ชื่อวิทยาศาสตร์ :Xylocarpus granatum Koen.
ชื่อวงศ์ : MELIACEAE
ชื่ออื่น : กระบูน, กระบูนขาว, ตะบูน (กลาง,ใต้); หยี่เหร่ (ใต้)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 8-20 เมตร ไม่ผลัดใบ
มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจ หรือ รากค้ำจุน ลักษณะแบนคล้ายแผ่นกระดานบ้าง กลมบ้าง ทอดตัวในแนวรัศมีรอบลำต้น
ลำต้นสั้น แตกกิ่งใกล้โคนต้น มีพูพอนแผ่ออกคดเคี้ยว ต่อเนื่องกับรากหายใจ เปลือกเรียบบาง สีเหลืองแต้มเขียวอ่อน หรือสีน้ำตาลอ่อน ถึงน้ำตาลแกมชมพู ลักษณะคล้ายเปลือกต้นฝรั่ง หรือตะแบก เปลือกหลุดออกเป็นแผ่นรูปทรงไม่แน่นอน
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ชั้นเดียว ไม่มีใบยอด เรียงสลับ ใบย่อยมักมี 1-2 คู่ เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูบไข่กลับ แผ่นใบสมมาตรกัน ปลายใบกลม ฐานใบรูปลิ่ม
ดอก ออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง แต่ละช่อมี 8-20 ดอก เป็นดอกแยกเพศ มีก้านดอกย่อย มีกลีบเลื้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ไม่ติดกัน สีขาวครีม เกสรเพศผู้ 8 อัน ดอกมีกลิ่นหอม ตั้งแต่บ่ายถึงคํ่า
ผล ลักษณะกลม แบ่งเป็น 4 พู เท่า ๆ กัน แต่ละผลมี 7-17 เมล็ด ลักษณะโคังนูนหนึ่งด้าน ผลแก่สีน้ำตาลแดงคล้ายผลทับทิม
ออกดอก-ผล ดลอดปี
ลักษณะเด่น ลำต้น ผล และราก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผลกลมคล้ายผลทับทิม เปลือกเรียบมีสีน้ำตาล
ตะบูนขาว มักขึ้นปะปนกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิด เช่น พังกาหัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ตาตุ่มทะเล และโกงกางใบเล็ก เป็นต้นขึ้นได้ดีในน้ำกร่อย ดินเลนแข็ง น้ำท่วมถึงเล็กน้อย สภาพดินเป็นกรด หรือดินโคลนปนทราย พบบ้างเล็กน้อยในบริเวณน้ำจืด
ต้นตะบูนอยู่ซ้ายมือสุด เติบโดอยู่บนพื้นบนบก เติบโตกับแสมและจาก
ประโยชน์
เปลือกไม้จะมีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติใน ช่องท้อง ใช้เป็นยาลดไข้ รักษาแผลภายใน หรือ ต้มตำให้ละเอียด พอกแผลสดเป็นหนอง แผลบวม ฟอกช้ำ
เปลือก และผลนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างทำความสะอาดบาดแผลได้ดี
ผล นำไปต้มใช้ดื่มแก้ท้องเสีย ป่วงลม หรือ ตากแห้งแล้วเผาไฟ ผสมเห็ดพังกาเผากับน้ำมะพร้าว เป็นยาทาแก้มะเร็งผิวหนัง หรือ ผสมเปลือกพังกา จะทำให้แผลมะเร็งยุบตัวเร็ว
เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง
เปลือก หรือ เมล็ด 1 - 2 เมล็ด ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ใช้ฝาดสมานแก้ท้องเสีย แก้บิด
เนื้อไม้ตะบูนขาวมีสีและลวดลายสวยงาม ใช้ตกแต่งทำเฟอร์นิเจอร์ได้ดี
เปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนัง สำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็นสีน้ำตาล ทำดินสอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com/
http://www.aquatoyou.com/
นอกจากต้นตะบูนขาวแล้ว ยังมีต้นตะบูนดำ ต้นตะบัน
แต่สำหรับที่ตำบลบางกรูดแล้วส่วนใหญ่แล้วจะพบแต่ต้นตะบูนขาว
ในสมัยเด็ก ๆ ต้นตะบูนขาวนี้ไม่ค่อยได้พบเห็นต้นขึ้นมาเติบโตอยู่บนฝั่งหรือจะเรียกว่าบนบกก็ได้อย่างในภาพ เพราะในสมัยก่อน ตามบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ ก็ไม่มีใครปล่อยพื้นที่ให้ต้นไม้ชายน้ำที่ไม่ได้เก็บดอกผลมากินได้ เติบโตขึ้นมาแย่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชผลอื่นที่มีประโยขน์กว่า
เด็ก ๆ อยากไปเก็บลูกตะบูนมาเล่น ไม่ว่า เล่นขายของ หรืออื่น ๆ ก็ต้องบุกป่าฝ่าดงจากเข้าไปซึ่งค่อนข้างยากลำบากเพราะกอจากแน่นไปหมด ( เนื่องจาก ต่นจากมีประโยขน์มาก ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้เจ้าของป่าจาก) เราจะบุกเข้าไปเดินสำรวจหาของต้องใจวัยเด็กได้สะดวก ๆ ก็หลังจากการตัดทางจากออกไปแล้ว ( สำหรับเอามาใบเย็บตับจากใช้มุงหลังคา ซึ่งขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ) หลังจากมีการตัดจากแล้ว กอจากก็จะโปร่ง และเราก็สามารถเดินเหยียบบนสะโพกจาก หรือทางจาก ที่คนตัดจากตัดทิ้งไว้ ไม่ต้องลุยเลนเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หรือไม่ก็เหยียบบนรอยตัดของต้นจากที่จะถูกคนตัดจากใช้มีดพร้าตัดจากตัดทางจาก เป็นรูปเฉียง ๆ เราก็เลือกเหยียบตอสะโพกจากที่ใหญ่ ๆ ให้สามารถวางเท้าของเราวางลงได้ (เพราะคนตัดจากจะฟันทางจากเฉียงสองด้านเข้าหากันคล้ายตัว วี V ) ถือเป็นการเล่นสนุกอีกแบบที่เดิน และกระโดดบนตอจากได้โดยไม่ต้องเหยียบลงบนเลนดินด้วย
สำหรับคุณประโยชน์ของต้นตะบูนที่ว่ามีเนื้อไม้ที่มีสีสันสวยงามใช้ตกแต่่งทำเฟอร์นิเจอร์ได้นั้น เป็นที่น่าเสียดายว่า ในสมัยเด็ก ๆ ที่บ้านของพลอยโพยม นำต้นตะบูนขาวมาเลื่อยแล้วผ่าตากทำเป็นฟืนสำหรับหุงหาอาหาร และพลอยโพยมรู้สึกว่า ฟืนไม้ตะบูนเป็นฟืนที่ดีกว่า ฟืนสะแกนา (ท่อนฟืนเรียบหยิบใช้สะดวก ไฟติดลุกทนนาน รองลงมาคือ ฟืนไม้สะแกนาแต่ท่อนฟืนไม่เรียบหยิบใช้ลำบากกว่าฟืนตะบูนเพราะต้นสะแกนามีหนามแข็ง ) ส่วน ฟืนคลัก ฟืนแสม ฟืนลำพู เป็นฟืนที่เนื้อไม้ไม่แข็งนัก
นอกจากนี้ตามแนวถนนหนทางไม่มีการจัดภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นสวยงาม รวมทั้งถนนหนทางก็มิได้เจริญอย่างปัจจุบัน ภาพชุดที่สองนั้น เป็นภูมิทัศน์ที่ตำบลท่าสะอ้านอำเภอบางปะกง นำต้นตะบูนขาวมาปลูกตกแต่งข้างถนนเข้าตัวตลาด แซมด้วยไม้คลุมดินสวยงาม
เมื่อพลอยโพยมย้ายบ้านมาอยู่ที่ตำบลแสนภูดาษ แม่ละม่อมคิดถึงบ้านริมน้ำที่บางกรูดมาก พลอยโพยมก็อุตส่าหฺ์บุกป่าจากเข้าไปหาต้น แสม คลัก ลำพู ตะบูนขาว ต้นจาก มาปลูกใส่กระถาง ให้แม่ละม่อมชื่นชม มาบัดนี้ไม่มีแม่ละม่อม ต้น คลัก ต้นตะบูนขาว ต้นลำพู ชุดดังกล่าว ก็พลอยลาลับไปกับแม่ละม่อมของพลอยโพยมด้วย น่าแปลกที่คงเหลือแต่ต้นจาก ที่ไม่จากพลอยโพยมไปกับแม่ละม่อม ทั้ง ๆ ที่มีชื่อว่าต้นจาก แต่ต้นจากไม่ลาจากพลอยโพยมไปแม้ว่าในบางช่วงไม่มีน้ำในกระถางที่ปลูกเลยเป็นเวลานาน
ต้นจากกระถางนี้ปลูกไว้หลายปีแล้ว
ลักษณะเปลือกของลำต้นตะบูนขาว
ต้นตะบูนขาวในป่าจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น