สีสัน...วันน้ำแห้งขอด
น้ำขอด คือช่วงเวลาที่น้ำแห้งลงสุด ๆ ประมาณช่วง 1-3 ค่ำ น้ำจะแห้งขอดมาก
น้ำขึ้น และน้ำลง เป็นไปตามแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ขึ้น-ลง วันละ 2 ครั้ง โดยเฉลี่ยครั้งละ 6 ชั่วโมง
ส่วนใหญ่ภาพของแม่น้ำบางปะกงจะเป็นภาพของสายน้ำที่ไหลขึ้น เพื่อสื่อให้เห็นความงดงาม เยือกเย็น สงบเงียบของลำน้ำ สีสันเฉิดฉายเป็นประกายด้วยแสงตะวันที่อาบไล้
หากแต่ ในยามที่สายน้ำไหลลงโดยเฉพาะยามแห้งขอด ฝั่งชายเลนของแม่น้ำบางปะกงก็มีสีสันไปอีกแบบ โดยเฉพาะจะได้พบเห็นวงจรชีวิตของบรรดาสัตว์น้ำหลายชนิดเช่น ปูมากมายหลายพันธุ์ ปลาบางชนิด พรรณไม้ชายเลน รวมทั้งนกน้ำหรือนกริมบึงที่มาหาอาหารตามริมฝั่งน้ำ สรรพสิ่งที่มีชิวิตทั้งหลายเหล่านี้ (ยกเว้นนก) พากันตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานในช่วงน้ำเปี่ยมฝั่ง มาเริงร่าใช้ชีวิตชีวาของตนเองประดับโลกให้งดงามพ่างเพี้ยงพิศวง
รวมทั้งวิถีชิวิตของผู้คนที่อยู่ริมฝั่งน้ำ ต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตยามน้ำแห้งขอด เป็นช่วงวลาอันมีเสน่ห์ล้ำลึกไปอีกวิถีทางหนึ่ง
ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท
จะเห็นว่าชายฝั่งแม่น้ำจะเทลาดลงสู่แม่น้ำ
ขอน
ขอน หมายถึง ท่อนไม้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ถากกล่อมให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ
(ที่บางกรูดส่วนใหญ่จะเป็นต้นตาล ทั้งลำต้น ถ้าเป็นต้นมะพร้าวจะวางคู่ เป็นลำต้น 2 ต้น)
ภาพน้ำแห้งขอด
ถ่ายภาพจากคนละฝั่งแม่น้ำ จะเห็นการทำแพไม้ไผ่ทอดบนเลนและใช้ไม้ไผ่ปักเป็นระยะ เพื่อผูกกับไม้ไผ่ที่ทอดอยู่บนเลนเมื่อน้ำขึ้นไม้ไผ่ที่วางบนเลนก็จะลอยชึ้นโดยถูกจำกัดพื้นที่ด้วยไม้ไผ่ที่ปักยึด
ซึ่งในสมัยก่อนจะทำลักษณะนี้ไม่ได้ เพราะจะกีดขวางการสัญจรที่ริมฝั่งหน้าบ้านหลังนี้ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีเรือสัญจรกันแล้ว หรือนาน ๆ ผ่านมาที ก็เลยไม่มีปัญหา
บ้านทั้งสองหลังอยู่ห่างกันแต่ทำสะพานคล้ายกันเพื่อข้ามเลนลงไปหาน้ำเพื่อการสัญจรทางเรือ
บ้านหลังซ้ายมือ ใช้ไม้จริงทำเป็นสะพานจากชายฝั่งลงไปครึ่งทาง อีกครึ่งทางทำเป็นแพไม้ไผ่ลักษณะเหมือนภาพบน
ทั้งสองภาพนี้หากเป็นฃ่วงเวลาน้ำขึ้น แพไม้ไผ่นี้จะยื่นออกมาจากฝั่งทำความลำบากให้ผู้สัญจรทางน้ำอื่น ๆ
ภาพที่พลอยโพยมจ้างเรือข้ามฟากมาถ่ายภาพใกล้ ๆ จากฝั่งที่ตั้งของแพไม้ไผ่ ของบ้านหลังซ้ายมือ
ภาพนี้ต้องการสื่อว่า คำว่าน้ำแห้งขอดคือลักษณะดังภาพ
ในสมัยก่อนจะใช้ขอนไม้จากต้นตาล หรือต้นมะพร้าว วางบนเลนเป็นทางเดินสำหรับนำเรือออกจากท่าน้ำหรือนำเรือกลับมาท่าน้ำ
ดังภาพนี้ต้องใช้สองท่อนขอนไม้วางต่อเพราะขอนจะต้องทำไปถึงบริเวณที่มีน้ำ ส่วนใหญ่นิยมใช้ขอนไม้จากต้นตาล เพราะต้นใหญ่และยาว รวมทั้งเนื้อไม้ที่แข็งทนทานกว่าต้นมะพร้าว เมื่อวางบนเลนแล้วลำต้นของต้นตาลก็จะจมลงในเลนเกือบครึ่งหนึ่ง จึงนิยมวางคู่สองต้น หากความยาวไม่พอก็ต้องต่อท่อนขอนให้ยาวลงไปถึงบริเวณที่มีน้ำ
ปกติเรือนั้นย่อมผูกอยู่กับขั้นบันไดท่าน้ำของบ้าน เมื่อน้ำลงแห้งขนาดนี้หากมีกิจธุระต้องใช้เรือก็ต้องเข็นเรือในช่วงเลนแข็ง ๆ ใกล้ฝั่ง อาจเข็นโดยยืนบนหัวเรือ แล้วใช้ไม้ไผ่ หรือไม้พาย ช่วยค้ำยันเรือกับขั้นบันไดของสะพานท่าน้ำ ออกแรงดันหรือยันให้เต็มที่ สุดไม้พายแล้ว(ถ้าเป็นพาย) ก็ใช้เท้าของตนขยับแบบไสเท้าไปข้างหน้าทั้งสองเท้าช่วยโยกเรือให้ขยับ อึด อึด หลายอึดทีเดียว ซึ่งต้องยืนกลางลำเรือ เพื่อให้มีพื้นที่มากขึ้นกว่าหัวเรือ พอถึงช่วงเลนเหลว ๆ เรือก็จะพุ่งปรู๊ดลงน้ำไป ( เพราะชายฝั่งเลนจะเทลาดลงสู่กลางแม่น้ำ) เป็นช่วงสนุกมากตอนที่เรือพุ่งลงน้ำ หากยืนไม่มั่นคงก็ได้หัวคะมำกันในลำเรือ เพื่อความปลอดภัยควรรีบน้่งลง
ที่สำคัญ คือ หากพายหลุดมือตอนออกแรงดันกับขั้นบันไกท่าน้ำ และไม่มีพายสำรองในลำเรือ ก็พายเรือไม่ได้ ต้องเอากะลาวิดน้ำที่อยู่ที่ท้องเรือ วักน้ำกลับเข้ามาหาฝั่ง การใช้ลำไม้ไผ่ ก็เพื่อ เอาไม้ไผ่ไปปักเป็นหลักยึดที่ปลายขอนเวลาขากลับจะได้เอาเรือผูกไว้ที่หลักไม้ไผ่นี้ ถ้าใช้ไม้พายปักเป็นหลักนอกจากพายจะด้ามสั้นแล้ว อาจปักเลนได้ไม่แน่นหนา เรืออาจหลุดลอย แถมไม้พายก็จะลอยหายไปด้วย
ที่สนุกกว่านั้นก็คือบางทีก็ใช้วิธี เดินบนขอนไม้ซึ่งจะวางทอดบนพื้นเลยต่อจากบันไดขุั้นสุดท้ายของท่าน้ำออกสู่แม่น้ำ ก้มหลังลงเอาสองมือจับแคมเรือไว้แล้วออกแรงเข็นเรือในช่วงเลนแข็ง แต่พอถึงช่วงเลนเหลว เรือก็จะเลื่อนไหลปรู๊ดลงน้ำ เราต้องกระโดดขึ้นเรือให้ทัน ไม่อย่างนั้น ก็ต้องว่ายน้ำไปเอาเรือที่ลงไปลอยอยู่ในแม่น้ำและค่อนข้างไกลเพราะแรงพุ่งของเรือ
ดังนั้น ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เรือวันเวลาใดในช่วงน้ำแห้งขอดแบบนี้ ก็ต้องลงไปวักน้ำล้างขอนเอาเลนบนขอนออกไปก่อน หากปล่อยให้เลนค้างบนขอนไม้นอกจากเปรอะเลอะเทอะแล้ว ยังลื่นอาจล้มและถลาลงไปอยู่ในเลนตอนเข็นเรือ เสียเวลาการไปทำกิจธุระทางน้ำกันพอดี
การใช้เรือในช่วงน้ำแห้งขอดมาก ๆ เป็นความยุ่งยากหากก็มีความสนุกซ่อนอยู่ ถ้าไม่เหนื่อยหน่ายใจหรือหงุดหงิดใจในช่วงเข็นเรือ แต่ถ้าถามว่าชอบหรือเปล่า ก็คงไม่ชอบมีของสนุก ๆ อย่างอื่นให้เล่นมากมาย เพียงแต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เรือช่วงนี้ก็นึกเสียว่ามีความสนุกปนอยู่เท่านั้นเอง จะทำกระเง้ากระงอดไม่ได้ นั่นเป็นกิริยาของเด็กไม่ดีทำนองนั้น
เมื่อกลับมาถึงจะต้องปักหลักไม้ไผ่ผูกล่ามโช่เรือไว้ เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นก็ต้องค่อย ๆ ขยับ หลักปัก และเรือ เข้ามาใกล้ฝั่งเป็นระยะ ๆ หากไม่ขยับเรือปล่อยให้น้ำขึ้นมาก ๆ แทนที่จะเดินบนขอนท่องน้ำเปียกหน้าแข้งเพียงเล็กน้อยก็จะกลายเป็นต้องว่ายน้ำแล้วปีนขึ้นเรือ ขยับเรือเข้าจอดที่ท่าน้ำ หรือบางทีถ้าเอาไม้พายปักเป็นหลัก เมื่อน้ำขึ้นและลืมมาขยับเรือ เรืออาจลอยไปตามน้ำเพราะหลักสั้นไม่พ้นน้ำรวมทั้งเรือบางลำไม่ใช้โซ่แต่ใช้เชือก เชือกผูกเรือก็ลอยขึ้นมาตามระดับของน้ำที่ขึ้น จนหลุดออกจากหลักที่เป็นพายก็มี
และการวางขอนต้นตาลเป็นคู่ขนานนี้ จะมีช่องว่างระหว่างลำต้น หรือรอยข้อต่อถ้าต้องต่อขอนไม้ เมื่อนานไปปลายขอนก็จะผุกร่อนเกิดเป็นโพรง ปลาและกุ้งก้ามกรามชอบหลบเข้ามาอาศัยอยู่ หากลงไปงมก็มักจะไม่ผิดหวัง งมกุ้งก้ามกรามได้บ่อยมาก แต่บางครั้งก็ได้เป็นปลาหลายชนิดด้วยกัน
นี่เป็นเรื่องของคนที่ต้องใช้ชีวิตกับน้ำแห้งขอด ออกจะดูวุ่นวายเล็กน้อย แต่กับสัตว์น้ำหลายชนิด ช่วงน้ำลงกลับเป็นช่วงหรรษา มีกิจกรรมให้เราที่เป็นมนุษย์สุดประเสริฐได้เปิดหูเปิดตากับชิวิต น่ารัก ๆ ของเหล่าสัตว์น้ำกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น