ปอทะเลดอกชั้นเดียว
ชื่อพฤกษศาสตร์: Hibiscus tiliaceus L.
ชื่อพื้นเมือง ปอทะเล
ชื่อท้องถิ่น ชื่อท้องถิ่น: โพทะเล (กรุงเทพฯ) บา (จันทบุรี),ผีหยิก ขมิ้นนางมัทรี(เลย), ปอฝ้าย ปอนา ปอมุก (ใต้), ปอโฮ่งบารู (มลายู-นราธิวาส)
วงศ์ MALVACEAE
ปอทะเล เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3 - 7 เมตร
ลำต้น
มักคดงอ แตกกิ่งมาก เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือก เรียบ หรือ แตกเป็นร่องตื้นๆ สีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกชั้นในสีชมพูประขาว เหนียว สามารถลอกออกจากลำต้นได้ง่าย
ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเว้าลึก ขอบใบหยักมนถี่ เส้นใบออกจากโคนใบ 7 - 9 เส้น และที่เส้นกลางใบอีก 4 - 6 คู่ มีหูใบที่โคนก้านใบ ร่วงง่าย มีก้านใบ มีขนยาวนุ่ม ผิวใบด้านบนมีขนบางๆถึงเกลี้ยง ด้านท้องใบมีขนละเอียดสีขาว
ปอทะเลดอกซ้อน
ดอก
ออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุกหรือช่อแยกแขนง มีก้านดอก ริ้วประดับรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกลึก 8 - 11 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม วงกลีบเลี้ยงรูประฆัง มี 5 กลีบ มีขนละเอียดหนาแน่น แต่ละกลีบรูปใบหอก ยาวกว่าหลอดกลีบเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ วงกลีบดอกใหญ่รูปไข่ โคนกลีบดอกด้านในยาวกว่า
ดอกปอทะเลมีหลอดเกสรเพศผู้ สีแดงเข้ม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรมีสีเหลืองและเชื่อมรวมกัน เป็นหลอดหุ้ม ล้อมก้านเกสรเพศเมีย โคนของหลอดเชื่อมติดกับโคนของกลีบดอก อับเกสรสีเหลืองรูปไต ละอองเกสรขนาดใหญ่ กลม รี และมีผิวเป็นหนาม อับเกสรมี 1 ห้อง เกสรเพศเมียรังไข่เหนือวงกลีบ ภายในห้อง 5 ห้อง เชื่อมติดกัน ก้านเกสรยาวทอด ขึ้นไปกลางหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรแยกเป็นแฉกเท่าจำนวนห้องรังไข่ มีเม็ดไข่มาก กลีบดอก สีเหลืองก่อนจะเปลี่ยนเป็น สีส้มในตอนบ่าย และเป็นสีแดงในตอนเย็น
ปอทะเลจะออกดอก - ผลเกือบตลอดปี
ผล
ผล รูปไข่ เกือบกลม มีขนละเอียดหนาแน่น มีจะงอยสั้น ผลอยู่ภายในวงกลีบเลี้ยงรูปถ้วยที่ติดคงทน ผลแก่แตกตามยาว 5 พูเมล็ดเล็กมีจำนวนมาก
ประโยชน์
เปลือกไม้และรากใช้ต้มทำยาแก้ไข้ ใบอ่อนกินเป็นผัก เปลือกใช้ทำเชือกและหมันยาเรือ
เนื้อไม้ของปอทะเลมีความถ่วงจำเพาะ 0.6.นำไปใช้ในงานช่างไม้ได้ เช่นทำเรือ
ชนพื้นเมืองในฮาวายนำเนื้อไม้ไปสร้างเรือแคนู
ปลูกเป็นไม้ประดับ ประเทศในแถบเอเชียนิยมนำปอทะเลไปทำบอนไซ
Cyanidin-3-glucoside เป็นแอนโทไซยานินชนิดหลักที่พบในดอกของปอทะเลใบของปอทะเลมีสารต้านอนุมูลอิสระและ มีกิจกรรมต่อต้าน tyrosinase
มักพบตามชายทะเล รอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม แม่น้ำลำคลอง น้ำกร่อย หรือ ป่าชายเลน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com
http://www.dmcr.go.th
วิกิพีเดีย
ปอทะเลดอกซ้อน
ปอทะเลดอกชั้นเดียว เป็นปอทะเลที่พลอยโพยมซื้อมา โดยคนขายบอกพลอยโพยมว่า เป็นปอทะเลแคระ เมื่อนำมาปลูกก็รู้สึกว่าต้นและใบเล็กกว่าปอทะเลธรรมดา รวมถึงใบจะหนากว่าธรรมดาด้วย อันที่จริงหากมีการตัดตกแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มสวยงามเหมือนแรกซื้อมา ปอทะเลต้นนี้ก็คงไม่สูงขนาดถ่ายรุปดอกไม่ถึงเสียแล้ว ภาพที่สื่อนี้ถ่ายเก็บไว้สองปีแล้ว
แม้จะอยู่ในกระถางแต่ปัจจุบันนี้เวลาปอทะเลดอกชั้นเดียวสองต้นนี้ออกดอกพลอยโพยมก็ถ่ายรูปไม่ถึงเสียแล้ว
ปอทะเลเป็นพรรณไม้ที่พบเห็นทั่วไปทุกเมื่อเชื่อวันที่ตำบลบางกรูด ไม่ว่าจะเดินอยู่บนบก หรือพายเรือในแม่น้ำ สำหรับบนบก ปอทะเลอยู่ตามชายน้ำทั่วไป ทั้งชายคลอง ขายคู (หลุุมหลาของถนน) สองข้างถนนในหมู่บ่้านจะมีปอทะเลซึ้นอยู่ข้างทางโดยทั่วไป สำหรับปอทะเลที่อยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำ หรือชายคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ เมื่อถึงเวลาบ่ายและเย็น ดอกปอทะเลก็ร่วงโรยหล่นลงน้ำ สายน้ำก็พัดพาดอกปอทะเลออกมาสัญจรจากต้นเดิม บางทีกระแสน้ำแรง ๆ ดอกปอทะเลก็จะลอยอยู่ห่างฝั่งมาก หากพายเรือข้ามแม่น้ำในช่วงน้ำขึ้น ก็จะพบดอกปอทะเล ทั้งเหลือง แสด และแดง ลอยประดับประดาแม่คงคา
ในสมัยเด็กพลอยโพยมออกจะกลัวดอกปอทะเลที่ลอยห่างฝั่งมาก ๆ แม้จะรู้สึกว่า ดอกปอทะเลช่วยเพิ่มสีสันให้ลำน้ำมีดอกไม้สวย ๆ ลอยประดับประดาโรยหน้าให้ เพราะในจินตนาการ วาดภาพว่ามีผีน้ำที่เราเรียกกันว่าผีพรายน้ำ นำพาดอกไม้ออกมานอกชายฝั่ง หากใครซุกซนเก็บขึ้นมาจะถูกผีน้ำฉุดลงไป แม้แต่เวลาเล่นน้ำหากมีดอกปอทะเลลอยมาใกล้ ๆ ก็จะเอามือพุ้ยน้ำออกไปไกล ๆ ก็จำไม่ได้เพราะพี่ ๆ น้อง ๆ คนไหนจุดประกายจินตนิยายเรื่องนี้เป็นตุเป็นตะขึ้นมาเล่าสู่ให้สยองขวัญกับดอกไม้สวย ๆ ที่ลอยเท้งเต้งในแม่น้ำ
โดยส่วนตัวแล้วพลอยโพยมชอบดอกปอทะเลมาก หากพายเรือฝ่านต้นปอทะเลที่อยู่ชายฝั่งมีกิ่งก้านยื่นระน้ำอยู่ หากมีดอกก็ชอบเด็ดดอกมาดูเล่น
พลอยโพยมเก็บดอกปอทะเล ที่ยังเป็นสีเหลือง โดยเด็ดมาทั้งก้านแช่กระแป๋งที่ใส่น้ำไว้ ในตอนสาย ๆ มาถึงบ้านก็เปลี่ยนแช่ในโหลแก้ว และถ่ายภาพเวลา 15.30 น. ก็ได้ดอกปอทะเลเป็นสีส้มดังภาพ
พลอยโพยมไม่เคยสังเกตความแตกต่างของปอทะเล และโพทะเล เพราะที่บางกรูดไม่มีต้นโพทะเล หรืออาจมีแต่น้อยมาก มองผาด ๆ อย่างไม่พินิจพิจารณา ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแตกต่างกันอย่างไร เมื่อสองปีก่อนถ่ายภาพดอกโพทะเลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทราเก็บไว้ก็ไม่เฉลียวใจว่าถ่ายภาพดอกโพทะเลมา คนข้างตัวบอกว่าที่ศูนย์ ฯ มีต้นโพทะเลเยอะ
เมื่อสังเกตใหม่พลอยโพยมพบว่า แถบตำบลแสนภูดาษซึ่งอยู่ในอำเภอบ้านโพธิ์เหมือนตำบลบางกรูด แต่อยู่ติดกับอำเภอบางปะกง สองข้างทางกลับเป็นต้นโพทะเล หาต้นปอทะเลได้น้อย ยิ่งในอำเภอบางปะกงก็ยิ่งพบต้นปอทะเลน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นต้นโพทะเล
ต้นโพทะเล
พลอยโพยมรู้ว่าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา มีพันธุ์ไม้ชายเลนมากมาย เมื่อหลายปีก่อน ศูนย์มีการปลูกป่าชายเลน โดยเสาะหาพันธู์ไม้ป่าชายเลนจากแหล่งอื่น ๆ มาปลูกไว้มากมาย เพราะหากไม่เสริมการปลูกขึ้นมาปล่อยให้เป็นป่าชายเลนตามธรรมชาติ ก็จะไม่มี่พันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิด
แต่เมื่อพลอยโพยมเข้าไปแล้วก็พบว่า พันธุ์ไม่้หลายชนิดตายไปด้วยหลาย ๆ สาเหตุ คนที่จะบอกพลอยโพยมว่า ไม้ป่าชายเลนแปลก ๆ ที่แต่เดิมไม่ค่อยมีในพื้นที่บางชนิดและปลูกด้วยมือมนุษย์อยู่แนวไหนของป่า ก็หมดวาระดูแลศูนย์นี้ไปหลายปีแล้ว ทางเดินที่เคยทำวนเสียบซอกแซกเข้าไปก็รกด้วยหญ้า พลอยโพยมก็เลยหมดปัญหาเข้าไปสำรวจและเก็บภาพมา เข้าไปได้ไม่ไกลนักก็ถุกประทุษร้ายด้วยฝูงยุง แสนเสียดายที่หลายปีก่อนมีคนชักชวนให้พลอยโพยมเข้าไปชื่นชมพันธุ์ไม้พวกนี้ แต่พลอยโพยมก็ไม่ได้เข้าไปลึก ๆ ไปดูแบบเอาใจคนชักชวนเท่านั้น ประเภทอือออห่อหมกให้คนชวนไม่เสียกำลังใจเท่านั้น
ปัจจุบันก็จะมีต้นโกงกางใบใหญ่เป็นพระเอกของศูนย์นี้เพราะอยู่แนวนอกเลียบถนนมองเห็นได้ง่าย ขับรถเข้าไปก็เห็นเลย
ต้นโพทะเลที่ศูนย์ ต้นใหญ่ ๆ ตายไปหลายต้น แต่ก็มีต้นเล็ก ๆ ที่จะมาทดแทนได้ในอีกไม่ช้า สุดแสนเสียดายต้นลำพูใหญ่ดอกสีชมพู ซึ่งสีสวยกว่าลำพูสีชมพูต้นอื่น ๆ ที่พลอยโพยมพบมาตายไปแล้ว นี่ก็เป็นสัจธรรมของอนิจจังอย่างหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น