วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

กะทกรก...เรียงเลื้อย

กะทกรก



กะทกรก

ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora foetida L
ชื่ออังกฤษ: Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passionflower
วงศ์ : Passifloraceae



ชื่อพื้นเมืองอื่น : เถาเงาะ เงาะป่า หญ้ารกช้าง เถาสิงโต ถลกบาตร หรือ กระโปรงทอง




เป็นไม้เถาเลื้อยคล้ายตำลึง เถาค่อนข้างคดไปงอมา เถามีหนามเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ห่าง ๆ โดยทั่วไป




ใบ
เป็นใบเดี่ยว รูปใบมนโค้งผิวเรียบปลายใบแหลมโดยแยกเป็นสามแฉก ใบและเส้นใบบริเวณที่ติดต่อกันมีสีแดงเรื่อ บริเวณใกล้โคนก้านใบมีแฉกแหลมเล็กเรียงตรงกันข้ามสลับกัน ก้านใบ มีขนาดก้านไม้ขีด ยาว 5 –6 เซนติเมตร มีขนอ่อนเป็นฝอยขนาดเล็ก



ดอก
มีลักษณะก้านดอกยาวกว่าใบ ดอกบานออกกลมกว้าง กลีบดอกสีขาวแซมด้วยริ้วสีม่วง




ผล
ค่อนข้างกลมขนาดปลายนิ้วมือ และห่อหุ้มด้วย “รก” ผลสุกมีสีเหลือง




ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด กะทกรกมีการแพร่กระจายขึ้นอยู่ตามที่รกร้างหรือขอบไร่ชายนา และบริเวณป่าพื้นราบ โดยเลื้อยพันกิ่งต้นไม้อื่น ๆ




ประโยชน์
กินได้
ยอดอ่อน ผลอ่อน รก ใช้เป็นผักสด มีรสขมเล็กน้อย หรือลวกจิ้มกับน้ำพริกและใช้แกงเลียง
ผลสุก ใช้กินเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ด




ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย




กะทกรก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หมายความถึง

น. (๑) ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Olax scandens Roxb. ในวงศ์ Olacaceae ตามลําต้นมีหนามห่าง ๆ ใบรูปไข่หรือรี ๆ ดอกเล็ก สีขาว อยู่เป็นกระจุกที่ง่ามใบ ผลกลมหรือรีขนาดเท่าเม็ดบัวเขื่อง ๆ เป็น สมุนไพรที่รู้จักกันทั่วไป, น้ำใจใคร่ นางจุม หรือ นางชม ก็เรียก, อุดร เรียก เยี่ยวงัว.

 (๒) ชื่อไม้เถาชนิด Passiflora foetida L. ในวงศ์ Passifloraceae มีมือเกาะ ใบป้อมมี๓ หยัก ดอกสีขาว ผลกลม เมื่อสุกสีเหลือง มีกาบเป็นฝอยหุ้ม ยอดนํามาต้มใช้เป็นผัก, เถาเงาะ เงาะป่า หญ้ารกช้าง เถาสิงโต ถลกบาตร หรือ กระโปรงทอง ก็เรียก





สำหรับชื่อกะทกรก ที่ ปรากฏในสารานุกรมสมุนไพร เล่มที่ ๒ สยามไภษัชยพฤกษ์ เป็น กะทกรก ในพจนานุกรม ชนิดที่ ๑ ซึ่งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Olax scandens Roxb. ในวงศ์ Olacaceae สมุนไพรที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ, น้ำใจใคร่ กระดอกอก, กระเดาะ, กระทอก, ชักกระทอก, กระทอกม้า, กะทกรก, ควยเซียก, นางจุม นางชม, ผักรูด ซึ่งมีสรรพคุณทางสมุนไพรดังนี้
ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้โรคไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้)




และพบข้อมูลของน้ำใจใคร่จากhttp://www.samunpri.com/herbs/?p=82 ดังนี้

เนื้อไม้ มีรสชาติฝาดเฝื่อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาคุมธาตุถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด รักษาบาดแผล
เปลือก นำมาต้มรมแผลที่เน่าเปื่อย ทำให้แผลแห้ง
เมล็ด ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด ทำให้ผายลม วิธีใช้โดยการ ตำเมล็ดให้ละเอียด และผสมกับน้ำสับปะรดลนควันให้อุ่นและใช้ทาท้องเด็ก
ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้กามโรค
ใบ นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาเบื่อ ขับพยาธิ หรือตำให้ละเอียดเอากากสุมศีรษะ แก้ปวดศีรษะ




ซึ่งข้อมูลรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ของกะทกรกในบทความข้างต้นนี้ รวมทั้งภาพทั้งหมดล้วนเป็นกะทกรกขนิดที่ ๒. คือเป็นกะทกรก (เงาะป่า) พื้นบ้านพบเห็นโดยทั่วไป




มีหมายเหตุของพจนานุกรม สมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ว่า

หมายเหตุ : กะทกรก ที่รู้จักกัน 2 ชนิด คือชนิดที่เป็นพรรณไม้เถาเนื้อไม้แข็ง และอีกชนิดหนึ่งเป็นพรรณไม้เถาเล็ก เลื้อยตามพื้นดิน ที่เรียกว่าเงาะป่า แต่กะทกรกที่ใช้ทำยาใช้เฉพาะพรรณไม้เถา เนื้อไม้แข็งเท่านั้น คือ“กะทกรก(ทั่วไป) กะทอกม้า(ราชบุรี) ชักกะทอก(ประจวบ) น้ำใจใคร่(ราชบุรี-กาญจน) นางชม นางจุม(พายัพ) ควายเสือก(โคราช)กะเดาะ(สงขลา)ผักรูด(สุราษฎร์)กาเด๊าะ อาจิง(มลายู-นรา)




พลอยโพยม ก็เลยตัดข้อมูลสรรพคุณด้านสมุนไพรของกะทกรก (เงาะป่า)
อนึ่งชื่่อท้องถิ่น ชื่อพื้นเมืองของพันธุ์พืช ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับพันธุ์สัตว์ (ตอนพลอยโพยมหาข้อมูลสัตว์น้ำ ก็ปวดศรีษะมากพอดู) ต้องยึดถือตามชื่อวิทยาศาสตร์ตามคำแนะนำของคุณมีนกรที่เคยบอกพลอยโพยมไว้ บางครั้งในจังหวัดเดียวกันก็มีชื่อเรียกพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ (รวมทั้งของใช้) ที่แตกต่างกัน ซึ่งพลอยโพยมมักโวยวายว่าไม่ใช่นักวิชาการนะจ๊ะที่ต้องใช้ศัพท์วิทยาศาสตร์กำกับการเรียกหา แต่พอลงมาหาข้อมูลต่าง ๆ พบว่าศัพท์วิทยาศาสตร์นี้เป็นข้อมูลที่เป็นอมตะนิรันดร์ใช้ได้ตลอดกาลนาน




ภาพผลกะทกรก (เงาะป่า)เมื่อเปลือยกาย (ผล ) จากรกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเสารส หรือที่เรียกชื่ออื่นอีกว่า กะทกรกฝรั่ง หรือ กะทกรกสีดา หรือ กะทกรกยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora edulis
ชื่ออังกฤษ: Passionfruit,
ชื่อสเปน: Maracujá)

เสาวรสเป็นไม้เถาเลื้อย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณประเทศบราซิล ปารากวัย อาร์เจนตินา ผลเป็นรูปกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีหลายสีแล้วแต่พันธุ์ ทั้งสีม่วง เหลือง ส้ม ชั้นในสุดของเปลือกเป็นเยื่อสีขาวที่เรียกรก ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก อยู่ในเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นถุง กลิ่นคล้ายฝรั่งสุก รสเปรี้ยวจัด บางพันธุ์มีรสอมหวาน

มีการปลูกเสาวรสทางการค้าในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา นิวซีแลนด์ ประเทศแถบทะเลแคริบเบียน บราซิล โคลอมเบีย โบลิเวีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย เปรู เปอร์โตริโก สาธารณรัฐโดมินิกัน สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แอฟริกาตะวันออก เม็กซิโก อิสราเอล คอสตาริกา แอฟริกาใต้และโปรตุเกส
ในประเทศไทยมีเสาวรสที่ปลูกทั่วไป 3 พันธุ์คือ พันธุ์สีม่วง เมื่อสุกเปลือกสีม่วง เนื้อในสีเหลือง รสอมหวานมากกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ไม่ค่อยต้านทานโรคในเขตร้อน พันธุ์สีเหลืองหรือเสาวรสสีทอง ผลแก่สีเหลือง รสเปรี้ยวมาก นิยมปลูกในเขตร้อน พันธุ์ผสม เมื่อสุกเป็นสีม่วงอมแดง รสเปรี้ยวจัด กลิ่นแรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
มีการใช้ประโยชน์จากเสาวรสมากมายหลายประเทศส่วนใหญ่ เป็นด้านโภชนาการ




การออกไปถ่ายภาพของพลอยโพยมไม่ว่าที่ ชายน้ำ ชายคลอง ริมคูน้ำ ปลายสวน คันนา ริมถนน ป่าชายเลนชั้้นบนและอื่น ๆ  ต้องได้พบเจอกะทกรก (เงาะป่า) ทุกครั้ง หากมองผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป มิได้หยุดพักดู ก็จะไม่รู้ว่ากะทกรกมีความงดงามใน เถาต้น ใบ ดอก และผลของกะทกรก พลอยโพยมถ่ายรูปเป้าหมายอื่นบางครั้งบางที่ก็เดินเหยียบย่ำกะทกรก ยังโมโหที่บ่อยครั้งเถากะทกรกพันแข้งพันขาวุ่นวายกับคุณมดแดงคู่แค้นของพลอยโพยมเจอเกือบทุกงานเกือบทุกที่ เผอิญกล้องติดภาพดอกกะทกรกมา พอเห็นภาพแล้วก็ติดใจในความงดงามของกะทกรก เลยออกไปถ่ายภาพใหม่ที่ด้านหลังบ้านของพลอยโพยมเอง ซึ่งต้องถ่ายในตอนเช้าตรู่ก่อนหกโมงเช้า พอสายแสงตะวันจ้ากระทบกลีบดอก ดอกกะทกรกก็ค่อย ๆ หุบกลีบดอกเข้าหากัน โชคดีที่กระทกรกเถาใหญ่นี้ไม่มีมดแดงมารังแกพลอยโพยม ก็เลยถ่่ายภาพอยู่ตรงนี้ได้ถึงเก้าโมงเช้าโดยไม่ต้องเจ็บแสบแปลบกายา



ภาพเมื่อเวลา 8 โมงเช้า



ภาพเมื่อเก้าโมงเช้า
กลุ่มต้นกะทกรก กลุ่มนี้อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่แสงแดดส่องได้ไม่แรงนัก มิฉะนั้นยังไม่แปดโมงเช้าดีดอกกะทกรกที่ถูกแดดก็หุบกลีบกันหมดแล้ว ดอกกะทกรกช่างมีลักษณะนิสัยละม้ายคล้ายบัวสายที่เหนียมอายแสงตะวัน



ภาพกะทกรกนี้ถ่ายไว้เมื่อต้นปี 2554 ดังนั้นบทความนี้เสียเวลามากกับการหาภาพ เพราะจำไม่ได้ว่าเคยถ่ายภาพดอกกะทกรกไว้ เดือนไหนปีไหน การไล่หาภาพจากแผ่นไฟล์ใช้เวลามากจนเผลอหลับไปหลายงีบ หลายครั้งตอนรอภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น