วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ปราชญ์ภาษาไทย
หนังสือของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ดอกรวงผึ้ง
หนังสือวาหนิติ์นิกร
เป็นเรื่องของอักษรนำบรรยายด้วยบทโคลงของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร )เองได้ดังนี้
พากเพียรเวียนคิดค้น คัดคำ
พวกอักษรสูงนำ แนะไว้
กุมารหมั่นดูสำ เหนียกนึก เทอญพ่อ
รู้รอบชอบจักได้ ทรัพย์ซ้องสรเสริญ
คำณวนควรนับอ้าง อักษร
วาหะนิติ์นิกร ชื่อชี้
ตัวสูงหากสังหร ตัวต่ำ ขึ้นนา
ถ่องกระบวนแบบนี้ นับผู้ชาญเฉลียว
เรื่องนี้นามตั้งว่า วาหะนิติ์
สองอักษรนำสนิท นับอ้าง
ร่วมเสียงสระชิด เชิงชอบ
เชิญเร่งเรียนอย่าร้าง รอบรู้ชูศรี
หนังสืออักษรประโยค
อักษรประโยค เป็นเรื่องของอักษรควบ
ตัวอย่าง เช่น
ตัว (ก) กับ ตัว (ร) ประโยคกันแจกดังนี้
กร กรา กริ กรี
ตัว (ก) ควบกับตัว (ร) แม่ ก กา ใช้ได้ ๑๓ คือ
จักรา ตะกร้า จักกรี เอาใบไม้กรุ วิ่งกรู ต้นไทร โกรธา นอนโกร๋ กันเกรา กรากกรำ กระลา กระถี กระลำภร
หนังสือสังโยคพิธาน
สังโยคพิธาน เป็นเรื่องตัวสะกดแม่ต่าง
มีโคลงอธิบายถึง ๕ บทโคลง
รวบรวมตัวอักษรที่ใช้สะกด ในแม่ กน กก กด กบ ซึ่งมาในภาษามคธบ้าง คำบาลีบ้าง มีมาโดยข้อบัญญัติ ในภาษาไทยใช้สืบกันมาแต่โบราณบ้าง
หนังสือพิศาลการันต์
เป็นเรื่องของตัวการันต์ต่างๆ
เป็นวิธีถ้อยคำขบวนหนึ่ง มีอักษรเพิ่มไว้ข้างท้ายแต่มิใช่ตัวสะกด เติมลงไว้เพื่อจะให้เต็มคำซึ่งมาแต่ภาษามคธ และเสียงภาษาอื่นบ้าง เสียงไทยอ่านไม่ตลอดถึง จึงลงตัวการันต์ไว้ เป็นที่สังเกตว่าไม่อ่าน
เช่น บัลลังก์ ความทุกข์ จตุรงค์ พระสงฆ์ ฉกรรจ์ กะเกณฑ์ ยศศักดิ์ พระจันทร์ ไวพจน์ พระสมุห์ เป็นต้น
และยังมีคำบรรยาย คำที่ต้องใช้ ไม้ตรี ไม้จัตวา มักใช้ในอักษรกลางโดยมาก ส่วน ไม้ไต่คู้เพื่อชักให้สำเนียงสั้น ซึ่งเป็นอักษรไทย ภาษาอื่นบ้าง
อาเจ๊ เจ๊ง หอยจุ๊บแจง ตั๊กแตน อากู๋ ดูดู๋ เอ๋ย คำเท็จ สำเร็จ เป็ด เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงพอจำได้ว่าเราก็เรียนหนังสือเบื้องต้นมาแบบนี้เพียงแต่แบบเรียนสมัยใหม่ของพวกเราไม่ได้แยกหมวดหมู่ เป็นแต่ละเล่ม ๆ ดังของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร) ของพวกเราท่านแจกแจงรายละเอียดไว้ ถ้าได้อ่านต้นฉบับกันเองทุกท่านก็ชัดแจ้งแทงตลอดในความรู้ที่ท่านต้องการสอนพวกเรา
ใน ปี พ.ศ . ๒๔๑๕ ท่านเป็นครูสอนหนังสือไทยในกรมทหารมหาดเล็ก คือสอนพวกนายทหารและมหาดเล็กชั้นเล็ก ๆ ซึ่งพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) เป็นต้นคิดจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นในออฟฟิศทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้า ฯ ให้ท่าน เป็นอาจารย์ใหญ่ สั่งสอนพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์ และ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ รวมถึงบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ด้วยแบบหนังสือไทย ๕ ฉบับ นี้นั่นเอง
ผู้ที่สอบไล่ได้หลังจากเรียนจบทั้ง ๕ เล่มแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรหนังสือ
ต่อมาท่านได้คิดแบบเรียนหนังสือ อีกหลายเล่มคือ ไวพจน์พิจารณ์ อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม ) นิติสารสาธก ปกิระณำพจนาตถ์ และแบบโคลงฉันท์อีกหลายเรื่อง
หนังสือไวพจน์พิจารณ์
เป็นลักษณะใช้ถ้อยคำขบวนหนึ่ง ตัวต่างกัน แต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน บางทีตัวเดียวกัน แต่ตัวสะกดต่างกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน แลต่างแค่สำเนียงสั้นบ้าง ยาวบ้าง ไวพจน์พิจารณ์ เป็นการเรียนต่อเรื่องเนื่องกับสังโยคพิธาน
เช่น
นับแปดเก้า ก้าวเดินไป ของมีค่า ฆ่าตาย มือเท้า ท้าวพระยา พระมุนี ประเพณี ปู่ย่า กอหญ้า เสือกไส หมดใส ปักเสา วันเสาร์ สกล สกนธ์ ธูปเทียน พระมณเฑียร ปูนปัน ปัญญา
จักรพาฬ ปฏิภาณ สะอาด ใจองอาจ เป็นต้น
ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดระเบียบและแก้ไขโรงเรียน มีการจัดตั้งพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗
และหนังสือไวพจน์พิจารณ์
ได้ถูกนำไปรวมกับหนังสือแบบเรียนหลวงชุดแรก ๕ เล่ม รวมเป็น แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ใช้เรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
และในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ (แก้ไข) นี้เองที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวงมาเป็นอาจารย์ถวายพระอักษร แสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และพระราชโอรส พระราชธิดา อีกหลายพระองค์ ซึ่งท่านมีอายุถึง ๖๑ ปีแล้ว (แก้ไข)
ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ รวมอายุได้ ๖๙ ปี
แต่เนื่องจากแบบเรียนหลวงทั้ง ๖ เล่ม ที่ใช้เรียนในโรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบนั้น ปรากฏว่านักเรียนน้อยคนนัก ที่จะเรียนได้ครบทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะมีผู้เรียนจบ บางคนเรียนได้เพียงสามเล่มก็ต้องออกมารับราชการ เสียแล้ว เนื่องจาก กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ กำลังต้องการผู้มีความรู้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก
มีตัวอย่างความยากและการต้องใช้เวลาในการเรียนแบบเรียนเหล่านี้เช่น
เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ท่านมีประวัติในเรื่องการศึกษาดังนี้
ท่านได้เข้าศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ เรียนอยู่ ๑ ปีเศษ เมื่อจบชั้นวาหนิติ์นิกร (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ท่านเกิดปี พ.ศ .๒๔๑๗ )หลักสูตรตามหนังสือมูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้บังคับการโรงเรียน สอบไล่ได้ประโยค ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๐ท่านสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ชั้นที่ ๑ ในจำนวนผู้สอบได้ทั้งหมด ๙ คน จากโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม นับเป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย
หนังสือแบบเรียนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อมาถึงในปัจจุบัน หากไม่นับว่าการใช้คำและตัวสะกดในสมัยนั้นไม่คุ้นตาถ้าคงตัวสะกดในสมัยนั้นไว้ คนรุ่นปัจจุบันนี้น่าจะมีความรู้สึกว่าบทเรียนค่อนข้างยาก หากแต่มีบทความของ คุณ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในนิตยสารสกุลไทย เรื่องพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีความว่า
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯให้ทรงเรียนหนังสือกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งสมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ว่า
วันพฤหัสบดีวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตื่นเช้าก่อนโมง กินข้าวแล้วไปอ่านหนังสือ อ่านในห้องโอฟิต พระยาศรีสุนทรเป็นผู้สอน เสด็จอาดิศมากำกับด้วย เราอ่านสองโมงเช้า สองโมงนานเลิก ให้อ่านนิดเดียวแต่นโมเท่านั้น เสด็จอาดิศชมเราใหญ่ ครูก็ชมว่าเราไม่ร้องไห้
พี่กิติยากรครูระอา ร้องไห้ทุกวันกว่าเดือน
...ฯลฯ..
.
เสด็จอาดิศ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นทรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร)
พี่กิติยากร คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์)
สมเด็จพระบรมฯ ทรงได้รับพระราชทานสมุดสำหรับจดบันทึกรายวัน (Diary) เป็นของพระขวัญวันประสูติ จากสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อพระชนมายุครบ ๕ พรรษา ตั้งแต่นั้นพระองค์ก็ทรงบันทึกจดหมายเหตุรายวันเรื่อยมา ชั้นแรกเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก ยังทรงเขียนเองไม่ได้ ก็ทรงเล่าถวายพระพี่เลี้ยง คือ พระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งตรัสเรียกว่า ป้าโสม ให้เป็นผู้จดบันทึกจนกระทั่งเมื่อทรงพระเจริญวัยได้ ๘ พรรษาแล้ว จึงทรงบันทึกด้วยพระองค์เอง
เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เข้าไปเป็นพระอาจารย์ถวายสอนหนังสือสมเด็จพระบรมฯ นั้นอายุมากถึง ๖๑ ปีแล้ว สมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกไว้ถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อีกหลายตอน ภายหลังรับสั่งเรียกพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยฯ) ว่า ท่านอาจารย์ ทรงรดน้ำสงกรานต์พระราชทานท่านอาจารย์ทุกปี ดังเช่นปีแรก (พ.ศ.๒๔๒๘) ที่ทรงบันทึกไว้ว่า
วันพฤหัสบดี วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๘ สองโมงแล้ว แต่งตัวไปเรียนหนังสือ เอาผ้าม่วงหางกระรอกสองผืน กับเสื้อยศตัวหนึ่งไปรดน้ำพระยาศรีสุนทร แกดีใจหัวเราะแป้นทีเดียว แล้วเขียนเป็นคาถากับโคลงให้พรเรา เราได้ให้จดไว้ในสมุดนี้แล้ว...ฯลฯ...
ดังนั้น บทเรียนข้างต้น ก็คงไม่ยากจนเกินไปของเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เพราะด้วยชันษาเพียง ๕ ชันษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ก็ทรงรับการศึกษาได้
นอกจากนี้
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริ วฑฺฒโน)พุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐ ก่อนที่จะครบกำหนดบวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี ก็ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จนพระชนมายุ ได้ ๑๔ ชันษา จึงได้ทรงผนวชเป็นสามเณร
อ่านบทความนี้แล้วแล้ว น่ายกย่องเด็กในสมัยก่อนที่มีความพากเพียรอุตสาหะ กันมากจริงๆ
หลังจากนั้น พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสืออีกหลายเรื่องดังนี้
นิติสารสาธก
เป็นการกล่าวถึงแบบเรียนภาษาไทยของท่าน
ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ สังโยคพิธานแปล
เป็นหนังสือเกี่ยวกับคำพ้องรูป พ้องเสียง และอธิบายศัพท์
กลอนพิศาลการันต์
กล่าวถึงตัวการันต์
ปกีระณำพจนาดถ์
เป็นการอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องพ้องเสียง หรือพ้องรูป เขียนเป็นกลอนสุภาพเป็นข้อ ๆ ๑๐๑ บท เนื้อความไม่เรียงกัน
อนันตวิภาค
เป็นการอธิบายคำศัพท์ต่างๆ เช่นคำไทยแผลง คำเขมรแผลง คำชวา คำบาลีเทียบสันสกฤต และความหมาย นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายชื่อ วัน เดือน ปี เป็นภาษามคธ
หนังสือวรรณพฤติคำฉันท์
เป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบแผนคำประพันธ์ร้อยกรอง
พรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน
เป็นหนังสือรวบรวมชื่อพืช ชื่อสัตว์ ชนิดของมะม่วงและทุเรียน
(คำอธิบายโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ วิสุทธ์ บุษยกุล อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรมประเภทวรรณศิลป์สาขาตันติภาษา)
และท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ยังมีผลงานอื่นอีกเช่น
คำนมัสการคุณานุคุณ
มีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกในคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ เหล่าเทวา โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยตั้งอยู่ในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม)
วิธีสอนหนังสือไทย
มหาสุปัสสีชาดก
ฉันท์กล่อมช้าง
ฉันท์วิภาค
ร่ายนำโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ ๖๕ และ ๘๕
สยามสาธก วรรณสาทิศ
ฯลฯ
เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๓๐ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมศึกษาธิการ” โดยโอนโรงเรียนต่างๆ ที่เคยอยู่ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก และโรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ มีคำสั่งยกเลิกการใช้ “แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร โดยให้ใช้ “แบบเรียนเร็ว” ของกรมศึกษาธิการแทน โดยเพิ่มความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากวิชาภาษาไทย
(แก้ไข)
ในสมัยเด็กพวกเราต้องท่องบทอาขยานซึ่ง มีบทอาขยานจากผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อีกทั้งในวันไหว้ครูที่เหล่านักเรียนประกวดกันจัดพานดอกไม้ธูปเทียนสวยงามเพื่อแสดงสักการะคุณครูเราก็ใช้คำสวดสรรเสริญพระคุณครูของท่าน มาตั้งแต่เล็กแต่น้อยเริ่มเข้าโรงเรียน รวมทั้งบทสรรเสริญคุณพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ก็ล้วนเป็นผลงานของท่านทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีบทสรรเสริญคุณานุคุณอื่นที่เราไม่เคยรู้จักอีกหลายบท
จากหนังสือนิติสารสาธก เล่ม ๑
ซึ่งท่านแต่งขึ้นสอนเด็ก
อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์
มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน
ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน
อันความรู้รู้กระจ่างถึงอย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์
ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี
เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย
หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี
ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี
ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล
จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า
จะชักพายศลาภให้สาบสูญ
ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร
จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา ฯ
๔.คำนมัสการคุณานุคุณ
ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประกอบด้วย
คำนมัสการพระพุทธคุณ
คำนมัสการพระธรรมคุณ
คำนมัสการพระสังฆคุณ
คำนมัสการมาตาปิตุคุณ
คำนมัสการอาจริยคุณ
สำหรับบทนี้ทุกคนล้วนคุ้นเคยมาตลอดช่วงที่ยังเป็นนักเรียนกันอยู่ในวันพิเศษของนักเรียนทุกครั้งคือวันไหว้ครู
ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตตรา นุสสาสกา
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุณย์
โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชมฯ
ปญฺญา วุฑฺฒิ กเรเตเต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
คำนมัสการพระมหากษัตริย์
คำนมัสการเหล่าเทวา
แม้หนังสือเรียนของท่านถูกยกเลิกไป และผลงานอื่น ๆ ของท่านไม่เป็นที่แพร่หลายรู้จัก ต่อเมื่อมีการใช้คำนมัสการคุณานุคุณผลงานของท่าน ก็หวังว่าทุกท่านจะน้อมนำดวงจิตระลึกถึงพระคุณของ “ครูแห่งแผ่นดิน ครูผู้ให้” ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริพาหะ ท .จ , น.ช ., ภ. ม., ร.ด.ม., (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ และองคมนตรี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งช่วยกันเชิดชูเกียรติของท่านให้ขจรขจายไปชั่วกาลนาน
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น