ต้นตะบูนที่ตำบลบางกรูดคือต้นตะบูนขาว ว่ากันว่าดอกตะบูนมีกลิ่นหอม ส่งกลิ่นในตอนบ่ายถึงค่ำนั้น ในสมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมไม่เคยได้กลิ่น เพราะต้นตะบูนส่วนใหญ่มักอยู่ในป่าจาก ซึ่งแม้แต่การเข้าไปในเวลากลางวันก็ต้องผจญกับยุงซึ่งต้องใช้คำว่ายุงตอมกันหึ่ง พอบ่ายตะวันคล้อยป่าจากก็เริมครึ้มอึมครึม ยิ่งถึงเวลาเย็นและค่ำก๋ไม่มีใครกล้ำกรายไปในป่าจาก ก็เลยไม่รู้ว่ากลื่นหอมนั้นหอมแบบไหน หอมรวยริน หอมตลบ หอมแบบเจือจาง ต้องเข้าไปสูดดมใกล้ ๆ หรืออย่างไร
ผลตะบูนขนาดเล็กแบบนี้ก็ไม่เคยสังเกตมาก่อนแถมอยู่ตามซอกใบ เวลาโค่นต้นตะบูนก็ไม่เคยไปพินิจพิจารณา การโค่นและริดกิ่งก็เป็นหน้าทืี่ของพวกผู้ใหญ่ทำกัน ได้แต่รู้ว่า เดี๋ยวมีงานเข้าแน่ ๆ ก็ คือการเลื่อยต้นตะบูนออกมาเป็นท่อน ๆ ไว้ผ่าทำฟืน
กิ่งของต้นตะบูนเหนียวมาก รวมถึงขั้วด้วยถึงสามารถรองรับน้ำหนักผลตะบูนที่ติดผลแต่ละคราวมีจำนวนมาก แถมผลใหญ่ หนัก แก่และร่วงช้ามาก
หลังจากนั้นผิวก็จะมีลายสีน้ำตาลมาเจือทั้งผล
ขั้วของผลตะบูนค่อนข้างใหญ่เกือบเท่ากิ่งก้านสาขาเล็ก ๆ ของลำต้น
กว่าจะแก่เต็มที่และร่วงหล่นลงมาใช้เวลาค่่อนข้างนาน ภายในผลเป็นลักษณะเป็นพู ๆ มี 4 พู มีเมล็ดประมาณ 7-17 เมล็ด เมล็ดนี้ทั้งแข็งและเหนียว เมื่อตกลงมาจากต้นผลก็แตกออกมาในลักษณะนี้
เนื่องจากต้นตะบูนต้นนี้เติบโตอยู่บนบก จึงสามารถถ่ายภาพธรรมชาตินี้มาได้
หลังจากนั้นเมล็ดก็จะกระจายออกจากกัน ด้วยการมีน้ำมาท่วมถึง หรือมีสิ่งมีชีวิตอื่นเช่นคน หรือน้องหมาเดินมาสะดุด
หากอยู่ในป่าจากริมน้ำก็จะถูกกระแสน้ำพัดพาออกจากกัน ลอยไปตามที่ต่าง ๆ สุดแต่สายน้ำจะนำพาไป ยังใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีลำต้นอ่อนโผล่ขึ้นมาจากเมล็ด เมล็ดละ 1 ต้น ตะบูน 1 ผล ก็สามารถแพร่พันธุ์ได้มากมายและตะบูนแต่ละต้นก็มีผลมากมาย ในภาพจะพอมองเห็นความหนาและเหนียวของเปลือกผลตะบูนได้
เปลือกผลตะบูน ผลตะบูน และเมล็ดตะบูนนี้มีคุณค่าทางสมุนไพร ตามที่กล่าวไว้แล้วใน พรรณไม้ชายน้ำ ..ตะบูนขาว
ผลตะบูนแบ่งเป็น 4 พู
ใช้วิธีการกรีดด้วยมีดตามรอยพูของพูตะบูนขาว เหมือนการกรีดทุเรียนเพื่อกินเนื้อทุเรียน
ต้องแหวะเมล็ดตามรอยของเมล็ด จะได้ดังภาพถัดไป
พลอยโพยมทดสอบ แบ่งออกมา 2 พู แกะออก แล้วต่อกลับเข้าไปใหม่แบบต่อจิ๊กซอว์ ตื่นเต้นมากที่พบของเล่นชิ้นใหม่ แต่อนิจจาต่อไม่สำเร็จ ใช้เวลาไปครึ่งวันแค่ 2 พูเอง เพราะเมล็ดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอเวลานานไปผิวเมล็ดก็เริ่มเหี่ยว พอตกเย็น ก็ประกบรอยได้ไม่สนิทเสียแล้ว
เมื่อนานไปเมล็ดนี้ก็จะจมดินมองไม่เห็น
ในขณะถ่ายภาพเมื่อสองปีก่อนนั้น พลอยโพยมต้องการภาพต้นจาก แต่ติดต้นตะบูนมาด้วยจะเห็นลำต้นที่ตั้งตรงเป็นสง่าบอกถึงแข็งแรง
ต้นตะะบูนขาว ต้นปอทะเล ต้นจาก ขึ้นปะปนกันตามริมชายฝั่งแม่น้ำ และบริเวณที่น้ำท่วมถึง
ลักษณะรากของต้นตะบูนที่คล้ายแผ่นกระดาน แต่เป็นแผ่นกระดานวางตั้งดังภาพ
ลักษณะของลำต้นต้นตะบูนที่มีรากตามภาพข้างบน ว่ากันว่าเนื้อไม้ตะบูนสวยงามนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ รวมทั้งเปลือกไม้นี้ก็มีประโยชน์ทางสมุนไพรหรืออุตสาหกรรม (แบบพึ่งพาธรรมชาติ) คือเปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนัง สำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็นสีน้ำตาล ทำดินสอ
ลักษณะทรงพุ่มต้นตะบูนขาว ที่สวยงาม มีกิ่งก้านสาขาและผลมากมาย
ต้นตะบูนนี้ยายขาและผู้ใหญ่ในบ้านเรียกหากันว่า ต้นกระบูน เมื่อพลอยโพยมไปขุดต้นตะบูนมาปลูกในกระถาง แล้วรายงานกับแม่ละม่อมว่าหาต้นตะบูนมาปลูกให้แล้ว แม่ละม่อมถามว่า ต้นอะไรนะอ๋อต้นกระบูนเหรอ พลอยโพยมเรียนท่านว่า เขาเรียกว่าต้นตะบูนนะแม่ แม่ละม่อมบอกว่า ก็แม่เรียกว่าต้นกระบูน เขาเรียกกระบูนกันทั้งบาง เรียกมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ตอนนั้นพลอยโพยมก็ไม่ได้สนใจเรื่องชื่อ ที่เรียกต้นตะบูนนั้นก็เรียกตามลูกเขยของแม่ละม่อมนั่นเอง ซึ่งเขาบอกไว้ว่าต้นตะบูน มีตะบูนขาว ตะบูนดำ และมีต้นตะบันด้วย พลอยโพยมก็เลยเรียกต้นกระบูนที่เคยเรียกหามาในสมัยเด็ก ๆ ว่าต้นตะบูน เพราะถ้าเรียก ตะบูนขาวว่ากระบูนแล่้ว เอจะเรียก กระบูนดำ กระบัน ด้วยไหมคงฟังดูแปลก ๆ พิกลอยู่ แต่ทุกวันนี้ พี่ ๆ น้อง ๆ ของพลอยโพยมก็ยังเรียกตะบูนขาวนี้ว่า ต้นกระบูนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น