2.นายชาญ เจริญวงษ์ (กุ่ยชุน)
3.นางสาวอุไร เจริญวงษ์ (กุ่ยฮวย)
4.นายมานิตย์ เจริญวงษ์ (กุ่ยฮั้ว)
5.นางสาวประไพ เจริญวงษ์ ( กุ่ยเฮียง)



ชวดจู แซ่อื้อ ( เจริญวงษ์ )


ซ้าย กุ่ยเฮียง แซ่อื้อ ขวา กุ่ยเอ็ง แซ่อื้อ
(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประไพ เจริญวงษ์ และ สมใจ พัวพันธุ์ (เจริญวงษ์)



คุณยายประไพ เจริญวงษ์ เด็กน้อยหน้ายู่ยี่ที่เรียกหาว่า เล็กจี๊ด ( เล็กอย่างเดียวไม่พอยังจี๊ดอีกด้วย ) ฉัตรชัย สงวนสัตย์ คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ (ยายขา)
แถวหลัง ละม่อม สงวนสัตย์ (พัวพันธุ์ ) ละออ อุดมพงษ์ (พัวพันธุ์) และ ประทุม พัวพันธุ์ (สะใภ้)


นั่ง - ละออ  อุดมพงษ์ (พัวพันธุ์)
ยืน - ละม่อม สงวนสัตย์ (พัวพันธุ์) ประทุม พัวพันธุ์


พี่สาวคนโต กับน้องสาวคนสุดท้อง นั่งเรียงหมากที่หั่นซอยแล้วตากแห้ง กลางนอกชานบ้านของยายขา เด็กชายนพฤทธิ์ สงวนสัตย์ ในชุดเท่ห์ไม่เบา