กราบบังคมทูลถวายรายงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จทรงงานที่ดอยอ่างข่าง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ลง เราก็กลับมาเรียนหนังสือในกรุงเทพ ฯ พวกเราลูกคุณแม่อุไรหลายคน ต่างคนก็ต่างเลือกเส้นทางชีวิตที่ตัวเองชอบหรือถนัด ตัวไพจิตรเองเห็นพี่สมจิตต์ ลูกชายคนเล็กสุดของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจเรียนแพทย์ ( สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม วน นามฉายา ฐิติญาโณ เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๑ ได้เปลี่ยนชื่อพี่สมจิตต์ เป็นวิจิตร เมื่อครั้งที่ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ) ไพจิตรก็ฝันหวานอยากเรียนแพทย์จะได้เป็นแพทย์หญิงบ้างพอเรียนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสตรีวิทยา และสอบ entrance เลือกคณะแพทย์ศาสตร์เป็นอันดับ 1 แต่ไม่ได้ ไปได้คณะวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าเป็นนิสิตจุฬา ฯ รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท. สุภา เจริญวงษ์ บุตรชายคนสุดท้องของคุณน้าฮั้วซึ่งสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมา สุภา เปลี่ยนใจไปเรียนนิติศาสตร์แทน เมื่อสำเร็จการศึกษาก็เข้ารับราชการเป็นนายตำรวจ น่าเสียดายที่สุภาเขาอายุสั้นเหลือเกิน
เมื่อไพจิตรเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์และเข้าทำงานได้ 1 ปี ก็ได้แต่งงานกับคุณจุนท์ จันทรวงศ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาที่จังหวัดเชียงราย
หลังจากแต่งงานกันแล้วคุณจุนท์ได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ในปี พ.ศ. 2504 ไพจิตรเลยไปเป็นอาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ให้นักเรียนชั้นเตรียมหรือที่เรียกกันว่า ชั้น ม.7 ม.8 ที่โรงเรียนชายประจำจังหวัดนครสวรรค์ สอนอยู่ประมาณ 5 ปี ในสมัยนั้นวิชาคณิตศาสตร์จะใช้ตำราเรียนของ HALL อันประกอบด้วยคณิตศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส เป็นตำราภาษาอังกฤษหนังสือเล่มหนามากนักเรียนรุ่นก่อน ๆ ใช้เรียนกันมาเนิ่นนาน ตัวไพจิตรเองก็ใช้หนังสือของ HALL ต่อมาจากพี่ ๆ ผู้ชาย โดยเฉพาะพี่ชายที่เรียนโรงเรียนนายเรือถึง 2 คน คือพี่อารี และพี่อาชว์
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนตำราเรียนคณิตศาสตร์เป็นภาษาไทย พิมพ์เล่มเล็ก ๆ ซึ่งเกิดปัญหากับตำราเรียนภาษาไทยชุดใหม่มากจากการพิมพ์ผิด ๆ ถูก ไพจิตรเป็นครูบ้านนอกรู้สึกเบื่อกับหนังสือชุดที่พิมพ์ผิด เมื่อต้องการสอบถามข้อมูล หาข้อมูลจากกระทรวง ฯ เพราะความที่ไพจิตรอยู่ไกลจากกรุงเทพ ฯ จึงทำได้เพียงเขียนจดหมายถามไปที่กระทรวง ฯ อยู่บ่อยครั้ง ได้รับคำตอบบ้างไม่ได้รับคำตอบบ้าง เลยคิดเปลี่ยนอาชีพ ประจวบเหมาะกับคุณจุนท์ก็อยู่จังหวัดนครสวรรค์มา 5 ปีแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องโยกย้ายไปประจำจังหวัดอื่นอีก ไพจิตรจึงทำหนังสือขอย้ายงานข้ามกระทรวง
ไพจิตรได้ทำงานใหม่เป็นงานวิจัยที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร งานในหน้าที่คือวิเคราะห์ ดิน น้ำ ที่เกี่ยวกับการเกษตรเพื่อให้ข้อมูลกับเกษตรกร ขณะนั้นทางกองได้เพิ่มแผนกวิเคราะห์วิจัยน้ำมันพืชและพืชน้ำมัน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือ ไพจิตรจึงโดดมาทำเรื่องนี้เพราะมีพื้นฐานตอนเรียนที่จุฬา ฯ 1 course
ทางแผนกนี้ถือว่าได้ต่อยอดจากการที่แผนกพืชไร่พืชสวนให้เกษตรกรปลูกพืชไร่พืชสวนมา แล้วส่งมาให้แผนกนี้วิเคราะห์วิจัยหาองค์ประกอบของพืชพรรณที่ได้และนำไปแปรรูปและใช้ประโยชน์ต่อ เรียกว่าเป็นแผนก processing and utilization
ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้เรา และยังให้เราไปเรียนและฝึกงานต่อกันที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ที่ทำงานของไพจิตรมีโรงงานสกัดน้ำมันเล็ก ๆ เป็นต้นแบบ ( Proto type ) สำหรับให้คนที่จะตั้งโรงงานมาดูงานที่นี่ด้วย จากโรงงานเล็ก ๆ ต้นแบบของเราก็มีหน่วยงานของหลายมหาวิทยาลัยเช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอื่น ๆ มาขอดูงาน ไพจิตรได้ไปร่วมงานกับเขาทั้งหมด ขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยยังไม่มีการสอนในเรื่องการแปรรูปและการใช้ประโยชน์ ไพจิตรชอบเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ก็หาทุนไปต่อยอดที่ประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เบลเยี่ยม ตามแต่ที่จะมี contact กัน และได้ไปช่วยงานโครงการหลวงที่ดอยอ่างข่าง ดอยปุย ในเรื่องพืชน้ำมันและน้ำมันพืช
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปภาคใต้บ่อยครั้ง ทรงเห็นว่าเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกปาล์มน้ำมันไม่สามารถแปรรูปด้วยตนเองได้ต้องพึ่งพาโรงงานใหญ่ ๆ และถูกกดราคา ทรงมีรับสั่งให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
ในวันเปิดโรงงาน ดร. สัญชัย ได้เชิญไพจิตรในฐานะหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์วิจัยและการใช้ประโยชน์ของน้ำมันปาล์มไปเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อคอยถวายรายงานและตอบข้อซักถามของพระองค์ท่านด้วย ไพจิตรจึงมีโอกาสเข้าเผ้าทั้งสามพระองค์เมื่อประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2529
และต่อมา ไพจิตรได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นที่ได้เสนอร่วมกับโรงพิมพ์ขององค์การค้าคุรุสภาในการนำเอาน้ำมันพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาก แต่ไม่เคยมีใครเอาไปใช้ประโยชน์ ไพจิตรได้นำพืชชนิดนี้มาหีบน้ำมันแล้วแปรรูปเป็นเรซินชนิดหนึ่ง ซึ่งนำไปผสมกับผงหมึกพิมพ์ ใช้พิมพ์หนังสือในโรงพิมพ์ของคุรุสภาได้เป็นอย่างดี รางวัลนี้ได้รับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ผู้มอบรางวัลคือท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น
เพิ่มเติม
พันธุ์พืชที่ไพจิตรนำมาแปรรูปนั้นคือต้นมะพอก โดยสกัดน้ำมันออกจากเมล็ด
พิธีมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ผลงานวิจัยดีเยี่ยม ผลงานคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ไพจิตรรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สืบสายตระกูลมาจากบรรพบุรุษที่แม้จะเป็นชาวจีนโพ้นทะเลเมืองแต้จิ๋วเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาปักหลักฐานสร้างครอบครัวที่สยามประเทศ สืบต่อกันมารุ่นบรรพบุรุษหลายรุ่น ซึ่งท่านบรรพบุรุษแต่ละรุ่น ๆ ก็อบรมเลี้ยงดูลูกหลานให้มีพื้นฐานดำรงชีวิต เป็นคนดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มัธยัสถ์ ประหยัด อดออม ที่สำคัญคือกตัญญูต่อแผ่นดินที่ท่านเหล่านั้นได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จากสายเลือดจีนได้ผสมผสานเป็นสายเลือดไทยจีน และบัดนี้ลูกหลานของท่านเป็นคนไทยเต็มตัวที่สมบูรณ์พร้อมด้วยจิตวิญญาณ จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม สืบสานสร้างคุณประโยชน์แก่สยามประเทศ ไม่เพียงแต่ไพจิตรคนเดียวเท่านั้น ลูกหลานของท่านเหล่ากง กงหงง แซ่อื้อ และเหล่าม่า หงี่เซี้ยง แซ่เงี๊ยบ (ตาทวด ยายทวด ) อีกมากมายที่ล้วนแต่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินถิ่นอาศัยของเหล่าบรรพบุรุษ ซึ่งกลายเป็นแผ่นดินเกิด แผ่นดินแม่ของลูกหลานของท่านมากมาย หากท่านบรรพบุรุษได้รับทราบความเป็นไปของลูกหลานของท่านในวันนี้ ท่านก็คงดีใจ ภาคภูมิใจ อาจจะบอกพวกเราว่า พวกลื้อทั้งหลายทำดีมาก ก๋งขอบใจพวกเจ้าทุกคนนะ ก๋งได้อยู่ดีมีสุขกันมาตลอด ก็เพราะได้เลือกแผ่นดินสยามนี้เป็นที่ฝากฝังชีวิตจิตวิญญาณกันทุกคน
ไพจิตร จันทรวงศ์ (สัตยมานะ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น