วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ในวารี....มากมีเภตรา

ในวารี....มากมีเภตรา



เรือโดยสารขนาดเล็ก

เรือโดยสารของตำบลอื่น ที่อยู่ ใกล้ ๆ ตัวจังหวัด ที่ตำบลบางกรูดไม่ใช้เรือโดยสารลักษณะนี้
บางครั้งใช้เป็นเรือโยง เรือขบวนเล็ก ๆ เช่นขบวนเรือพายม้า บรรทุกของไปที่ใกล้ ๆ ระหว่างตำบลต่อตำบล
ปัจจุบันยังมีเรือลักษณะนี้ให้พบเห็นได้ประปรายในสายน้ำบางปะกง





เรือเมล์โดยสาร
สำหรับรับส่งนักเรียน เป็นเรือโดยสารลำเล็ก ของตำบลบางกรูด ส่วนใหญ่สำหรับรับส่งนักเรียนโรงเรียนวัดผาณิตาราม
(ภาพนี้ที่ท่าน้ำวัดผาณิตาราม)

มีเรือโดยสารอีกลำลำใหญ่กว่านี้มาก รูปร่างคล้ายกันชื่อเรือผดุง มีนายท้ายเรือชื่อนายท้ายแจ่ม เป็นเรือล่องเข้าตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา วันละสี่รอบ (รวม ไป กลับ)โดยเฉพาะเที่ยวเช้ารอบแรกคือรอบที่นักเรียนที่เข้าไปเรียนในตัวจังหวัดนั่งไปโรงเรียน รวมถึงคนที่ต้องเข้าไปทำงานในตัวจังหวัด ถือเป็นผู้โดยสารขาประจำ ส่วนคนที่ไปทำกิจธุระอื่น ๆ เป็นลูกค้าขาจร ส่วนใหญ่เที่ยวเข้า และเที่ยวล่องกลับเที่ยวสุดท้าย คือพานักเรียนและคนทำงานไปโรงเรียนไปทำงาน และกลับคืนสู่บ้านเรือนในตอนเย็น ส่วนอีก 2 เที่ยว คือเที่ยวล่องกลับก่อนกลางวัน และเที่ยวบ่าย เป็นรอบล่องขึ้นของคนปกติทั้วไป เรือจะมีสัญญาณ ปู้น ๆ เป็นระยะ ๆ บอกให้รู้ว่าเรือกำลังมาใกล้ ๆ ผู้คนจะได้ออกไปยืนโบกเรือให้เข้ามาจอดรับที่ท่าน้ำตามบ้านเรือนและท่าน้ำวัดริมแม่น้ำ
เวลาการออกจากท่าเรือของเรือผดุง เป็นเวลาที่แน่นอน ในตัวจังหวัดเรือผดุงจะจอดที่ท่าเมล์เขียว ซึ่งอยู่ติดกรมเจ้าท่าของจังหวัด ส่วนเรือที่มาจากอำเภอบางคล้าหรือที่อื่น ๆ จะจอดที่ีท่าเรือ ท่าเมล์แดง

นักเรียนที่นั่งเรือโดยสาร ผดุง จะนั่งกันคนละ หลาย ๆ ปี กว่าจะเรียนจบชั้นเรียนที่มีในจังหวัด แล้วจึงแยกย้ายไปเรียนต่อที่อื่นกัน
เจ้าของเรือเป็นเขยบ้านหัวแหลมตระกูลวัฒนสินธุ์ ดังนั้นที่บ้านหัวแหลมจึงคึกคัก มีทั้งโรงสี โรงเลื่อย และเป็นอู่จอดเรือโดยสารสองลำนี้

นายท้ายแจ่ม จะบังคับพวงมาลัยเรือที่หัวเรือ ส่วนตัวเครื่องของเรือ อยู่ค่อนไปทางท้าย เวลาจะติดเครื่องออกเรือ ต้องมีคันหมุนที่ตัวเครื่อง ต้องหมุนเร็ว ๆ ต้องใช้กำลังข้อมือจนเครื่องติดทำงานได้ คนที่นั่งใกล้เครื่องจะพูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะเสียงเครื่องเรือดังมาก ที่นั่งคนโดยสารเป็นไม้ตีเป็น แถว ๆ ขวางลำเรือ นั่งได้ประมาณแถวละสิบคนหรือใกล้เคียงบวกลบ มีไม้แถวประมาณ สิบแถวบวกลบ ที่นั้งจะสั้นยาวตามลักษณะลำเรือ โดย 2-3 แถวกลางลำเรือจะแถวยาวกว่าเพื่อนตามความป่องของกลางลำเรือนั่นเอง ส่วนหัวและท้าย แถวที่นั่งจะสั้นลง การนั่งนั้นนั่งห้อยเท้าได้สบาย ๆ หากที่นั่งไม้เป็นแถว ๆ เต็ม ผู้ชายจะนั่งที่กราบเรือก็ได้ รอบกราบเรือทีทางสำหรับเดินรอบเรือได้ ก็ใช้ทางเดินนี้เป็นที่วางเท้า ส่วนก้นก็นั่งที่กราบเรือนั่นเอง

เวลาที่คลื่นในแม่น้ำแรง ๆ เวลาวิ่งเรือตัดข้ามฝั่ง นายท้ายแจ่มจะตัดหัวเรือเฉียง ๆ ไม่ประจันหน้าโต้คลื่น ( คลื่นมักมีรอบบ่าย ๆ ) แต้กระนั้นจะเห็นน้ำแตกกระจายที่หัวเรือเลยทีเดียว

นายท้ายแจ่ม ก็ลาลับไปกับวันวาน พร้อมเรือสองลำนี้ ที่ทายาทไม่ได้สนใจ ปล่อยให้ผุพังจมโคลนไปในที่สุด หลังจากที่เลิกกิจการการเดินเรือโดยสาร เพราะมีถนนหนทางและรถราเข้ามาแทนที่

สีสันแห่งลำน้ำบางปะกง ก็ลอยลับเลือนหายเหมือนสายน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ไปแล้วไปลับ ไม่หวนคืนกลับมา ตามวันคืนที่ไม่อาจหวนคืนมาได้ ฉันใด ฉันนั้น




เรือกระแชง(ลำเล็ก)ที่เคยสัญจรในแม่น้ำบางปะกงในอดีต

เรือกระแซง เป็นเรือต่อทำจากไม้สัก ท้องเรือโค้งกลมมีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง มีทวนหัวและทวนท้ายแบนเรียบ กงเรือเป็นไม้โค้งตามท้องเรือและวางเรียงกันถี่มาก ข้างเรือเป็นแผ่นไม้หนายึดเหนี่ยวด้วยลูกประสัก (สลัก) ที่ทำจากไม้แสมเหลากลม ด้านนอก โตกว่าด้านใน ส่วนปลายลูกประสักด้านในผ่ากราดด้วยลิ่มกันลื่นออก บนดาดฟ้าทำประทุนครอบเรือ (หลังคา) และมีฝาไม้ปิดด้านหน้าและด้านหลัง

กระแซง เป็นการเรียกเรือต่อ ที่ทำหลังคาด้วยกระแซง คลุมตลอดลำ กระแซงคือ เครื่องบังแดดบังฝนทำจาก ใบเตย ใบจาก มาเย็บเป็นแผงสมัยก่อนทำจากใบไผ่ เบากว่าที่ทำจากใบจากและกันความร้อนได้ดี กระแซงแบบนี้ คนจีนมักจะทำขาย ต่อมาราคาแพง คนจึงหันมาใช้สังกะสี แทน ทำให้กระแซงใบไผ่หายไป

เรือกระแชงเคยเป็นเจ้าแห่งลำน้ำ เพราะลำใหญ่ และส่วนมากจะมาเป็นขบวน ขบวนละหลายลำโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรทุกข้าวเปลือก ในอดีตความยิ่งใหญ่ของขบวนเรือกระแชง ยิ่งใหญ่กว่ารถพ่วงบนท้องถนนในปัจจุบันมาก ต้องเรียกว่าอภิมหาเจ้าลำน้ำ เรือกระแชงที่ลำใหญ่ ๆ นั้น ใหญ่โตมากจริง ๆ ไม่ว่าใครอยู่ในเรือลำใด เห็นอภิมหาเจ้าลำน้ำมา ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวหลีกทางกันทุกคน ไม่มีใครกล้าลัดตัดหน้าแน่นอน

ที่บางกรูดจะมีขบวนเรือเหล่านี้ ทั้งล่องขึ้นล่องลงเป็น กิจวัตรประจำวัน บางวันก็หลายขบวน รวมทั้งขบวนเรือเอี้ยมจุ้๊น ขบวนเรือเล็กของเรือพายม้า (เมื่อเทียบกับเรือเอี้ยมจุ๊น และเรือกระแชง)
และเรือกระแชงนี้ยังเป็นเรือที่พ่อค้าแม่ค้าจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น เช่นปทุมธานี นำสินค้ามาขายเพราะบรรทุกสินค้าได้มากและเป็นที่พักอาศัยท้ายเรือได้สบาย ๆ แต่เรือขายสินค้าเหล่านี้ มาเดี่ยว โดดโดดไม่เป็นขบวนเรือ

บางลำก็ติดเครื่องที่ท้ายเรือ บางลำก็แจวมา อย่างลุง ป้าชาวมอญ บรรทุกโอ่งไห หม้อดิน ตุ่มน้ำ (พวกเครื่องปั้นดินเผากระจุกกระจิกด้วย) โดยแจวมาจากเมืองปทุมธานี ลัดเลาะมาเมืองฉะเชิงเทรา ลุงกับป้าสองคน แจวหัวเรือ ท้ายเรือ มักมาจอดพักค้างคืนที่หน้าบ้านของพลอยโพยม ทุกปี ปีละครั้ง เป็นประจำ

แม้แต่งานแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในอดีตก็นิมนต์องค์จำลองของหลวงพ่อลงเรือกระแชงล่องไปตามลำน้ำ มีการประโคมดนตรี ในลำเรือตลอดทาง เรือหลวงพ่อไปจอดแวะ ณ ท่าน้ำวัดต่าง ๆ ที่กำหนดอยู่ในเส้นทางมาเนิ่นนาน.........





เรือกระแชงที่นำมาดัดแปลงเป็นเรือนำเที่ยว ลำนี้เป็นลำขนาดใหญ่





เรือกระแชงขึ้นบกที่นำมาดัดแปลงเป็นบ้าน






เรือกระแชงที่นำมาดัดแปลงเป็นบ้าน


ซื้อหาพามาจากจังหวัดอยุธยา โดยมาทางบกซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากในปัจจุบัน สนนราคาของเรือราคาสองแสนกว่าบาท
ที่จังหวัดเพชรบุรีเคยมีร้านอาหารที่ตั้งบนเรือกระแชงเช่นกันที่แถบหาดเจ้าสำราญเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่หรือไม่



เรือแจว สี่หลักแจว ของเรือพายม้า


เรือแจวคือเรือที่ใช้อุปกรณ์การแจว แทนการใช้ไม้พาย พายเรือ การแจวเรือต้องยืนแจวดังนั้นเรือที่จะตั้งหลักแจวได้จะต้องมีลำขนาดใหญ่พอที่จะยืนแจวเรือได้ เรือแจวจึงมีเรือหลายชนิด เช่น เรือมาด ลำใหญ่สำหรับแจว เรือพายม้า เรือชะล่า แม้แต่เรือผีหลอกก็สามารถตั้งหลักแจวได้






เรือแจว




เรือแจว




 เรือฉลอม


เรือฉลอม เป็นเรือต่อชนิดท้องกลมเล็กกว่าเอี้ยมจุ๊นมีกระดูกงูและกง พื้นหัวและส่วนท้ายสูงเกือบเสมอปากเรือพื้นกลางลดระดับเป็นระวางบรรทุกสินค้าปกติใช้เรือใบมีเสากระโดงเรือประจำเรือ หางเสือแบบเดียวกับเรือเอี้ยมจุ๊น นิยมใช้ตามหัวเมืองแถวปากน้ำติดกับทะเลและลึกเข้ามาก็มี มีทั้งใช้จับปลาและใช้บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องบริโภค เช่นน้ำปลา ปลาเค็ม อาหารทะเลอื่นๆ ทั้งสดและแห้ง

สมัยโบราณเวลาเกิดศึกสงครามก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้ในราชการทัพด้วย และนับเป็นเรือชนิดแรกของไทยที่สามารถกางใบแล้ววิ่งทวนลม (วิ่งก้าว) ได้ เรือฉลอม เป็นเรือขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถ้าเป็นขนาดกลางใช้ใบเดียว ถ้าเป็นขนาดใหญ่ใช้ ๒ ใบ เสากระโดงเรือใหญ่เอนไปข้างท้ายเรือเล็กน้อย มีหางเสือ ๒ อัน ห้อยลงสองข้างท้ายเรือ เวลามีคลื่นลมแรงจะใช้หางเสือทั้งสองอัน ถ้าคลื่นลมสงบ ใช้หางเสือเดียว เพราะสามารถหย่อนลงไปได้ลึกและยังถ่วงมิให้เรือโคลงไปตามลม ใบหางเสือเรืออีกอันที่เหลืออาจถอดตั้งไว้ท้ายเรือ โดยเอาใบหางเสือขึ้นทำเป็นใบเรือได้อีกด้วย เพื่อให้หัวเรือหันสู้ลม เรือจะได้ไม่ส่ายไปมา

เรือฉลอมจะพบเห็นที่ลำน้ำแถบอำเภอบางปะกงมาก ส่วนที่จะเลยขึ้นมาทางบางกรูด ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน นำผลิตผลที่จับได้ล่องขึ้นมาขาย ส่วนมากที่ขึ้นมาบ่อยที่สุดคือเรือฉลอมขายหอยแมลงภู่ ขายกันเป็นถัง ๆ ( ถังตวงข้าว) ราคาหอยแมลงภู่ถังละ 50 สตางค์ ต่อมาก็เป็นถังละ 1 บาท พอพลอยโพยมไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ฯ กลับมาอยู่บ้าน ก็ไม่พบเห็นเรือฉลอมขายหอยอีกเลย จนย้ายบ้านจากตำบลบางกรูด ไปเป็นคนบางอื่น....


เรือฉลอมท้ายญวน


เรือฉลอมท้ายญวน คือเรือฉลอมที่มีบ้านอยู่ท้ายเรือ แต่แม่ละม่อมชอบเรียกสั้น ๆ ว่าเรือท้ายญวน





เรือชะล่า


เรือชะล่า นับว่าเป็นต้นแบบของเรือขุดทั้งหลายที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ทำให้เป็นรูปเรือ โดยไม่ต้องเปิดปากเรือให้กว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของลำเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ ไม่มีการตกแต่งมากเพียงแต่ปาดหัวปาดท้ายเรือไม่ให้ต้านน้ำมากเท่านั้น ส่วนบนของหัวท้ายเรือจะแบนเชิดขึ้นเล็กน้อยพอสวยงาม หากมีขนาดใหญ่มากจะใส่กงเรือ บางลำใช้แจวท้ายเรือ บางลำใช้ถ่อ แต่ยืนถ่อได้เฉพาะตอนหัวและท้ายเรือเท่านั้น เพราะในตัวลำเรือไม่มีที่เดิน เป็นเรือที่ใช้บรรทุกข้าวเปลือกตามคลองตื้นๆ แคบๆ ลำเลียงเข้าบ้านหรือไปโรงสี เพราะท้องเรือแห้งสนิท ข้าวเปลือกไม่เปียกน้ำ และสามารถบรรทุกได้มาก





เรือชะล่าของกำนันสนั่น กัญจนา กำนันตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ปัจจุบัน ลูกหลานของกำนันสนั่น ได้สร้าง เรือนลำพูรีสอร์ต ให้คนเข้ามาพัก มีหิ่งห้อยให้ชมยามค่ำคืนในบางช่วง เรือชะล่าก็จอดทิ้งไว้ดังภาพ แต่พลอยโพยมเห็นใน face book ว่าคุณไกวัล กัญจนา หลานกำนันสนั่น กัญจนา กำลังเอาขึ้นบก และกำลังซ่อมแซมอยู่ในขณะนี้ ( จ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู)







เรือชะล่า

เป็นเรือลำโตมากทั้งใหญ่ ยาว และเนื้อไม้หนามาก ซึ่งคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ( โคว้โต้หมง ) บริจาคให้วัดบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับบ้านบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว บ้านของคุณประสิทธิ์
ที่วัดบางแตนได้รับบริจาคมาสองลำ พร้อมสิ่งของอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่นเครื่องสีฝัด (ข้าว) และอื่น ๆ และวัดได้ตัดแปลงทำหลังคาเรือ เพื่อจัดวางและแขวนสิ่งของใช้ต่าง ๆ ในอดีตของบ้านเรือนคนไทยที่ใช้กันประจำวัน





เรือหางยาวที่มีรูปทรงเป็นเรือชะล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น