ในสายวหา ... มีปลาตองลาย
ขอแยกปลาตองลาย มาขึ้นบทความใหม่ เพราะชื่อของบทความ " มัจฉา ..เริงร่าธาร " ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นอยู่ และอุปนิสัยของปลาตองลายเลย เนื่องจากพบได้น้อยมาก พบได้เพียงในลำน้ำโขง และสาขาลำน้ำโขง ส่วนลำน้ำน่าน เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้เอง
และปลาตองลายไม่ชอบเคลื่อนไหวตัวแหวกว่ายไปมาในตู้ปลา อาจจะไม่ชอบบ้านที่เป็นตู้ปลาหรืออย่างไร หรือเป็นธรรมชาติของปลาตองลายเอง หลายครั้งยังคิดว่า คุณปลาตองลายลอยตัวหลับอยู่หรือเปล่าหนอ เธอไม่สนใจไยดี เงางูบวาบของผู้คนที่มาเยือนยืนมองและกดชัตเตอร์เสียงคลิก ๆ เลยแม้แต่น้อย
ชื่อไทย ตองลาย
ชื่อสามัญ BLANC'S STRIPED FEATHERBACK
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala blanci
(ข้อมูล : กรมประมง)
ภาพจากอินเทอร์เนท
ปลาตองลาย (อังกฤษ: Royal Knifefish)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala blanci
อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae)
(ข้อมูล : วิกิพีเดีย)
ปลาตองลายเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีรูปร่างเหมือนปลาทั่วไปในวงศ์นี้ แต่มีส่วนหลังและหน้าผากลาดชันน้อยกว่าปลากราย (C. ornata) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน สีลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ลำตัวด้านท้ายมีลายจุดและขีดจำนวนไม่แน่นอนคาดเฉียงค่อนข้างเป็นระเบียบ มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร ใหญ่สุด 1 เมตร
ลักษณะทั่วไป เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวด้านข้างแบนมาก เกล็ดละเอียด ครีบหลังและครีบหูมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบท้องขนาดเล็กมาก ครีบก้นยาว เชื่อมติดกับครีบหาง ปลาตองลายจะใช้ครีบก้นในการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อบริเวณนี้ จึงมีขนาดใหญ่หนามีเนื้อมาก ชาวบ้านเรียกว่า " เชิงปลา " ลำตัวสีขาวเงิน มีแถบสีดำพาดเฉียงจากส่วนบนของลำตัวเลยไปถึงครีบหางและครีบก้น บริเวณหน้าของลำตัวเป็นจุดสีดำ ขนาดปานกลางกระจายอยู่ประปรายตามบริเวณข้างลำตัว
เป็นปลาที่พบได้เฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ไหลสู่แม่น้ำโขง โดยมีรายงานพบเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีรายงานพบที่แม่น้ำน่านด้วยเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นมีแค่เพียงสองแหล่งนี้ในโลกเท่านั้น เป็นปลาที่หายากชนิดหนึ่ง โดยมีชื่อติดอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) เมื่อปี พ.ศ. 2537 ด้วย โดยอยู่ในระดับหายาก แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ปลาตองลายโบกหางไปมาช้า ๆ
โดยการเพาะขยายพันธุ์สำเร็จเป็นครั้งแรกที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท โดยพ่อแม่ปลาเป็นปลาที่จับมาจากแม่น้ำโขง เมื่ออายุประมาณ 1 ปี น้ำหนักประมาณ 100-120 กรัม ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 ปี ในตู้กระจก จนปลามีความสมบูรณ์เต็มที่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์พบว่าตัวผู้มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 2.1 กิโลกรัม โดยตัวผู้มีความยาวครีบท้องมากกว่าตัวเมียถึงสองเท่า
เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่ ปลาจะมีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว จะมีพฤติกรรมไล่กัดปลาตัวอื่นที่มาข้องแวะหรือมาอยู่ใกล้ ๆ
ฤดูวางไข่ของปลาตองลายอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แม่ปลาวางไข่ครั้งทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 200-400 ฟอง การวางไข่แต่ละครั้งห่างกันราว 2-8 วัน ไข่มีลักษณะเป็นไข่จมเกาะติดกับวัสดุใต้น้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ฟักเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ที่อุณหภูมิ 23-26 องศาเซลเซียส ลูกปลาจะเจริญเติบโตได้ดีและมีอัตราการรอดตายสูงที่อุณหภูมิประมาณ 29-31 องศาเซลเซียส
อาหารธรรมชาติ กินปลา ลูกกุ้งและสัตว์น้ำขนาดเล็ก
ประโยชน์ใช้ปรุงเป็นอาหารและ เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจและนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ลักษณะนิสัยของปลาตองลายที่พลอยโพยมสังเกตพบ ปลาตองลายที่ไม่ชอบการว่ายน้ำเคลื่อนไหวตัว ชอบลอยตัวนิ่ง ๆ ในการไปเก็บภาพแต่ละครั้งพบว่า ถ้าปลาตองลายอยู่ในลักษณะท่าลอยตัวในน้ำท่าลักษณะใดจะอยู่ในท่านั้นเป็นชั้วโมง หันหัวไปด้านใดและลอยตัวอยู่มุมไหนของตู้เลี้ยงปลาก็จะคงอยุู่ด้านนั้นลักษณะนั้น ผิดกับปลากรายที่อยู่ในตู้เลี้ยงใกล้ชิดติดกัน ปลากรายจะแหวกว่ายพลิกตัวกลับตัวตลอดเวลา ขึ้นข้างบนลงข้างล่าง ว่ายไปด้านซ้าย ย้ายไปด้านขวา พอรอจังหวะว่าโฟกัสได้ที่ดี คุณปลากรายเธอก็พลิกตัวให้ตั้งท่าเก้อ
พลอยโพยมไม่ได้ตั้งใจถ่ายภาพปลาตองลายนัก (คำว่าตั้งใจหมายถึงถ่ายมามาก ๆ เพื่อคัดเลือกนั่นเอง) เพราะเป็นปลาที่ไม่มีในลำน้ำบางปะกงไม่ได้คิดจะสื่อในบทความ แต่ก็เสียดายข้อมูลความไม่เหมือนปลาใดของปลาตองลาย
ช่างน่าเสียดายที่จะนำปลาตองลายมาบริโภคปรุงเป็นอาหารเป็นอย่างยิ่ง แต่คนแถบลุ่มน้ำโขงคงไม่คิดแบบนี้ แต่คนลุ่มน้ำน่านน่าจะช่วยกันอนุรักษ์ปลาตองลายนี้ไว้เป็นพรรณปลาประดับลำน้ำน่านเอง
(ในรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยมีโครงการติดตามและประเมินผลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของลุ่มน้ำบางปะกง นิเวศชายฝั่งทะเล
พบปลาพบเพียง 170 ชนิด จากจำนวนชนิดปลาที่เคยรายงานทั้งหมด 281 ชนิด
โดยเป็นปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ ปลาตองลาย วงศ์Notopteridae และปลาตะโกกหน้าสั้น วงศ์ Cyprinidae)
วหา แปลว่าแม่น้ำ
ที่มาของข้อมูล : กรมประมง และวิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น