วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พรรณไม้ชายน้ำ ..โกงกาง


โกงกางใบเล็ก


โกงกางใบเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์     Rhizophora apiculata Blume 
และมีชื่อพ้องทางวิทยาศาสตร์ คือ      R. conjugata Kurz และ R. candelaria DC.
ชื่อวงศ์        Rhizophoraceae
ชื่ออื่น     โกงกาง (ระนอง)  พังกาใบเล็ก (ภาคกลาง)  พังกาทราย (กระบี่)  พังกาใบเล็ก (พังงา)  (สะอาดและคณะ, 2525)




โกงกางใบเล็ก  
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีเปลือกหนา เปลือกสีเทาเกือบเรียบ เมื่อทุบทิ้งไว้สักครู่ด้านในของเปลือกจะเป็นสีแสดอมแดงถึงแดงเลือดหมู กระพี้สีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้เป็นมันวาว น้ำหนักมาก ( เสี้ยนตรง (วิรัชและดำรงค์, 2517) มีรอยแตกตามแนวตั้งมากกว่าแนวนอน เปลือกไม้โกงกางใบเล็กมีแทนนินมากประมาณ 7-27 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักเปลือกไม้




 ใบ   
เป็นชนิดใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงข้ามกัน ใบแต่ละคู่จะออกสลับทิศทางกัน ขอบใบเรียบ ใบหนาเป็นมัน รูปใบมน (elliptic) ค่อนไปทางรูปใบหอก ฐานใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม (Cuneate) ปลายใบแหลม (Acute) หรือเป็นติ่ง (Apiculate) สีดำ มองเห็นชัดเจน มีหูใบสีแดงเข้ม . หุ้มใบอ่อนไว้ ใบเกลี้ยงทั้งหน้าใบและหลังใบมีจุดสีน้ำตาล


ดอก  
เป็นดอกช่อ ช่อหนึ่งมี 2 ดอกย่อยอยู่ชิดกันแตกออกจากซอกใบตรงปลายกิ่ง ที่ฐานดอกย่อยมีใบประดับ  รูปถ้วยรองรับ เมื่อแห้งจะมีลักษณะแข็ง กลีบเลี้ยง มี 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง แข็งอวบ โคนกลีบติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉกรูปไข่ ปลายแหลมและยังคงติดอยู่จนเป็นผล กลีบดอก มี 4 กลีบ เป็นแผ่นบาง ๆ สีขาวรูปใบหอก ไม่มีขน ร่วงเร็ว  เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน  จะออกดอกประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม (ไพศาล, 2532)

 ผล                    
มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายไข่เมื่อแก่จะไม่แตก เปลือกของผลหยาบสีน้ำตาล มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายใน 1 ผล มี 1 เมล็ด ซึ่งเมล็ดไม่มีการพักตัว จะเจริญต่อไปในขณะที่ผลยังติดอยู่บนต้นแม่  เมล็ดจะงอกแทงทะลุออกมาทางปลายผล ตามด้วยส่วนของต้นอ่อน  ซึ่งเจริญยาวออกเรื่อย ๆ มีลักษณะปลายแปลมยาว สีเขียว หรือเรียกโดยทั่วไปว่า ฝัก  ผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เมื่อผลแก่ จะหลุดออกจากเปลือกผลปักลงดินเลนก็จะงอกทันที แต่ถ้าหล่นลงขณะน้ำทะเลขึ้นก็จะลอยไปตามน้ำ และมีชีวิตประมาณ 2 เดือน เมื่อเกยตื้นหรือติดอยู่กับที่จะงอกทันที (ไพศาล, 2532)




โกงกางใบเล็ก  เป็นไม้ที่ขึ้นในดินเลนค่อนข้างอ่อน และมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอบริเวณชายฝั่งทะเล ริมคลอง และริมแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง และมักขึ้นเจริญเติบโตอยู่ตามบริเวณด้านนอกของป่าชายเลน ซึ่งการกระจายของโกงกางใบเล็กจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา พบไม้โกงกางใบเล็กขึ้นกระจายทั่วไปถัดจากกลุ่มไม้ลำแพน นอกจากนี้ยังพบโกงกางใบเล็กขึ้นอยู่ในบริเวณริมฝั่งของเขาหินปูน เขาหินเชล และควอทไซด์ สำหรับป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด พบโกงกางใบเล็กขึ้นอยู่ลึกเข้าไปจากขอบป่า ช่วง 20-90 เมตร หลังเขตแนวของไม้ลำพูและไม้แสม (ไพศาล, 2532)





ประโยชน์ของไม้โกงกางใบเล็ก 
                   1.  การใช้ทำฟืนและถ่าน ผลผลิตไม้จากป่าชายเลนส่วนใหญ่ (80-90%) นำไปผลิตฟืนและถ่าน โดยเฉพาะไม้โกงกางทั้งโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก เนื่องจากให้ความร้อนสูงและนานโดยให้ค่าความร้อนประมาณ 6,600-7,200 แคลอรี่/กรัม มีขี้เถ้าน้อยและไม่มีสะเก็ดไฟเวลาใช้ ถ่านไม้โกงกางเป็นถ่านที่มีคุณภาพดีเป็นที่นิยมของผู้ใช้โดยทั่วไป
                   2.  การทำไม้เสาเข็มและไม้ค้ำยันเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากเนื้อไม้จะใช้เผาถ่านแล้ว ยังใช้ทำเสาเข็ม และไม้ค้ำยันเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี เนื่องจากไม้โกงกางมีลักษณะเปลาตรง มีความแข็ง และความเหนียว
                   3.  การสกัดแทนนิน เปลือกของไม้โกงกาง ทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ เป็นแหล่งของแทนนินและฟีนอลธรรมชาติที่มีราคาถูกที่สุด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำหมึก ทำสี ยา ใช้ในการฟอกหนัง และใช้ทำกาวสำหรับติดไม้ จากเอกสารของจิตต์  คงแสงไชย (2525) ได้รายงานว่าในเปลือกไม้โกงกางใบเล็กมีแทนนิน ประมาณ 7-27% (คิดเทียบจากน้ำหนักของเปลือก)
                   4.  การใช้ประโยชน์อื่น ๆ เนื้อไม้โกงกางมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องมือเครื่องใช้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้/ไม้เอนกประสงค์/โกงกางใบเล็ก
โกงกางใบใหญ่




โกงกางใบใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora mucronata Poia
วงศ์ : RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น : กงกอน (ชุมพร); กงกางนอก (เพชรบูรณ์): กงเกง(นครปฐม): พังกาใบใหญ่ (ใต้)






โกงกางใบใหญ่ เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ที่มีขนาดใหญ่ สูง 30-40 เมตร เปลือกหยาบ สีเทาถึงดำ แดกเป็นร่องทั้งตามยาวและขวาง หรือแตกเป็นร่องตารางสีเหลี่ยม หากทุบเปลือกทิ้งไว้สักครู่ ด้านในของเปลือกจะเป็นสีเหลืองถึงส้ม รอบๆ โคนต้นมีรากค้ำจุนทำหน้าที่พยุงลำต้น บางครั้งพบว่ามีรากอากาศที่งอกจากกิ่งอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก



ใบ 
เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทางกัน แผ่นใบอวบใหญ่ รูปรีกว้าง ปลายใบแหลม มีติ่งแหลม เล็ก และแข็ง ฐานใบสอบเข้าหากันรูปลิ่ม ก้านใบสีเขียว หูใบที่ปลายยอด สีเขียวอมเหลือง  ใบเกลี้ยง ใบด้านบนสีเขียวอ่อน ท้องใบสีออกเหลือง มีจุดดำเล็กๆ กระจายอยู่เต็มท้องใบ




ดอก 
ออกเป็นช่อที่ง่ามใบ มีก้านช่อดอก มีก้านดอกย่อย มี กลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อน 4 กลีบ รูปไข่ 1.2-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย สีขาว รูปใบหอก  มีขนปกคลุมตามขอบ  ดอกมีกลิ่นหอม



ผล 
รูปไข่ ยาว แคบลงทางส่วนปลาย สีน้ำตาล-เขียว ผิวผลหยาบ งอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยง หรือ "ฝัก" สีเขียว มีตุ่ม ทั่วทั้งฝัก ฝักตรง โคนแหลม ใบเลี้ยง สีเขียว 





ประโยชน์
ลำต้นใช้เถาถ่าน ทำฟืน ทำเสา เยื่อกระดาษ 
ใบอ่อน ใช้พอกแผลสด ห้ามเลือด 
น้ำฝาดจากเปลือก ใช้ย้อม ผ้า แห อวน หนัง




โกงกางใบใหญ่ ขึ้นได้ดีบริเวณที่เป็นดินเลนอ่อนและลึก ริมชายฝั่งทะเล ริมคลอง ที่น้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ และเป็นเวลานาน
ขอบคุณข้อมูลจาก

หมายเหตุ
โกงกางใบเล็ก
 ดอกมีก้านดอกสั้นออกช่อละคู่ รากมีหนึ่งหรือสองรากที่ทำมุมตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน ใบมีขนาดเล็กและท้องใบมีสีเขียวเข้ม ลำต้นใต้ใบเลี้ยงโค้ง เปลือกเทาอมชมพู ก้านใบสีแดงอ่อนจนถึงกึ่งกลางเส้นใบ




โกงกางใบเล็ก


โกงกางใบใหญ่
ลักษณะเด่น รากหายใจโค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมฉาก  มีใบขนาดใหญ่หลังใบสีเขียวอ่อน ท้องใบสีเหลือง ปลายใบเป็นติ่งแหลมเล็กและแข็งมาก ผิวเปลือกหยาบ ดอกออกเป็นช่อ ตั้งแต่ 2-12 ดอก ก้านช่อดอกยาว  หูใบสีเขียวอมเหลือง ผลคล้ายรูปไข่ปลายขอด 


โกงกางใบใหญ่

ซึ่งแตกต่างจากโกงกางใบเล็ก ซึ่งมีรากหายใจ 1 – 2 ราก ที่หักเป็นมุมฉากลงดิน ใบเล็กกว่า หูใบ ก้านใบมีสีแดงเรื่อๆ ออกดอกเป็นคู่ ก้านดอกสั้น ผลรูปแพร์กลับ 



โกงกางใบเล็ก

ประโยชน์ทางสมุนไพรของโกงกางใบเล็ก
เปลือกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมาน แก้ท้องร่วง คลื่นเหียน อาเจียน แก้บิดเรื้อรัง หรือตำให้ละเอียดพอกห้ามเลือดบาดแผลสดได้ดี ใบอ่อนนำมาบด หรือ เคี้ยวให้ละเอียดพอกแผลสดห้ามเลือดและป้องกันเชื้อโรคได้





โกงกางใบใหญ่


ประโยชน์ ทางสมุนไพรของโกงกางใบใหญ่
ใบชงน้ำดื่มแก้ไข้ ใบอ่อนบดหรือเคี้ยวให้ละเอียด พอกแผลสด ห้ามเลือดและป้องกันเชื้อโรค เปลือกลำต้นต้มกับน้ำดื่ม ห้ามโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดเรื้อรัง บำบัดเบาหวาน แก้แผลฟกช้ำ บวม น้ำเหลืองเสีย หรือตำพอกห้ามเลือด และบาดแผลสด หรือเผาใส่แผลสด รากอ่อน กินเป็นยาบำรุงกำลัง ผลอ่อน เคี้ยวพ่นใส่แผล แก้พิษปลาดุกทะเล ปลากระเบนทะเล
ขอบคุณข้อมูลจาก
tanhakit.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น