วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาเทพา

ปลาเทพา

ชื่ออื่น มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "เลิม"



ชื่ออังกฤษ: Chao Phraya giant catfish

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius sanitwongsei

อยู่ในวงศ์ปลาสวาย Pangasiidae



ปลาเทพาเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในจำพวกปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง เป็นปลาขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับปลาบึก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวายและปลาเทโพ

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย ลำตัวเรียวยาว หัวโต มีส่วนหัวค่อนข้างสั้นแต่มีลักษณะแบนและกว้าง ปากกว้างกว่าปลาในสกุลเดียวกันและชนิดอื่น ๆจงอยปากค่อนข้างสั้น มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง หนวดเล็กและสั้น 2 คู่ อยู่ที่ริมฝีปากบนและมุมปาก นัยน์ตามีขนาดเล็กและอยู่เหนือมุมปาก



มีลักษณะเด่นที่กระโดงหลัง ครีบหู และครีบท้องมีก้านเดี่ยวอันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นเดี่ยวยาวมาก จึงดูสง่างามในเวลาว่ายน้ำมากกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน เมื่อว่ายน้ำจะตั้งชั้นเหมือนปลาฉลาม ครีบหางเป็นแฉกลึกมีแถบสีจางตามแนวยาวทั้ง 2 แฉก ครีบไขมันอยู่ในแนวสันหลังอยุ่ใกล้กับครีบหาง หัว สันหลังและข้างสีดำปนเทา ท้องสีขาว มีจุดสีขาวขนาดใหญ่สะดุดตาอยู่เหนือช่องเหงือก ครีบก้นมีฐานยาวตอนหน้ามีแถบสีคล้ำตามแนวยาว

ถิ่นอาศัย

พบในประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน ในประเทศไทยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเท่านั้น ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหายากในแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยวิธีการผสมเทียม



นิสัย รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ปกติจะว่ายน้ำตลอดเวลา ปลาเทพาในธรรมชาติชอบน้ำที่ใสสะอาดมีการไหลเวียนอย่างดี เนื่องจากมันจะว่ายอยู่ตลอดเวลา



อาหาร

เป็นปลากินเนื้ออาหารอาหารที่ชอบได้แก่ซากสัตว์ที่ตายลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลูกปลาขนาดเล็กมักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง กินแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เคยพบปลาเทพาในบ่อเลี้ยง มักจะเห็นปลาเทพา กินปลานิลขนาดใหญ่จนติดคาคอเพราะกลืนไม่เข้า และลอยตายในเวลาต่อมา มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แย่งกันกินอาหาร



ขนาด มีขนาดประมาณ 1 - 1.25 เมตร ใหญ่สุดพบยาวได้ถึง 3 เมตร และมีน้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม

ประโยชน์

เนื้อมักถูกนำมาขายแทนเนื้อปลาบึก (Pangasinodon gigas) ซึ่งหายาก และมีราคาแพงกว่า นอกนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาพิการที่ลำตัวสั้นกว่าปกติมีราคาสูงมาก แต่เป็นปลาที่มีกลิ่นคาวจัด



ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพานั้น ตั้งขึ้นโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ในฐานะเป็นผู้ผลักดันและบุกเบิกให้มีหน่วยงานทางด้านการศึกษาและจัดการสัตว์น้ำในประเทศ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน



กรมประมงได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาเทพาสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมโดยใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขง จากนั้นสถานีวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา กรมประมง จึงทำการวิจัยเพาะขยายพันธุ์ โดยวิธีการผสมเทียม จนได้ รับความสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 อีกครั้ง



 

ที่มาของข้อมูล

วิกิพีเดีย

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์

http://thaifishingcenter.com/board/index.php?topic=92.0



ภาพปลาเทพา(ไม่นับรวมภาพที่จัดในตู้งานประมงน้อมเกล้า 2 ภาพแรก ) เป็นภาพที่ถ่ายคนละปีกันโดยถ่ายจากสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ บางเขน โดยกรมประมงจัดให้ในตู้เลี้ยงปลาตู้ใหญ่ชั้นล่างเมื่อเปิดประตูเข้าไปก็จะพบปลาเทพา ปลาเทโพและปลาสวายอยู่รวมในตู้เลี้ยงปลาเดียวกัน คอยทักทายเชื้อเชิญแขกที่มาเยือนสถานที่นี้ โดยเฉพาะปลาสวายเผือกมีอยู่หลายตัวในภาพสีโทนที่เป็นสีเขียวหม่น ซึ่งปลาสวายเผือกจะตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับปลาเทโพและปลาเทพา



พลอยโพยมไม่สามารถแยกปลาเทโพและปลาเทพาได้ ก็ถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ หลายครั้งที่ไปถ่ายภาพปลาที่ต้องการจะใช้รูปประกอบหนังสือวันวานของบางกรูด แต่บรรรณาธิการ คัดภาพปลาและสัตว์น้ำออกหมดเพราะฝีมือพลอยโพยมที่อ่อนด้อยฝีมือ นั่นเอง ปลาเทโพและปลาเทพาปลาสวายเป็นปลาที่ไม่คิดจะใช้ภาพ แต่ความที่คิดว่าถ่ายไว้ก็ไม่เสียหายอะไร ก็เลยมีภาพที่แม้จะไม่สวยงาม ชัดเจน แต่พลอยโพยมเองก็ได้เห็นความแตกต่างของปลาเทโพและปลาเทพา ปลาเทพามีที่สังเกตที่กระโดงหลังที่ยาวและตั้งชันเวลาว่ายน้ำ และมีจุดสีขาวขนาดใหญ่สะดุดตาอยู่เหนือช่องเหงือก



ส่วนปลาเทโพและปลาสวายมีที่สังเกตก็คือ ปลาที่มีจุดสีดำขนาดใหญ่เหนือครีบหูคือปลาเทโพ มีกระโดงหลังสูงกว่าปลาสวาย แต่สั้นกว่าปลาเทพา และในปี พ.ศ. 2555 นี้ ในตู้ปลาตู้นี้ไม่มีปลาสวายเผือกที่เคยมีหลายตัวแต่ปีนี้ไม่มีเหลือเลยสักตัว คนเลี้ยงบอกว่า ปลาตาย และมีการจัดตู้ปลาด้วยโทนสีฟ้า ทำให้รู้สึกว่าปลาในตู้ดูสดใสเริงร่ากว่าโทนสีเขียวหม่น (แต่สงสัยว่าพลอยโพยมคิดไปเองเสียมากกว่า อาจจะเริงร่าเพราะมีเนื้อที่ในตู้เลี้ยงปลาให้ว่ายน้ำได้มากขึ้น ปลาสวายเผือกที่เคยเกะกะเส้นทางว่ายน้ำหายไปหมดแล้ว)

ปลาเขาก็ต้องจัดเส้นทางจราจรของเขาเหมือนรถบนถนนของมนุษย์ รถเล็ก ๆ เช่นรถมอเตอร์ไซด์ ก็วิ่งซอกแซกทำให้รถยนต์เสียสมาธิหากไม่ระวังก็เกิดเฉี่ยวชนกันได้ ปลาก็เหมือนกันเห็นเขาว่ายน้ำแบบต้องเอี้ยวตัวหลบปลาตัวอื่น ๆ เสมอ หลบได้อย่างรวดเร็ว ปลาเขาไม่มีลู่จราจรตีเส้นเหมือนถนนของเรา ไม่มีไฟแดงไฟเหลืองไฟเขียว ไม่ต้องมีป้ายเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ตรงไปหรือ u turn คิดดูแล้วปลาเขามีประสาทและสัญชาติญาณ ดีมาก ๆ เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น