ขอขอบคุณภาพจาก http://www.sonykonya.com
ภาพเขียนของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
ลิลิต
ลิลิตคือ คำประพันธ์ซึ่งประกอบด้วยร่าย แต่งสลับกับโคลง ทั้ง โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ โดยมีการส่งสัมผัสระหว่างร่ายกับบทโคลง ที่เรียกว่า "เข้าลิลิต" หรือ "ร้อยโคลง" ทุกบทตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้าย สัมผัสร้อยโคลงส่งจากคำสุดท้ายของบทแรก ไปยังคำใดคำหนึ่งในบทต่อไป โดยมากมักเป็นคำใดคำหนึ่งในวรรคแรก
ลิลิตพระลอเป็นลิลิตเรื่องเอก เป็นที่นิยมในหมู่นักวรรณคดี ถือเป็นยอดของลิลิต
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับหนังสือลิลิตพระลอว่า
แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นนิทานเรื่องทางอาณาเขตลานนา(คือมณฑลพายัพ) ดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงพระราชนิพนธ์แต่ในเวลาเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระราชโอรส
ซึ่ง ในพ.ศ. 2513 กรมศิลปากร ได้เขียนคำนำ ตอนหนึ่งมีความว่า ข้างท้ายลิลิตมีโคลงบอกชื่อผู้แต่งอยู่ 2 บท บทหนึ่งว่า " มหาราชเจ้านิพนธ์" หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง แต่อีกบทหนึ่งว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" หมายความว่า พระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง ผู้เขียนคำนำคาดว่า โคลงทั้ง 2 บท ดังกล่าว แต่งเพิ่มขึ้นภายหลัง
ส่วนผู้แต่งลิลิตเองได้กล่าวไว้ในโคลงบานแผนกข้างต้นเรื่องว่า
"เกลากลอนกล่าวกลการ กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ"
และให้ความเห็นอีกว่า ผู้แต่งลิลิตพระลอต้องเป็นบุคคลชั้นสูงในราชสำนัก เป็นผู้รู้ราชประเพณีและการเมือง เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ผู้ทรงความสามารถปานนั้นมักเป็นเจ้านายชั้นสูง
อย่างไรก็ดี ลิลิตพระลอนี้แต่งก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯ แต่งในรัชกาลนี้ ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอ ตอนหนึ่ง " เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย........" มาใช้เป็นแบบโคลงสี่
และยังมีโคลง ที่เป็นที่นิยมอีกหลายบท เช่น
" สิ่งใดในโลกล้วน อนิจจัง คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้.... "
หรือ " ยามไร้เด็ดดอกหญ้า แซมผม พระเอย..."
หรือ "กาจับกาฝากต้น ตุมกา.. "
หรือ "ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง... "
พระลอ เป็นพระโอรสของท้าวแมนสรวงและพระนางนาฎบุญเหลือ ท้าวแมนสรรวงทำสงครามกับ ท้าวพิมพิสาครราช แห่งเมือง สรอง ขณะชนช้างกัน ท้าวพิมพิสาครราช ทรงขาดคอช้าง ท้าวพิไชยพิษณุกร โอรสเท้าพิมพิสาครราช ขึ้นครองเมืองแทน มีธิดาโฉมงามชื่อพระเพื่อนพระแพง
ภาพจาก ส.ค.ส.
ต่อมาท้าวแมนสรวง สวรรคาไลย พระลอขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา พระโฉมของพระลอ ดังโคลงสองที่ว่า
รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า มาอ่าองค์ในหล้า
แหล่งให้คนชม แลฤา...
(ซึ่งต่อมามีเพลงยอยศพระลอ ที่คุณชินกร ไกรลาศ ขับร้องดังกระฉ่อนทั่วเมือง)
ความเรื่องพระลอมีความอีกแต่ขอตัดตอนมาที่
พระเพื่อนพระแพง ให้ปูเจ้าสิงพราย ทำพิธีใช้เวทย์มนตร์ เรียกพระลอ มาเมืองสรอง..
พระวรเวทย์พิสิฐ ได้เขียนเรื่องลิลิตพระลอ ไว้ในวรรณกรรมวันแม่ ดังนี้
ถ้จะเทียบความรักระหว่างพ่อกับแม่ซึ่งมีต่อลูก และลูกซึ่งได้รับรสแห่งความรักอันซาบซึ้ง เจือด้วยเมตตาคุณแล้ว ส่วนมากลูกได้จากแม่ ทั้งนี้เพราะพ่อเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัว มีภาระต่างๆ จึงห่างเหินไปบ้าง แต่ความรักลูกหาได้ลดน้อยถอยลงไม่ ส่วนแม่เป็นผู้ใกล้ชิดกับลูกตั้งแต่เริ่มปฎิสนธิในครรภ์ พอรู้ว่าตั้งครรภ์ก็เกิดความรักเสียแล้ว โดยไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย รูปโฉมจะงดงามหรือขี้เหร่ประการใด เพื่อสนับสนุนความจริงนี้ ขอยกเอาความรักของแมซึ่งปรากฎในวรรณคดียอดเยี่ยมของไทย คือลิลิตพระลอ ตอนพระลอประชวรรัก จะต้องจากพระชนนีไปหาสตรีที่กำลังคลั่งไคล้ เป็นเหตุให้พระชนนีทรงคร่ำคราญดังนี้
ชนนีนาถรู้ข่าว ร้อนผะผ่าวหฤทัย ธไปยังลูกบพิตร ท้าวธ เห็นผิดแก่ตา ธ ก็ว่าบาบงกชจอมใจ พ่อเป็นใดแก่อกแม่.......
ออกท้าวฟังลูกไท้ ทูลสาร
ถนัดดั่งใจลาน สวาทไหม้
น้ำตาท่านคือธาร แถวถั่ง ลงนา
ไห้ บรู้กี่ไห้ สระอื้นอาดูร
ตีอกโอ้ลูกแก้ว กลอยใจ แม่เอย ฯ
เจ้าแม่มาเป็นใด ดั่งนี้
สมบัติแต่มีใน ภพแผ่น เรานา
อเนก บ รู้กี้ โกฎิไว้จักยา พ่อนา
นายแก้วจักอยู่เร้ง ไปหา
เร็วเร่งพระโหรมา อย่าช้า
หาหมู่หมื่นแพทยา หมอภูต มานา
หาแม่มดถ้วนหน้า หมู่แก้กฤติยา
นายขวัญหาจุ่งถ้วน ทั้งหลาย
ทุกหมื่นขุนมุลนาย ช่วยไสร้
ถะเมินไพรเร่งขวนขวาย ยาป่า มานา
ยาเทศทั้งปวงไว้ ฝ่ายข้าง ชาวคลัง
คลังกูคลังลูกแก้ว กูนา
จักจ่อมจ่ายเยียวยา หน่อเหน้า
สิ้นทั้งแผ่นดินรา แม่ลูก ก็ดี
สิ้นแต่สินจงเจ้า แม่ได้แรงคืน
(ฯ สื่อความว่ายังมีโคลงหรือร่ายคั้นระหว่างบทที่มิได้ตัดลอกมา)
พระนางบุญเหลือ (นาฎบุญเหลือ) ทรงพยายามรักษา พระลอ แต่ในที่สุดทรงยอมแพ้ ปล่อยให้พระลอไปเมืองสรอง
ทรงรำพันว่า ถึงความรัก ตั้งแต่ทรงครรภ์
สิบเดือนอุ้มท้องพระ ลอลักษณ์
สงวนบ่ลืมตน หนึ่งน้อย
ตราบพระปิ่นไตรจักร เสด็จคลอดมานา
ถนอมอาบอุ้มค้อยค้อย ลูบเลี้ยง รักษา
พระวรเวทย์พิสิฐ ขยายความว่า พอเริ่มทรงครรภ์ ก็ทรงระวังอิริยาบททั้ง นั่ง นอน ยืน เดิน เพื่อมิให้กระทบกระเทือนพระโอรส
แม้แต่การเสวยโภชนาหารก็ทรงระวังมิให้เผ็ดร้อน อันจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อพระโอรสได้ พระนางทรงทะนุถนอม ระวังมิได้เผลอพระองค์เลย จนกระทั่งพระโอรสประสูติแล้ว ก็ทรงสงวนประคับประคองด้วยพระองค์เอง ไม่วางใจให่ผู้อื่นกระทำแทน ความรักลูกตั้งแต่ในครรภ์ แม่ทุกคนตั้งแต่ชั้นยากจนกระทั่งถึงถึงขั้นพระราชินีย่อมมีธรรมดาเช่นนี้ แต่ที่ยกเรื่องของสตรีฃั้นสูงศักดิ์ที่รักลูกมากล่าว ก็เพราะจะให้เกิดทัศนียภาพเด่นโดยเฉพาะ
ทรงเลี้ยงพระโอรสด้วยพระองค์เอง
และวันสามคาบป้อน เป็นนิตย์
บมิให้ใครทำผิด แผกเจ้า
แสนสงวนคู่ชีวิต ฤาใคร่ กลายเลย
เพียรผะดุงคุ้งเท้า ตราบรู้ เสวยเอง
พระนางทรงป้อนพระกระยาหารแก่พระโอรสด้วยพระองค์เองวันละสามครั้ง โดยไม่ยอมให้คนอื่นทำ เพราะทรงเกรงว่าจะผิดพลาด เป็นความรักที่เต็มตื้นอยู่ในดวงจิต ย่อมคิดเห็นไปว่า ใครจะทำดีกว่าแม่ทำเอง เพราะแม่ทุกคนย่อมรู้สึกว่าลูกคือชีวิตของตนเอง ทรงป้อนพระกระยาหารให้พระโอรส จนกระทั่งพระโอรสสามารถเสวยเองได้
บรรจงกับข้าวแต่ง ของเสวย
บ มิได้เลินเล่อเฉย หนึ่งน้อย
สรรพเครื่องพระลูกเฮย ไตรตรวจ แต่งนา
บวางใจกึ่งก้อย แก่ผู้ใดทำ
แม้พระโอรสเสวยเองได้แล้ว ก็ไม่ไว้พระทัยให่คนอื่นทำเครื่องเสวย เพราะเกรงไม่สะอาดไม่อร่อย เป็นของแสลง จึงทรงทำพระกระยาหารเสียเอง เพื่อความสุขความเจริญของพระโอรส แม่ทุกคนมีความคิดเช่นนี้ จึงเป็นปัจจัยให้ลูกทุกคนชอบรสอาหารฝีมือแม่ อาหารอย่างเดียวกัน คนอื่นทำไม่อร่อย แต่ถ้าแม่ทำก็รู้สึกอร่อย ความรักที่แท้จริงของแม่ดังที่พระนางบุญเหลือทรงกระทำ
แต่น้อยแม่พร่ำเลี้ยง รักษา พ่อนา
จนเจริญชนมา ตราบได้
สมบัติผ่านภูวดา ถวัลยราช
ฤาพ่อจำจากให้ แม่นี้ตรอมตาย
จนกระทั่งพระโอรสเจริญพระชนม์ขึ้นครองราชสมบัติ ความสนิทชิดเชื้อระหว่างแม่ลูกเห็นป่านฉะนี้ การที่ลูกรักจะจากอกไปแม่จะตรอมใจเพียงใด
คงชีพหวังได้พึ่ง ภูมี พ่อแล
ม้วยชีพหวังฝากผี พ่อได้
ดั่งฤาพ่อจักลี- ลาจาก อกนา
ผีแม่ตายจักได้ ฝากใครให้เผา
เป็นธรรมดาของคนทุกชั้นตระกูล แม่ย่อมอยากให้ลูกได้ดี เมื่อแม่มีชีวิตอยู่และแก่เฒ่าลงไป จะได้พึ่งพาอาศัยและเมื่อตายจะได้เผาผีแม่ การตายแล้วต้องเผาเป็นธรรมเนียมไทย คนโบราณมักห่วงศพตัวเองและห่วงศพคนที่รักจะยากดีมีจนอย่างไรต้องให้ผีได้เผา ความหวังอันแรงกล้าของแม่มีดังนี้แต่ไหนแต่ไรมา
ทุกคนทุกชั้นวรรณะตั้งใจทะนุถนอมลูกเพื่อให้เติบโตเป็นคนดี ในหน้าที่ของลูกเมื่อเห็นคุณของแม่และรู้ความประสงค์ของแม่ ลูกจะต้องทำตนเป็นคนดีให้แม่พึ่งได้เมื่อแก่
สุดใจสุดแม่ห้าม ภูธร
สอนบ่ฟังแม่สอน จักเต้า
หนักใจหนักอาวรณ์ ทุกข์ใหญ่ หลวงนา
แม่อยู่ตั้งแต่เศร้า โศกร้อนฤาสะเบย
ลูกเอยจากแม่โอ้ กรรมใด นาพ่อ
ตั้งแต่คิดเด็ดไป สู่สร้อย
แม่เดียวอยู่อาลัย ทนเทวษ แลนา
มาแม่จะชมน้อย หนึ่งให้คลายใจ
ชมปรางชมผากเผ้า ริมไร เกศนา
เชยปากตาตรูไตร เพริศพริ้ง
ชมพักตรดั่งแขไข ขวัญเนตร
บพิตรพ่องามสิงคลิ้ง จูบแก้มเชยกรรณ
จูบนาสิกแก้วแม่ หอมใด ดุจนา
จูบเคียงคางคอใจ จักขว้ำ
จูบเนื้อจูบนมใส เสาวภาคย์ พระเอย
จูบไหล่หลังอกซ้ำ จูบข้างเชยแขน
จักเชยพระลูกถ้วน สรรพางค์
พระลูกประนมกรพลาง จึ่งพร้อง
พระควรจูบแต่กลาง กระหม่อม ไสร้นา
แก้มเกศพระเจ้าต้อง สั่งข้าพระควร ฯ
...
ภาพเขียนของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
ร่าย
เมื่อนั้นอนงคเทพี ชนนีนาฏราชรันทด สลดหฤทัยดั่งจะหว่า ท้าวธ ก็ว่าเจ้าลอลักษณ์ ลูกรักเจ้าแม่นา รักยิ่งตายิ่งตัว รักยิ่งหัวยิ่งชีพ แต่นี้จอมทวีปแม่จะจาก พรากแม่พรากพระบุรี ศรีกษัตริย์มีเจ็ดสิ่ง พระมิ่งแม่จงจำ ยำคำแม่อย่าคลา รีตท้าวพระยาอย่าคลาด อย่าประมาทลืมตน อย่าระคนคนเท็จ ริรอบเสร็จจึ่งทำ คิดทุกคำจึงออกปาก อย่าให้ยากแก่ใจไพร่ ไต่ความเมืองจงตรง ดำรงพิภพให้เย็น ดับเข็ญนอกเข็ญใน ส่องใจดูทุกกรม อย่างมชมความเท็จ ริรอบเสร็จเกื้อทางธรรม์ ทีจะกันกันจงหมั้น ทีจะคั้นคั้นจงเปนกล ส่องต้องหนคนใช้ เลือกหาใจอันสัตย์ ดัดมนตรีโดยยุกติ์ ปลุกใจคนให้หาญ ผลาญเพรียงไพร่เพรียงเมือง อาชญาเรื่องเรื้อยราษฎร์ กันนิกรกาจเกื้อไพรี ดับกลีอย่าให้ลุก อย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าล่ามม้าสองปาก อย่าลากพิษตามหลัง อย่าให้คนชังลักแช่ง แต่งตนให้คนรัก ชักชวนคนสู่ฟ้า เบื้องหน้าเทพยอยศ จงปรากฎชอบแล้ว อย่าได้แคล้วรำพึง คำนึงอย่ารู้มลาย จงอย่าหายยศพ่อ ต่อม้วยฟ้าหล้าสวรรค์ กัลปประลัยอย่ารู้ลาญ ภูบาลเจ้าจงจำ ตามคำแม่โอวาท พ่อสุดสวาทแก่แม่เฮย จงสวัสดิ์แก่เจ้าเทอญ
จงเจริญศรีสวัสดิ์เรื้อง เดชา
ทุกข์โศกโรคภยา อย่าพ้อง
ศัตรูหมู่พาลา พาลพ่าย ฤทธิ์พ่อ
เสวยสุขอย่าเคืองข้อง ขุ่นแค้นอารมณ์ ฯ
......
ขอฝากฝูงเทพไท้ ภูมินทร์
อากาศพฤกษาสินธุ์ ป่ากว้าง
อิศวรนรายณ์อินทร์ พรหมเมศ ก็ดี
ช่วยรักษาเจ้าช้าง อย่าให้ มีภัย
ได้คืนชีพิตเจ้า จอมกษัตริย์
จักแต่งธงธวัชฉัตร เพริศแพร้ว
เทียนทองระย้ารัตน์ งามชื่น ตาแฮ
เป็ดไก่บายศรีแก้ว แต่งแก้สบสถาน
เมื่อไปถึงแม่น้ำกาหลง พระลอทรงลงสรง
ใจราชคิดแคล้วแคล้ว ถึงท่านไท้มารดา ท่านนา
โคลง สอง
คิดปราณีออกไท้ รอยราชละห้อยไห้
ถึงลูกแล้ณ หัว ลูกเอย
โคลงสี่
เจ็บรักเจ็บจากช้ำ เจ็บเยียว ยากนา
เจ็บใคร่คืนหลังเหลียว สู่หย้าว
เจ็บเพราะลูกมาเดียว แดนท่าน
เจ็บเร่งเจ็บองค์ท้าว ธิราชร้อนใจถึง ลูกฤา
เจ็บถึงบิตุราชแล้ว ถึงกู เล่านา
เจ็บอยู่คนเดียวดู ละห้อย
เจ็บเยียวราชศัตรู ดูหมิ่น แคลนนา
เจ็บเร่งเจ็บค้อยค้อย ชอบม้วยเมือมรณ์
ร้อยชู้ฤาเท่าเนื้อ เมียตน
เมียแล่พันฤาดล แม่ได้
ทรงครรภ์คลอดเป็นคน ฤาง่าย เลยนา
เลี้ยงยากนักท้าวไท้ ธิราชผู้มีคุณ
อย่าไปพะหน้าจัก คืนเมื่อ ฤาพี่
หาสมเด็จบุญเหลือ เลิศไท้
จรทกจรเทิญเขือ วานช่วย ริรา
บาปสิ่งใดจำให้ ลูกร้อนใจถึง
ภาพเขียนของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
พระลอลองเสี่ยงน้ำทายชะตา ได้ผลว่าพระลอไปแล้ว จะไม่ได้กลับเมืองแมนสรวง
พระตายลูกจงได้ เห็นผี ท่านนา
ผีลูกตายกษัตรี แม่ได้
เผาศพลูกอย่ามี อุจาด ราแม่
ฤาบ่ร้างเผาผีไท้ บ่ร้างได้เผาผี ลูกเลย
โคลงสอง
ลูกตายก็ตายแล้ว เจ็บตายเห็นหน้าแก้ว
เกิดเกล้ากูมา
น้ำตาไหลหลั่งไห้ เป็นเลือดตกอกไหม้
ออกท้าวฤาเห็น ลูกเลย ฯ
เคยเป็นจอมโลกเจ้า ไอศวรรย์
ร้อยเอ็ดเมืองราชคัล คั่งเฝ้า
มาตกถึงกลางอรร- ณพแต่ เดียวนา
เยียวบ่เห็นหน้าเจ้า ลูกแล้บเห็น ลูกเลย
พระลอทรงคร่ำครวญถึงพระมารดา อีกหลายบท เป็นการสื่อถึงความรักของพระลอที่มีต่อพระมารดา ไม่ได้ทรงรำพันถึงพระนางลักษณวดีพระมเหสีเลย เพลงไทยทำนองลาวครวญเป็นเพลงที่ไพเราะมากเพลงหนึ่งสื่อความรักความอาลัยของพระลอที่มีต่อพระชนนี
เมื่อพระลอสิ้นพระชนม์ที่เมืองสรอง
ไท้ธิราชบุญเหลือ เครือทินกรราชชนนี ภควดีฟังพจนสาร ถ้วนทุกประการประกาศ ธมิอาจที่จะดำรง พระองค์ท้าวธอยู่ได้ ไท้สยบซบเหนือหมอน พระกรปิดพระพักตร ไห้ร่ำรักลูกไท้ ไห้บรู่กี่ไห้ ลูกแก้วกับตนแม่เอย ฯ
ร่าย
หวังสิ้นชนม์ด้วยไข้ แก่แม่รา สิ้นชีพไท้ด้วยผี แก่แม่รา ในบุรีเราแม่ลูก แก่แม่รา แม่จะยาหยูกจงเต็มใจ แก่แม่รา ดังฤาพ่อไปตายเมืองท่านม้วย แก่แม่รา ด้วยหอกตาวหลาวดาบ แก่แม่รา ด้วยกำซาบปืนยา ดั่งนี้
แม่สงวนมาแต่ตั้ง มีครรภ์ ลูกเอย
บเบกษาสักอัน หนึ่งน้อย
ถึงพระผ่านไอศวรรย์ เสวยราชย์ แลพ่อ
รักลูกรักได้ร้อย ส่วนล้ำรักตัว
ฯ.....
กรรมใดดลออกไท้ ให้รักราชเอารส กำสรดสั่นสรรพางค์ ออกนางพ่างจะพินาศ.......ฯ
ไห้ระลวงลือลั่น สนั่นทั่วทั้งเวียง ฟังเสียงไห้ดั่งจะหว่า ใจเมืองบ้าดั่งจะผก หัวอกเมืองดั่งจะพัง ทั้งแผ่นดินถ้วนหน้า ไห้ร่ำรักเจ้าหล้า พ่างเพี้ยงตัวตาย
ภาพเขียนของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
เป็นอีกความรักของแม่ที่มีต่อลูก
ซึ่งพระลอก็เป็นพระโอรส ที่รักผูกพันและเทิดทูน พระชนนีมากเช่นกัน
หลวงวรเวทย์พิสิฐ เขียนไว้ว่า แม่มิใช่รักลูกแต่เมื่อมีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วก็ยังรักศพลูก สงสารศพลูก ความรักที่มีต่อลูกดังพระนางนาฏบุญเหลือ ขอจงเกิดผลดลใจให้ยุวชนทุกคนเห็นความสำคัญของแม่ และเมื่อเกิดอุดมผลเช่นนั้นแล้ว ขอจงได้ประสพสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทุกเมื่อ เทอญ
คัดลอกร่ายและโคลงจาก
แบบเรียนกวีนิพนธ์ กองวิชาการ กระทรวงธรรมการ เรื่อง
พระลอลิลิต
พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.๒๔๗๗
ปกกระดาษราคาเล่มละ ๕๐ สตางค์
โดยพลอยโพยมคงการสะกดตามต้นฉบับเดิม
ในคำนำของหนังสือนี้มีความว่า
ในคราวที่พิมพ์เป็นตำราเรียนนี้ใช้ต้นฉบับของหอพระสมุด ฯ เป็นแบบ .....
คุณลักษณะ
ลิลิตเรื่องนี้ มีรสไพเราะทั้งภาษิต โวหาร พรรณาสำนวนร้อยกรอง ให้ซาบซึ้งในธรรมชาติ ความรัก ความโศก และความกล้าหาญ จึงมีปราชญ์ภายหลังนิยมถอดเค้าออกมาแต่งเป็นบทละครไว้ต่าง ๆ คือความเก่าที่สุดเป็นพระราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ในรัชกาลที่สาม เรียกว่าเรื่องพระลอนรลักษณ์, เจ้าพระยาเทเวศน์วรวงศ์แต่งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ห้า, ต่อมาในรัชกาลนั้นเองพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์สำหรับเล่นละครส่วนพระองค์ นอกจากบทลิลิตและบทละครยังมีพระลอคำกลอนอีกความหนึ่ง เป็นฉบับมีในห้องสมุดกระทรวงธรรมการ ไม่ปรากฎว่าพิมพ์ที่ไหนและใครแต่ง
ที่มาของภาพ
เป็นภาพเขียนของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
วัลลภิศร์ สดประเสริฐและคณะ
ไขคำ
สระ แปลว่า ชะ ,ชำระ
เร้ง แปลว่าเร่ง (บังคับโท)
ไสร้ แปลว่า เทียว,ทีเดียว
ถะเมินไพร แปลว่า พรานป่า,ชาวไพร
ค้อยค้อย แปลว่า ค่อย ๆ ,เนืองๆ, เรื่อย ๆ, แปลบๆ,ไปมา,บ่อยเข้า,หนักเข้า
ภูวดา แปลว่า แผ่นดิน
เด็ด แปลว่าตัดใจ
ขว้ำ แปลว่าคว่ำ (บังคับโท)
หว่า แปลว่าแตก,เปล่า,ผวาล้ม
ยำ แปลว่า แม่น,จำให้แม่น
ยำ แปลว่าเกรง
หมั้น แปลว่ามั่น (บังคับโท)
เรื้อย แปลว่า ทุจริต
จรทก,จรเทิญ แปลว่าอับจน ,เข้าตาจน
เขือ แปลว่า บุรุษที่สอง,ท่าน
รา แปลว่า เล่า ,เรา (ราหัว เราหัวเราะ),เทอญ (บอกเร็วรา)
คัล แปลว่าเฝ้า
ระลวง แปลว่า เอน็จอนาถ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น