วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] งานบุญวัดผา คราเพ็ญเดือนสาม







การหยอดทองหยอดโดยใช้อุปกรณ์ช่วย



ทองหยอด



ขนมหม้อแกง



ขนมหม้อแกง



อบขนมหม้อแกง



ทดสอบสีขนมชั้น



ชั้นที่ 1 ของขนมชั้น












ขยมที่จัดตามรายการสั่งจองล่วงหน้า

เพ็ญเดือนสามของทุกปี ที่ตำบลบางกรูด มีงานประจำปีของวัดผาณิตาราม แม้ในบางปีจะมีเดือนแปดสองครั้ง ก็จะยึดวันเวลาตามนี้
งานประจำปีก็มีลักษณะแบบงานวัดทั่วไป และปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาโดยเฉพาะมหรสพของงาน

มหรสพ คือ การแสดงที่จะต้องขออนุญาตจากฝ่ายบ้านเมืองก่อนจัดแสดง ซึ่งกำหนดเป็นพระราชบัญญัติไว้หลายอย่างคือ ละครไทย ละครชาตรี ละครแขก งิ้ว หุ่นไทย หุ่นจีน หุ่นต่างๆ หนังไทย หนังตะลุง หนังแขก หนังจีน หนังต่างๆ เพลงสักวา เสภา ลิเก กลองยาว ลาวแพน มอญรำ ทวายรำ พิณพาทย์ มโหรี กลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด

โดยทั่วไป มหรสพ หมายถึง การแสดง หรือ การละเล่น ที่ก่อให้เกิดความสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ รวมไปถึงการแสดงอื่น ๆ ที่เป็นศิลปะประจำถิ่น มีลักษณะรูปแบบคล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน ตามลักษณะนิสัยของผู้คน ภูมิประเทศ และวิถีการดำรงชีวิต ตลอดจน การรับแบบแผนจากท้องถิ่นอื่น มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้ผสานกลมกลืนกับ รูปแบบดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น

มหรสพถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ซึ่งในปัจจุบัน กำลังหมดบทบาทหน้าที่ และ ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมท้องถิ่น

เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากมหรสพไทย อันเคยมีมานับแต่อดีตกาล กำลังให้สูญหายไปหลายอย่าง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ ไม่นิยม ไม่ชื่นชมยินดี

การละเล่นแบบโบราณ เช่น หนังตะลุง ลำตัด ลิเก โขน หนังกลางแปลง แทบไม่มีผู้คนชมการแสดงเหล่านี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคที่พลอยโพยม ยังเด็ก ๆ แล้ว หน้าเวที ของลำตัด หนังตะลุง แทบไม่มีคนดู จะมีผู้สูงวัยไม่กี่คน และงานวัดก็ต้องตัดรายการนี้ออกไป มาปัจจุบัน ทั้งโขน ลิเก หนังกลางแปลง ก็ ไม่เป็นที่นิยม คนดูชมการแสดงน้อยมาก หากไม่มีวงดนตรี หรือเวทีมวย งานก็จะกร่อยเกือบจืดสนิทกันเลย

แต่มีกิจกรรมหนึ่งของงานประจำปีวัดผาณิตาราม ที่คึกคัก และต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมงานหลายวัน คือกิจกรรมทำขนมหวานขายให้วัด
แต่เดิมนั้น พี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ เจ้าของขนมหวานและกระยาสารทต้องใจเป็นแม่งาน ซึ่งจะมีผู้คนชาวบางกรูดชาววัดผามาช่วยงานกันเป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการตั้งโรงครัวอาหารคาวด้วย แต่เดิมนั้น พี่ทัย ก็จะควบคุมงานทั้งอาหารหวานและอาหารคาว
โชคดีที่ พี่ทัย มีบุตรสาวลูกหลงคนสุดท้อง คือ คุณต้องใจ ขวัญใจพานิช (สรรพ์พิบูลย์) สืบทอดงานขนมหวานให้สำหรับงานวัดผาณิตาราม
เมื่อคุณต้องใจ เลิกกิจการทำขนมต้องใจขายเพราะไม่มีเวลาควบคุมงาน แต่คุณต้องใจยังรับสืบทอดการทำขนมหวานให้สำหรับงานประจำปีของวัดผาณิตาราม เพียงปีละ 1 ครั้ง
พลอยโพยมก็ไปช่วยงานแบบจิตอาสา มาตั้งแต่วันที่ 4 -5 โดยที่งานวันจริงคือวัน ที่ 6-7 กุมภาพันธ์
ในวันที่ 4-5 ก็เป็นการตระเตรียมงาน เช่น เตรียม อุปกรณ์ ส่วนผสมต่าง ๆ แบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ เตรียมแป้งทำขนม น้ำตาลปี๊บ ที่นำมาเข้าเครื่องให้แปรเป็นน้ำตาลเหลวเพื่อให้สะดวกใช้งานได้เลย น้ำตาลทรายเคี่่ยวน้ำเชื่อมเตรียมไว้ ล้างไข่ ล้างใบเตยหอม มะพร้าวคั้นกะทิ กวนถั่วเขียวสำหรับทำเม็ดขนุน คั้นใบเตยทำขนมชั้น ปั้นเม็ดขนุน

ในวันที่ 4-5 มีการกวนขนมหัวผักกาด วันละ 6 กระทะ ขายหมดในวัน พอถึงวันงานที่ 6 กุมภาพันธ์ ขนมหัวผักกาด ก็หมดก่อนการกวนเสร็จ รายการสั่งซื้อขนมหัวผักกาด ในวันรุ่งขึ้น 7 กุมภาพันธ์ ของหมดตั้งแต่กลางวันของวันที่ 6 กุมภาพันธ์แล้ว
สรุปว่าขนมหัวผักกาด 24 กระทะ หมดไม่มีขายตั้งแต่กลางวัน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก่อนวันกวนขนมจริง

พลอยโพยมขอประชาสัมพันธ์ ว่า หากใครสนใจอยากลิ้มลองขนมหัวผักกาดแสนอร่อยนี้ ต้องรอปีหน้าเสียแล้ว แต่ขนมอื่นยังมี คือ ฝอยทอง เม็ดขนุน ทองหยอด ทองหยิบ ขนมชั้น ขนมหม้อแกง สังขยา

ขนมหวานนี้ขายดิบขายดี แม้จะราคาแพงกว่าในท้องตลาด ขายเป็นกล่อง ๆ ละ 40 บาท รายได้จากการขายขนมเข้าวัดทั้งหมด
ขนมหวานเหล่านี้ หากไม่พูดถึงรสชาติ ว่าถ้าไม่อร่อยเลิศรสจริง ๆ คงไม่ขายดิบขายดีแบบคนซื้อไม่เสียดายว่ากินของแพงแล้ว พลอยโพยมอยากบอกว่า หากคำนึงความพิถีพิถันชองขั้นตอนการทำขนม ความสะอาด ความประณีต บวกด้วยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของผู้มาร่วมช่วยกันทำขนมแล้ว ราคาที่ว่าแพงนี้กลับถูกมาก

คนที่มาช่วยงานทุกคน เอาใจใส่ประณีตกับงานที่กำลังทำ ไม่ใช่ว่าทำให้แล้วเสร็จไว ๆ ทุกคนพยายามรักษาระดับคุณภาพขนมของพี่ทัยไว้เต็มที่ ความตั้งใจและเอาใจใส่ เต็มร้อยในจิตใจของคนมาช่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นคนเก่า ๆ ที่ช่วยงานกันมาหลายสิบปี คนมาใหม่ ก็จะได้รับการสอนชี้แนะ ตรวจดูว่าทำได้ดีพอหรือไม่ไม่ใช่ว่า ฉันก็ทำของฉัน เธอก็ทำของเธอไป

นอกจากนี้กองพลราบ 11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ยังได้ส่งทหารมาช่วยงานวันละ 15 นาย ตลอดวันงาน เป็นทหารที่มาช่วยทำขนม เพราะมีงานที่ต้องใช้แรงงานของคนแข็งแรงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกวนขนมหัวผักกาดซึ่งแต่ละกระทะใช้เวลากวนกระทะละ 2 ชั่วโมงครึ่ง ต้องสับเปลี่ยนคนกวนกันหลายคนหลายรอบ สาเหตุหนึ่งของความอร่อยนอกจากส่วนผสมการปรุงตามสูตรแล้ว คือความเหนียวของขนมจากฝีมือกวนของคน อย่างไรเสียก็อร่อยเหนือชั้นกว่าการใช้เครื่องกวนมากมายชนิดไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียวด้วย

มะพร้าวที่ใช้ในงานขูดสะอาดขาวเปี๊ยบ ไม่เสียดายก้นกะลาดำ ๆ ไม่มีปะปนเลย ใบเตยหอมที่ต้องมีคนคัดใบ เลือกตัดส่วนที่ไม่ดีออก โดยเฉพาะที่ปลายใบ ผ่านมายังคนที่สอง ล้างน้ำโดยใช้สกีอตไบร์ท ถูใบทั้งสองด้าน ล้างน้ำหลังถูอีกที ส่งต่อไปคนที่สาม ล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ไม่ละเลย จุ่ม ๆ น้ำ คนสุดท้ายก็ล้างแบบตั้งอกตั้งใจ รูดมือถูทั้งสองด้านของแต่ละใบอีกครั้ง ไม่มีใครทำงานตรงหน้าแบบลวก ๆ สักคน เขาเหล่านี้คงน้อมนำใจ ว่า นี่เป็นงานบุญด้วย ความตั้งใจในงานตรงหน้า ทำให้ได้รับผลบุญเต็มร้อย ด้วยนั่นเอง

ผ้าขาวบางที่ใช้ในงานขาวสะอาด แสดงว่า ใช้ของใหม่สำหรับงานแต่ละครั้ง ผ่านการซักสะอาด ก่อนนำมาใช้กรองสิ่งต่าง ๆ ทั้ง กะทิ หรือน้ำเชื่อม หรืออื่น ๆ ทั้งนี้ไม่รวม ของใช้อื่น ๆ สะอาดเอี่ยมเรี่ยมเร้เรไรไปทุกอย่าง ของสิ่งใดใช้เสร็จงาน ส่งล้างทันที บริเวณที่ทำงาน สะอาด โปร่งโล่ง ไม่มีแมงหวี่ แมลงวัน มารบกวน

ตะแกรงที่ต้องใช้ยี ถั่วเขียว สำหรับใช้กวนทำเม็ดขนุนก็สะอาดเอี่ยมอ่อง ตะแกรงและกระด้งไม้ไผ่ตากถ้วยทองหยิบก็สะอาดสะอ้านช่นกัน

สำหรับน้ำเชื่อมที่เคี่ยวเตรียมไว้หลายหม้อใหญ่ สำหรับการโรยฝอยทอง ทำทองหยิบ ทองหยอด ชุบไข่ของเม็ดขนุน ก็ใช้วิธี ปิดฝาหม้อตั้งไว้ที่พื้นโรยแป้งป้องกันมด โดยไม่ต้องทำบาป

ขนมที่ทำเสร็จแล้ว จะลำเลียงขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ เพื่อบรรจุใส่กล่อง และจัดใส่ถุงตามรายการสั่งซื้อแยกเป็นถุง ๆ ของแต่ละผู้สั่งซื้อไว้ สะอาดสะอ้านทุกขั้นตอนการผลิต จนถึงบรรจุขาย

ทุกท่าน ที่กินขนมหวานงานนี้ ได้กินน้ำใจไมตรี จิตอาสา ของผู้มาช่วยการทำขนมนี้เข้าไปด้วย ไม่รวมทั้งความอิ่มใจ ที่ได้ร่วมทำบุญให้วัด ท่านที่สนใจยังมีเวลาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ อีก 1 วัน 1 คืน

นอกจากขนมหวานสำหรับซื้อกลับบ้านแล้ว ยังมีมหรสพให้ชม มีของขายจากบรรดา พ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาตั้งร้านขายของ ให้ท่านซื้อหาได้ตามลักษณะงานวัดทั่ว ๆไป มีการชิงโชคด้วยสิ่งของรางวัลมากมาย มีมอเตอร์ไซด์เป็นรางวัลใหญ่
การชิงโชคในสมัยพลอยโพยม ยังเด็ก ๆ เพราะเป็นนักเรียนของโรงเรียนวัดผาณิตาราม ก็ต้อง ไปช่วยแขวนดาวกระดาษ ตามราวในซุ้มสอยดาว รางวัลใหญ่ในสมัยเด็ก รางวัลที่ 1 คือ ควาย ที่ใช้ไถนา

ในสมัยนั้น ราคาทองคำรูปพรรณ ราคา บาทละ สี่ร้อยบาท ราคาเดียวกับราคาข้าวเปลือก 1 เกวียน (คือ 100 ถัง) สอบถามคนที่เคยทำนามาก่อนว่าควายเมื่อ เกือบห้าสิบปีมาแล้วตัวละเท่าไร ในสมัยข้าวราคาเกวียนละ สี่ร้อยบาท คำตอบคือ ราคาควายประมาณ 7-8 พันบาท ( คำตอบนี้พลอยโพยมยังไม่สามารถเช็คสอบได้เพราะคนรู้จักที่เคยทำนาสมัยพลอยโพยมยังเด็ก ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว คนรุ่นหลังเป็นคนที่ไม่เคยทำนา ส่วนลูกหลานชาวนาสมัยนั้นก็ไม่รู้ราคา) พลอยโพยมขอไปสอบถามราคาจากลูกหลานกรรมการประธานจัดงานประจำปี รุ่นเก่า ๆ อีกครั้ง ว่าจะเหลือคนรู้ราคาควายในสมัยนั้นหรือไม่ รู้แต่ว่า ควาย หรือ กระบือ หรือเจ้าทุย ในสมัยก่อนมีความสำคัญเป็นชีวิตจิตใจของชาวนา บ้านใครโดนขโมยมาลักควายไปได้ แทบขาดใจตายกันเลยทีเดียว
ต่อมาเมื่อมีควายเหล็ก ของรางวัลสอยดาวก็เปลี่ยนเป็นควายเหล็กแทน

พลอยโพยมไม่ได้ไปเที่ยวงานวัดผา หรือไปช่วยงานวัดผามาเกือบสี่สิบปี เพราะติดเรียนหนังสือ ทำงาน และย้ายบ้านมาอยู่ตำบลแสนภูดาษ
พอกลับไปช่วยงานก็ได้พบ เพื่อนเก่า ญาติ คนรู้จักเก่า ๆ และพบว่าความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนยังมีมากมาย ไม่มีการแบ่งเพศหญิง เพศชาย เด็กหรือผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัย ทุกคนมาพร้อมน้อมใจตัวเองว่ามาช่วยงานบุญของวัดบ้านเกิด วัดที่เรียนหนังสือ วัดของหมู่บ้าน

แก้ไขเรื่องราคาควาย (20 ส.ค.2555)
คนที่ตอบพลอยโพยมว่าควายราคาตัวละ 7-8 พันบาท คือคนรุ่นเดียวกับพลอยโพยม จึงบอกราคาที่พลอยโพยมสงสัยอยู่แล้วว่าไม่น่าใช่ คนที่ให้คำตอบใหม่กับพลอยโพยมเมื่อเร็ว ๆ นี้ คืออดีต กำนันตำบลบางกรูดเป็นผู้อาวุโสที่เคารพนับถือของชาวตำบลบางกรูด ท่านอดึตกำนัน อดัต นายก อ.บ.ต. คือ คุณอัมรินทร์ สินธารา บอกพลอยโพยมว่า ราคาควายเมื่อ ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ราคาตัวละ 800-1,000 บาท ในขณะที่ราคาทองคำบาทละ 400 บาท และราคาข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 400 บาท การซื้อขายควายจะมีนายฮ้อยมาจากอีสานต้อนควายมาขาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น