วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

กินนรและกินรี



กินรี และ กินนร เป็นอมนุษย์ในป่าหิมพานต์ ร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มีปีกบินได้ ตามตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาศ นับเป็นอมนุษย์ที่มีปรากฏในงานศิลปะของไทยมาก ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีการอ้างถึงกินรีด้วยเช่นกัน

ตำนานกินรี

กินรีมีต้นกำเนิดที่แท้จริงเป็นมาอย่างไรนั้นยังไม่พบตำราไหนกล่าวไว้ชัดเจน แต่ในเทวะประวัติของพระพุธกล่าวไว้ว่า เมื่อท้าวอิลราชประพาสป่าแล้วหลงเข้าไปในเขตหวงห้ามของพระศิวะนั้น ท้าวอิลราช และบริวารถูกสาปให้แปลงเพศเป็นหญิงทั้งหมด ต่อมานางอิลา คือ ท้าวอิลราชถูกสาป และบริวารที่มาเล่นน้ำอยู่ใกล้อาศรมของพระพุธ เมื่อพระพุธเห็นนางเข้าก็ชอบ รับนางเป็นชายา และเสกให้บริวารของนางกลายเป็น กินรี โดยบอกว่าจะหาผลาหารให้กิน และจะหากิมบุรุษให้เป็นสามี แสดงว่า กิมบุรุษ หรือ กินนร และกินรีมีต้นกำเนิดมาจากการเสกของพระพุธ


ขอขอบคุณภาพจาก www.a-liv.com

กิมบุรุษ แปลว่า บุรุษอะไร เดิมทีว่ามีหน้าเป็นมนุษย์ตัวเป็นนกเข้าลักษณะของคนธรรม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า กิมบุรุษ หรือกินนร มาจากมูลอันเดียวกันคือ กี แปลว่าอะไร ดังนั้นคำว่า กิมบุรุษ ก็แปลว่าชายอะไร และกินนร แปลว่า คนอะไร ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ ก็เรียกว่ากินรี


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=krurapee&month

มีการสันนิษฐานว่ากินนรของไทยคงจะได้เค้ามาจากกิมบุรุษของอินเดีย ภาพกินนรของอินเดียนั้นหน้าเป็นคนตัวเป็นนกและเป็นเพศหญิงรูปร่างท่าทางเหมือนผู้หญิงอินเดียทั่ว ๆ ไป คืออวบอ้วนแข็งแรง ไม่อ่อนช้อยเหมือนกินนรไทย



อมนุษย์ที่หน้าเป็นคนแต่ท่อนล่างเป็นนกนี้ ก็แพร่หลายในประเทศญี่ปุุ่น มีภาพสลักไม้โบราณท่อนบนเป็นรูปสตรีท่อนล่างเป็นนก คนหนึ่งเป่าขลุ่ย คนหนึ่งตีกลอง แสดงว่าเป็นนักดนตรี คนธรรม์เป็นผู้ร้องลำำนำ และอัปสรเป็นผู้ทำระบำ ภาพสลักไม้ของประเทศญี่ปุ่นนี้ก็คงเป็นนางกินรีนั้่นเอง



ที่อยู่ของพวกกินนร กินรี กล่าวกันว่าอยู่ที่เขาไกลาศ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า
" ในเหมเขาไกลาศนั้นแลว่า มีเมืองอันหนึ่งเทียรย่อมเงินแลทองและมีฝูงกินรีอยู่แห่งนั้น บ้านเมืองนั้นสนุกนักหนาดังเมืองไตรตรึงษาสวรรค์ และเมืองนั้นพระปรเมศวร ธ อยู่นั้นแล "
พระปรเมศวรก็คือพระอิศวร หมายความว่าพวกกินนรเป็นบริวารของพระอิศวร
ในเรื่องพระสุธนของไทยพราหมณ์ปุโรหิตแนะให้เอาคนธรรม์มาบูชายัญ ถ้าหาคนธรรม์ไม่ได้ก็ให้จับนางมโนราห์มาบูชายัญแทนไดุ้่

ซึ่งในหนังสือของ พี.ธอมัส กล่าวว่าที่เชิงเขาเมรุเป็นที่อยู่ของคนธรรพ์ กินนร และสิทธิ์ และว่าคนธรรพ์กับกินนรเป็นเชื้อสายเดียวกัน

มีหลายประเทศที่มีนิทานคล้าย ๆ เรื่องพระสุธนหรือมโนราห์ กันแพร่หลาย เช่น ลาว เขมร มอญ บอร์เนียว ญี่ปุ่น และจีน
โดยมีเค้าโครงเรื่องที่คล้ายกัน คือมีสาวสวรรค์ลงมาเล่นน้ำและถอดปีกหางหรือเสื้อผ้าไว้ แล้วมีชายหนุ่มโขมยเอาปีกหางหรือเสื้อผ้าไว้ เลยกลับไปไม่ได้

นิทานของญี่ปุ่นมีชื่อเรื่องว่า "ฮาโกโรโม " แปลว่าเสื้อขนนก เพราะนางสวมเสื้อผ้านี้แล้วบินเหาะไปไหนมาไหนได้



ส่วนในภัลลาติชาดก กล่าวว่า กินนรมีอายุ ๑,๐๐๐ ปี และธรรมดากินนรนั้นย่อมกลัวน้ำเป็นที่สุด ซึ่งน่าจะขัดแย้งกับอุปนิสัยกินนรในเรื่องพระสุธน เพราะนางมโนห์ราชอบไปเล่นน้ำที่สระกลางป่าหิมพานต์ จึงถูกพรานบุญดักจับตัวได้



และในกัลลาติชาดก ยังได้แบ่งพวกกินนรออกเป็น ๗ ประเภท คือ

เทวกินนร เป็นพวกเทพกินนร ครึ่งเทวดาครึ่งนก เป็นประเภทที่คนไทยคุ้นเคย

จันทกินนรา จากนิทานชาดก เรื่องจันทกินรี มีรูปกายเป็นคน แต่มีปีก

ทุมกินนรา น่าจะเป็นพวกอาสัยอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้

ทัณฑมาณกินนรา ชนิดนี้น่าจะมีอะไรคล้ายๆ นกทัณฑิมา ซึ่งเป็นนกปากยาวดุจไม้เท้าอยู่บนใบบัว

โกนตกินนรา - ยังไม่ทราบว่ามีลักษณะใด

สกุณกินนรา - น่าจะเป็นกินนรที่มีร่างท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก ยังไม่ทราบชัดว่าแตกต่างจากประเภทที่ ๑ และ ๒ อย่างไร

กัณณปาวรุณกินนรา - ยังไม่ทราบว่ามีลักษณะใด


ในงานจิตรกรรมไทยนิยมวาดภาพกินนร และกินรีไว้ในที่ต่าง ๆ ในฉากของป่าหิมพานต์ นอกจากนี้ยังมีการปั้นรูปกินนรและกินรีประดับไว้ในสถานที่สำคัญด้วย

นางกินรี มีในวรรณกรรมของไทยหลายเรื่อง เรื่องที่แพร่หลายที่สุด คือวรรณกรรมเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ ซึ่งตัวนางเอกเป็นนางกินรี มาจากป่าหิมพานต์และถูกจับได้เมื่อลงมาเล่นน้ำในสระ จนต้องกลายเป็นพระมเหสีของพระสุธนผู้เป็นมนุษย์ และถูกกลั่นแกล้งให้ถูกเผาทั้งเป็น แต่นางใช้อุบายหลอกขอปีกหางที่ถูกยึดไว้และบินหนีรอดมาได้ ภายหลังพระสุธนออกติดตามไปยังป่าหิมพานต์และได้พบกันในที่สุด นาฏกรรมในเรื่องนี้มีหลายชุดที่มีชื่อเสียงเป็นที่แพร่หลายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ชุด มโนราห์บูชายัญ , ระบำกินรีร่อน และระบำไกรลาศสำเริง



ขอขอบคุณภาพจากbenjakye.igetweb.com

ระบำกินรีร่อนออกบูชายัญ เป็นระบำชุดหนึ่งที่ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ ได้ประดิษฐ์ท่ารำให้มีลีลาอ่อนช้อย งดงาม กับทั้งสอดแทรกความร่าเริงของเหล่ากินรี ที่โผผินบินมาเริงระบำกันอย่างสนุกสนาน โดยให้เข้ากับท่วงทำนองและจังหวะเพลง บางครั้งรำก่อนมโนราห์บูชายัญ หรือบางครั้งก็รำต่อท้ายมโนราห์บูชายัญ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากวิกิพีเดีย
หนังสืออมนุษย์นิยายของ ส.พลายน้อย กินนร-กินรี


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามของคำว่า "กินนร" ไว้ดังนี้ "น. อมนุษย์ในนิยาย มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหน ก็ใส่ปีกใส่หางบินไป. (ป.กินนร ; ส.กินนร, กึนร)."


ขอขอบคุณภาพจากwww.pinn.co.th

ในหนังสือ "เรื่องเบ็ดเตล็ด" ของเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป ที่พิมพ์ แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) ณ เมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เล่าเรื่อง "กินนร - คนธรรพ์" ไว้ดังนี้

"กินนรมีรูปร่างอย่างไร ดูเหมือนไม่ต้องอธิบายก็ได้ เพราะคงรู้จักกัน แล้ว แต่ถ้าว่าตามลักษณะรูปร่างกินนรในวรรณคดีของอินเดียจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ หน้าเป็นม้า ตัวเป็นคนและเป็นเพศชาย ใน Dawson's Classical Dictionary of Hindu Mythology ว่า กินนรเป็นนักดนตรีและนักขับร้องของเทวดา อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าเชิงเขาไกรลาส เป็นบริวารท้าวกุเวร เหตุดังนี้ท้าวกุเวรจึงมีชื่อว่า กินนเรศ แปลว่า เป็นใหญ่ในพวกกินนร แต่เดี๋ยวนี้กินนเรศ หมายความว่านางกินนรผิดกับความหมายเดิมที่ว่า เป็นใหญ่ในกินนร ทั้งนี้คงเนื่องมาจากคำอย่าง เยาวเรศ ยุพเรศ อรรคเรศ เป็นต้นเหตุให้กินนรเป็นกินนเรศไปด้วย เป็นเรื่องโรคติดต่อ คำว่า กินนร ในภาษาสันสกฤตและบาลี ใช้หมายความถึงคนถ่อยคนเลวก็ได้ และก็เป็นการแปลกอยู่หน่อย ในภาษาอาหมคือไทยที่อยู่ในประเทศอัสสัมเรียกคนถ่อยคนเลวว่า คนม้า ส่วนคำว่า "หน้าม้า" ในภาษาของเราเอง ก็เป็นคำที่ไม่เป็นมงคลแก่ผู้ที่ถูกเรียกนัก ถ้าคำนี้ไม่ได้หมายความว่า นั่ง อยู่ที่ม้าหน้าร้านคอย "ต้มหมู" แล้ว ก็น่าจะให้ชื่อว่า เป็นพวกกินนรเห็นจะได้


ขอขอบคุณภาพจาก www.xn--22c0ba9d0gc4c.com

แต่กินนรนั้นถ้าแปลกันตามรูปศัพท์ก็ว่า คนอะไร
ส่วนกินนรผู้หญิงเรียกว่า กินรี คำนี้ก็อีก เรามีเรื่องนางแก้วหน้าม้า ซึ่งมีลักษณะเป็นอย่างกินนรของอินเดียแท้ ๆ แต่กินนรของเราหน้าและตัวท่อนบนเป็นนางมนุษย์ ตัวท่อนล่างเป็นนกซึ่งไปตรงกับคนธรรพ์ของอินเดียที่มีรูปตอนบนเป็นมนุษย์และตอนล่างเป็นนก ดู (Grunwedel's Buddhist Art)
ส่วนคนธรรพ์ของเรารูปร่างเป็นยักษ์เป็นการผิดแผกกันอีก กินนรผู้ชายของเรามีรูปรางอย่างไรไม่พูดถึง เห็นจะมีรูปร่างเป็นมนุษย์อย่างพ่อนางมโนราในเรื่องพระสุธนกระมัง รูปสลักที่โบโรบุดุระ มหาสถูปในเกาะชวา มีเรื่องสุธนชาดก เป็นรูปพระสุธนกำลังหยอดธำมรงค์ลงในหม้อน้ำและมีนางกินนรเก้าตนกำลังไปตักน้ำอยู่ นางกินนรเหล่านี้ มีรูปร่างเป็นอย่างนางมนุษย์ตามธรรมดานั่นเอง เป็นอันผิดกับรูปร่างนางกินนรของเราอีก



ขอขอบคุณภาพจาก www.baanjomyut.com

คำว่า "คนธรรพ์" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวธตรฐ มีความชำนาญในวิชาดนตรีและขับร้อง. (ส. คนฺธรฺว; ป. คนฺธพฺพ)." นอกจากนั้นพจนานุกรมยังได้เก็บลูกคำไว้อีก ๒ คำ คือ
๑. คนธรรพ์วิวาห์ (คนทันพะ - ) น. การได้เสียเป็นผัวเมียกันเอง. (ส. คนฺธรฺววิวาห)
๒. คนธรรพศาสตร์ (คนทับพะ - ) น. วิชาดนตรีและขับร้อง. (ส. คนฺธรฺวเวท ว่าวิชาดนตรี)
ขอขอบคุณข้อมูล
จากบทความของจำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2010/04/26/entry-1


ขอขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com

กิน - นอน / eng /kin. neon/] (n ) รูปพหูพจน์ของสัตว์ (อมนุษย์) ในป่าหิมพานต์ ร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มีปีกบินได้; รูปพหูพจน์ที่รวมทั้งเพศผู้และเพศเมียของสิ่งมีชีวิตในเทพนิยายดังกล่าว; กินรี และ กินริน = เพศเมีย และ กินนรา = (รูปเอกพจน์) เพศผู้

ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีการพูดถึงกินนรกับกินรีพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า กินนรกับกินรี เป็นอมนุษย์ในเทพนิยาย กินนรเป็นเพศชาย และกินรีเป็นเพศหญิง แต่ก็มักเรียกปน ๆ กันไป กินนร หมายถึงทั้ง ๒ เพศก็มี กินนรกับกินรีอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และอาจอยู่กันเป็นบ้านเมือง มีกษัตริย์ปกครอง เช่น กินนรกับกินรีในบทละครเรื่อง นางมโนห์รา-พระสุธน ก็บอกว่ามีบ้านเมืองของกินนรอยู่เชิงเขาไกรลาส


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.thaigoodview.com

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า กินนร มี ๒ ชนิด

ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก

อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็ใส่ปีกใส่หางบินไป

กินนรชนิดแรกนั้นเรามักเห็นกันบ่อย ๆ ในภาพวาดและรูปปั้น เช่น ที่อยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นรูปครึ่งคนครึ่งนก ส่วนที่มีรูปเป็นมนุษย์และใส่ปีกหางบินได้นั้น สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ กล่าวว่า ตรงกับรูปสลักที่มหาสถูปโบโรบุโดในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย นางมโนห์ราในบทละครเก่าแก่ของไทยก็อยู่ในกินนรจำพวกที่ ๒ นี้ด้วย เมื่อนางจะถูกบูชายัญก็ร้องขอปีกหางมาสวมใส่ เพื่อรำถวายเทวดาเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อได้ปีกหางแล้วก็บินหนีกลับไปนครของนางที่ป่าหิมพานต์

ในเรื่องของอินเดีย กล่าวว่า พวกกินนรนั้น ถ้าได้คู่สู่สมเป็นสามีภรรยากันแล้วย่อมมีความรักใคร่ซื่อตรงต่อกันเสมอ เมื่อกวีอินเดียกล่าวถึงความรักระหว่างหญิงชายที่บริสุทธิ์ซื่อตรงต่อกัน ก็มักยกเอาความรักของกินนรขึ้นมาเปรียบ วรรณคดีไทยที่มีชื่อของกินนรกินรีปรากฏอยู่เสมอมีอยู่หลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องของกินนรโดยตรง เช่น บทละครเรื่องมโนห์รา และที่เป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายและบทพรรณนาก็มีมากในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น ในไตรภูมิโลกวินิจฉัย ของพระยาธรรมปรีชา เรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dailynews.co.th/article/44/183926

ข้อมูลของกินนร และกินรี มีหลากหลายดังที่พลอยโพยมรวบรวมมา ท่านที่ต้องการใช้ข้อมูลลองพิจารณากันตามอัธยาศัย อาจจะมีในส่วนข้อมูลของคุณ ส.พลายน้อยและจากวิกิพีเดีย ที่นำเรื่องมาประมวลผลข้อมูลเข้าด้วยกัน ส่วนบทความอื่น ๆ พลอยโพยมนำข้อมูลดิบมานำ้เสนอเป็นแต่ละที่มาของบทความ



ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.himmapan.com/thai/himmapan_bird_thepkinnaree.html 

สุดท้ายนี้ขอตอบข้อคิดเห็นในเชิงคำถามของคุณ tuping เมื่อ25 กรกฎาคม 2556 ว่า"กินนร-กินรี เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ ท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นนก ขาเป็นนก แต่ทำไมภาพในเรื่องพระสุธน-มโนราห์ จึงเป็นคนทั้งตัวแต่มีปีก ผิดลักษณะของสัตว์หิมพานต์น่าแปลกใจดี " ด้วยบทความสุดท้าย ซึ่งเป็นบทความจากนิตยสารกินรีของการบินไทยฉบับหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าฉบับใด ปี พ.ศ.ใด ) ต่อไปนี้



ขอขอบคุณภาพจาก www.chaiwbi.com

กินรีคืออมนุษย์ชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่ามีอยู่ในหิมวัตประเทศตามความเชื่อของชาวอินเดียซึ่งชาวไทยเรียกว่า ป่าหิมพานต์ คำว่ากินรีนี้ใช้เรียกอมนุษย์ที่เป็นเพศหญิง ถ้าเพศชายเรียกว่ากินนร

ไทยได้รับรูปแบบกินรีมาจากประเทศอินเดีย และได้ดัดแปลงเสียใหม่ตามความคิดของคนไทยเอง
กินรีของไทยจึงมีลักษณะเป็นหญิงงามทรงเครื่องพัสตราภรณ์อย่างนางฟ้า มีรูปกายท่อนล่างเป็นนก สามารถบินไปมาในอากาศและเดินทางไปมาระหว่างมนุษยโลกกับเทวโลกได้ เมื่อจะสรงน้ำก็สามารถถอดปีกหางออกและเมื่อนั้นจะมีรูปเป็นเหมือนหญิงสาวธรรมดาทุกประการ กินรีมีชื่อเสียงในเรื่องการบิน จะบินได้อย่างรวดเร็วและสามารถบินไปสู่มิติต่าง ๆ ได้ จนมนุษย์ธรรมดาไม่อาจติดตามได้ กินรีของไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นนางเอกในปัญญาสชาดก คือ มโนราห์ นั่นเอง

ระบำที่เรียกกันว่า มโนราห์บูชายัญ คือระบำที่ใช้แสดงประกอบเรื่องนี้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นระบำกินรีที่งดงามน่าสนใจที่สุดชุดหนึ่งในนาฏศิลป์ชั้นสูงของเมืองไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น