ปลาตะพัด...ลัดลาลำน้ำ
ปลาตะพัด
ปลาตะพัด หรือปลามังกร
ชื่อภาษาอังกฤษ Bony tongues fish , Arowana (อะโรวาน่า) หรือ Arawana (อะราวาน่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages formosus
อยู่ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae)
ปลาตะพัด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีวิวัฒนาการจากปลาโบราณ จึงมีลักษณะคล้ายปลาโบราณคือ มีส่วนกระดูกที่หัวแข็ง หรือลิ้นแข็งเป็นกระดูก คำว่า Osteoglossidae เป็นภาษากรีกหมายถึง "ลิ้นกระดูก" อธิบายลักษณะของปลาในกลุ่มนี้
ปลาในวงศ์นี้มีสืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยพบซากฟอสซิลอายุราว 60 ล้านปีมาแล้วในชั้นหิน ตั้งแต่ยุคพาลีโอซีน, อีโอซีน และโอลิโกซีน ซึ่งสันนิษฐานว่า ปลาในวงศ์นี้ในสมัยนั้นพบกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สกุล 7 ชนิด ได้แก่ สกุล Brychaetus 1 ชนิด, Joffrichthys 2 ชนิด และ Phareodus 4 ชนิด
ปลาตะพัด
ภาพจากhttp://www.moohin.com/animals/other-12.shtml
สำหรับชื่อ "ตะพัด" เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด
ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "หางเข้"
ปลาตะพัดถูกค้นพบเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2474 ตามรายงานของสมิธที่ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด โดยระบุว่าในขณะนั้น ปลาตะพัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองในภาคตะวันออก ไข่มีลักษณะสีส้มลูกกลมใหญ่ ฟักไข่ในปาก
ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าเหลือเพียงบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตาปี และบริเวณแม่น้ำ ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น
ส่วนทางภาคตะวันออกที่เคยชุกชุมในอดีต ไม่มีรายงานการพบอีกเลย
สถานที่ที่ได้เคยได้ชื่อว่ามีปลาตะพัดชุกชุมคือ บึงน้ำใส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งจับปลาตะพัดที่มีชื่อเสียงมาก จนมีชื่อปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ โดยชาวบ้านจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "กรือซอ" แต่จากการจับอย่างมากในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน ปริมาณปลาตะพัดลดน้อยลงจนแทบจะสูญพันธุ์
สถานะในธรรมชาติจัดเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว กรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาตะพัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 โดยสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เป็นสัตว์น้ำคุ้มครองตามกฎหมายและสัตว์ต้องห้ามตาม CITES
ปลาตะพัด หรือปลามังกร
ภาพจากอินเทอร์เนท
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวยาวคล้ายใบมีด ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวหรือฟ้าเรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงาม เกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 24 ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด 1 คู่อยู่ใต้คางมีรูปร่างคล้ายขนนก ปลาเพศเมียจะทำหน้าที่เพาะฟักไข่และเลี้ยงลูกในวัยอ่อนด้วยปาก ไข่แต่ละฟองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.7 ซ.ม. นับได้ว่าเป็นปลาที่มีไข่ขนาดใหญ่
ถิ่นอาศัย
พบมากในลำธารน้ำใสสะอาด มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ ในป่าดงดิบชื้น อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด พบได้ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นที่อินโดนิเซีย และปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป เชื่อว่าเกิดเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ เช่น สีทอง สีแดง สีเงิน สีทองอ่อน เป็นต้น
ในประเทศไทย พบในบริเวณที่มีน้ำไหล อย่างเช่นในลำธารทางแถบภาคตะวันออก อันได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราดและระยอง พบในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดตราด ปี พ.ศ. 2474
ปลาจะอาศัยในน้ำที่มีค่าความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 5.5 pH) อย่างน้ำในพรุ เป็นต้น
เป็นปลาที่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ในการหายใจ โดยดูดผ่านถุงลมที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดฝอย คล้ายกับปอดของสัตว์บกหรือมนุษย์
มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่น ขี่้ตกใจมักอาศัยอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ ถ้าอยู่เป็นฝูง ก็จะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่เกิน 3-5 ตัว พฤติกรรมมักจะว่ายออกหากินบริเวณริมผิวน้ำ ชอบกัดและทำร้ายปลาชนิดอื่นแม้แต่ปลาชนิดเดียวกัน จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น
ปลาชนิดนี้มีลักษณะการสืบพันธุ์ที่แปลกจากปลาอื่น ๆ โดยวางไข่จำนวนน้อยฟอง แม่ปลาที่มีน้ำหนักตัว3-6 กิโลกรัม จะวางไข่เพียง 40-100 ฟอง ไข่แต่ละฟองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างเฉลี่ย 1.72 เซนติเมตร เมื่อวางไข่ออกมาแล้วจะฟักไข่โดยการอมเอาไว้ในปากจนกระทั่งไข่ถูกฟักออกเป็นตัว และจะคอยดูแลลูกปลาหากมีศัตรูเข้ามาใกล้ แม่ปลาจะอ้าปากออกให้ลูกปลาเข้าไปหลบภายในปากหรือ พาหนีไปให้พ้นอันตราย
ขนาด ปลาตะพัดขนาดโตเต็มที่ได้ยาวได้ราว 90 เซนติเมตร หนักได้ถึง 7 กิโลกรัม
อาหารของปลาตะพัด ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนแมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด อาจกินนกหรือหนูตัวเล็กๆ ได้ด้วย ปลาโตเต็มวัยสามารถโดดงับอาหารได้สูงถึง 1 เมตร
ปลาตะพัด เนื้อมีรสชาติดี นิยมใช้ทำเป็นอาหาร เป็นปลาสวยงามราคาแพง
ปลาตะพัด หรือ ปลาอะโรวาน่า นับว่าเป็นสุดยอดปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดมาโดยตลอดซึ่งอาจจะเป็นเพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีรูปร่างสวยงาม มีเกล็ดขนาดใหญ่ และมีสีสันแวววาวมีหนวดซึ่งมีลักษณะคล้าย "มังกร" นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับปลาอะโรวาน่า โดยชาวจีนเชื่อว่าผู้ใดเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วจะร่ำรวยมีโชคลาภ จึงทำให้ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด
ชื่อเรียกในภาษาต่าง ๆ
ตะพัด (ภาษาภาคตะวันออก)
หางเข้ (ภาษาใต้)
กรือซอ (ภาษายาวี)
เคเลซ่า (ภาษามาเลย์)
โคโลโซ่ (ภาษาอินโดนีเซีย)
อะโรวาน่า (Arowana-ภาษาอังกฤษ-ชื่อที่เรียกทั่วไป)
มังกร (อีกชื่อที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป)
เล้งฮื้อ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว)
ที่มาของข้อมูล
หนังสือคู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล ในวิกิพีเดีย กรมประมง
ปลาตะพัด หรือปลามังกร
เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่บ้านพลอยโพยมเคยเลี้ยงปลาตะพัด ซื้อมาเลี้ยงหลายปีจนตัวใหญ่มากเด็ก ๆ ชอบไปแอบดูว่าปลาตะพัดจะนอนอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นปลาตะพัดลงมาที่พื้นตู้เลี้ยงปลาเลย ความที่ไม่เคยรู้ว่าปลาตะพัดกระโดดได้สูงมาก คนเลี้ยงเปิดช่องบนของตู้เลี้ยงปลามากไป จึงเกิดเหตุสลดใจว่า ในเช้าวันหนึ่งปลาตะพัดที่เราไม่เรียกชื่อนี้กัน โดยเรียกเป็นปลามังกรหรือไม่ก็ อะโรวาน่า ตกลงมานอกตู้ และตายเสียแล้ว สันนิษฐานกันต่าง ๆ นานา ว่ามีแมวจากที่อื่นมาคาบปลาขึ้นจากน้ำ เพราะเขาว่ายอยู่ผิวน้ำจริง ๆ และอยู่บริเวณนั้นตลอดเวลา ปลามังกรตัวนี้ใช้เวลาเลี้ยงเขามานานหลายปี เมื่อนึกถึงครั้งไรก็ใจห่อเหี่ยว ยังจดจำท่าทีว่ายน้ำช้า ๆ สง่างามของเขา เคลื่อนตัวแบบพญามังกรที่มั่นใจในพลังของเขาเองในสายน้ำ หลังจากนั้นเราก็เลิกเลี้ยงปลาในตู้ปลาไปเลย
พลอยโพยมอ่านบทความว่า ปลาตะพัดใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไป และอันเนื่องจากความนิยม ปลามีราคาแพงมาก จึงทำให้ปลาในธรรมชาติถูกจับมามากเกินไป ทำให้สลดใจว่า ตู้เลี้ยงปลามิใช่ที่อยู่อย่างแท้จริงของปลาทุกชนิด เพราะมนุษย์สุดแสนตามใจอยากของตัวเองอยากเห็นปลาแหวกว่ายให้ชื่นชมได้ตลอดเวลา จึงฝืนธรรมชาติเรื่องถิ่นที่อยู่ของปลา ทำให้ปลาต่าง ๆ ตายก่อนถึงวัยอันสมควรตาย
เหมือนที่พลอยโพยมเคยนิยมกล้วยไม้ป่ามาก เล่นอยู่หลายปี เพื่อน ๆ ร่วมรุ่นเรียนหนังสือกล่าวหาว่าพลอยโพยมมีส่วนทำลายทรัพยากรกล้วยไม้ป่า ส่งเสริมให้มีการหากล้วยไม้ป่ามาขาย พลอยโพยมก็เถียงว่า เราจะช่วยแพร่พันธุ์กล้วยไม้ป่าให้เข้ามาอยู่ในเมืองต่างหาก พลอยโพยมเห็นกล้วยไม้ป่าออกดอกแล้ว จะมีกระเปาะเป็นอับเรณูอยู่ ต่อมาพลอยโพยมก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อับเรณูที่มาอยู่ผิดที่ผิดทางไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เหมือนถิ่นเดิมของเขา เพราะกระเปาะเหล่านั้นจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งลงโดยไม่แตกกระจายปล่อยละอองเรณูให้ปลิวฟุ้งออกมาได้ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่พลอยโพยมคาดหวังว่าจะกระจายปลิวไปเกาะต้นไม้ใหญ่ ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วแพร่พันธุ์ต่อ ในที่สุดก็เป็นอันสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิงพลอยโพยมก็เลยเลิกเล่นกล้วยไม้ป่าไปเช่นกัน
เราจึงไม่ควรฝืนธรรมชาติให้พืชและสัตว์ต่าง ๆ ผิดที่ผิดทางในถิ่นที่อยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น