ดอกถอบแถบน้ำ
ถอบแถบน้ำ
ชื่อพฤกษศาสตร์: Derris trifoliata Lour.
วงศ์ LEGUMINOSAE (FABACEAE-PAPILIONOIDEAE )
ชื่ออื่น ทับแถบ ถอบแทบทะเล แควบทะเล ถอบแถบทะเล ผักแถบ
ลักษณะ
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาว 5-10 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 3-5 ใบ รูปไข่แกมรุปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปของขนานแกมรูปไข่กลับ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลมหรือมน
ดอก
มีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อกระจะที่ซอกใบ
ออกดอกระหว่างเดือนพฤกษาคม - ธันวาคม
ผล
เป็นฝัก รูปขอบขนาน เบี้ยว เมล็ดรูปไต มีเมล็ดเดียว
พบทั่วไปตามป่าชายเลนหรือขึ้นตามฝั่งแม่น้ำ ชายฝั่งคูคลองทั่วไป และพื้นที่เป็นดินเลนแข็งใกล้ทะเล ออกดอกระหว่างเดือนพฤกษาคม - ธันวาคม
ประโยชน์
ยาพื้นบ้านอินเดียใช้ทั้งต้นแห้งต้มน้ำดื่ม เป็นยาคลายกล้ามเนื้อปวดเกร็ง
ที่หมู่เกาะโซโลมอน ใช้รากแห้งเป็นยาเบื่อปลา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พรรณไม้ในสวนหลวง ร. 9 เล่มที่ 2
ลักษณะเด่น ต้นเป็นเถา มักเลื้อยพันต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะเหนียวใช้แทนเชือกได้
มีข้อมูลจากhttp://www.dmcr.go.th/rmc3/?p=217 ว่า
สามารถนำใบถอบแถบมาเป็นส่วนผสมในการทำแชมพูสมุนไพรกำจัดเหา โดยใช้ใบถอบแถบน้ำที่แก่จัดมาเป็นส่วนผสม
มีข้อมูลจาก http://tanhakit.blogspot.com/2010/12/blog-post_6691.html ว่า
ต้น ราก และ ใบนำมารับประทานเป็นยาระบาย แก้พิษตานซาง ถ่ายเสมหะ
ผลของถอบแถบน้ำ
ถอบแถบน้ำ นี้ที่บางกรูดเราเรียกกันว่าเถาวัลย์ เมื่อพลอยโพยมนึกถึงบทกวีเรื่องพระอภัยมณี ว่า
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ไม่เคีัยวคดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
พลอยโยมก็วาดภาพเถาวัลย์ตามลักษณะของเถาถอบแถบน้ำนี้ แม้แต่ทาร์ซานที่ห้อยโหนตัวด้วยเถาวัลย์ พลอยโพยมก็ยังใช้ภาพของเถาต้นถอบแถบน้ำ
ดอกตูมของถอบแถบน้ำ
ในวัยเด็กพลอยโพยมไม่เคยสังเกตดอกของถอบแถบน้ำว่าสวยงามอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวทั้งนี้เพราะช่อดอกเล็ก และกอถอบแถบน้ำนี้จะรกพาดพันกันเองพันยอดไม้อื่น ๆ แม้แต่ต้นเหงือกปลาปลาหมอ และบางทีก็เลื้อยพันต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ ๆ ช่อดอกที่สวยงามก็ไปบานสะพรั่งเสียสูงเกินสายตา เด็ก ๆ จะไปห่้อยโหนเถาวัลย์เล่น ก็รกมาก แถมมีมดแดง มากมาย ก็เลยไม่ได้ไปเล่นแถว ๆ กอแถบแถบ
ต่อมาเมื่อโตขึ้นก็ได้รู้จักต้น เถาวัลย์เปรียง หรือมีชื่ออื่นเรียกว่า เครือตาปลา พลอยโพยมก็ซื้อมาปลูกจากสวนจตุจักร เพราะคุณป้าคนขายชักชวน แต่ยังไม่ทันได้ชื่นชมดอกก็ถูกฟันทิ้งเสียก่อน แถมพี่ชายของพลอยโพยมยังดุว่า ปลูกได้อย่างไรกัน รกมาก เลื้อยเร็วด้วย
เถาวัลย์เปรียง, เครือตาปลา
ใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Derris scandens Benth.
ชื่อวงศ์ FABACEAE (PAPILIONACEAE)
ลักษณะเถาของถอบแถบน้ำ
ที่บ้านริมแม่น้ำของพลอยโพยมฝั่งขวามือไปทางด้านออกทะเลที่บางปะกง เลยหน้าบ้านน้องสาวของยายขา (คุณยาย) ที่อยู่ติดกัน มีกอถอบแถบน้ำนี้กอใหญ่มากยื่นล้ำออกมาจากฝั่ง เมื่อพลอยโพยมยังเด็กยังไม่ตั้งขื่อจริงอยู่ในวัยเดินเตาะแตะ เคยตกน้ำนานถึง 6 ชั่วโมง เพราะขึ้นมาจากสวนเพื่อจะเอาช้อนลงไปกินมะพร้าวอ่อนในสวน ผู้ใหญ่คาดการณ์ว่าคงเอาช้อนไปล้างที่บันไดท่าน้ำ แล้วหัวทิ่มลงแม่น้ำไป พลอยโพยมสำลักน้ำเข้าไปในท้อง ตัวพองหงายหน้าสู้ฟ้า มือกางออก ลอยตุ๊บป่อง ๆ ไปตามกระแสน้ำ จากหน้าบ้านยายขา มาหน้าบ้านน้องสาวยายขาและโชคดีที่มือกางไปติดกอถอบแถบกอใหญ่ที่ยื้นออกมา ตัวพลอยโพยมก็เลยไม่ลอยออกไปไกลกว่านี้ ด้วยระยะเวลาตกน้ำที่เนิ่นนาน คงทำให้วันนี้ไม่มีพลอยโพยมคนนี้หากไม่มีกอถอบแถบกอนั้น พลอยโพยมก็รู้สึกผูกพันกับถอบแถบน้ำ สำนึกในบุญคุญมาตลอด
ที่นอกชานบ้านก็จะมียอดเถาถอบแถบโผล่ขึ้นมาทักทายผู้คนเพราะมีหมู้ต้นแสมหลาย ๆ ต้น ปลูกเป็นแนวหน้าบ้าน จนกว่าจะมีการตัดแต่งกิ่ง เถาถอบแถบก็จะถูกฟันทิ้งไปด้วย พี่ ๆ จะสอนรุ่นน้อง ๆ ให้ เก็บใบถอบแถบ มาม้วนกลม ๆ บิบปลายด้านหนึ่งให้แบน แล้วยกขึ้นมาเป่า ก็จะเกิดเสียงดัง เด็ก ๆ เรียกกันว่า เป่าปี่ใบไม้
การทำปี่ใบไม้ถอบแถบจะต้องเลือกใบที่เหมาะกำลังดี ไม่อ่อนเกินไป เด็ดใบที่เลือกได้มาแล้ว ก็เอา ถู ๆ กับเสื้อตัวเอง ( เป็นการทำความสะอาดนั่นเอง) จับด้านโคนใบม้วนไปหาปลายใบ การม้วนก็ต้องม้วนให้ได้ที่ ไม่แน่นไป ไม่หลวมไป เสร็จแล้วใช้มือซ้ายบีบปลายด้านหนึ่ง เอามือขวาจับกลางใบไม้ที่ม้วนเพื่อไม่ให้รอยม้วนคลายออกจากกัน ยกขึ้นมาหาริมฝีปาก ออกแรงเป่าให้เต็มที่ เสียงปี่ที่ได้จากใบไม้แต่ละใบ แต่ละครั้ง เป่าแล้วจะได้เสียงที่ไม่เหมือนกัน ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ขนาดของใบไม้ ความแน่นจากการม้วน รอบบีบที่ปลายด้านหนึ่ง การออกแรงเป่า บางครั้งเสียงออกมาหลวม ๆ ใหญ่ ๆ ทุ้ม ๆ บางครั้งแหลมใส หรือบางครั้งเสียงออกมาเป็นเสียงลมฟู่ ๆ ก็มี ถ้าแรงเป่าไม่ดีขนาดเสียง ฟู่ ๆ ก็ไม่มีเหมือนกัน
เป่าได้ไม่กี่ที ก็โยนทิ้ง เก็บใบไหม่มาม้วนเป่าใหม่ เพราะน้ำลายคนเป่าเข้าไปอยู่่ในม้วนใบไม้
การเป่าปี่ใบไม้ก็สนุกสนานได้ชั่วครู่ชั่วยาม หรือบางทีก็ไม่สนุกนัก เพราะเป่าแล้วเสียงไม่ออกนั่นเอง ก็น่าแปลกว่าต้องใช้ใบถอบแถบเท่านั้นที่ม้วนทำปี่ได้ เพราะความแข็งที่พอดีของตัวใบไม้ ขนาดของใบไม้ รูปทรงของใบไม้ ใบไม้อื่น พื้นใบอาจแข็งกระด้างเกินไป แกนใบอาจแข็งเกินไป ใบไม้ใหญ่เกินไปหรือยาวเกินไป
และใบถอบแถบก็มีอยู่ทัวไปทั้งริมแม่น้ำ นอกชานบ่้าน ชายคลอง ริมคูน้ำในสวน นึกอยากเล่นเมื่อไรก็ทำได้ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาไกล ๆ ที่ปลายสวน และแม้แต่บริเวณท่อน้ำระหัดวิดน้ำของท้องนาก็ล้วนมีต้นถอบแถบน้ำ
ถอบแถบน้ำจะขึ้นเป็นกออยู่ตามริมชายน้ำต่าง ๆ ในลักษณะนี้
เมื่อพลอยโพยมออกไปถ่ายภาพประกอบหนังสือ วันวานของบางกรูด วันหนึ่งก็หยุดรถถ่ายภาพดอกลำพู เห็นดอกถอบแถบบานแทรกข่อดอกกระจัดกระจายอยู่กับหญ้าแห้ง ๆ ริมถนน ก็เลยดีงเถาเอามารวม ๆ ใกล้ ๆ กัน แล้วก็ถ่ายภาพไว้ เวลานั้นเป็นตอนบ่ายแดดร้อนมาก จึงรีบ ๆ ถ่ายอย่างไม่ได้ตั้งใจนัก เพราะพุ่งความสนใจไปที่ดอกลำพู พอเอากล้องกลับมาบ้านเปิดกับคอมพิวเตอร์ก็แปลกใจในขณะนั้น ว่า ดอกเถาวัลย์นี่สวยดีเหมือนกัน เรียกคนใกล้ตัวมาดู เขาบอกว่า อ๋อ นี่เป็นดอกถอบแถบน้ำ พลอยโพยมก็เถียงว่านี่เป็นดอกเถาวัลย์ต่างหาก ถอบแถบอะไร ไม่รู้จัก เถึยงจนคนอธิบายขี้เกียจอธิบายต่อ
พลอยโพยมก็รีบเปิดหา ศัพท์คำว่าเถาวัลย์ว่ามีคำอธิบายว่าอย่างไร ลักษณะต้นเป็นอย่างไร แล้วก็ได้ความว่า
เถาวัลย์ น. พรรณไม้ที่เป็นเถา,พรรณไม้เลื้อย.
ถูกต้องตามคำอธิบายของคุณมีนกร พลอยโพยมก็ทำเสียง อืม ...อืม...
เมื่อเปิดหนังสือต้นไม้ที่มีอยู่ แล้วก็ต้องร้องอ๋อ .....ว่า ต้นไม้ที่เราเรียกว่าเถาวัลย์มาตลอดนั้น ที่จริงเขามีชื่อว่าถอบแถบน้ำ
ยังมีถอบแถบอีกชนิดคือถอบแถบเครือ
ชื่อไทย
ถอบแถบเครือ
ชื่ออื่น
กะลำเพาะ, จำเพาะ (กลาง), ขางขาว, ขางแดง, ขางน้ำครั่ง, ขี้อายเครือ (เหนือ), เครือไหลน้อย (ชร), ตองตีน, ลำเพาะ (กลาง), ลาโพ,หมากสง (ใต้), เครือหมาว้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Connarus semidecandrus Jack
ชื่อวงศ์ CONNARACEAE
เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 2-6 เมตร
ดอก
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง 35 ซม. กลีบดอกสีขาวเมื่อแรกบานแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวแกมน้ำตาลอ่อน
ลักษณะผล
ผลแห้ง แตกได้ เมื่อสุกสีส้ม เมล็ดสีดำ มีเยื่อหุ้มสีเหลืองส้ม
สรรพคุณ ตำรายาไทยใช้
ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคเจ็บหน้าอก
ราก แก้ไข้
ใบและเถา เป็นยาระบาย ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้พิษตานซาง (โรคพยาธิในเด็ก มีอาการซูบซีด อ่อนเพลีย พุงโร ก้นปอด ท้องเสีย)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ สารานุกรมสมุนไพร เล่มที่ 2 สยามไภษัชยพฤกษ์
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=266
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น