ปกหน้าของหนังสือวันวานของบางกรูด
..คำนิยมจาก ครูสอิ้ง กานยะคามิน...
คุณอมร ตันสุตะพานิช (สงวนสัตย์) เจ้าของนามแฝง “พลอยโพยม” นี้ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดัดดรุณี จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่อยู่ในรุ่น “ยอดเยี่ยม ปี พ.ศ. 2512” คุณสมบัติประจำตัวของนักเรียนหญิงผู้นี้ เท่าที่ดิฉันจำได้ เธอเป็นเด็กเรียนเก่งและมีทักษะในการพินิจ พิจารณา วิเคราะห์เงื่อนไขสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด ลออ รวมทั้งยังมีฝีมือในการประดิษฐ์งานฝีมือเช่นดอกไม้คล้ายจริงต่าง ๆ เธอก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม ประณีตและงดงาม
ดิฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารกิจกรรม ของพุทธสมาคมจังหวัดฉะเชิงเทรา “พลอยโพยม” ได้มาเยี่ยมเยือนและปรึกษาหารือถึงการเขียนบทกวีอยู่หลายครั้ง และทุกครั้งที่เธอมานั้นมักจะนำเอาโภชนาการอาหารหวานคาวถือติดมือมาด้วยเสมอ เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพผู้ใหญ่แบบประเพณีไทยโบราณในการเข้าเยี่ยมคารวะครูบาอาจารย์ อันแสดงถึงความเคร่งครัดตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด การกระทำดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเธอคือลูกศิษย์ผู้มี “สมานัตตา” อย่างแท้จริง นั่นคือการเป็นผู้มีความสม่ำเสมอหรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา
บทกวีเรื่อง “วันวานของบางกรูด” ซึ่งประพันธ์โดย “พลอยโพยม” ด้วยการเรียงร้อยถ้อยกวีแบบกลอนสุภาพ บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบล บางกรูด ไว้มากกว่าสี่ร้อยบท แสดงให้เห็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ของลูกศิษย์ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ทำให้ดิฉันต้องกล่าวเช่นนี้ ก็เนื่องจาก บทประพันธ์ “วันวานของบางกรูด” เดิมนั้นได้ประพันธ์ไว้เพียงสั้น ๆ เท่านั้น และดิฉันได้เคยทำหนังสือไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือต้นฉบับ “วันวานของบางกรูด (เดิม)” นำเสนอให้กับคณะกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดเห็นความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ อีกทั้งเพื่อให้ชาวแปดริ้วได้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า เมืองแปดริ้วนี้ยังมีบุคคลที่มีความสามารถ และเดินตามรอยครูกวีเมื่อครั้งโบราณได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปราชญ์ท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งบรมครูกวี “สุนทรภู่” ผู้เป็นสุดยอดปราชญ์ด้านกลอนกวี อีกทั้งท่านยังเป็นกวีราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากได้ส่งต้นฉบับชุดเดิมไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว ปรากฏว่า “พลอยโพยม” ยังได้ประพันธ์เพิ่มขึ้นไปอีกหลายบท ด้วยการเก็บเอาเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ของชุมชนชาวบ้านริมแม่น้ำบางปะกงและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบตัวของเธอเองมาร้อยเรียงให้ได้อรรถรสและเนื้อหาที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จนอาจเรียกได้ว่าหนังสือบทกวี “วันวานของบางกรูด” เล่มนี้คือ “มุขยาภรณ์แห่งสายน้ำบางปะกง” ที่บรรเจิดบรรจงตกแต่งให้ รสกร่อยแห่งแม่น้ำบางปะกงที่ไหลขึ้นไหลลงอยู่ชั่วนาตาปีนั้น ได้ปรากฏแสงประกายระยิบระยับซึมแทรกอยู่ได้ตราบ นิจนิรันดร์ คงอยู่คู่กับจังหวัดฉะเชิงเทราตลอดกาลนาน
“...วรรณศิลป์ ถิ่นธรรม จำเรียงถ้อย
รวบรวมร้อย สร้อยความ งามเหมาะสม
กวีราษฎร์ ปราชญ์ศรี วจีคม
นามนิยม เลิศลอย “พลอยโพยม”...”
ครูสอิ้ง กานยะคามิน
...คำนิยม...จากร้อยตะวัน...
“...เจรียงถ้อย ร้อยความ ตามอักษร
ด้วยบทกลอน สอดสลับ ขับไขขาน
ร้อยเรียงเรื่อง บางกรูดชน คนวันวาน
กวีกาญจน์ สาส์นทรัพย์ นับนิรันดร์...”
...ความงดงามที่ปรากฏในหนังสือ “วันวานของบางกรูด” ซึ่งเขียนโดย “พลอยโพยม” เล่มนี้ อาจนับได้ว่าเป็นหนังสือบทกวีที่ทรงคุณค่ามหาศาลต่อประวัติศาสตร์จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องด้วย “บางกรูด” เป็นตำบลเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโพธิ์ หากแต่มีเรื่องราววิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี แบบโบราณมากมายของชาวลุ่มน้ำบางปะกง ปรากฏให้เห็นเป็นภาพสะท้อนถึงความ “กินดีอยู่ดีมีสุข” ของชาวบางกรูด รวมทั้งอัธยาศัยไมตรีอันดีพร้อมตามแบบของชนชาวไทย และยังคงดำรงไว้ตราบจนถึงปัจจุบัน...
บทกวีเชิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ ถือเป็นความชาญฉลาดในการเขียนบันทึก...ผ่านบทกลอนด้วยภาษาที่งดงามลึกซึ้ง เข้าใจง่าย อีกทั้งยังมีภาพประกอบที่วิจิตรตระการตาจากฝีมือการถ่ายภาพของ “เจ้าของหนังสือ” ปรากฏอยู่มากมาย ล้วนนำพาความรื่นรมย์มาให้กับผู้อ่าน ด้วยภาพวิวทิวทัศน์จากสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง และวิถีชีวิตของผู้คน “ชาวบางกรูด” ได้เป็นอย่างดี บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ มักจะปรากฏให้เห็นในรูปบทความ สารคดี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคก่อน หากแต่ “พลอยโพยม” มีความตั้งใจตั้งมั่น และใช้ความเพียรพยายามด้วยการเขียนบทกลอนเล่าเรื่องวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นของชาวบางกรูดไว้ทีละบท ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 10 ปี จนกระทั่งสำเร็จและกลายเป็นหนังสือบทกวีเชิงประวัติศาสตร์เรื่อง “วันวานของบางกรูด” ที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 2,000 ที่ทุกท่านควรเก็บไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังสืบไป...
…ร้อยตะวัน...
คำนิยมจาก อาณัติ บำรุงวงศ์
“วันวานของบางกรูด” เป็นหนังสือรวมบทกลอนกว่าสี่ร้อยบทที่ “พลอยโพยม” ได้เขียนสะสมไว้เป็นเวลานานกว่า 20 ปี เมื่อครั้งจากบ้านบางกรูด ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ หลังจากเกษียณตนเองจากภาระงาน “พลอยโพยม” ย้อนกลับมารวบรวมงานกลอนที่เขียนไว้ ปรับปรุงและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ภายในมีเนื้อหาผ่านความทรงจำของผู้เขียนที่สังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เป็นความช่างสังเกตและความประทับใจในวัยเยาว์ผ่านร้อยกรองกว่า 30 หัวเรื่อง
ตั้งแต่ชื่อสัตว์น้ำหลายประเภท ชื่อปลาชนิดต่าง ๆ การประมงสมัยก่อน บรรยากาศการเดินทางไปโรงเรียน ผ่านทุ่งนาพบเห็นการไถ หว่าน เก็บเกี่ยว นวดข้าว การเก็บข้าวตก การทำสวนปลูกพืชหลายชนิดเพื่อใช้ในครอบครัว การแปรรูปผลผลิตการเกษตรในสวน การทำหมากแห้ง มะขามเปียก แป้งเท้ายายม่อม ทอเสื่อ จักสานเครื่องใช้ไม้ไผ่ ทำกะปิ พันธุ์มะม่วงต่าง ๆ หลายชนิด ความสนุกสนานของบรรยากาศการวิ่งแข่งข้ามร่องสวนเพื่อเก็บมะม่วงในตอนเช้าและคราวมีลมพายุ การทำน้ำปลา กะปิ ขนม ปลูกผักสวนครัว การนึ่งและมูนข้าวเหนียว การทำน้ำตาลเมา งานเทศกาลกฐิน งานแห่หลวงพ่อพุทธโสธร วิธีการขอทานสมัยก่อน ตะเกียงให้แสงสว่าง การสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำวัน การละเล่นเด็กของไทยสมัยก่อน วรรณคดีทรงคุณค่าประจำบ้าน รามเกียรติ์ อิเหนา ที่ส่งเสริมจินตนาการให้ลูกหลาน
เมื่ออ่านจบแล้วทำให้ย้อนคิดถึงภาพในอดีตของปู่(ก๋ง)ย่า ตา(ก๋ง)ยาย ที่ประคับประคองชีวิต บำรุงผู้มีพระคุณ รักษาครอบครัว คบหาเพื่อนพ้อง ปกครองลูกหลาน ดูแลบริวารและทรัพย์สินให้ตกทอดมาจนถึงคนรุ่นหลัง ผ่านการเริ่มต้น ความเจริญ ความเสื่อมตามสัจธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ดร. นันทนา ชุติวงศ์ คนไทยซึ่งไปสร้างชื่อเสียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้กล่าวถึงบทสรุปภาพกว้างของอดีตจากประสบการณ์ศึกษาทางโบราณคดีทั้งชีวิตของท่านในวันแสดงมุทิตาจิตจากศิษย์ในเมืองไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังบวร(วังหน้า)ว่า
“ศาสนาส่งเสริมพุทธิปัญญาของชุมชน”
“ศาสนาอยู่ไม่ได้หากไม่มีกษัตริย์ส่งเสริม”
“อาณาจักรที่รุ่งเรือง จะต้องมีศาสนาที่ถูกต้อง และผู้ส่งเสริมควบคู่กันไป”
คำกล่าวนี้อาจใช้ได้กับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ประเทศชาติ ชุมชนขนาดใหญ่ชุมชนขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนย่อยของสังคมได้ ไม่ละเว้นแม้ชุมชนเล็กๆ เช่นบางกรูด
ในปัจจุบันมีการฟื้นฟูตลาดโบราณให้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตลาดดอนหวาย จังหวัดนครปฐม ตลาดโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตลาดเมืองแกลงจังหวัดระยอง ตลาดนครเนื่องเขต ตลาดคลองสวน ตลาดบางคล้า ตลาดบ้านใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ฯลฯหรือแม้กระทั่ง เพลินวาน หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลาดสร้างใหม่ตามรูปแบบดั้งเดิม การเยี่ยมชมตลาดโบราณดังกล่าวจะมีจินตนาการที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากท่านได้อ่าน “วันวานของบางกรูด”
...อาณัติ บำรุงวงศ์..
ปกหลังของหนังสือวันวานของบางกรูด
บทกวีแบ่งเป็น 6 หัวข้อเรื่องดังนี้
1. รำพึง....ถึงบางปะกง
เป็นบทกลอนที่บอกถึงวิถีชีวิตชาวน้ำในอดีต เริ่มต้นจากสภาพภูมิทัศน์ของแม่น้ำ บางปะกง ที่ดำรงอยู่คู่ชุมชนของชาวตำบลบางกรูดมาเนิ่นนาน วิถีชีวิตแรกเริ่มของวันใหม่ ด้วยการตื่นขึ้นมาเตรียมอาหารใส่บาตรพระทุกเช้า และการจัดการกิจการงานต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชน
วิถีชีวิตชาวน้ำของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ที่เปลี่ยนแปลงไปกับความทันสมัยทางเทคโนโลยี่ ระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากผู้คนที่ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ รักท้องถิ่นของตนเอง ไม่เพียงเฉพาะที่ตำบลบางกรูด แต่มาจากผู้คนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงตลอดแนวลำน้ำที่ยาวประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตร ซึ่งแม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน คนรุ่นใหม่เหล่านี้บางส่วนมาจากการโยกย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ของผู้คนต่างถิ่น ความเป็นไปของแม่น้ำบางปะกงจึงลับหายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่ายุคปู่ ย่า ตา ยาย ของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง
2.หลงทิว.... ทุ่งตระการ
เป็นภาพที่พบเห็นจากท้องทุ่งนา คือวิธีการทำนาในสมัยก่อน เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝน การใช้ควายไถนา คราดนา การหว่านข้าว วิถีชุมชนที่พึ่งพาอาศัยร่วมแรงร่วมใจใช้แรงงานของตนลงแขกซึ่งกันและกันระหว่างครอบครัวชาวนาเพื่อการถอนกล้าข้าว การดำนา และจะมีการลงแขกอีกครั้งในการเกี่ยวข้าว ภาพของความงดงามน่าประทับใจของทุ่งนาที่สอดแซมด้วยต้นข้าว ต้นโสน แมลงต่าง ๆ ปูและฝูงปลาในนาข้าว ก้อนเมฆที่ประดับท้องฟ้าสีครามที่โอบล้อมท้องทุ่งเขียวขจี
ธรรมชาติของต้นข้าวที่มีรวงและเมล็ดข้าวมากจะเริ่มโอนเอนและล้มตัวลง ชาวนาจะใช้วิธีการนาบข้าว ด้วยไม้ไผ่ลำยาวเป็นอุปกรณ์เพื่อให้ต้นข้าวล้มลงลงอย่างเป็นระเบียบเพื่อความสะดวกในการเกี่ยวข้าว
ต้นข้าวที่น้อมรวงลงนี้มักถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบความเป็นคนดีที่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น ต้นข้าวที่มีรวงแล้วชูรวงข้าวตระหง่านเพราะเมล็ดข้าวฟีบและมีรวงน้อย เปรียบดังผู้คนที่หยิ่งผยองจองหอง และเมื่อข้าวสุกดีแล้วชาวนาก็เก็บเกี่ยวข้าวขึ้นลาน
3.บ้านสวน.... หวนคะนึง
เป็นวิถีชีวิตของชาวสวนทั่วไปที่มีการใช้ภูมิปัญญาหลายด้านเพื่อการดำรงชีพ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ งานหัตถกรรมที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น มีประจำแทบทุกครัวเรือน เช่น งานจักสาน เย็บตับจาก ทอเสื่อ ยังมีการย้อมแหและสวิงให้ทนทานด้วยผลตะโกดิบ การแปรรูปผลิตผลสัตว์น้ำ เช่น การทำกะปิจากเคย การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในสวน
ภาพความสนุกสนานของเด็กชาวสวนในการแข่งกันเก็บมะม่วงร่วงทั้งในเวลามีลมพายุ ซึ่งจะมีทั้งมะม่วงดิบหรือใกล้สุก ส่วนในตอนเช้ามืดจะเป็นมะม่วงสุกร่วงเองหรือมะม่วงที่ถูกค้างคาวจิกกิน อีกทั้งมีชื่อของพันธุ์มะม่วงในสมัยโบราณ
ภายในหนังสืจะมีรูปภาพประกอบบทกวีเป็นระยะ ๆ ลักษณะการวางภาพเป็นรูปอยู่ด้านซ้ายมือของหนังสือ
4. ซาบซึ้ง..ซึ่งงานบุญ
การไปทำบุญวันพระที่วัดในสมัยก่อนผู้ใหญ่ในบ้านจะพาลูกหลานไปทำบุญ นอกจากวัดของชุมชนจะเป็นสถานที่ปลูกฝังความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการสะสมผลบุญไว้แล้ว วัดยังเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับผู้ที่เข้ามาแสวงบุญ ผู้ที่จะไปทำบุญจะเตรียมหาเสื้อผ้าที่สวยงามไว้แต่งกายพร้อมเครื่องประดับอย่างพิถีพิถัน เป็นการให้ความสำคัญต่อการไปทำบุญที่วัด อาหารคาวหวานจัดใส่ภาชนะที่สวยงามเรียงในถาด ข้าวสุกใส่ในขันเงินใบใหญ่ บ่งบอกความประณีตในจิตใจของผู้ที่จะไปทำบุญ
นอกจากนี้บทกลอนยังบอกเล่าถึงรายละเอียดของพิธีการทำบุญวันพระที่วัดบางกรูดทุกขั้นตอนจนกลับบ้าน ในวันโกนก่อนวันพระสำคัญบรรดาลูกหลานที่จากบ้านไปทำงานที่อื่นจะเดินทางกลับมาเพื่อร่วมงานบุญกับครอบครัวของตนเอง และงานบุญสำคัญที่มีรายละเอียดแตกต่างกันเช่น งานบุญสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา
ที่ฉะเชิงเทรายังมีเทศกาลงานบุญแห่หลวงพ่อพระพุทธโสธร ซึ่งมีทั้งการแห่ทางบกและทางน้ำ ในเดือนสิบสองซึ่งถือเป็นงานประจำปีของจังหวัด เป็นความร่วมแรงร่วมใจของทุกส่วนภาคของจังหวัด ซึ่งสะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาความผูกพันที่ชาวแปดริ้วมีต่อองค์หลวงพ่อ วัดและชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำจะจัดงานเตรียมการต้อนรับหลวงพ่อ ในตอนกลางคืนก่อนวันที่หลวงพ่อจะแห่ทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการตักน้ำมนต์กลางแม่น้ำในวันเพ็ญเดือนสิบสองของคนโบราณ
การขอทานในสมัยก่อนมีการพายเรือขอทาน และไม่ขอเปล่า เป็นการขอทานที่ให้เสียงเพลง และบทร้องให้พรเป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทน เป็นความเอื้อเฟื้อแบ่งปันของผู้ให้และผู้รับ ทั้งยังสื่อถึงการที่ผู้ใหญ่ภายในบ้านควรชักนำบุตรหลานให้มีการสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำวัน การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้เด็กภายในบ้านซึ่งหากมีสมาชิกเด็กมาก ก็ควรมีการจัดเวรให้ชัดเจน เป็นการสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และภาพการใช้ ตะเกียงให้แสงสว่างในสมัยก่อนซึ่งมีตะเกียงหลายชนิด
5. การเล่น ... รุ่นโบราณ
สื่อถึงการละเล่นของเด็กไทยในยุคโบราณเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างเด็กด้วยกัน ในบางครั้งยังสามารถเล่นข้ามวัย บางการละเล่นสามารถเป็นกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่วัย ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกและหลานได้ เช่น การเล่นอีตัก การเล่นจ้ำจี้ เป็นต้น การละเล่นเป็นการส่งเสริมการสร้างจินตนาการเช่นเล่นขายของด้วยของสมมติ หรือของจริง ส่งเสริมการเรียนรู้เช่น การขับร้องเพลงการละเล่น การตั้งกติกาการเล่นต่างๆ บางการละเล่นเป็นการส่งเสริมพัฒนาการออกกำลังกายไปในตัว เช่น เสือข้ามห้วย ตี่จับ วิ่งเปี้ยว กระโดดเชือก บางการละเล่น ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แบ่งปันกัน ร่วมมือกัน เป็นการเสริมสร้างการฝึกทักษะในหลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญคือความสนุกสนาน อารมณ์ที่เบิกบานแจ่มใสของเด็ก ๆ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักการแพ้ ชนะ จากการเล่นเหล่านี้
แต่ทั้งนี้มีการละเล่นหลายอย่างที่สูญหายไป ทำให้เด็กยุคใหม่ไม่รู้จัก เช่น เสือกะลา ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของเด็กบางกรูดที่นำการละเล่นซ่อนหาและอีกาฟักไข่มาประยุกต์รวมไว้ด้วยกัน บทกลอนใช้ถ้อยคำที่สื่อให้เห็นภาพการเล่นอย่างชัดเจน
6. จรดจาร... ในความจำ
เป็นการบอกเล่าถึงภูมิปัญญาที่เกิดจากการสังเกตครรลองของธรรมชาติและนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วยความรักใคร่สามัคคีในชุมชน ความเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำในชุมชน ทำให้คลองหนองบัวไม่ต้องรอเรือขุดจากส่วนราชการก็สามารถนำเลนออกจากลำคลองได้ แต่เมื่อระบบนิเวศวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป ภูมิปัญญาที่เคยใช้ได้ก็ต้องละเลิกไป ทำให้สิ่งที่ดีงาม งดงาม น่าประทับใจกับเรื่องราวในอดีตของชุมชน พลอยสูญหายไปกับกาลเวลา
การอ่านวรรณคดีที่ทรงคุณค่า นับเป็นปลูกฝัง เด็กและเยาวชนให้รักการอ่าน รักการประพันธ์และส่งเสริมจินตนาการให้เด็ก การอ่านวรรณคดีนี้จะเป็นต้นแบบพื้นฐานที่จะดำรงรักษาและสืบสานงานด้านวรรณศิลป์ให้เป็นมรดกไทยสืบต่อไป
และมีภาคผนวก หร้อมภาพประกอบท้ายเล่มคือ
จุลกฐิน ประวัติหลวงพ่อโสธร งานแห่หลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทราอัญมณีแห่งลุ่มน้ำบางปะกง รายฃื่อผลไม้ ปลาและเรือที่ปรากฎในบทกวี หมายเหตุ
รูปลักษณ์ภายในของหนังสือ (ขออภัยที่ scan ภาพมาไม่ชัดนัก)
สถานที่จำหน่ายหนังสือวันวานของบางกรูด ราคาเล่มละ 270 บาท ภายในพิมพ์สี่สี
.วันวานของบางกรูด
www.naiin.com/.../ProductDetail.aspx?sku=BK20602830130090... - แคช
ร้านนายอินทร์ : Naiin.com ร้านหนังสือในบ้านคุณ ช็อปหนังสือได้หลากหลายกว่าใคร ทั้งนิยายไทย นิยายแปล วรรณกรรรมเยาวชน เรื่องสั้นของสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ อาทิ ..
วันวานของบางกรูด โดย พลอยโพยม - ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.chulabook.com/description.asp?barcode=9789747193220 - แคช
อ่านรายละเอียด วันวานของบางกรูด โดย พลอยโพยม สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.chulabook.com หรือสั่งซื้อผ่าน Call Center โทร.0-2255-443.
วันวานของบางกรูด โดย พลอยโพยม - Se-Ed
www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No... - แคช
วันวานของบางกรูด:บทกวี วิถีชาวบ้านแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง.
วันวานของบางกรูด - Dokya USA ร้านหนังสือดอกหญ้า USA
dokyausa.com/oscom/product_info.php?products_id=30419 - แคช
2 ก.ย. 2011 – วันวานของบางกรูด - Add to del.icio.us • วันวานของบางกรูด - Add to Digg •วันวานของบางกรูด - Add to Yahoo myWeb • วันวานของบางกรูด - Add to Spurl ...
มีหลายท่านท้วงติงกับชื่อของหนังสือว่าเป็นวงแคบเป็นเรื่องราวของชาวบางกรูดชุมชนที่ไม่มีผุู้คนภายนอกรู้จัก หากความจริงแล้วเรื่องราวภายในเป็นเรื่องวิถึไทยในชนบทโดยทั่วไป ชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ ก็เป็นวิถีที่คล้ายคลึงกันของลุ่มน้ำอื่น ๆ ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มแม่น้ำน้อย ลุ่มน้ำท่าจีน หรือลุ่มน้ำอื่น ๆ การทำสวน ก็เหมือนสวน นนทบุรี สวนบางขุนเทียนในอดีต สวนที่ปทุมธานี และสวนจังหวัดอื่น ๆ การทำนาก็เช่นกัน ที่จะมีแตกต่างคือรายละเอียดปลีกย่่อย เช่นงานแห่หลวงพ่อโสธร การละเล่นบางอย่าง และบทสุดท้าย จรดจารในความจำ บางกรูด เป็นเพียงจุดบอกเล่าเหตุการณ์วิถีไทยในอดีต ซึ่งบางส่วนยังคงมีอยู่ บางส่วนเลือนลับหาย ไปแล้ว และประการสุดท้าย พลอยโพยมก็รักท้องถิ่นต้องการเชิดชูท้องถิ่นบางกรูดให้ผู้คนรู้จักด้วยนั่นเอง เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักชุมชนเล็ก ๆ ที่มีเรื่องราววิถีไทยมากมายที่น่าภาคภูมิใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น