วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 2




ความสนุกสนานที่ไม่รู้ลืมมาจนบัดนี้เมื่อนึกถึงครั้งไร ใจก็เป็นสุขและหวนหามาโดยตลอด

เราได้ลงเล่นน้ำในลำน้ำบางปะกง แม่น้ำบางปะกงในครั้งนั้นสะอาดน่าลงไปแหวกว่ายสัมผัสความใสเย็นในเวลาน้ำขึ้น ความใสหมายถึงความใสจากลักษณะของน้ำแม่น้ำที่เป็นไปได้นั่นเอง พวกเราได้ออกไปเที่ยวเล่นในสวนที่ร่มรื่นมีผลไม้มากมายหลากหลายชนิดให้ได้เก็บกินตามฤดูกาล และยังออกไปเที่ยวท้องนาที่อยู่หลังสวนถัดไป
บางทีคุณน้าเฮียงน้องคนสุดท้องของคุณแม่อุไรก็ทำขนม ที่บ้านอื้อเฮียบหมงมีโม่หินสำหรับโม่แป้งอันใหญ่มากที่ไม่สามารถนั่งและใช้มือหมุนโม่หินอันนี้ได้ ต้องทำแขนไม้โม่หินเพื่อผ่อนแรงการใช้โม่หินนี้ โม่หินโดยทั่วไปจะประกอบเป็นสองส่วน ดังภาพประกอบ



ภาพนี้เป็นโม่หินที่เราจะพบเห็นได้ทั่ว ๆ ไปตามบ้านเรือน แม้โม่หินที่บ้านอื้อเฮียบหมงก็มีรูปทรงและลักษณะดังภาพ แต่มีความพิเศษในการใช้งานมากกว่า
ตัวโม่หินชั้นบนมีช่องสำหรับหยอดสิ่งที่ต้องโม่ด้วยการใช้ช้อนตักหยอด ที่ด้านข้างจะมีช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับใส่สลักไม้ สำหรับโม่หินทั่วไปก็เพียงนำท่อนไม้สี่เหลี่ยมหนาขนาดของช่องตอกเสียบเข้าไปในโม่หิน ปลายอีกด้านเจาะรูกลมสำหรับสอดอุปกรณ์สำหรับใช้มือจับเพื่อหมุนให้โม่หินหมุนไปได้

ดังภาพประกอบเป็นท่อพีวีซีสีฟ้าที่ถูกดัดแปลงมาจากท่อนไม้ในอดีต โม่หินทั่วไปคนโม่แป้งก็นั่งโม่ใช้มือจับด้ามจับ (ในภาพหมายถึงท่อพี่วีซี) หมุนเคลื่อนที่


แต่สำหรับที่บ้านอื้อเฮียบหมง ในช่องสี่เหลี่ยมที่ตอกสลักไม้เข้าไปเสียบต้องใช้เศษผ้าพันรอบปลายสลักไม้ที่ใช้เสียบเพื่อให้มั่นใจว่า ไม้สลักและโม่หินแน่นหนาไม่มีช่องว่างสลักไม้จะไม่เคลื่อนที่หลุดออกมาตามแรงโม่ของคนโม่
ที่ปลายสลักอีกด้านที่เป็นที่เสียบของอุปกรณ์ที่จะใช้มือจับ ( ในภาพคือท่อพีวีซีสีฟ้า) บ้านอื้อเฮียบหมงเป็นช่องเสียบของแขนโม่หิน
แขนโม่หินเป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมยาวประมาณ 2 เมตรเศษ ปลายท่อนไม้ที่จะเสียบในไม้สลักต้องมีขาไม้สำหรับเสียบรูยาวประมาณ2-3 นิ้ว กลึงขาเสียบให้กลมมีขนาดเท่ารูที่เสียบ ปลายอีกด้านของแขนโม่มีไม้อีกท่อนตีประกอบแขนโม่ลักษณะเป็นตัว T สำหรับให้คนโม่จับบังคับแขนโม่ให้เคลื่อนที่ ที่ปลายไม้สองด้านของหัวตัว Tใช้เชือกที่แข็งแรง พันและผูกปลายด้านหนึ่งให้แน่นหนาแล้วโยงปลายสายเชือกขึ้นไปคล้องกับขื่อบนหลังคา วนเชือกบนขื่อให้มีความแน่นหนาเชือกไม่ขยับเคลื่อนที่ ปล่อยปลายเชือกลงมาผูกมัดกับท่อนไม้หัวตัว T อีกด้าน นอกจากปลายสองด้านของหัวตัวT จะมีเชือกแล้ว ยังต้องมีไม้ตอกตะปูยึดกับลำด้ามแขนโม่ให้แข็งแรงด้วยทั้งสองด้าน ขนาดความสูงของเชือกที่ปลายไม้ หัวตัว T และขื่อบ้านระดับสูงขนาดที่คนโม่ยืนโม่ได้สบาย ๆ ไม่ต้องก้มหลังโม่ ไม่ต้องยกแขนสูงในการโม่ การโม่จะหมุนแขนโม่ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา

การใช้โม่หินนี้ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีคนอีกหนึ่งคนเป็นคนตักข้าวเหนียวข้าวเจ้า หรื่อสิ่งที่ต้องการโม่อื่น ๆ ลงในช่องหยอด ด้วยความใหญ่ของโม่หินซึ่งกว้างใหญ่กว่าโม่หินในภาพนี้ ทำให้รัศมีการหมุนใช้เวลาพอสมควรจึงจะหมุนรอบได้ครบรอบจึงเป็นช่วงเวลาที่คนหยอดสามารถตักสิ่งที่ต้องการโม่ลงช่องหยอดได้โดยไม่ต้องหยุดโม่
การโม่แป้งทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ก็คือนำข้าวเหนียวและข้าวเจ้าซาวล้างน้ำให้สะอาด และแช่น้ำฝนทิ้งไว้ค้างคืน

เมื่อจะโม่ การตักข้าวหยอดจะต้องตักทั้งเมล็ดข้าวและน้ำที่แช่ ( เปลี่ยนน้ำใหม่ขณะจะโม่แป้ง )ลงในช่องหยอด หากตักเมล็ดข้าวอย่างเดียวไม่มีน้ำ โม่ก็จะหมุนได้อย่างฝืด ๆ เมื่อเมล็ดข้าวถูกท่อนหินชั้นบนที่หมุนเคลื่อนไปน้ำหนักของหินก็จะบดเมล็ดข้าว (หรือสิ่งที่ต้องการโม่ ) จนเมล็ดละเอียด ได้เป็นแป้งเหลวออกมา แต่จะเป็นแป้งข้นออกมากองรอบ ๆ รอยต่อของท่อนหินสองท่อนไม่ไหลลงตามช่องของปากโม่ลงสู่ภาชนะที่รองได้ แต่ถ้าใสน้ำด้วยแป้งที่ไหลออกมาจะเหลว จะไหลลงสู่ภาชนะที่ใช้รองได้สะดวก
สำหรับภาชนะที่วางต้องทำที่วางพิเศษให้ต่ำกว่าพื้นที่วางโม่


โม่หินอันนี้มาจากเมืองจีนเนื้อหินละเอียดมีเงามันของลายเนื้อหิน เนื้อหินสีขาวนวลมีลายเป็นสีดำประปรายกระจายทั่ว
ด้วยความกว้างความใหญ่มีน้ำหนักมาก ทำให้หินชิ้นบนที่เคลื่อนหมุนสามารถบดแป้งที่โม่ออกมาเป็นแป้งที่ละเอียดมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นกับจังหวะของการหมุนแขนโม่ด้วยคือการหมุนต้องหมุนโม่เป็นไปตามจังหวะเนิบ ๆ พอดี หากใจร้อนหมุนโม่เร็วเกินไปแป้งที่ได้จะค่อนข้างหยาบแม้โม่จะใหญ่และมีน้ำหนักของตัวโม่ชั้นบนมากก็ตามที หากแป้งที่ได้ออกมาหยาบไม่ถูกใจคุณน้าเฮียง ก็จะนำแป้งหยาบนั้นมาโม่อีกครั้ง เป็นการเพิ่มงานโม่เป็นสองรอบ
นอกจากนี้หากหมุนแขนโม่เร็ว ๆ และกระชากแรง ๆ ก็จะทำให้ไม้สลักที่เสียบอยู่กับช่องสี่เหลี่ยมของตัวโม่แม้จะพันเศษผ้าไว้แล้ว แต่ไม้สลักก็หลุดออกมาได้  ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มงานต้องไปหาอุปกรณ์มาตอกสลักเข้าไปใหม่รวมทั้งถ้าไม้สลักและเศษผ้าที่หลุดติดออกมาถ้าตกลงในร่องหินของโม่ ก็ต้องควักแป้งที่อยู่รอบ ๆ สลักและเศษผ้าออก ( เพื่อสุขอนามัยความสะอาด) ดังนั้นคนใจร้อนก็จะยิ่งทำให้งานเสร็จล่าช้านั่นเอง


ด้วยเหตุนี้การโม่แป้งจึงต้องมีการสับเปลี่ยนคนหมุนแขนโม่นี้
งานทำขนมของคุณน้าเฮียงแค่ขั้นตอนโม่แป้งก็ใช้คนเกินสองคน ดูเอิกเกริกไม่น้อย บางทีเด็ก ๆ ต้องจัดคิวโม่แป้งว่าหมุนคนละยี่สิบหรือสามสิบรอบแล้วเปลี่ยนคิวคนโม่เป็นต้น
โม่หินนี้อยู่ืั้เรือนหลังที่สี่ของบ้าน

ต่อมาเมื่อรื้อบ้านอื้อเฮียบหมงถวายวัดบางกรูด โม่หินนี้มีทายาทสายคุณลุงชุนนำไปไว้ที่บ้านล่าง ต่อมาเมื่อสิ้นบุญคุณป้าเกลี้ยง เจริญวงษ์ ภรรยาคุณลุงชุน โม่หินนี้ถูกหลานเขย (เป็นเขยของน้องสาวคุณป้าเกลี้ยงที่อยู่บ้านใกล้กัน ) นำไปขายต่อเสียแล้ว

หลานอรรถโกวิท สงวนสัตย์ เคยไปเมืองจีนเมื่อ ปี พ.ศ.2537 ไปประชุมเรื่องงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เมืองไท่หยวน ประเทศจีน เล่าว่าที่เมืองไท่หยวน มีพิพิธภัณฑ์แสดงความเป็นมาของหมู่บ้านชนบทของเมืองได้ไปพบโม่หินขนาด รูปทรง สีสัน เนื้อหินเหมือนโม่หินที่ตัวเองเคยโม่แป้งทำขนมที่บ้านอื้อเฮียบหมงสมัยเด็ก ๆ เปี๊ยบเลย

ข้อมูลของเมืองไท่หยวน
ไท่หยวน (จีน: 太原; พินอิน: Tàiyuán; เวด-ไจลส์: T'ai-yüan) เป็นเมืองในประเทศจีน เมืองหลวงของมณฑลซานซี เป็นเมืองอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศจีน และเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีน
เมืองหลวงของมณฑลซานซี (ไท่หยวน) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลืองทางตอนเหนือของประเทศจีน และแม่น้ำเฝินเหอซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเหลืองไหลผ่านความยาว 100 กิโลเมตร ทิศตะวันตก ตะวันออกและทิศเหนือรายล้อมด้วยภูเขา
เมืองไท่หยวน ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเทคนิคการทำโลหะผสม อุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องกล และอุตสาหกรรมเคมี นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเลคโทนิค อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก เคมี ซีเมนต์ ปุ๋ย
นอกจากนี้ เมืองไท่หยวนยังเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีน อย่างไรก็ตามเมืองไท่หยวนก็ยังต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีการขุดเจาะถ่านหิน นอกจากนี้การขาดเงินทุนในการสำรวจทำให้มีผลต่อการผลิตและผลกำไร
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย


กระทะทองเหลืองอุปกรณ์สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญในการกวนขนมต่าง ๆ

ไพจิตร และเด็ก ๆ ที่โตแล้วจะช่วยกันโม่แป้ง ตัวไพจิตรเองก็ชอบการโม่แป้งเพราะสนุกดี
เพิ่มเติม
โม่หินอันนี้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเจ้า สำหรับให้คุณน้าเฮียงนำมาแปรรูปเป็นขนมต่าง ๆ มากมายหลายชนิด เท่าที่จำได้ มีขนมกล้วย (จากกล้วยในสวนซึ่งกินไม่ทันสุกงอมจนต้องเอามาทำขนม ) ขนมใส่ไส้ ขนมตะโก้ ขนมถั่วแปบ ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมถ้วย ขนมเปียกปูน ขนมชั้นเป็นต้น

วันหนึ่ง ๆ คุณน้าจะทำขนมขายแค่ 2-3 อย่าง พวกเราได้กินขนมอร่อย ๆ แทบทุกวัน เมื่อทำเสร็จคุณน้าเฮียงก็จะจัดเอาขนมลงเรือเอาไปขายตามบ้านเรือนในละแวกนั้น บางวันก็พายเข้าขายในคลองศาลเจ้าไปบ้านคุณยายปิ๋ว สูยะวณิช น้องสาวคุณยายของพี่อุทัยวรรณ ญาติสนิทของคุณลุงบุญ(ภายหลังพี่อุทัยวรรณทำขนมหวานและกระยาสารท ต้องใจ ขายเคยเป็นขนมที่โด่งดังมากของเมืองแปดริ้ว)
บางวันไพจิตรก็ขอตามคุณน้าเฮียงพายเรือไปขายขนม โดยนั่งที่หัวเรือช่วยคุณน้าเฮียงพายเรือไปตามบ้านต่าง ๆ และช่วยขายขนมสนุกสนานมาก ไม่กี่ชั่วโมงขนมก็ขายหมดได้กลับบ้าน

ไพจิตรชอบดูและชอบช่วยคุณน้าเฮียงทำขนมมาก ตั้งแต่การโม่แป้ง ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ผสม สัดส่วนต่าง ๆ ของแป้ง น้ำกะทิ น้ำตาล
แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว สามารถพลิกแพลงทำขนมต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยใช้เป็นส่วนผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในแต่ละวัน ซึ่งคุณน้าเฮียงจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำขนมอะไร วันไหน
ไพจิตรได้กินขนมอร่อย ๆ ได้ดูวิธีการทำขนมต่าง ๆ ตามประสาเด็ก เป็นเวลาประมาณ 2 ปี




ที่ชอบที่สุดคือการทำขนมชั้น หลังจากโม่แป้งข้าวเจ้าแล้ว ต้องนำแป้งที่ได้ซึ่งเหลวเพราะมีน้ำผสมอยู่ในขณะที่ตักเมล็ดข้าวหยอดลงโม่หิน เทแป้งจากการโม่แล้วนี้ใส่ในถุงผ้าดิบผูกปากถุงให้แน่นหนา แล้วใช้โม่หินชิ้นบนทับบนถุงผ้าดิบนี้ทิ้งไว้ค้างคืนน้ำในถุงแป้งจะค่อย ๆ ไหลซึมออกจากถุงผ้า วันรุ่งขึ้นตรวจสอบว่าน้ำไหลออกหมดแล้ว ซึ่งจะเหลือแต่ตัวเนื้อแป้งล้วน ๆ มีขนมหลายอย่างที่ใช้แป้งนี้ทำขนมได้เลยในขณะที่เปียกแบบหมาด ๆ แต่ ขนมบางชนิดจะต้องเอาไปซอยหั่นเป็นชิ้น บาง ๆ เรียงวางในกระด้งแล้วนำไปผึ่งแผดก่อนนานพอสมควร หลังจากตรวจสอบว่าเนื้อแป้งออกลักษณะผิวตึง ๆ แล้วค่อยนำมาทำขนม


สำหรับขนมชั้นนอกจากแป้งข้าวเจ้าแล้ว ต้องใช้แป้งเท้ายายม่อมมาเป็นส่วนผสมด้วย ซึ่งแป้งเท้ายายม่อม ก็เป็นแป้งที่สวนคุณลุงบุญคุณป้าสมใจมีต้นและหัวและนำมาทำเป็นแป้งเท้ายายม่อมทุกปี ( เป็นแป้งแห้งสนิทแล้ว ) ไพจิตรจำไม่ได้ว่านอกจากแป้งข้าวเจ้า และแป้งเท้ายายม่อมแล้ว คุณน้าเฮียงมีแป้งชนิดอื่นอีกด้วยหรือไม่เพราะยังเด็กมากในขณะนั้น



นำมะพร้าวที่ขูดด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวไปคั้นกะทิ แบ่งเป็นหัวกะทิ และหางกะทิ ( ที่ยังคงความมัน) แล้วคุณน้าก็จะนวดแป้ง ค่อย ๆ ผสมหัวกะทิ น้ำตาลทราย ผสมไปนวดไปตามสูตรอันช่ำชองเฉพาะตัวของคุณน้า นวดได้ถูกใจคุณน้าแล้วก็นำหางกะทิมาละลายแป้งและแต่งสี โดยแบ่งแป้งเป็นสามสีคือสีขาว สีเขียว และสีแดง สีละกะละมัง คุณน้าเอาน้ำใส่กระทะใหญ่ตั้งไฟจนเดือดเอาซึ้ง (ลังถึง)วางแล้วเอาถาดขนมวางบนซึ้งอีกที วางให้ร้อนพอเหมาะคุณน้าจะค่อย ๆ เทแป้งที่ผสมเสร็จและแยกสีเรียบร้อยแล้ว เทแป้งลงในถาด ปิดฝาซึ้ง คุณน้าทำทีละชั้น ๆ ใส่สีละถ้วยตวง ขนมสุกทีละชั้น ๆ ใช้เวลานึ่งชั้นละประมาณ 3-5 นาที แป้งก็จะสุก คุณน้าเทแป้งสลับสีและนึ่งสุกเช่นนี้จนขนมชั้นเต็มถาด ส่วนชั้นบนสุด (หน้าขนมชั้น) สีจะสวยสดและหนากว่าชั้นอื่น ๆ ไพจิตรยังจำรสชาติขนมชั้นของคุณน้าเฮียงได้มาจนทุกวันนี้ว่าเป็นขนมชั้นที่อร่อยมาก



คุณน้าเฮียงเองท่านก็ชอบทานขนมชั้นมาก เมื่อวัย 90 ปี เศษย้ายมาอยู่กรุงเทพที่บ้านพี่เกษม พี่อุระมิลา คุณน้าก็เรียกหาที่จะทานแต่ขนมชั้น น้องสีนวล เจริญวงษ์บุตรีคุณลุงชาญซึ่งคุณน้าเฮียงเป็นผู้เลี้ยงดูมาจนเติบโตทำงานเป็นคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธรและอยู่กับพี่เกษม เมื่อคุณน้าเฮียงมาอยู่ด้วยน้องสีนวลต้องจัดหาขนมชั้นเป็นของหวานบ่อยที่สุด จนท่านสุขภาพอ่อนแอและความจำเสื่อมหลาน ๆ ส่งท่านไปพักและรักษาตัวที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเพื่อให้มีแพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดขนมชั้นก็กลายเป็นขนมที่ต้องจัดหาให้ทุกวันที่โรงพยาบาล
สำหรับแป้งสีเขียวนี้ คุณน้าจะใช้ใบเตยหอมซอยหั่น ตำละเอียดและคั้นเอาน้ำสีเขียวข้น ๆ ออกมาใช้ในการผสมสีขนม


นอกจากขนมชั้นแล้ว ยังมีขนมเปียกปูน ลอดช่องน้ำกะทิ ปลากริมไข่เต่า ที่คุณน้าเฮียงทำได้อร่อยที่สุด (ทั้งลอดช่องและปลากริมไข่เต่า เป็นขนมที่เป็นน้ำ จึงทำกินในบ้านไม่ได้ทำไปขาย) ขนมเปียกปูนเป็นขนมที่ต้องใช้เรี่ยวมหาศาลในการกวน และใช้เวลากวนนานมากเพื่อให้เหนียวนุ่มได้ที่ไม่มีใครเทียม เมื่อท่านสูงวัยแล้ว หลาน ๆ ทางบางกรูดเล่าว่าท่านทำขนมเปียกปูนท่านจะกวนตอนเริ่มต้น เมื่อแป้งเริ่มเหนียวหนืดต้องใช้แรงงานหลาน ๆ ผู้ชายออกแรงกวนแทน และกวนไม่หยุดมือจนเหนียวนุ่มได้ที่สุด ๆ เป็นที่พอใจของคุณน้า ขนมเปียกปูนของคุณน้าเฮียงในช่วงไพจิตรมาอยู่บางกรูดเป็นขนมเปียกปูนที่อร่อยที่สุด หอมน้ำปูนใสและใบเตยรับประทานกับมะพร้าวทึนทึก




สำหรับลอดช่องน้ำกะทิเองก็ใช้ระยะเวลาการกวนนานมากเช่นกัน แต่อย่างไรเสียก็กินเวลาการกวนน้อยกว่าการกวนแป้งขนมเปียกปูน เพราะแป้งลอดช่องจะต้องนำมาเทลงในกล่องไม้มีรูแล้วมีแป้นกดแป้งกดผ่านรูให้ได้เป็นตัวลอดช่อง กลม ๆ ยาว ๆ จะตัวสั้นหรือยาวขึ้นกับแรงกดที่แป้นกดนั่นเอง
สำหรับลอดช่องน้ำกะทิและขนมเปียกปูนนี้คุณน้าจะหั่นใบเตยหอมให้เป็นฝอยละเอียด ๆ มาก ๆ ปนไปกับเมล็ดข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าที่ในช่วงที่กำลังโม่เป็นแป้ง ก็จะได้แป้งที่ไหลออกมาจากปากโม่เป็นแป้งสีเขียวหอมกลิ่นใบเตย

ส่วนขนมอื่น ๆ คุณน้าก็ทยอยทำได้ครบ 2-3 อย่าง ก็ออกขายได้ ไพจิตรพายเรือเป็นที่แปดริ้วนี่เอง และพายเป็นเพราะออกไปช่วยคุณน้าขายขนม บางวันก็มีหลานคนอื่น ๆ ขอตามคุณน้าไปขายขนมเป็นการออกไปเที่ยว คุณน้าก็ใจดีอนุญาตให้ไปด้วยได้ บางวันที่คุณน้าจะไปซื้อของบางอย่างที่ตลาดวัดบางกรูด คุณน้าเฮียงก็พายเรือข้ามฟากเอาขนมไปขายที่ตลาดเล็ก ๆ ฝั่งวัดบางกรูดด้วย



ที่บ้านอื้อเฮียบหมง มีกระต่ายขูดมะพร้าวที่เป็นรูปตัวกระต่ายมีสี่ขา มีหูมีหาง ที่คอกระต่ายเป็นซี่เหล็กสำหรับขูดมะพร้าว ตัวกระต่ายนี้อ้วนกลมสมบูรณ์พุงป่่องเล็กน้อยเพื่อบอกว่าเป็นกระต่ายที่อ้วนพี กระต่ายตัวนี้มีรูปร่างสมส่วนมาก เสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายของเจ้ากระต่ายขูดมะพร้าวตัวอ้วนพีมีสี่ขาไว้วาง มีคอกระต่ายอยู่ระดับเดียวกับตัวกระต่ายไว้เลย
แต่มีภาพกระต่ายขูดมะพร้าวตัวอื่นพอแสดงได้ดังภาพข้างล่างนี้ แต่กระต่ายตัวในภาพมีพื้นไม้รองขาสี่ขาอีกที และซี่เหล็กที่คอสูงเชิดขึ้น



กระต่ายขูดมะพร้าวรุ่นหลัง ๆ





บ้านอื้อเฮียบหมงที่เราไปอยู่เป็นเรือนไม้หลังใหญ่มาก หลังคามุงด้วยจาก ปลูกไว้ตั้งแต่ครั้งบรรพบุึรุษแช่อื้อท่านใดไม่ทราบได้ จะเป็นเล่ากง ก๋ง กงหงง หรือเปล่าหนอ แต่น่าจะเป็นบ้านที่ปลูกก่อนบรรพบุรุษรุ่น ก๋งโหงว แซ่อื้อ ( ซึ่งท่านเแจ๊คพอตใหญ่ ถูกหวยก.ข. รับเงินรางวัลถึง 4 หมื่นบาท หากเทียบค่าเงินในยุคนี้แล้ว น่าจะได้ ราว ๆ 40 ล้านบาทเลยทีเดียว ) เป็นบ้านที่แข็งแรงมาก ไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ ยาวมาก ๆ บ้านคงอยู่ยั่งยืนมาจนถึงชั้นเหลน ๆ ได้มาอาศัยหลบภัยสงคราม บ้านกว้างขวางอยู่สะดวกสบายอยู่กันกี่สิบคนก็อยู่ได้ ตัวบ้านหันหน้าออกแม่น้ำบางปะกงมีกระดานไม้ปูกับพื้นดินยาวจนถึงริมฝั่งแล้วเป็นสะพานท่าน้ำ
หน้าประตูบ้านเป็นซุ้มประตูทรงจีน หลังคามีลายฉลุรอบและบานประตูเป็นไม้แผ่นใหญ่ยาวบานละ 1 แผ่น ใต้ซุ้มมีป้ายอักษรจีนตัวใหญ่บนแผ่นไม้เช่นกันว่า อื้อเฮียบหมงอยู่เหนือบานประตู และยังมีอักษรจีนตัวเล็กเป็นแถวที่ป้ายด้านซ้ายมือด้านล่างว่า




กรอบบานประตูบ้านอื้อเฮียบหมงที่เหลืออยู่


ทางเดินจากซุ้มประตูบ้านอื้อเฮียบหมงไปทีสะพานท่าน้ำ ถ่ายจากนอกชานบ้านคุณป้าสมใจ

ซุ้มบานประตูนี้ยกพื้นสูงจากพื้นดิน และมีแผ่นกระดานยาว 2 แผ่นปูทอดที่พื้นดินเป็นทางเดินไปสู่สะพานท่าน้ำ มีบันไดท่าน้ำหลายขั้นแต่ไม่มีขอนไม้ทอดลงเลนชายน้ำ ด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าสู่แม่น้ำ มีต้นมะยม ค้างต้นพลู (กินกับหมาก )และแปลงปลูกต้นยาสูบ(สำหรับไว้ทำยาสูบเพื่อการกินหมาก) และมีแผ่นกระดานทอดเป็นทางเดินไปบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ ช่วงสั้น ๆ เพราะอันที่จริงบ้านคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ ปลูกเกยกับเรือนครัว ซึ่งเป็นเรือนขวางขวามือของบ้านอื้อเฮียบหมง เมื่อหันหน้าเข้าสู่ตัวบ้านอื้อเฮียบหมง (หันหลังให้แม่น้ำ) จากซุ้มประตู เป็นนอกชานกว้างมากมีรั้วไม้แผ่นกระดาน ซี่ลูกกรงเหล็ก กั้นรอบนอกชานบ้านจนจดตัวเรือนซ้ายขวาของบ้าน
ดอกยาสูบขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย


ดอกยาสูบที่คุณน้าเฮียงปลูกไว้สำหรับทำยาสูบกินหมาก
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th


ภาพคุณน้าเฮียงและรั้วบ้านอื้อเฮียบหมง มองเห็นค้างใบพลู และเรือนของคุณป้าสมใจด้านหลัง

ด้านขวามือ มีต้นมะเฟืองต้นสูงใหญ่ ลูกดกแผ่ร่มเงาลงสู่นอกชานบ้านเพราะปลูกใกล้บ้านมาก มีลานดินกว้างเป็นที่ว่างไว้ทำกิจกรรมได้หลายอย่าง มีต้นมะม่วง ต้นหมาก หลายต้น ก่อนจะถึงต้นพุดซ้อนต้นใหญ่ดอกดกซึ่งปลูกติดริมคลอง ใกล้ ๆ กับต้นพุดซ้อนมีไหใส่ปูนแดงกินกับหมากที่มีน้ำแช่อยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถตักน้ำปูนใสจากไหนี้มาทำขนมต่าง ๆ
มีต้นแสม ลำพู กอเถาวัลย์ ซึ่งก็คือต้นถอบแถบขึ้นกอใหญ่ ปะปนกับต้นเหงือกปลาหมอ เบญจมาศน้ำเค็ม อยู่ด้านหนึ่งของสะพานท่าน้ำ อีกด้านหนึ่งของสะพาน เป็นที่จอดเรือข้างสะพาน มีต้นคลัก (ขลัก ) ประสัก หรือพังกาหัวสุม แสมต้นใหญ่ เหงือกปลาหมอ ต้นใบพาย ขึ้นประปรายเหนือชายฝั่งขึ้นมาเป็นนอกชานบ้านของบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ

ประตูที่ซุ้มหน้าบ้านนี้ ยกพื้นขึ้นมาจากพื้นดินด้านนอกซุ้ม มีไม้กระดานตีพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นชานของซุ้ม มีธรณีประตู บานประตู 2 บาน เป็นไม้แผ่นใหญ่ยาวบานละแผ่น มีห่วงทองเหลืองแบบจีนบานละห่วง เวลาจะปิดบ้านจากด้านนอกจะใช้ท่อนไม้เสียบห่วงทองเหลืองสองห่วงนี้ ขัดบานประตูไว้ ที่แผ่นกระดานข้างกรอบประตูทั้งสองข้าง มีแจกันไม้ตรึงติดไว้ปักธูปไหว้เจ้าได้ ข้างในซุ้มประตูคือ มีเรือนยกพื้นอีกระดับล้อมรอบนอกชานบ้านเป็นเรือนสามหลัง

เรือนซ้ายมือ เป็นเรือนที่ยกระดับจากนอกชานบ้านไม่มีประตูกั้น หน้าเรือนเปิดโล่งเป็นโถงยาวตามความยาวของเรือน มีห้องอยู่ด้านหลังโถงยาวโล่งนี้ ใช้พื้นที่ห้องประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดของเรือน หากกั้นห้องก็ได้ 2 ห้อง เมื่อพวกเราอพยพหลบภัยสงครามโลกมา คุณยายจูยกเรือนหลังนี้ให้พวกเรา เรือนนี้สามารถกางมุ้งในเวลากลางคืนได้ 4 หลัง หากเปิดหน้าต่างเรือนด้านความยาวของเรือน มองออกไปจะเห็นคลองที่ขุดจากแม่น้ำผ่านเรือนหลังซ้ายมือแล้วอ้อมด้านหลังของเรือนกลาง จนสุดแนวของเรือนกลางก็จะสุดปลายคลอง มีเรือลำใหญ่เข้าออกคลองนี้ได้ เรือบางลำก็ขึ้นคานอยู่บนบก บางลำที่ใช้งานบ่อย ๆ ก็จอดในคลองที่สุดปลายคลองบ้าง ผูกกับรอดของบ้านที่ใต้ถุนเรือนกลางบ้าง เวลาน้ำลงในคลองนี้จะมีน้ำไม่มากบางครั้งก็ไม่มีน้ำเลย เรือก็จอดอยู่บนเลนของคลองและพื้นดินใต้ถุนบ้าน หากเปิดหน้าต่างด้านความกว้างของเรือน จะเห็นต้นไม้ และชายแม่น้ำด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเปิดแล้วจะเห็นเรือนที่มีโม่หินและตุ่มน้ำฝนมากมายตั้งเรียงรายเป็นแถว ๆ

ในเวลากลางวันเราก็นอนเล่นได้ทั้งในส่วนที่กั้นเป็นห้องและส่วนโถงยาวหน้าห้อง เพราะโปร่งโล่งสบายมาก รับลมได้ด้วย ส่วนของโถงยาวของเรือนขวางซ้ายมือนี้นี้ต่อมาภายหลังเป็นที่นั่งดื่มน้ำชา อ่านหนังสือ รับแขกพูดคุยกันระหว่างญาติ ของคุณลุงชุน คุณน้าเฮียง อีกทั้งเป็นที่นั่งกินหมากสนทนาในวงเชี่ยนหมากของคุณน้าเฮียง คุณป้าเกลี้ยง และเจ้ม่อมด้วยเมื่อไม่มีหลาน ๆ มาพักอาศัยอยู่

ส่วนเรือนขวามือซึ่งมีขนาดเท่าเรือนซ้ายมือนั้นเป็นครัวขนาดใหญ่มาก ( ก็มีขนาดเท่าเรือนขวางซ้ายมือ แต่เรือนครัวไม่มีโถงยาวหน้าเรือน) ยกระดับเท่าเรือนขวางซ้ายมือ จะมีกระดานประมาณ 3 แผ่นปูยาวหน้าเรือนไว้เป็นที่ก้าวเท้าขึ้นเรือนครัวตรงหน้าประตู พื้นที่ว่างอื่นดัดแปลงเป็นที่วางของใช้กระจุกกระจิกที่ใช้ประจำเช่น มีดโต้ มีดพร้า กระต่ายขูดมะพร้้าว กระแป๋งตักน้ำ แม้แต่ผลมะพร้าวแห้งและอื่น ๆ

เรือนขวางขวามือนี้เป็นเรือนที่มีฝาผนังเรือน สี่ด้าน ด้านหน้าเป็นประตูสูงใหญ่ลักษณะเดียวกับประตูหน้าบ้าน ซึ่งหมายถึงทั้งหนาและหนักเหมือนกันด้วย มีธรณีประตู เมื่อเปิดประตูผลักบานประตู 2 บานเข้าไปเข้าไปจะพบตู้กับข้าวใบใหญ่มาก ด้านซ้ายมือชิดผนังด้านยาวของเรือน มีแท่นยกพื้น วางเตาไฟที่ใช้ฟืน สองสามเตา ถัดไปเป็นที่วางฟืนที่จะใช้หุงต้ม ผนังอีกด้านแขวนหม้อ ฝาหม้อ อวย ขนาดต่าง ๆ กระทะ ตะหลิว และอื่น ๆ ที่เป็นของใช้ประจำวัน
ส่วนด้านขวามือมีพวกของใช้ใหญ่ ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระทะใบบัวใหญ่ ๆ กระด้ง กระชอน ตะแกรง หม้อ ขนาดต่าง ๆ ลังถึง (ซึ้งนึ่งของ) ถึงเวลาเทศกาล เช่นกวนกระยาสารท ในเทศกาล สารทเดือนสิบ (ซึ่งต้องใช้เวลาทำประมาณสองสัปดาห์ ในการตระเตรียมส่วนประกอบ และลงมือกวน ) การกวนกระยาสารท กวนวันละ 1-2 -3 กระทะ ใช้เวลากวน 2-3 วัน หรือมากกว่านั้นแล้วแต่จำนวนที่จะกวนว่ากวนกี่กระทะกัน หรืองานที่จะต้องทำขนมจีน ก็จะนำอุปกรณ์ของใช้ในส่วนนี้ออกมาใช้งาน รวมถึงเทศกาล ตรุษจีน สารทจีน หรืออื่น ๆ (ไหว้พระจันทร์ ขนมจ้าง ขนมอี๋ เป็นต้น) โดยเฉพาะเทศกาล ตรุษจีน สารทจีนจะมีตะกร้าแขวนขนมเทียน แยกชนิดหวานเค็มอย่างละตะกร้า ตะกร้าขนมเข่ง เชือกที่แขวนไว้มีการป้องกันมดขึ้นได้ด้วย ซึ่งไพจิตรจะเวียนเข้าเวียนออกครัวนี้นับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละวันที่มีขนมในตะกร้า




นอกชานส่วนที่ชิดกับเรือนขวางขวาที่เป็นครัวนี้ จะเชื่อมกับทางเดินด้านข้างของเรือนกลางไปสู่ประตูหลังบ้าน มีประตูปิดเปิดมีนอกชานสี่เหลี่ยมฝืนผ้ากว้างยาวประมาณ 2-3 เมตร แล้วจึงลงสู่ลานดินกว้างขวาง มีเตาก่อด้วยดินขนาดใหญ่สำหรับวางกระทะใบบัวกวนกระยาสารทได้อยู่ข้าง ๆ สุดปลายคลองที่เก็บเรือ มีเรือลำใหญ่คว่ำขึ้นคานบนบก มีลำหนึ่งเก่ามาก ชำรุดใช้งานไม่ได้แล้วจึงเป็นที่เล่นสนุก ๆ ของ เด็ก เช่น เป็นที่เล่นซ่อนแอบโดยมุดเข้าไปซ่อนตัวใต้ลำเรือที่คว่ำอยู่ หรือ เล่น ไอ้เข้ไอ้โขงกันบนท้องเรือ (ที่คว่ำอยู่ ) เนื่องจากความแคบของลำเรือ (เรือมาดขุด) ถ้ารู้สึกว่าจะถูกจับได้ บางคนก็จะเอื้อมมือคว้าไม้ไผ่ที่มัดตับจากที่มุงหลังคายกขาขึ้นโหนตัวไว้กับหลังคาจากของโรงเรือนหลังนี้ก็มี เพราะเรือนี้อยู่ใต้โรงเรือนหลังคามุงจาก ถ้าผู้ใหญ่พบเห็นก็คงจะถูกดุแน่นอน

มีโรงเรือน 2 โรง โรงเรือนหนึ่งนอกจากมีเรือลำนี้ขึ้นคานคว่ำอยู่ และเป็นที่ว่างสำหรับเป็นช่องทางเดินอีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ที่มีไม้กระดานปูพื้น มีถังไม้กลมใหญ่และสูง 1 ใบ สำหรับใส่ข้าวเปลือกไว้กินทั้งปี (ซึ่งหากจะดูว่ามีอะไรในถังไม้นี้ ต้องหาม้าตัวอื่นปีนขึ้นไปดูู) บนแผ่นพื้นกระดานมีสัมภาระไม่ค่อยใช้งานนักเก็บอยู่มากมาย

ถัดออกไปมีเตาก่อด้วยดินของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจอยู่สุดปลายคลองที่เก็บเรืออีกเตาหนึ่งและอยู่ในส่วนโรงเรือนอีกหลังหนึ่ง คือเป็นยุ้งข้าวของคุณลุงบุญ ขวามือมีโรงเรือนเก็บของ มีผนังกั้นกับยุ้งข้าว หากเวลามีข้าวเปลือกเต็มยุ้ง ก็สามารถปีนจากห้องเก็บของนี้ ไปเหยียบบนกองข้าวเปลือกในส่วนยุ้งข้าวได้ เพราะเป็นการแบ่งส่วนจากยุ้งข้าวมานั่นเอง ถัดไปเป็นเล้าเป็ด ส่วนด้านซ้ายมือ เป็นหลังคายุ้งข้าวที่ลากพะไลหรือเพิงโถงต่อจากโรงเรือนเดิมคืออยู่ในบริเวณของ ยุ้งข้าว ใช้เป็นที่ทำประโยชน์อื่นๆ เช่นวางคานซ่อมเรือ พะไลนี้กว้างขวางทีเดียวสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ส่วนนี้ได้มากมายหลายกิจกรรม

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 1



พลอยโพยมขอกลับมาที่บ้านบางกรูดเล่าเรื่องความทรงจำอันแสนสุขของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของพลอยโพยม แล้วก็จะมีเรื่องราวของท่านผู้ประพันธ์ หนังสือภูเขาเคลื่อนได้ "ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าบทประพันธ์" ของคุณศรินทร เมธีวัชรานนท์ สตรีผู้บริหารสถาบันการเงินระดับพันล้านแต่ชีวิตพลิกผันชั่วข้ามคืนเพราะถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 196 ล้านบาท ซึ่งพลอยโพยมได้รับอนุญาตให้เขียนเรื่องราวของท่านได้ รวมทั้งอนุญาตให้นำภาพเขียนที่งดงามมากมายของท่านมาเผยแพร่ได้ เป็นเรื่องราวต่อจากความทรงจำอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด


"ชีวิตจริงยิ่งกว่าบทประพันธ์ "ของคุณศรินทรเป็นเรื่องราวอันโหดร้ายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ท่านบอกกับพลอยโพยมว่า นั่นคือฟ้าลิขิต ปัจจุบันท่านพ้นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงนั้น บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีชีวิตที่แสนสุขพรั่งพร้อมทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่สำคัญที่สุดคือความสุข สุขจากการให้ที่ยิ่งใหญ่ยากลำบากสำหรับคนทั่วไป คือการให้อภัยกับบุคคลที่ทำให้ท่านมัวหมองมีชิวิตที่ทุกข์ยากลำบากมา 14 ปี จิตใจของท่านทุกวันนี้ผ่องแผ้ว มีความสุข ที่เรียกว่าสันติสุขและปิติสุขในใจ ค้นพบขุมทรัพย์ คือหลักพระคริสตธรรมในการดำเนินชีวิต เรื่องราวของท่านน่าสนใจมาก


ขอเริ่มเรื่องที่บ้านบางกรูด



สืบเนื่องจากงานลอยอัฐิบรรพบุรุษตระกูลอื้อ คุณน้าไพจิตร จันทรวงศ์ได้เล่าเรื่องเรื่องความทรงจำที่แสนสุขที่บ้านอื้อเฮียบหมงให้พลอยโพยมฟัง พลอยโพยมจึงขอร้องให้ท่านเขียนเล่าเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง เพราะพลอยโพยมไม่สามารถจดจำเรื่องเล่าของท่านได้ครบถ้วน ท่านเห็นว่าพลอยโพยมเป็นคนสนใจสืบหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษขนาดนี้จึงเมตตาเขียนส่งมาให้หลังเสร็จสิ้นงาน แต่พลอยโพยมติดภารกิจมากมายจึงขอเล่าเรื่องความทรงจำนี้ในช่วงที่จิตใจของพลอยโพยมปลอดโปร่งโล่งจากความกังวลในภารกิจหลาย ๆ เรื่อง
ผู้เล่าเรื่องนี้คือคุณน้าไพจิตร บุตรคนที่ 8 ของพันตรีหลวงสมรรถยุทธการ (ฉัตร สัตยมานะ) และคุณยายอุไร สัตยมานะ (เจริญวงษ์ ) (กุ่ยฮวย แซ่อื้อ ตระกูลอื้อรุ่นที่ 24)


บ้านอื้อเฮียบหมง

ความทรงจำอันแสนสุขที่บางกรูด

จำได้ว่าในสมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมเมื่อปิดเทอมฯใหญ่ราวเดือนเมษายน คุณแม่อุไร จะส่งพวกเราสามคนพี่น้องที่มีอายุ ไล่ ๆ กันไปอยู่กับคุณยายจู ที่บ้านอื้อเฮียบหมง ตำบลบางกรูด มีคุณน้าเฮียง (กุ่ยเฮียงหรือ ประไพ เจริญวงษ์) เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูพวกเราเป็นอย่างดี


บ้านคุณน้าฮั้วอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมีบริเวณด้านซ้ายมือถึงตลาดวัดบางกรูด ด้านขวามือบริเวณปล่องโรงสี

พวกเราสามคนพี่น้องใช้ชีวิตที่สนุกสนาน ได้เล่นสนุกและทำกิจกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำที่กรุงเทพฯ กับพี่ ๆ น้อง ๆ ทางบ้านบางกรูด เช่นออกไปเก็บข้าวตกผืนนาของคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ (กุ่ยเอ็ง เจริญวงษ์ ) พี่เขย และพี่สาวคนโตของคุณแม่อุไร การเก็บข้าวตกก็คือหามีดและอุปกรณ์การใส่รวงข้าวเอาติดตัวไปที่ผืนนาที่มีการเก็บเกี่ยวแล้ว จะมีรวงข้าวที่คนเกี่ยวข้าวใช้เคียวเกี่ยวข้าวเกี่ยวรวงข้าวไม่หมดมีหลงติดกับกอข้าวซึ่งกลายเป็นซังข้าวไปแล้ว บางทีก็มีรวงข้าวตกหล่นตามซังข้าว เราต้องเดินเท้าเปล่า เพราะในผืนนาบางทีน้ำยังไม่แห้งหมดดีมีที่พุน้ำแฉะๆ เก็บข้าวตกจากผืนนาจนพอแล้วก็เอากลับมาบ้านเรียงรวงข้าวใส่ในกระบุงอีกที เต็มกระบุงเมื่อไรก็เอากระบุงข้าวลงเรือข้ามฟากไปขายให้คุณน้าฮั้ว (กุ่ยฮั้ว-มานิตย์ เจริญวงษ์) น้องชายของคุณแม่มีคุณน้าทองม้วน เป็นน้าสะใภ้ บ้านคุณน้าฮั้วอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงเช่นกันแต่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านอื้อเฮียบหมงและบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ ขายข้าวตกได้ราคากระบุงละ 1 บาท จะเต็มกระบุงหรือไม่เต็มกระบุง คุณน้าฮั้วก็ให้เงิน 1 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากสำหรับพวกเราเด็ก ๆ พวกเราดีใจมากกับเงินที่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ตลาดวัดบางกรูดก็อยู่ใกล้ ๆ เดินไปไม่ไกล และเงิน 1 บาท ใช้ซื้อของได้มากมายหลายอย่างทีเดียวในขณะนั้น



พวกเราเด็ก ๆ กินอิ่ม นอนหลับสบายไม่คิดถึงบ้านที่กรุงเทพ ฯ เลย จนใกล้เปิดเทอม คุณน้าเฮียงก็จะพามาส่งที่บ้านกรุงเทพฯ พวกเราจะตัวอ้วน (จากฝีมือทำอาหารและขนมของคุณน้าเฮียง และกินผลไม้นานาชนิดในสวนของ คุณลุงบุญคุณป้าสมใจ ซึ่งมีบ้านอยู่ชิดติดกันกับบ้านอื้อเฮียบหมง ) นอกจากอ้วนขึ้นแล้วพวกเราจะตัวดำมากจากกการออกไปเล่นสนุกในแม่น้ำ ในสวน และในท้องนาหลังสวน


เด็กรุ่นหลัง ๆ ในสวนคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ

ในราวปี พ.ศ. 2485-2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลมาถึงเมืองไทยที่กรุงเทพฯ แรก ๆ ของสงครามยังไม่มีพิษภัยเท่าใดนักเพราะมีแต่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาแต่ไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับคนไทยจวบจนเมื่อพันธมิตรต่อสู้เพื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกไปจากเมืองไทย เริ่มมีการทิ้งระเบิดที่เมืองไทย มีระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่เทเวศใกล้บ้าน (บ้านบางขุนพรหม)เข้ามาทุกที พวกผู้ใหญ่ในบ้าน คุณพ่อ คุณแม่และพี่ ๆ เริ่มขยับขยายไปหาที่ปลอดภัย ครอบครัวของเราและครอบครัวคุณพี่ีอุระมิลา ซึ่งเป็นพี่สะใภ้คนโต มีคุณแม่วงษ์ และวนิดา อุรัสยะนันท์ ซึ่งยังเล็กมากอพยพออกจากกรุงเทพมาด้วยกัน ทั้งสองครอบครัวมาอยู่รวมกันที่บ้านอื้อเฮียบหมง ซึ่งใหญ่โตกว้างขวาง คุณยายยกเรือนซีกหนึ่งให้พวกเราอยู่ พี่เกษมและพี่อุระมิลายังต้องไปทำงานอยู่จึงอยู่บ้านที่กรุงเทพฯที่บ้านวัดพระยายัง ส่วนที่บ้านบางขุนพรหมของพวกเรา พี่ ๆ ผู้ชาย 4 คนอยู่ที่บ้านนี้ ส่วนคุณพ่อฉัตรคุณแม่อุไรและลูกหญิงทั้ง 5 คนไปอยู่บ้านแปดริ้ว พี่อาภรณีขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนหนังสือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งทางโรงเรียนปิดการสอน จึงอพยพมาแปดริ้วด้วยได้

ที่บ้านบางกรูดได้ว่าจ้างเรือแจวหัวท้ายขนาดใหญ่พอสมควร เรือมีหลังคาโค้งตรงกลางลำเรือที่มีคนนั่ง ให้เรือมารับพวกเรา ในเวลานั้นถนนพายัพยังเป็นคลองอยู่ เรือสามารถเข้ามาจอดที่ท่าน้ำหน้าบ้านของพวกเราได้ และยังไปรับคุณแม่วงษ์และวนิดาไปด้วยกัน
เพิ่มเติม
คลองบางขุนพรหม มีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ ๆ กับสะพานพระรามแปดในปัจจุบันคลองที่เคยอยู่หน้าบ้านบ้านของคุณพ่อฉัตร ต่อมาถูกถมเป็นถนนพายัพ
ที่ปากคลองบางขุนพรหมเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยไพจิตรเด็ก ๆ เป็นบ้านของพลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ เดิมชื่อว่า หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ซึ่งท่านเป็นเจ้าของบ้านนรสิงห์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2484 ท่านเจ้าพระยา ฯ ขายบ้านนรสิงห์ให้รัฐบาล และย้ายมาพำนักที่บ้านท่าเกษม ตำบลบางขุนพรหม จนถึงปี พ.ศ. 2505 ท่านขายบ้านท่าเกษมให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (เป็นโรงพิมพ์ธนบัตร ในปัจจุบันนี้)
บ้านของท่านเ้จ้าพระยา ฯ ใหญ่โต และมีอู่เรือขนาดใหญ่มีเรือมากมายในอู่ ซึ่งท่านเจ้าพระยาจะตั้งชื่อเรือตามชื่อของบุตรสาวของท่าน

ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สมรสพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ คุณหญิงประจวบ สุขุม ต.จ. ธิดาของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช และ ท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพ็ชร) ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2467 และสมรสกับภรรยาท่านอื่นๆ รวมมีบุตร-ธิดา 34 ท่าน ดังนี้
มีบุตร-ธิดา 2 ท่าน กับ คุณหญิงประจวบ สุขุม (สมรสพระราชทาน) ดังรายนามต่อไปนี้
คุณรุจิรา อมาตยกุล
คุณมานน พึ่งบุญ ณ อยุธยา

มีบุตร-ธิดา 7 ท่าน กับ คุณนงคราญ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณสุรางค์
คุณโสภางค์พึงพิศ
คุณจิตอนงค์
คุณบุษบงรำไพ
คุณอนงค์ในวัฒนา
คุณปิยานงราม
คุณความจำนงค์

มีบุตร-ธิดา 9 ท่าน กับ คุณบุญเรือน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณพัฒนา
คุณบุษบานงเยาว์
คุณเชาว์ชาญบุรุษ
คุณพิสุทธิอาภรณ์
คุณบทจรพายัพทิศ
คุณจักรกฤษณ์กุมารา
คุณวนิดาบุญญาวาศ
คุณพรหมาศนารายณ์
คุณเจ้าสายสุดที่รัก

มีบุตร-ธิดา 7 ท่าน กับ คุณพิศวาส พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณศิริโสภา
คุณดวงสุดาผ่องศรี
คุณกุมารีหริลักษณ์
คุณทรงจักรวรภัณฑ์
คุณรามจันทร์วรพงษ์
คุณภุชงค์บรรจถรณ์
คุณจันทรรัศมี
มีบุตร-ธิดา 6 ท่าน กับ คุณถนอม พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณระฆุวงศ์
คุณนีละพงษ์อำไพ
คุณไกรกรีกูร
คุณประยูรกาฬวรรณ
คุณนวลจันทร์ธิดาราม
คุณโสมยามส่องฟ้า

มีบุตร-ธิดา 3 ท่าน กับ คุณพยุงวดี พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณสู่นคเรศ
คุณทักษิณีเขตจรดล
คุณอำพลปนัดดา
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย



เรือแจวพาพวกเรารอนแรมมาโดยเข้าสู่คลองแสนแสบ ผ่านสถานที่มากมายเช่นผ่านเขตประเวศ ลาดกระบัง หัวตะเข้ และอีกหลายสถานที่ จนมาถึงประตูน้ำท่าถั่ว อันเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางลำคลอง เพราะสุดคลองประเวศบุรีรมย์ที่ประตูน้ำท่าถั่วนี้ จะออกสู่แม่น้ำบางปะกง
คุณน้าเฮียงและคุณลุงชุน (กุ่ยชุน-ชาญ-เจริญวงษ์) มาคอยรับพวกเราที่ประตูน้ำท่าถั่วนี้ เป็นผู้นำทางพาเรือที่เรารอนแรมมาออกสู่แม่น้ำบางปะกง มุ่งตรงไปบ้านอื้อเฮียบหมงที่ตำบลบางกรูด


เรือนปั้นหยาของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ

ในช่วงแรกที่มาอยู่ที่บ้านบางกรูด คุณพ่อฉัตร คุณแม่อุไรและพี่อาภรณีวิตกเรื่องการศึกษาของพวกเราพี่สุภาภรณ์ ไพจิตรและน้องผุสดี พวกเราเรียนจบชั้น ประถมปีที่สี่กันแล้ว แต่น้องปรียาซึ่งเป็นน้องเล็กสุดท้องของครอบครัวยังเล็กมาก ที่โรงเรียนวัดบางกรูดซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ไปเรียนได้สะดวกที่สุดก็เพิ่งยุบชั้นเรียน เหลือแค่ชั้นประถมสี่จากเดิมที่มีชั้นประถมหก พี่อาภรณีจึงคิดจะให้พี่สุภาภรณ์ ไพจิตร และผุสดี ไปเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชื่อโรงเรียนดัดดรุณี พี่อาภรณีพาพวกเราสามคนเดินทางจากบ้านอื้อเฮียบหมงเข้าตัวจังหวัดฉะเชิงเทราโดยลงเรือเมล์ที่แล่นผ่านหน้าบ้านเป็นเรือลำใหญ่ เรือแล่นผ่านคุ้งน้ำ และท่าน้ำต่าง ๆ ผ่านวัดท่าอิฐ วัดโสธร ใช้เวลาในการเดินทางทางเรือนานมากประมาณสักสองชั่วโมง เมื่อ 70 ปีที่แล้วเรือเมล์ลำใหญ่ไม่สามารถแล่นให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ได้ เสียงเครื่องเรือก็ดังมาก เมื่อไปถึงก็ขึ้นเรือที่ท่าเรือที่ชาวแปดริ้วเรียกกันว่าท่าเมล์เ้ขียว ( รู้สึกว่า มีท่าเมล์แดงอยู่ถัดเหนือขึ้นไปอีกท่าหนึ่งเป็นท่าเรือสำหรับบรรดาเรือที่แล่นมาจากอำเภอบางคล้า ) พี่อาภรณีพาพวกเราสามคนไปที่โรงเรียนดัดดรุณี โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด หลานพลอยโพยมเล่าว่า คุณครูใหญ่ในขณะนั้นชื่อคุณครูสังวาลย์ ทองคำ เป็นคุณครูใหญ่ลำดับที่ ห้า ของโรงเรียน ระหว่างปี พ.ศ. 2476-2487 ไพจิตรจำไม่ได้ว่าการเจรจาพาพวกเราสามคนมาเข้าชั้นเรียนนั้นเจรจากันอย่างไร สรุปผลออกมาคือพี่อาภรณียกเลิกความคิดที่จะให้พวกเราเข้าเรียนที่โีรงเรียนดััดดรุณีั







ขากลับพี่อาภรณีพาน้อง ๆ สามคนเดินกลับจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรามาตามเส้นทางถนนที่ไปสู่อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จึงจะถึงทางแยกเข้าสู่วัดบางกรูด เมื่อเหนื่อยก็นั่งพักตามทางจำไม่ได้่เสียแล้วว่ากินข้าวกินน้ำกันที่ไหน จนบ่ายมากจึงเดินมาถึงศาลาพักคนเดินทางซึ่งอยู่ตรงข้ามกับปากทางเข้าวัดบางกรูดวิสุทธาราม (วัดประศาสน์โสภณในขณะนี้) หยุดนั่งพักกันอีกรอบจนพอจะมีแรงเดินต่อไปไหว พวกเราเดินข้ามถนนใหญ่มาสู่ถนนลูกรังซึ่งมีขนาดพอให้รถสามารถวิ่งผ่านได้ ระยะทางอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จึงจะถึงตลาดข้างวัดบางกรูด พวกเราเดินลัดเลาะคันนากันมาอีกสักพักก็ถึงบ้านคุณน้าฮั้ว เราลงเรือข้ามฝั่งที่บ้านคุณน้าฮั้วมาบ้านอื้อเฮียบหมง ที่พวกเราอพยพหนีสงครามมาพักอยู่กับคุณยายจู สรุปให้คุณพ่อฉัตรคุณแม่อุไรฟังว่าไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนดััดดรุณีได้ คงต้องรอให้สงครามโลกยุติก่อนจึงค่อยกลับมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ ความรู้สึกในขณะนั้นไม่ห่วงเรื่องการเรียนหนังสือกลับรู้สึกว่า เป็นอันสบายไปที่จะได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กบ้านนอกสมใจได้เต็มที่ พอถึงฤดูร้อนหลังจากคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ เก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ พวกเราก็กลับไปทำอาชีพเดิมที่เคยทำมาก่อน ตอนตามคุณพ่อคุณแม่มาในช่วงปิดเทอมใหญ่ ก่อนการที่จะได้อพยพมาอยู่เป็นเวลานาน นั่นคืออาชีพเก็บข้าวตกแล้วเอาไปขายให้คุณน้าฮั้วอย่างเคยด้วยความสนุกสนาน

ตั้งแต่นั้นมา ไพจิตร และพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงรวมห้าคน คุณพ่อฉัตร คุณแม่อุไร คุณแม่วงษ์ และวนิดา (น้องสาวคุณพี่อุระมิลา) ก็เป็นคนบางกรูดเมืองแปดริ้ว เต็มตัว



คลองบางขุนพรหม เป็นคลอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาสู่ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์ หลังโรงเรียนนายร้อยทหารบก

คลองแสนแสบ
เป็นคลองที่ห่างไกลจากพระนครมาก เมื่อสมัยกว่า 100 ปีมาแล้ว แต่กลายเป็นคลอง ที่เกือบจะพูดได้ว่าอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ
คลองนี้ แต่เดิมตั้งแต่สี่แยกมหานาค ผ่านสระปทุม ประตูน้ำ วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) วัดบางกะปิ จนถึงวัดใหม่ช่องลม เรียกว่า คลองบางกะปิ ต่อจากนั้นไปเรียกว่า คลองแสนแสบ

คลองมหานาค


คลองแสนแสบ

คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุด ตั้งแต่หัวหมาก ไปถึงบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2380 (จุลศักราช 1199) เพื่อเป็นทางลำเลียงกองทัพครั้งทำสงครามกับญวน
สองฝั่งคลองแสนแสบ มีสถานที่สำคัญซึ่งสมควรจะกล่าอยู่ 2 แห่ง คือ สระปทุม กับวัดมักกะสัน
สระปทุม ปัจจุบัน อยู่หลังย่านการค้าราชประสงค์ หลังตึกกองการเงิน กรมตำรวจ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และข้างวัดสระปทุมวนาราม เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับวัดสระปทุม โดยให้ขุดสระ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ปลูกบัวต่าง ๆ ส่วนบนเกาะ ปลูกไม้ดอกนานาพันธุ์ และสร้างพระที่นั่งประทับแรมพลับพลา โรงละคร ที่เจ้าจอมอยู่ โรงครัวข้างใน โรงครัวเลี้ยงขุนนาง แล้วพระองค์เสด็จทางชลมารค ตามคลองบางกะปิ มาประทับแรม ณ วังสระปทุม นานถึง 2-3 วัน ทุกปี

วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) อยู่ริมคลองกลางทุ่งบางกะปิ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ตัดคอประหารชีวิตนักโทษ เมื่อประมาณหลาย ปีมาแล้ว ตั้งแต่ประตูน้ำ จนถึงอำเภอบางกะปิ ยังไม่มีถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนคลองตันขนาบ เช่นปัจจุบัน ปรากฏว่า มีเรือเมล์ขาว บริษัทนายเลิศ วิ่งระหว่างประตูน้ำ กับอำเภอมีนบุรี เป็นประจำ แม้เวลานี้ ก็ยังมีเรือวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารตามบ้านริมคลองอยู่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=761913
http://allknowledges.tripod.com/canalinpast.html#object

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี







เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด " อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา " ณ โรงเรียนดัดดรุณี ซึ่งพลอยโพยมมีเพื่อนนักเรียนทั้งโรงเรียนปัญจพิทยาคาร โรงเรียนดัดดรุณี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ รับราชการอยู่ในโรงเรียนดััดดรุณีมีทั้ง ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูอาจารย์ รวมหลายท่าน


คุณขวัญกมล ฉายแสง นายกสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือวันวานของบางกรูด

เพื่อนรักคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเธอรักโรงเรียนดัดดรุณีมากยิ่งกว่าโรงเรียนใดในชีวิตของเธอ ปรึกษาหารือการจัดนิทรรศการ เธอเป็นครูเคมีที่พลอยโพยมเกลียดวิชานี้มาก ๆ พลอยโพยมมีแต่เรื่องท้องถิ่นเราจึงไม่มีความเห็นเรื่องราวรับผิดชอบสายวิชาของเพื่อน แต่เพื่อนคนนี้ก็รู้ว่าพลอยโพยมจะช่วยอะไรโรงเรียนได้



ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวแปดริ้ว ก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรมากกว่าชาวเมืองอื่น ๆ เช่น มีหมู่บ้านทำน้ำตาลสดจากงวงตาล หมู่บ้านทำหมวกกุ้ยเล้ย กลุ่มทองเหลืองสาน มีการใช้กาบกล้วยแห้งมาทำเรือ (เรือใบ เรือกระแซง) แต่ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นเรื่องของการประกอบอาชีพเฉพาะกลุ่มไม่เป็นเรื่องราวของการดำเนินชีวิตของชาวบ้านทั่วไป
แต่ภูมิปัญญาเรื่องราวของการกินดีมีสุข แม้จะไม่แปลกประหลาดพิสดารมากมาย แต่ก็เป็นเรื่องราวที่ระดับเด็กนักเรียนสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก การกินดีมีสุขเป็นการแสดงความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณไม้ ซึ่งมีการนำภูมิปัญญาของคนโบราณมาใช้ในการแปรรูปพืชผลที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปมาเป็นของกินเก็บได้นาน



พลอยโพยมลองเสนอ ให้นักเรียนทำผลิตผลง่าย ๆ เช่น ผลมะนาวโห่แข่อิ่ม รากสามสิบแช่อิ่ม และฝักรุ่ย (ฝักถั่วขาว ) เชื่อม



ดอกมะนาวโห่

ผลมะนาวโห่

การเลือกผลมะนาวโห่แช่อิ่ม ก็เพื่อให้  Intrendกับความนิยมในปัจจุบัน ผลงานแสดงจะสวยงามด้้วยสีสันของผลมะนาวโห่ อีกทั้งต้นมะนาวโห่มีมากมายทั่วเมืองแปดริ้วหาได้ง่ายดายตามบ้านเรือนผู้คน โดยเฉพาะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา กรมประมง และฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร "สองน้ำ " มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา   กรมประมงเช่นกัน  ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้มิใช่เพิ่งมา Intrend  ในขณะนี้ เพราะปลูกกันมาเนิ่นนานสิบกว่าปีแล้วและมีจำนวนต้นมากมายรวมกันราวพันต้น



สำหรับการทำรากสามสิบแช่อิ่ม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่สร้างสรรค์ผลผลิตที่ต้องใช้ความพยายามอุตสาหะในการทำผลผลิตนี้ ผลงานชาวสวนที่ใกล้เคียงกับผลงานชาววังเลยทีเดียว ต้นสามสิบเป็นพรรณไม้ที่อยู่คู่กับสวนแทบทุกสวนในครั้งโบราณ มีทั้งในป่าสะแกทั่ว ๆไปมากมายเช่นกัน
รากสามสิบแช่อิ่มมีวิธีการทำที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน ( ประมาณ 10 วัน) เป็นผลิตผลที่ชาวสวนส่วนใหญ่ใช้ทำในโอกาสพิเศษ เช่นตั้งใจทำไว้เพื่อนำไปทำบุญถวายพระหรือโอกาสพิเศษอื่น ๆ มีน้อยบ้านที่ทำเป็นขนมหวานให้สมาชิกในบ้านกินแบบปกติแต่ก็ยังพอมีบ้าง

.
ดอกของต้นรากสามสิบ

ต้นรากสามสิบ

ส่วนฝักรุ่ย (ถั่วขาว) เชื่อม นั้นก็แสดงความใฝ่รู้ ทดลอง แสวงหาวิธีการนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นของกินได้อย่างแปลกประหลาดไม่น่าเชื่อ เพราะเมืองแปดริ้วเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าวมีแผ่นดินตรงไหนก็มีพืชพรรณไม้ ผลไม้ปลูกได้ผลอุดมสมบูรณ์ การนำฝักรุ่ยมาแปรรูป น่่าจะเกิดจากความอยากรู้ อยากเห็น ทดลองทำดู ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรจะกินเสียมากกว่า พรรณไม้ชายน้ำที่มีลักษณะะเป็นฝักมีทั้ง โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก พังกากัวสุมหรือขลัก หรือที่ชาวแปดริ้วเรียกกันว่าคลัก โปรงขาว โปรงแดง   ฝักรุ่ยนั้นนอกจากนำมาเชื่อมแล้วยังทำแกงบวดได้อร่อยมากอีกด้วย



ฝักรุ่ยซึ่งเป็นพรรณไม้ชายน้ำ
ต้นรุ่ย


ซึ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ของโรงเรียนไ้ด้เลือกการนำกาบกล้วยแห้งมาประดิษฐ์เป็นเรือ (เรือใบ เรือกระแซง) การทำผลมะนาวโห่แช่อิ่ม การทำรากสามสิบแช่อิ่ม และการทำฝักรุ่ยเชื่อม
พลอยโพยมไม่คิดว่าการแสดงผลงานของนักเรียนที่สื่อการกินดีมีสุขของชาวบ้านเมืองแปดริ้วจะมีปัญหาอะไร

พอเอาจริงเข้าก็ปรากฎว่ามีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ


ผลมะนาวโห่ในช่วงการรับเสด็จเป็นช่วงที่มะนาวโห่ส่วนใหญ่เริ่มสุกเกินการทำมาแช่่อิ่ม



ค้นรากสามสิบที่เคยมีอยู่ทั่วไป ๆ สูญหายไปพร้อมกับพื้นที่สวนที่ถูกลูกรังที่นำมาปรับพื้นที่ทับถมจนหาได้ยาก หรืิอมีต้นแต่รากยังใช้การไม่ได้






ฝักรุ่ย ก็เป็นช่วงเวลาที่ฝักวายแล้วก่อนการนำมาทำผลงาน
เป็นอีกครั้งที่พลอยโพยมขอสื่อสารถึงความร่วมมือร่่วมใจ น้ำใจไมตรีของชาวแปดริ้วทั้งเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง
เมื่อพลอยโพยมไปติดตามวัตถุดิบตามแหล่งที่รู้ว่ามี และพบว่าเป้าหมายที่ไปไม่มีสิ่งที่ต้องการ ก็จะได้รับการบอกต่อให้ไปบ้านคนโน้น บ้านคนนี้ บ้านคนนั้น โยงใยไปหลายบ้านหลายครัวเรือน ทุกคนอยากให้การรับเสด็จในครั้งนี้เป็นไปตามโครงการที่โรงเรียนตั้งใจ
รวมทั้งรายการเพิ่มเติมคือจัดกระเช้าผลทุเรียนเทศทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย




หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปกับการขับรถตระเวนหาวัตุดิบ ต่าง ๆ และนำมาให้นักเรียนฝึกหัดทำในโรงเรียน
สำหรับมะนาวโห่นั้นพลอยโพยมต้องไปตระเวนเก็บผลมาเอง บางครั้งมีน้องชายไปช่วยเก็บ




การไปเก็บผลมะนาวโห่ต้องผจญกับฝูงมดแดงที่แอบแฝงหวงแหนผลมะนาวโห่ตามต้นมะนาวโห่ ถูกหนามของต้นมะนวโห่เกี่ยวตามมือหรือแขนที่สอดลอดเข้าไปเก็บผล ที่โคนต้นบางบ้านต้องผจญกับหนามแหลมที่เจ้าของบ้านลิดกิ่งทิ้งไว้โคนต้นตำทะลุรองเท้า บางต้นต้องปีนเก้าอี้ขึ้นไปเก็บ ถ้าพื้นที่ไม่เรียบก็เสี่ยงกับการหกคะเมนตีลังกาลงมาได้ง่าย ๆ จึงต้องยอมเสี่ยงทนมดแดงกัดมือ  โดนหนามเกี่ยวคือต้องใช้มือและแขนข้างหนึ่งเหนี่ยวกิ่งที่แข็งแรงช่วยพยุงตัวให้ยืนได้มั่นคง  ทั้งมือแขนและเท้ามากมายไปด้วยริ้วรอยหนามของต้นมะนาวโห่ กลับบ้านต้องทายาเบตาดินตัวลายทีเดียว(โฆษณายี่ห้อให้เลยก็ได้)
















ขอขอบพระคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทราที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องมะนาใโห่แช่อิ่ม รวมทั้งคุณชาตรีที่ไปเที่ยวสืบค้นฝักรุ่ยตามบ้านเรือนสถานที่ที่มีต้นรุ่ยหลายแห่ง ขอบพระคุณชาวเมืองแปดริ้วต่าง ๆ ที่พลอยโพยมไปขอเก็บผลมะนาวโห่มาจากหลาย ๆ บ้านนำมาสาธิตนักเรียนให้ทำงานนี้ นำมาทำของทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย







โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร "สองน้ำ " มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ที่ให้ทั้งผลมะนาวโห่ ดอกมะนาวโห่ รวมทั้งต้นมะนาวโห่ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ (สำหรับต้นใหญ่ท่านหัวหน้าสมชายต้องขุดต้นจากพื้นดินนำมาใส่เข่งเลี้ยงไว้ สอง-สามสัปดาห๋ก่อนนำมาตั้งแสดง และยังอภินันทนาการการขนต้นมาส่งมารับต้นกลับ รวมทั้งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแยมมะนาวโห่ผลงานของโครงการ ฯ อีกด้วย)



รากของต้นรากสามสิบ ต้องให้คุณมีนกรช่วยขุดรากขึ้นมาจากต้นที่บ้าน และไปสืบค้นต้นสามสิบต้นใหญ่ ๆ จากในป่าที่แถบ ๆ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี ได้กอใหญ่มาสมใจพลอยโพยม เพื่อนำมาแสดงรากในวันรับเสด็จ







ขุดรากสามสิบที่บ้านของพลอยโพยม








อย่างไรก็ตามพลอยโพยมต้องลงมือขุดรากสามสิบด้วยตัวเองที่สวนของพี่สุกัลยา การปลูกต้นไม้ของพลอยโพยมที่ผ่านมามักปลูกลงกระถาง หากปลูกลงพื้นดินก็จะมีคนขุดหลุมให้ (ลูกจ้างเลี้ยงกุ้งของพี่ชาย) พลอยโพยมไม่เคยขุดดินเป็นหลุมใหญ่โตขนาดตัวเองลงไปนั่งในหลุมที่ตัวเองขุดเลย ได้หลุมที่คาดว่ากินรัศมีของรากสาบสิบแล้วค่อย ๆ ใช้ปลายกรรไกร ไล่หารากสามสิบในดิน เพราะไม่สามารถงัดรากเป็นกอ ๆ ขึ้นมาไ้ด้เพราะไม่มีแรงขุดหลุมให้กว้างกว่าที่่ขุดอยู่ได้




งานนี้พลอยโพยมคุ้ยดินจนฝุ่นดินเข้าตาเมื่อขยี้ตาก็เกิดอาการเส้นเลือดในตาขาวแตก ดวงตาแดงก่ำทั้งสองข้าง






ได้รากสามสิบมาแล้วก็ลงลงมือทำรากสามสิบ 1 ชุด เพื่อนำไปสาธิตให้นักเรียนที่โรงเรียนทำ พลอยโพยมก็เคยแต่กินรากสามสิบแช่อิ่มมาก่อนในสมัยเด็กแต่ไม่รู้วิธีทำ ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านพลอากาศโทสุเทพ นาคะพงศ์พี่ชายของพี่สุกัลยาที่เป็นผู้สอนวิธีทำรากสามสิบแช่อิ่มให้พลอยโพยม ขอกราบขอบพระคุณพี่สุกัลยา นาคะพงศ์ ที่เอื้อเฟื้อให้ต้นสามสิบ ให้รากสามสิบมาแช่อิ่ม สอนกระทั่งวิธีการขุดดินหารากสามสิบการเลือกรากที่ใช้งานได้รวมทั้งเป็นผู้คอยชี้แนะขั้นตอนรายละเอียด และเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพผลงานทั้งมะนาวโห่แช่อิ่ม รากสามสิบแช่อิ่ม ฝักรุ่ยเชื่อมให้เคล็ดลับต่างๆ มากมายทั้งการทำแช่อิ่ม การทำรุ่ยแกงบวดที่มีเคล็ดลับพิเศษไม่เหมือนใคร ให้กำลังใจติชมผลงานที่นำไปเสนอทุกครั้ง (พี่เขารอบรู้มากทั้งทางวิชาการทั้งการใช้ภูมิปัญญาคนโบราณต่าง ๆ )
ขอขอบพระคุณคุณป้าปรานอม วัฒสินธุ์ อายุ 80 ปี เศษซึ่งมีผลงานการทำรากสามสิบมีชื่อของชาวบางชายสอตำบลบางกรูดเป็นที่เลื่องลือ ท่านเป็นผู้ลงมือทำรากสามสิบชุดที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย




















ส่วนฝักรุ่ยนั้นโชคดีมากที่มีฝักให้พลอยโพยมนำมาใช้การในงานนี้ได้อย่างเหลือเฟือจากบรรจงฟาร์มของคุณบรรจง และคุณมณฑนี นิสภวาณิชย์ อีกทั้งไม่ต้องไปเก็บเอง คุณนิดมีเมตตาให้แม่บ้านในฟาร์มค่อย ๆ เก็บสะสมไว้ให้ และให้โอกาสพานักเรียนไปหัดทำที่บ้านตั้งแต่การปอกเปลือกฝักรุย สอนวิธีการเชื่อมให้โดยมีคุณนิดเป็นวิทยากรเอง  จัดต้นรุ่ยสองต้นมาแสดงในงานและยังเชื่อมฝักรุ่ยมาให้หม้อใหญ่ในวันก่อนวันรับเสด็จ 1 วัน ขอกราบขอบพระคุณอีกครั้ง















ฝักรุ่ยเชื่อมฝีมือของนักเรียน



ขอขอบพระคูณพ่อแม่พี่น้องต่าง ๆ ที่ช่วยกันหาผลทุเรียนเทศมารวมกันจนสามารถจัดกระเช้าเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ซึ่งแรกเริ่มเดิมที่ที่บ้านพี่สุกัลยามีผลทุเรียนเทศยี่สิบกว่าผล แต่พอใกล้วันก็ไำม่สามารถใช้งานได้เลยเพราะถูกแมลงวันทองต่อยหมดทุกผล รวมทั้งอีกหลาย ๆ บ้านที่มีสภาพเดียวกันมีผลห้อยระย้ามากมายแต่ใช้การไม่ได้




แต่เพราะความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อที่ไม่ยอมแพ้พลอยโพยมก็เสาะหาต่อไป เมื่อวันทำบุญเข้าพรรษา กำนันมดกำนันตำบลบางกรูดก็ประกาศหาผลทุเรียนเทศให้ในงานบุญที่วัดผาณิตารามให้  และได้รับความร่วมมือจากบ้านที่กำลังมีผลทุเรียนเทศอยู่กับต้นหลายบ้าน




บางวันจะค่ำแล้วก็มีโทรศัพท์มาบอกว่า ทุเรียนที่บ้านกำลังสุกจะมาเอาไหม เป็นต้น




ก่อนวันรับเสด็จก็สามารถรวบรวมผลทุเรียนเทศได้หลายผลพอจัดลงกระเช้าได้ 1 กระเช้า







ส่วนพลอยโพยมก็มีกิจกรรมทุกเช้าตรู่และค่ำคืน ผลิตผลงานทั้งมะนาวโห่แช่อิ่ม รากสามสิบแช่อิ่ม และฝักรุ่ยเชื่อม ไว้ให้เพียงพอสำหรับเลือกสรรและให้คณะครู นักเรียนชิมวันงาน





อุปกรณ์ที่พลอยโพยมต้องล้างเช้าเย็นวันละ 2 รอบเป็นเวลา เกือบสองดาห์


ก่อนหน้านี้พลอยโพยมมอบหนังสือวันวานของบางกรูดให้โรงเรียน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลงานเขียนของศิษย์เก่าของโรงเรียนในช่วงเวลาเสด็จชมห้องสมุดของโรงเรียน 20 เล่ม หนึ่งเล่มนั้นนายกสมาคมศิษย์เก่าเป็นผู้ทูลเก้าทูลกระหม่อมถวายในห้องสมุด อีก 19 เล่ม แยกต่างหาก



ในวันเสด็จจริงพลอยโพยมก็นำของไปจัดงานและเตรียมเสื้อผ้า รองเท้าเผื่อไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด แล้วก็เกิดปาฎิหารย์ที่ผู้รับผิดชอบการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของ จัดให้พลอยโพยมมีโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสืออีก 19 เล่ม ร่วมกับบุคคลต่าง ๆ นับว่าพลอยโพยมมีบุญมากจริง ๆ





เพื่อนรักของพลอยโพยม และโตกที่จะใช้จัดวางของแสดง
การตกแต่งโตกใส่ของที่จัดงานเป็นฝีมือ อาจารย์ณัฐปนนท์   สิงห์ยศ จากศูนย์ศิลปกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์














เมื่อท่านเสด็จรับของทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของบุคคลต่าง โดยการจัดของไว้บนโต๊ะ ผู้ที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของก็ยืนตรงกับของของตนเอง ท่านจะเอาพระหัตถ์แตะของที่เราทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พลอยโพยมมีโอกาสได้กราบบังคมทูลถึงเนื้อหาของหนังสือสั้น ๆ มีพระราชดำรัสถามว่าเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้หรือ ดี ดี พลอยโพยมกราบบังคมทูลว่าเพคะ ทรงแย้มพระสรวลให้ พอเสด็จผ่านไปรับของของทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกระเช้าผลทุเรียนเทศมีพระราชดำรัสถามว่าเอาไปทำอะไรบ้าง เมื่อถึงกระเช้าผลงานนักเรียนซึ่งประกอบด้วย มะนามโห่แช่อิ่ม แยมมะนาวโห่ (ของหัวหน้าสมชาย) รากสามสิบแช่อิ่ม ฝักรุ่ยเชื่อม มีพระราชดำรัสว่า อ๋อของที่แสดงในงาน และเสด็จรับของทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจนหมดรายการ ก็เสด็จกลับ




เพื่อนผู้เป็นคนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกระเช้าผลทุเรียนเทศบอกพลอยโพยมว่า ใช้คำลงท้ายเพคะไม่ได้ ต้องใช้คำว่าพระพุทธเจ้าข้า




พลอยโพยมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีโอกาสเช่นนี้เลยเสียชื่อการเป็นลูกศืษย์ครูภาษาไทยไปเสียแล้ว
เมื่อเสด็จกลับ พลอยโพยมก็ปลาบปลื้มใจอีกครั้งกับผลงานมือใหม่หัดทำของตนเองอีกครั้งเพราะของที่วางแสดงในนิทรรศการหมดเกลี้ยง





เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่พลอยโพยมจะจดจำความปลาบปลื้ม ปิติ เป็นสุขกับการรับเสด็จในครั้งนี้ไว้ตลอดไป






คุณครูป้อม หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ไปกราบขอบพระคุณผู้มีอุปการะคุณในการครั้งนี้