วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พรรณไม้ชายน้ำ..พังกาหัวสุม...ขลัก ...คลัก

พังกาหัวสุม

ชื่ออื่น : ประสัก, โกงกางหัวสุม, พังกาหัวสุม, (ภาคกลาง); ขลัก



พังกาหัวสุมดอกขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera sexangula (Lour.) Poir.

ชื่อวงศ์: RHIZOPHORACEAE



พังกาหัวสุมดอกขาว

เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ใหญ่ สูง 10 - 20 เมตร เรือนยอดกลมเป็นพุ่มแน่นทึบ โคนต้นเป็นพูพอน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากช่วยหายใจรูปคล้ายเข่า มีรากค้ำจุนขนาดเล็ก ลำต้น โคนต้นมีพูพอนสูง กิ่งอ่อนสีเขียว บางครั้งเหมือนถูกย้อมด้วยสีแดง ผิวเปลือกหยาบมีตุ่มขาว เป็นจุดประตลอด ลำต้น แตกเป็นร่องตามยาว ช่องอากาศขนาดใหญ่มีน้อยมีเฉพาะที่พูพอน เปลือกสีเทาเข้มถึง สีน้ำตาลอมเทา

ใบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ สลับตั้งฉาก ออกถี่่ ๆ ตามปลายกิ่ง รูปรีถึงรูป ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ผิวใบเรียบหนา คล้ายแผ่นหนัง ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเขียวอมเหลือง คู่ เส้นกลางใบด้านล่างมีแดงเรื่อ ๆ ก้านใบกลม มีสีแดงเรื่อ ๆ หูใบแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง . สีแดง ร่วงง่าย



ดอก

ดอกสีส้มแกมน้ำตาลออกเดี่ยวที่ซอกใบ ดอกมักคว่ำลง ดอกตูมรูปกระสวย กลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ ลึกลงครึ่งหนึ่ง 10-12 แฉก ปลายแหลม มีขนสั้น ๆ ปกคลุมและมีรยางค์เป็นเส้นแข็งติดที่ปลาย เมื่อ ดอกบานจะมีลักษณะคล้ายสุ่ม

ผล

มีเมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น เป็นต้นอ่อน เรียกว่า “ฝัก” หรือลำต้นใต้ใบเลี้ยง รูปทรงกระบอกยาวคล้ายซิการ์ เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเล็กน้อย สีเขียวเข้มแกมม่วง เมื่อแก่จัดมีสีม่วงดำ

พังกาหัวสุมดอกขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีขาว ฝักคล้ายรูปซิการ์ แตกต่างจากพังกาหัวสุมดอกแดงที่มีกลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว กลีบดอกสีแดงอมชมพู ฝักคล้ายรูปกระสวย

จะพบมากในเขตป่าชายเลน ที่มีความเค็มของน้ำค่อนข้างต่ำ ขึ้นกระจายถัดเข้าไปจากแนวโกงกางใบเล็ก บนพื้นที่ดินค่อนข้างแข็ง เหนียว และ น้ำท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ

ประโยชน์

ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะเป็นไม้ที่มีรูปทรงสวย ลำต้นใช้ทำฟืน เผาถ่าน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือประมง เสาโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่



ฝัก พังกาหัวสุม สามารถนำมาเชื่อมรับประทานได้

โดยมีขั้นตอนดังนี้

เนื่องจากฝัก พังกาหัวสุมปกติจะมีรสฝาด ก่อนการเชื่อมต้องกำจัดรสฝาดออก การเชื่อมนี้นิยมใช้พังกาหัวสุมดอกแดง

1.เลือกเก็บฝักพังกาหัวสุมที่โตเต็มที่แต่ยังไม่แก่ นำมาล้างน้ำให้สะอาด

2.นำฝักพังกาหัวสุมมาต้มจนสุก ปลอกเปลือกแล้วแช่น้ำด่างแล้วนำมาแช่ในน้ำปูนใส

3.นำฝักพังกาหัวสุมไปต้มอีกครั้งและรินน้ำออกให้หมด

4.นำไปเชื่อมโดยใช้ไฟอ่อน เพื่อให้น้ำเชื่อมเข้าไป ในฝักพังกาหัวสุม

5.นำไปรับประทาน

การสืบพันธุ์

เก็บฝักพังกาหัวสุมที่โตเต็มที่ ที่ร่วงลงดิน นำฝักไปปักลงดิน ก็จะสามารถเจริญเติบโตกลายเป็น พังกาหัวสุมต้นใหม่ได้

ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ได้: ฤดูร้อน-ฝน

ชอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ

หนังสือพรรณไม้ในสวนหลวงร 9 เล่มที่ 2



พังกาหัวสุมดอกแดง



พังกาหัวสุมดอกแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny

วงศ์ : RHIZOPHORACEAE



มีบทคัดย่อของ สุดารัตน์ หอมหวล 4536900 PYPP/D ปร.ด. (เภสัชเคมี และพฤกษเคมี) ที่ทำการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งของสารสกัดจากดอกพังกาหัวสุม (B. gymnorrhiza) โดยนำผงดอกมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่า

มีสารป้องกันมะเร็งจากพังกาหัวสุมดอกแดง (CANCER CHEMOPREVENTIVE AGENTS FROM Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny FLOWERS.)

ติดตามรายละเอียดได้จาก

rgj.trf.or.th/abstract/th/PHD45K0191-Sudarat.pdf

พังกาหัวสุม หรือประสัก หรือ ขลัก นี้ ที่บางกรูด เรียกกันในเฉพาะท้องถิ่น ว่า ตันคลัก หรือต้นคัก ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าขลักนั่นเอง



พังกาหัวสุมดอกสีแดงนี้ไม่ค่อยมีในธรรมชาติทั่ว ๆ ไปที่ตำบลบางกรูด หรือเมืองแปดริ้ว ภาพทั้งหมดของพังกาหัวสุมดอกแดง เหล่านี้เป็นพังกาหัวสุมที่ปลุูกไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา



ต้นคลักดอกขาวที่มีคนปลูกเป็นแนวถนนบ้างเหมือนกันภาพนี้เป็นทางเข้าเรือนลำพูรีสอร์ท

ทรงพุ่มที่สวยงามของต้นคลักของชาวบางกรูด

ต้นคลักที่บางกรูด มักชึ้นที่ชายฝั่งแม่น้ำ ชายคลอง ในแนวที่อยู่ในระดับชายฝั่งสูงกว่าแนวของพรรณไม้ชายเลนอื่น ๆ เช่น จากแสม ลำพู และต้นตะบูน รวมทั้งบางครั้งก็ขึ้นไปอบู่บนฝั่งผืนดินเลยที่เดียว พรรณไม้ชายเลนเหล่านี้ไม่ต้องมีการปลูก ฝักหรือผล ของพันธุ์ไม่้ต่าง ๆ จะร่วงหล่นจากต้น โดยเฉพาะต้นคลักซึ่งกินรัศมีบนพื่นดินชายฝั่ง หรือฝักที่ร่วงหล่นลงน้ำก็จะไหลลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่อมีคลื่นซัดฝักหรือผลก็จะถูกกระแทกขึ้นไปอยู่ในระดับริมชายฝั่ง หรือเกิดจากนานไป ๆ ชายฝั่งที่เป็นฝั่งคุ้ง ชายฝั่งของผืนแผ่นดินงอกยื่นออกไปจนตื้นเขิน ตันคลักก็เลยไม่อยู่ในเขตน้ำท่วมถึงโคนต้นก็มี


ค้นคลักมีกิ่งก้านที่เหมาะกับการผูกชิงช้าให้เด็ก ๆ เล่นชิงข้าได้ แม้ว่าจะมีความสูงมากแต่ก็จะทำให้ชิงช้าแกว่งและโยนตัวได้ไกลกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เด็ก ๆ จะสนุกสนานแกมหวาดเสียวกับชิงช้าใต้ต้นคลักลักษณะนี้



ต้นคลักโดยทั่วไปที่บางกรูดคือต้นคลักดอกขาว ที่บ้านของพลอยโพยมที่ผู้ใหญ่ในบ้าน (คือคุณพ่อของพลอยโพยมเอง) ผูกชิงช้าให้เล่นแล้ว เด็ก ๆ ก็ชอบที่จะปีนไปเก็บดอกและฝักของต้นคลัก นำมาเป็นของเล่นกันในบ้าน ซึ่งต้องเก็บมาเป็นปริมาณมากเหมือนกัน โดยดอกที่เป็นฝักแล้ว เราจะนำมาแกะฝักได้เป็นตุุ๊กตา ที่มีหัว ( หัวล้าน)มีหน้า มีนัยน์ตา ตัวใหญ่หรือเล็กขึ้นกับขนาดของฝักนั่นเอง ถ้าฝักแก่่เป็นสีน้ำตาลจะมีขนาดใหญ่ เรามักสมมติให้เป็น ตุ๊กตาตัวปู่ย่า หรือตายาย ถ้าเป็นฝักใหญ่แต่่ยังเป็นฝักสีเขียว เราจะสมมติให้เป็นตุ๊กตาตัวพ่อ ตัวใหญ่รองลงไปอีก ก็เป็นตุุ๊กตาตัวแม่ ป้า น้า อา พี่ ไล่เรียงลำดับไปตามขนาด ต่าง ๆ ของฝัก คลัก



สำหรับดอกที่ยังเป็นหัวสุ่มอยู่ จะต้องเก็บมาเล่นในปริมาณที่มากกว่าดอกที่งอกฝักออกมาแล้ว เพราะเราจะต้อง นำมาล้อมบริเวณที่จะเล่นกันนั่นเอง ส่วนดอกคลักที่ยังตูมอยู่ มักจะไม่ได้ใช้สำหรับการละเล่น ครั้งนี้ของเด็ก ๆ



เราจะนำดอกที่เป็นสุ่มอยู่ม่าวางเรียงบริเวณ เป็นเขตบ้านทรงสี่เหลี่ยม ต้องทำทางเข่้าบ้าน ประตูบ้าน ภายในเขตบ้านจะมีห้องสี่เหลี่ยมสำหรับเป็นห้องของตุ็กตาแกะจากฝักคลัก เป็นห้องใหญ่ ห้องเล็ก ห้องน้อย ตุ๊กตาแต่ละตัว เวลาเข้านอนต้องมีมุ้งครอบนอน ก็ต้องใช้ดอกที่เป็นสุ่มครอบหลาย ๆ ดอก ถ้าตุ๊กตาตัวเล็ก ก็ใช้สุ่มดอกเดียวครอบได้ เด็กที่เล่น ต้องพากย์บทพูดกันเอง เอามือจับตุ๊กตาให้เคลื่อนที่ เดินไปโน่นมานี่ พูดคุย มีกิจกรรมกันเองในบ้านของตัวเอง หรือออกไปหาเพื่อนบ้าน ออกไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ออกไปซื้อของในตลาด ซึ่งบทเล่นนี้ก็แล้วแต่แต่ละคนคิดกันขึ้นมา แล้วมาเล่นร่วมกัน joy กันไปตามจินตนาการของเด็ก ๆ ก็เป็นการละเล่นที่สนุกสนานไปอีกแบบหนึ่ง ที่หาอุปกรณ์ง่าย ๆ ในบริเวณบ้าน ซึ่งในวัยเด็กนั้น การปีนต้นไม้คือปีนต้นคลักขึ้นไปเก็บดอกและฝัก ก็ไม่ได้ยากเย็นหรือหวาดเสียวอะไรนัก เราก็ไปเลือกต้นคลักที่ต้นไม่สูงมาก การปีนป่่่ายต้นไม้ก็เป็นของธรรมดา ๆ ในสมัยเด็ก



ปูก้ามดาบตัวนี้คลานอยู่ในระหว่างรากช่วยหายใจของต้น คลัก

2 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าตัดยอดแล้วต้นจะตายไหมค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คงจะไม่ตายกระมังนะคะเพราะต้นไม้ที่บ้านพลอยโพยมส่วนใหญ่ก็ถูกตัดยอดบ้าง ตัดกิ่งออกบ้าง ไม่มีต้นไม้ขนิดไหนตายเลยขนาดตัดแบบไม่มีกิ่งมีใบเลย ก็เห็นแตกกิ่ง แตกยอด แตกใบทั้งสิ้นค่ะ

      ลบ