วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 5




คุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ คุณลุงชาญ คุณน้าประไพ (คุณน้าเฮียง) ช่างเป็นชาวบ้านและชาวนาที่เฉลียวฉลาด รอบคอบ ประหยัดและขยัน สร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเองด้วยเรี่ยวแรงมันสมองไว้เกือบครบโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหา ผัก ผลไม้ มีในสวนหลังบ้าน ทำนาปลูกข้าวไว้กินเองและสำหรับไว้ขาย มีทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว หน้าบ้านมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานา ชนิด ทั้งกุ้งหอย ปู ปลา แม้ว่าหอยที่พบในแม่น้ำบางปะกงแถบบางกรูดนั้นชาวบ้านจะไม่ใช้ในการบริโภค แต่ก็แต่งแต้มสีสันความงดงามให้กับแม่น้ำบางปะกงในช่วงน้ำลงไม่น้อยเลย ท่านผู้ใหญ่ข้างต้นสร้างเครื่องมือไว้คอยจับสัตว์น้ำเพื่อนำมาบริโภคในครัวเรือน เช่น แห อวน สวิง ยอ ไว้คอยจับกุ้งปลาที่หน้าบ้าน นาน ๆ จึงจะพายเรือไปที่โพงพางกลางแม่น้ำของนายอึ้งเพื่อซื้อกุ้งปลาสักที โพงพางนี้อยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้าน ตัวบ้านนายอึ้ง อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับบ้านของพวกเรา



นอกจากนั้นที่บ้านก็จะจับกุ้งปลากันเองมีพี่มิ่งขวัญเป็นหัวหน้าใหญ่ ทำซั้งล้อมกิ่งไม้ปักไว้บนเลน ( จะเรียกกร่ำ, กล่ำ ก็ได้) เอาดินเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ๆ คลุกรำข้าวโยนใส่ไว้ (เป็นเหยื่อล่อ) พอน้ำขึ้นเต็มก็เอาอวนตาข่ายไปล้อมรอบ พอน้ำลงก็ไปรื้อเอากิ่งไม้ในอวนตาข่ายที่ล้อมไว้ออก แล้วเอาสวิงไล่ช้อนจับกุ้งปลาในวงในของอวนตาข่ายได้กุ้งปลามาแล้วคัดเลือกปลาที่แข็งแรงดีเก็บใส่โอ่ง ไหเอาไว้กินวันต่อไป ส่วนตัวที่อ่อนแอก็นำมาปรุงเป็นอาหารในวันนั้นเลย


ยอ


ซั้ง (ขนาดเล็ก)





คุณลุงบุญมีกิจกรรมที่จะเห็นเป็นประจำก็คือ การซ่อมแซม แห อวน สวิงที่ชำรุดบ้าง ถักร้อยเส้นด้ายทำสวิง แห อวน ของใหม่บ้าง ท่านทำอย่างใจเย็นมากเอาด้ายสอดร้อยไปมา ถักด้วย เมื่อสำเร็จ ก็เห็นท่านไปเก็บผลตะโกดิบ ๆ เอามาตำพอแหลก เอาไปตั้งไฟในปี๊บ เทน้ำเติมลงไป แล้วเอาสวิง แห อวน นี้ลงย้อมยางตะโกดิบเพื่อให้เส้นด้วยมีอายุการใช้งานนานขึ้นกว่าเดิม สำหรับสวิงท่านก็ตัดไม้ไผ่มาใช้มีดตอกจักสานทำขอบสวิง ใช้เส้นหวายเป็นเครื่องผูกมัดขอบสวิงอีกที 

เมื่อไพจิตรกลับกรุงเทพฯ และคุณลุงบุญสิ้นชีวิตไปแล้ว คุณป้าสมใจใช้เวลาว่างของท่านสานตะแกรงกระด้ง และอื่น ๆ มากมาย ไม่เคยต้องซื้อหา


แห


ผลตะโกดิบ

ข้างบ้านอื้อเฮียบหมง เป็นคลองเล็ก ๆ จากแม่น้ำบางปะกง อ้อมตามลักษณะบ้านผ่านด้านหลังของเรือนขวางซ้ายมือ เรือกลางของบ้าน เลี้ยวมาถึงลานหน้ายุ้งข้าว ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่สำหรับ สีข้าว ตำข้าว

ในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นเกือบเต็มที่ พี่มิ่งขวัญก็จะใช้ก้อนดินเหนียวคลุกรำข้าวอย่างเคยนำไปโยนไว้ที่ก้นคลอง กลางคลอง พอน้ำขึ้นเต็มที่ดีี ก็เอาอวนไปกั้นราวที่ปากคลองรอจนน้ำลงสุด ๆ เกือบหมดคลอง ก็จะเหลือกุ้งปลาไว้ให้ลงไปจับตามเคย



สำหรับกุ้งแม่น้ำ (หมายถึงกุ้งก้ามกราม) จะเห็นคุณน้าเฮียง เหลาทางจากให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ( ทางจากก็คือส่วนที่ใช้ทำตับจากสำหรับการเย็บตับจากมุงหลังคานั่นเอง) หรือบางทีก็เป็นก้านใบจาก หรือหากจะใช้ก้านใบมะพร้าวก็ยังพอได้ สอยมะพร้าวที่ยังมีเนื้อมะพร้าวห้าวไม่แก่จัด น่าจะเรียกว่าเริ่มเป็นมะพร้าวห้าว คือกะว่าห้าวเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ปอกแล้วงัดเนื้อมะพร้าวออกมาจากกะลามะพร้าว หั่นเนื้อมะพร้าวเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม นำไปเผาไฟให้พอมีกลิ่นหอม ๆ ใช้ก้านทางจากหรือก้านมะพร้าวเสียบลงไปในเนื้อมะพร้าวจนสุดสายปลายเส้นที่ผูกปมขัดไว้ (ก้านทางจากจะให้ความอ่อนไหวคล้ายเชือกมากที่สุดรวมทั้งมีความเหนียวมากที่สุด )


ส่วนที่เรียกว่าทางจาก

นำเชือกก้านทางจากที่มีเนื้อมะพร้าวนี้ไปผูกให้แข็งแรงกับทางจากที่กอจากริมแม่น้ำ กะความยาวให้พอดีที่ส่วนปลายที่มีชิ้นเนื้อมะพร้าวหย่อนลงน้ำในระดับหนึ่ง กะระยะห่างของการผูกเส้นทางจากที่มีชิ้นเนื้อมะพร้าว ห่าง 2-3 เมตร ต่อ 1 เส้น ทำเส้นห้อยชิ้นมะพร้าวนี้ประมาณ 20 กว่าเส้น ผูกเสร็จครบหมดแล้วก็พายเรือกลับบ้าน กะเวลาสัก 1-2 ชั่วโมง ก็พายเรือไปตามเส้นเหยื่อล่อที่ผูกไว้กับทางจาก ใช้สวิงชนิดที่มีด้ามจับไปด้วย เชือกทางจากที่ผูกปลายเนื้อมะพร้าวเส้นใดสั่นไหวกระตุก ๆ เล็กน้อยแสดงว่ามีกุ้งก้ามกรามกำลังกินกัดแทะเนื้อมะพร้าวอยู่แน่นอน ก็เอาสวิงช้อนลงไปในระยะระดับใต้ปลายเชือกที่มีเนื้อมะพร้าว จะได้กุ้งก้ามกรามตัวขนาดกลาง ๆ เอากลับมาทำกับข้าวที่บ้าน เราจะไม่ช้อนเชือกเส้นที่นิ่งสนิทไม่มีแรงกระตุกสั่นไหวเพราะแสดงว่าไม่มีกุ้งก้ามกรามมากินเหยื่อล่อ 


วิธีการนี้เป็นการจับกุ้งก้ามกรามเท่านั้น ปลาต่าง ๆ จะไม่มากินเหยื่อชนิดนี้ บางครั้งคุณน้าเฮียงก็ทำเส้นเชือกแบบนี้ แต่ผูกกับปลายไม้ไผ่ เอาไม้ไผ่ปักตามชายฝั่งที่ไม่มีแนวต้นจากแล้วแต่สภาพของพื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำนั่นเอง

 กุ้งก้ามกราม มีชื่อเรียกที่ต่างออกไปมากมาย เช่น "กุ้งแม่น้ำ", "กุ้งหลวง" ขณะที่กุ้งตัวเมียที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า เรียก "กุ้งนาง"



กุ้งตะเข็บ

สำหรับกุ้งตัวเล็ก เช่น กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด กุ้งหัวแข็ง บางครั้งต้องไปซื้อจากโพงพางกลางแม่น้ำ สำหรับกุ้งตะเข็บจะมีเปลือกของลำตัวบางที่สุดใช้ทำกุ้งหวาน ( หวานปนเค็มไม่ใช่หวานอย่างเดียว) สำหรับกินกับน้ำพริกกะปิ กินกับผักหลายชนิดในสวนทั้งนำมากินสด ลวก หรือต้มราดด้วยกะทิ สำหรับตัวไพจิตรชอบผักหวานต้มราดกะทิว่าอร่อยที่สุด


ผลของผักหวาน(บ้าน)

ในหน้าน้ำกร่อยก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานอีกแบบหนึ่ง
ทุกคนที่ร่วมกิจกรรมนี้จะมีสวิงและหม้อเป็นอุปกรณ์เตรียมลงน้ำไปช้อนกุ้งเคยซึ่งเป็นกุ้งอีกชนิดหนึ่งตัวเล็กมาก ๆ และจะมีเฉพาะหน้าน้ำกร่อยเท่านั้น กิจกรรมนี้ทำในเวลาน้ำขึ้นโดยพวกเราจะลงไปลอยคอที่ริมแม่น้ำเดินบนเลนไปตามแนวดงป่าจากใช้สวิงไล่ช้อนหากุ้งเคยตามสบายและไสตล์ของแต่ละคน ช้อนได้พอสมควรแล้วก็หยุดช้อนเอากุ้งเคยที่ได้ในสวิงใส่หม้อที่ผูกไว้ประจำตัวแต่ละคน พวกเราจะได้กุ้งเคยกันคนละไม่น้อยเลย ( เป็นอีกเกมกีฬาหนึ่งว่าใครคนไหนช้อนหากุ้งเคยได้มากน้อยเท่าใด )


กุ้งเคย
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

เมื่อเอากุ้งเคยนี้กลับมาบ้าน คุณน้าเฮียงก็จะล้างกุ้งเคยจนสะอาดดีไม่มีอะไรปลอมปนแล้วตวงกุ้งเคย ตวงเกลือ มีสัดส่วนเฉพาะตัว แล้วก็คลุกเคล้าเ้กลือกับกุ้งเคยเอาหมักค้างคืน ไว้รุ่งเข้าก็เอากุ้งเคยใส่ตะแกรงไม้ไผ่ กรองตัวกุ้งเพื่อให้ให้น้ำเกลือ ค่อย ๆ ไหลหยาดหยดลงในอ่างเคลือบที่วางรองไว้ จนกระทั่งไม่มีน้ำเกลือไหลหยดแล้วบางที่ก็ใช้้เวลาถึง 2 วัน ก็นำตัวกุ้งเคยไปตากแดดในกระด้งหรือตะแกรงใหญ่ ๆ ให้ตัวกุ้งพอหมาด ๆ ไม่เปียกแฉะ นำกุ้งเคยไปโขลกในครกไม้ใบใหญ่ถ้าได้กุ้งเคยมากพอ แต่ถ้าไม่มากนักก็ใช้ครกหินใบเขื่อง (ใหญ่กว่าครกตำน้ำพริกโดยทั่วไป) โขลกหรือตำจนตัวกุ้งแหลกละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน จนเนื้อกุ้งที่แหลกละเอียดนี้เหนียวหนืด เราก็จะได้กะปิกุ้งเคยแม่น้ำอย่างดีหอมฟุ้งชวนให้น้ำลายสอต้องไปหาอะไร ๆ ในสวนที่พอจะจิ้มกะปิ สด ๆ กินได้ มาจิ้มกะปิใหม่กินกัน



แต่โดยทั่วไป เราจะไม่เอากะปิใหม่ ๆ แบบนี้ มาบริโภคต้องทิ้งเวลาเป็นปี ถึงจะเอามาใช้บริโภค คุณน้าเฮียงก็จะหาภาชนะมาอัดกะปิ (เราต้องเรียกว่าอัดกะปิ ไม่ใช่การบรรจุกะปิ) อาจเป็นไหขนาดใบเล็ก ๆ หรือใบกลาง ๆ แล้วแต่ปริมาณเนื้อกะปิที่ได้  ซึ่งไหนั้นเป็นสิ่งสำคัญประจำบ้้านมีขนาด ต่าง ๆ กัน ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รูปทรงต่าง ๆ กัน แล้วแต่ผู้ใช้จะใช้บรรจุอะไร นั่นเอง หรือถ้าไม่มากจริง ๆ จะใช้เป็นโหลแก้วก็ได้






ขันอลูมิเนียมที่ใช้ครอบปากไหได้พอดี


ที่ต้องเรียกว่าอัดกะปิ เพราะการบรรจุเนื้อกะปิลงภาชนะที่เก็บ (ไหหรือโหลแก้วแล้วแต่กรณี ) ต้องใช้วิธีการค่อย ๆ ตักเนื้อกะปิใส่ลงไปอัดให้แน่นแต่ละครั้งที่ใส่เนื้อกะปิ อัดชนิดไม่มีช่องว่างมีโพรงอากาศภายในภาชนะที่บรรจุเก็บเลย ส่วนใหญ่ต้องอัดใส่เกือบเต็มภาชนะใบนั้น ๆ เหลือพื้นที่เล็กน้อยเพื่อใช้น้ำปลาเทบนหน้าเนื้อกะปิอัดปริมาณพอหล่อ ๆ หน้าเนื้อกะปิคือไม่มากนักแล้วก็ตัดใบจากสด ๆ มาวางปิดหน้า ใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดที่ใช้เป็นเส้นสานกระด้งได้ วางขัดขวางไปมาอีกครั้ง หาอุปกรณ์มาปิดครอบปากภาชนะเช่นขันใบเล็กๆ ขนาดพอดีกับปากภาชนะ เพื่อไม่ให้มีสัตว์ไม่พึงประสงค์เข้าไปป้วนเปี้ยนข้างในภาชนะนี้ได้ บางครั้งก็มีพลาสติกปิดปาก แล้วใช้เชือกผูกรัดก็มีถ้าหาสิ่งที่มาปิดให้สนิทดีไม่ได้ แล้วก็ต้องใช้ขัน หรือกะละมังขนาดพอเหมาะปิดครอบไว้อีกที กุ้งเคยที่ได้เป็นกุ้งเคยตาดำ ตัวใหญ่ใส หัวเป็นสีชมพู



กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลม ๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม


นอกจากใช้กุ้งเคยนี้ทำกะปิแล้ว บางครั้งก็เอาไปต้มสุกแล้วตากแห้งเป็นกุ้งแห้งทำจากกุ้งเคยใช้ใส่ในน้ำปลาหวานกินกับมะม่วงขบเผาะได้อร่อยมาก เพราะเผอิญในช่วงที่มีกุ้งเคยเข้ามาในแม่น้ำ ก็เป็นช่วงที่มีมะม่วงออกผลในสวนพอดีกันเลย



มะม่วงขบเผาะ


เรากินข้าวกับน้ำพริกเกือบทุกวันหมุนเวียนกันไปว่าเป็นน้ำพริกอะไร น้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะขามสด น้ำพริกมะดันสด น้ำพริกปลาป่น ( ทุกน้ำพริกมีกะปิเป็นเครื่องปรุงตัวสำคัญที่สุด)
น้ำพริกที่ใช้กะปิดี ๆ มาปรุงรสถือว่ามีชัยไปตั้งครึ่งค่อนช่วยเรื่องรสชาติไว้ได้เกินครึ่งแล้ว)
กินน้ำพริกกะปิ มีกุ้งหวานแกล้ม ( เพราะปลาทูต้องไปซื้อจากร้านค้าที่ฝั่งวัดบางกรูด และเก็บไม่ได้ต้องนำมาทอดเลย แต่กุ้งหวานบางทีก็เป็นกุ้งที่เราช้อนหามาได้เองหรือไปซื้อที่โพงพาง ทำเป็นกุ้งหวานแล้วเก็บไว้ได้หลายวัน )




มะพร้าวห้าว
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
น. ผลมะพร้าวที่แก่เต็มที่
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
มะพร้าวห้าว น. ผลมะพร้าวที่แก่จัด.




มะพร้าว
มะพร้าวที่ใช้ทำขนมไทยมี 4 ชนิด คือ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวทึนทึก มะพร้าวห้าว และมะพร้าวกะทิ

1.มะพร้าวอ่อน เปลือกจะบางอ่อนเนื้อข้างในนุ่มนำมาทำสังขยามะพร้าวอ่อนหรือจะขูดเนื้อ ใส่ในขนมต่างๆ เช่น บัวลอย ข้าวเหนียวเปียก ฯลฯ
การเลือกซื้อมะพร้าวอ่อน
ดูที่เปลือกจะมีสีขาวถ้าต้องการมะพร้าวที่มีเนื้อมากหน่อยให้เขย่าดูจะมีเสียงน้ำน้อย




2.มะพร้าวบันทึก คือ มะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่นำมาขูดทำไส้ขนมต่างๆ เช่น ขนมสอดไส้
ละออง ลำเจียก หรือ ขนมที่คลุกมะพร้าว เช่น ถั่วแปบขนมเหนียว ฯลฯ
การเลือกซื้อมะพร้าวทึนทึก : ดูที่เปลือกจะมีสีน้ำตาลอ่อนมาก และถ้าดูกะลาก็จะมีสีน้ำตาลอ่อนไม่ดำ


มะพร้าวทึนทึก

3.มะพร้าวห้าว คือ มะพร้าวแก่ ส่วนใหญ่จะนำมาทำมะพร้าวขูดคั้นเป็นกะทิ มี 2 ชนิด คือ
-มะพร้าวขูดดำ หมายถึง มะพร้าวที่กะเทาะเนื้อออกแล้วไม่ได้ขูดเปลือกสีน้ำตาล ที่ติดอยู่กับ เนื้อออกใช้ขูดเลยเปลือกจะติดออกมาด้วยเหมาะที่จะทำขนมจำพวกน้ำกะทิ หรือสังขยา ที่ไม่ต้องการความขาวของกะทิ
-มะพร้าวขูดขาว หมายถึง มะพร้าวที่กะเทาะเนื้อออกแล้วขูดเปลือกออกด้วย เมื่อขูดออกมาจะเป็นสีขาวเหมาะที่จะทำขนมที่ต้องการความขาวของกะทิ เช่น ขนมถ้วย ขนมสอดไส้ หรือ กะทิราดหน้าขนมต่างๆ เช่น ทับทิมกรอบครองแครงกะทิ ราดหน้ากล้วยเชื่อม





4.มะพร้าวกะทิ ลักษณะของมะพร้าวกะทิน้ำจะข้นเหนียวเป็นยางเนื้อหนาเป็นปุยขาว นำมาใส่ในขนมต่างๆ เช่น ทับทิมกรอบ ใส่ในขนมน้ำแข็งไส


มะพร้าวกะทิ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://utcc2.utcc.ac.th/faculties/comarts/webjrshow/Kanomthai/klae-5.html

ข้อมูลของเคย
เคย หรือ เคอย (อังกฤษ: Krill) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปูซึ่งเป็นสัตว์สำคัญโดยเฉพาะของแพลงก์ตอน[1] ที่เป็นอาหารของ baleen whale, ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม, ปลาฉลามวาฬ, crabeater seal และ pinniped seals รวมทั้งนกทะเลบางสปีชีส์ที่กินเคยแต่เพียงอย่างเดียว


กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม

อาศัยอยู่ตามบริเวณรากไม้ตามป่าชายเลน เช่น ต้น โกงกาง แสม ลำพู ชาวบ้านมักจะออกช้อน ตัวเคยกันในเวลาเช้า ช้อนกันได้ทุกวัน เพราะมีอยู่มากทุกฤดูกาล จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป ซึ่งอาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก ในแถบขั้วโลกใต้จะเป็นแพลงก์ตอน ที่มีขนาดใหญ่ มันจะเป็นอาหารที่สำคัญ ของปลาวาฬ ส่วนในอ่าวไทย เป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กอยู่ตามชายฝั่ง ในนากุ้งและบ่อปลา ลักษณะที่สำคัญคือ ในตัวเมียจะมีถุงไข่ ติดอยู่กับท้องตั้งแต่เกิด จึงมีชื่อเรียกว่า กุ้งโอปอสซั่ม (opossum shrimp )



สำหรับตัวกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ มีอยู่ 5 สกุลคือ

1.สกุล Acetes (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Acetes มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ตามขนาดของลำตัว ตามสีของอวัยวะต่างๆ ที่มองเห็นและตามลักษณะของการรวมกันอยู่ เช่น ถ้าเรียกตามขนาดของลำตัว หากลำตัวมีขนาดใหญ่จะเรียก เคยโกร่ง เคยหยาบ เคยใหญ่ ถ้าเรียกตามสีเช่น สีของหนวดจะเรียกเคยสายไหม ซึ่งนิยมเรียกทางภาคใต้ สีของลำตัวเรียก เคยดอกเลา สีของหางเรียก เคยหางแดง ส่วนการเรียกตามลักษณะของการรวมกันอยู่เรียก เคยฝูง เคยประดา เคยในสกุลนี้มีขนาดใหญ่ ขนาดที่พบคือ 7.0-32.9 มม.

2.สกุล Lucifer (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Lucifer ได้แก่ เคยน้ำข้าว เคยเส้นด้าย เคยสำลี เคยนุ่น เคยในสกุลนี้ลำตัวเล็กยาว และแบนข้าง ส่วนที่เป็นหัวยาวมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นของเคยในสกุลนี้ ขนาดที่พบยาวสูงสุดประมาณ 8.0 มม.

3.สกุล Mesopodopsis (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Mesopodopsis ได้แก่ เคยตาดำ เคยละเอียด เคยตาดำหวาน เคยคายไม้ไผ่ ลักษณะของเคยในสกุลนี้คือ ขาตรง บริเวณส่วนอกยาว ขาตรงบริเวณปล้องท้อง มีขนาดเล็กมองเกือบไม่เห็น ยกเว้นเพศผู้ขาคู่ที่ 4 จะยาว ปล้องของลำตัวยาวเกือบเท่ากัน ตรงโคนแพนหางอันในมีลักษณะคล้ายฟองอากาศ

4.สกุล Acanthomysis (Order Mysidae; Family Mysidae)เคยในสกุล Acanthomysis ได้แก่ เคยหน้าสนิม เคยขี้เท่า เคยตาดำเล็ก พบเพียงชนิดเดียวคือ Acanthomysis hodgarti W.M.Tattersal ลักษณะของเคยชนิดนี้คือ ปลายของแพนหนวดมนกลม ด้านล่างของปล้องท้องจะมีจุดสีดำกลมทุกปล้อง หางเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 28 คู่ ส่วนปลายจะมีหนามยาว 2 คู่ ขนาดที่พบ เพศผู้ และเพศเมียมีความยาวอยู่ระหว่าง 5.0-9.9 มม.

5.สกุล Rhopalophthalmus (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Rhopalophthalmus เป็นเคยตาดำที่มีขนาดใหญ่ พบปะปนอยู่กับเคยตาดำเล็ก เพศผู้มีขนาด 9.0- 10.9 มม. เพศเมีย 9.0- 14.9 มม. พบเพียงจังหวัดสุราษฏร์ธานีเพียงแห่งเดียว และพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น มีลักษณะคือนัยน์ตาและก้านตา จะมีขนาดใหญ่กว่าเคยตาดำชนิดอื่นๆ ด้านล่างของปล้องท้องจะไม่มีจุดสี และขาที่ปล้องท้องจะยาวกว่าเคยตาดำอื่นๆ ขาเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 14 คู่ ส่วนปลายมีหนามยาว 2 คู่ และมีขนเล็ก ๆล้อมรอบ หางมีจุดสีแดง 2 จุด อยู่ตรงใกล้ๆ กับส่วนบนและส่วนปลายหาง ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น