วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ลำเจียก..เรียกปะหนัน..นั่นหรือคือเตยทะเล

ลำเจียก

เป็นชื่อเรียกต้นเตยทะเล (Pandanus odoratissimus L.) ที่มีดอกเพศผู้
อยู่ในวงศ์ Pandanaceae ขอบใบและกาบหุ้มดอกมีหนาม ดอกมี กลิ่นหอม, ปะหนัน ก็เรียก, พายัพเรียก เกี๋ยงคำ.


ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th


ต้นเตยทะเลดอกเพศผู้ที่เรียกว่า ลำเจียก มักถูกเรียกอีกชื่อในวรรณคดีว่า ปะหนัน เป็นพรรณไม้ที่ปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ดอกปะหนันในอิเหนาถูกกล่าวถึงในช่วงแรก
อยู่ในเนื้อความบทพระราชนิพนธ์เมือ ท้าวดาหาไปใช้บน (แก้บน) ที่เขาวิลิศมาหรา บุษบาได้ชมศาลเล่นธาร คิดจะทำบุหงารำไปเพื่อถวายเทวาในเพลาเย็น ให้นางกำนัลสาวศรีเก็บดอกไม้มาถวาย แต่ขาดดอกปะหนัน นางยุบลค่อมทาสาชวนเพื่อนทาสาออกไปหาดอกปะหนันแล้วหลงทางอยู่คนเดียว ได้พบกับอิเหนา อิเหนาสอบถามจนได้ความจึงไปเที่ยวหาดอกปะหนัน พบดอกปะหนันที่ริมธาร จึงเก็บมาใช้ นะขา(เขียนว่านะขา สำหรับ บางบทกลอน บางบทก็ใช้ นขา) เขียนสารถึงบุษบามีความว่า



ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.aquatoyou.com

ได้บุหงาปะหนันทันใด
ภูวไนยลิขิตด้วยนะขา
เป็นอักษรทุกกลีบมาลา
แล้วกลับคืนมายังคีรี


.
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151 

ครันถึงจึงเข้าไปใกล้
แล้วส่งดอกไม้ให้ทาสี
เองเร่งเอาไปจงดี
อย่าให้ผิดที่สัญญาไว้

แม้นใครถามว่าได้ไหนมา
เองอย่าบอกแจ้งแถลงไข
จำเพาะส่งแต่องค์อรไท
แล้วเร่งหลีกออกไปเสียให้พ้น.....


..... อิเหนาพานางยุบลค่อมกลับมาใกล้ที่ประทับนางบุษบา นางยุคลค่อมนำดอกปะหนันถวายนางบุษบา....

บัดนั้น...
นางยุบลค่อมก้มเกล้า
ถวายดอกลำเจียกแก่นงเยาว์
แล้วหลีกเหล่ากำนัลหนีมา..


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151


พลอยโพยมอ่านอิเหนาให้ยายขาฟังครั้งอยู่วัยเด็กโตแล้ว ( อ่านทำนองเสนาะเสียด้วย) ให้สงสัยเป็นนักหนาว่าอิเหนาเขียนสารลงกลีบดอกปะหนันอย่างไร เพราะตอนนั้นไม่รู้จักดอกปะหนัน


ในสารของอิเหนา ข้อความยาวมาก..ดังนี้

ในลักษณ์นั้นว่าจรกา
รูปชั่วต่ำช้าศักดิ์ศรี
ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์
ดูไหนไม่มีจำเริญใจ

เกศานาสิกขนงเนตร
สมเพชพิปริตผิดวิสัย
เสียงแหบแสบสั่่นเป็นพ้นไป
รูปร่างช่างกะไรเหมือนยักษ์มาร

เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่
ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน
ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์
มาประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา

แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย
อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า
พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา
ฤาวาสนาน้องจะต้องกัน

( พลอยโพยมสรุปว่า พระเอกอิเหนาคนนี้ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่น ..นะนี่.. แต่เป็นพระเอกทำอะไรก็น่ารัก อ่านให้ยายขานอนฟัง ยายขาก็ชอบใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เอ็นดูพระเอกอิเหนาเหลือประมาณ ท่านคงนึกย้อนภาพตัวแสดงอิเหนากำลังร่ายรำอ่อนช้อยบนเวทีโรงละครแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นละครรำโดยผู้หญิงก็ต้องอ่อนช้อยแน่นอน )




ภาพที่งดงามอ่อนช้อยอย่างนี้ย่อมเป็นผลงานของอาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.sahavicha.com


ปฏิกิริยาของบุษบาเมื่ออ่านสารบนกลีบปะหนันแล้ว


ครั้นอ่านเสร็จสิ้นในสาร
เยาวมาลย์เคืองขุ่นหุนหัน
จึงฉีกที่มีหนังสือนั้น
ทิ้งลงเสียพลันทันใด


ตกลงก็เลยไม่ได้ทำบุหงารำไปต่อ อิเหนาเห็นบุษบา นั่งดูบุหรงอันลงจับไม้ จะเลือกบุหงาก็หาไม่ ก็อยากจะให้บุษบาเห็นตน "จะให้สบนัยนาโฉมฉาย ครั้นนางไม่เห็นก็อุบาย เยื้องกรายฉายกฤชอันฤทธี "

บุษบาตกใจ
 "ดังสายฟ้าต้องเนตรมารศรี
 นางร้องสุดเสียงเทวี
สลบลงกับที่ทันใด "

พระเอกคนดีสุดรักของยายขาก็หนีกลับเข้าไปในวัดที่ตั้งพหลพลไกรของตนเอง



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151 

ใจความในสารของอิเหนาก็ต้องใช้ปะหนันหลายดอกทีเดียว
ดอกปะหนันกล่าวถึงอีกครั้งเมื่อบุษบาถูกพระอัยกาบันดาลลมหอบไปอยู่เมืองประมอตัน และแปลงบุษบาให้เป็นชายชื่ออุณากรรณ เพื่อลงโทษอิเหนาให้ออกตามหาบุษบา



ลมหอบบุษบาไปทั้งราชรถ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dek-d.com/board/view.php?id=1429172

เมื่ออิเหนาออกตามหาบุษบา เห็นดอกไม้ต่าง ๆ ก็หวนคิดถึงคะนึงหา

เหลือบเห็นดอกปะหนันสำคัญคิด
เหมือนวันที่พี่ลิขิตด้วยนขา
เห็นดอกไม้ไหลลอยในคงคา
เหมือนเมื่อลอยมาลาให้เทวี



ผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
กลีบดอกปะหนันหรือลำเจียกนั้น อันที่จริงมิใช่กลีบดอกหากแต่เป็นใบประดับที่มีรูปร่างเรียวยาวห่อหุ้มช่อดอก

 จากเรื่องอิเหนาคราวนี้ก็มาเรืองเตยทะเลที่ตำบลบางกรูด
ในวัยเด็กพลอยโพยมไม่รู้จักดอกปะหนัน ดอกลำเจียก อ่านกลอนไปตามบทพระราชนิพนธ์ไปตามทำนอง แต่สำหรับต้นเตยทะเลนั้น เราจะเรียกกันว่าต้นเตยบ้างต้นหนามเตยบ้าง พลอยโพยมรู้จักดีเพราะมีต้นเตยทะเลขึ้นตามชายแม่น้ำบางปะกง ที่บ้านมีความเกี่ยวพันกับเตยทะเลบ่อย ๆ เพราะยายขาจะสั่งให้ลูกจ้างหรือบางที่เป็นเด็กผู้ชายไปตัดผลเตยทะเลมาสำหรับใช้ขัดพื้นบ้าน โดยผ่าครึ่งขวางผล ( ยังมีลูกมะพร้าทุย ผ่าครึ่งเอากะลาออกก็ใช้ขัดได้เหมือนกัน ) แล้วเอามาใช้ขัดกระดานบ้านที่เปียกน้ำคือตักน้ำราดพื้นกระดานนั่นเอง ราดน้ำไปถูพื้นไปจนเสร็จ ถ้าขืนขัดล้างพื้นบ้านด้วยแปรงทองเหลืองผิวกระดานก็เป็นรอยขูดข่วนกันหมดพอดี การไปตัดผลเตยทะเลต้องลงเรือไปตัด บางที่ก็ต้องไปตัดไกลบ้านออกไปหากต้นใกล้ ๆ บ้านไม่มีผลเตยทะเลบนต้น งานแบบนี้เด็กผู้หญิงรอดตัวเพราะต้นเตยทั้งต้นและใบมีหนามนั่นเอง



พื้นบ้านของพลอยโพยมหลังเอาผลเตยหรือมะพร้าวทุยขัดจนพื้นบ้านขาวสวยสะอาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เคี่ยวเทียนเอามาลงพื้น หลังจากลงพื้นด้วยเทียนเคี่ยว ช่วงใหม่ ๆ การจะนั่งนอนบนพื้นกระดานไม่สบายนัก จะรู้สึกหนืด ๆ เหนียว ๆ อยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่การกวาดถูบ้านทุกวันก็ทำให้ความเหนียวหนืดของน้ำมันหายไป เหลือความมันของเทียนที่ผิวไม้ สองสามหรือสี่ปีถึงจะขัดพื้นและลงเทียนกันที แล้วแต่สภาพกระดานพื้นบ้าน

การลงเทียนพื้นกระดานนี้ในสมัยเรียนชั้นประถมปลาย ( ป.5.ถึง ป.7 ) และชั้นมัธยมต้น (ม.ศ. 1 ถึง ม.ศ. 3 ) ก็จะมีการลงเทียนพื้นห้องเรียนที่โรงเรียนโดยทำกันวันหยุด เรียกระดมพลนักเรียนในห้องเรียนมาขนย้ายโต๊ะเก้าอี้ภายในห้องเรียนออก ปัดกวาดเช็ดถูแล้วก็เคี่ยวเทียน( เทียนเป็นแผ่น ๆ หนาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ) เอาเที่ยนที่เคี่ยวแล้วละเลงทาบนพื้นห้อง มีคุณครูประจำชั้นมาควบคุมดูแลสำหรับชั้นเรียนประถมปลาย แต่ชั้นมัธยมต้นนักเรียนโตแล้วทำกันเองได้



สำหรับต้นเตยทะเลนี้มีไปตามแนวริมฝั่งแม่น้ำริมคลอง ที่อำเภอบางคล้าในอดีตบางช่วงมีต้นเตยขึ้นเป็นแนวยาว เป็นร้อยเมตรก็มี และในเมืองฉะเชิงเทราก็มีตำบลบางเตยอยู่ในเขตอำเภอเมือง ชื่อของตำบลได้มาจากมีต้นเตยมาก แต่ต้นเตยทะเลนี้รากไม่ยึดเกาะกับพื้นดินริมฝั่งนักโดยเฉพาะฝั่งที่ดินพัง ในลำน้ำบางปะกงบ่อยครั้งที่ต้นเตยทะเลนี้หลุดออกจากริมฝั่งลอยเคว้งคว้างในแม่น้ำ แต่ถ้าต้นเตยยังอยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ ใต้ต้นเตยที่มีใบปกคลุมระน้ำอยู่ มักเป็นที่ชุมนุมอยู่ของกุ้งปลา บริเวณต้นเตยจึงเป็นที่หมายปองของคนที่ออกมาหากุ้งปลาและมักสมหวังตั้งใจได้ปลาเสมอ ๆ
ต้นเตยทะเลที่เมืองฉะเชิงเทรามักอยู่ตามริมน้ำ

พลอยโพยมมารู้จักดอกปะหนัน หรือลำเจียก ก็เพราะซื้อหนังสือดอกไม้ต้นไม้มา ต้องร่้องอ๋อ ...นี่เองดอกปะหนัน..อพิโธ่เอ๋ย...เคยเห็นเป็นประจำ ที่ ริมน้ำบางปะกง
ยังมีดอกปาหนันอีกแบบ เช่นปาหนันช้าง ปาหนันแม่วงศ์ ปาหนันเมืองกาญจน์ ปาหนันอ่างฤาไนย และอีกหลาย ๆ ปาหนัน บุหงาลำเจียก ซึ่งล้วนเป็นไม้วงศ์กระดังงา พันธุ์ไม้คนละวงศ์กับ ปะหนัน หรือลำเจียก




และภาพต้นเตยทะเลที่สื่อนี้เป็นต้นเตยทะเลด่าง ส่วนต้นเตยทะเลนั้นปัจจุบันค่อนข้างหายาก ต้นหลุดลอยลงน้ำบ้างถูกตัดทิ้งบ้าง การไปสำรวจตามริมฝั่งน้ำต้องลงเรือไป เพราะเตยทะเลจะเป็นพรรณไม้ชั้นนอกติดริมน้ำสำหรับเมืองฉะเชิงเทราโดยเฉพาะที่ตำบลบางกรูด ส่วนต้นเตยทะเลด่างเป็นต้นเตยที่ปลูกกันตามบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นไม้ประดับสวยงาม





ต้นเตยหอม

2 ความคิดเห็น: