วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ...ตะบัน

ตะบัน





ตะบัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus rumphii (Kostel.) Mabberley
วงศ์ : MELIACEAE




ตะบัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 5-8 เมตร ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดแน่นทึบ แผ่กว้าง



ลำด้น
กลมบิดเล็กน้อย คดงอ แตกกิ่งตํ่าใกล้โคนด้น เปลือกสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้นตามความยาวของลำต้น ไม่มีพูพอนและรากหายใจ





ใบ
เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ชั้นเดียว มีใบย่อย 2-5 คู่ แผ่นใบคล้ายรูปหัวใจ หรือใบโพธิ์ รูปไข่กลับ เรียงตรงข้ามปลายใบแหลมมน ถึงเรียวแหลม ฐานใบกลมกว้าง ขอบใบเรียบ ใบนุ่ม คล้ายแผ่นหนัง สีเขียว





ดอก
ออกเป็นช่อ แบบช่อแยกแขนง ช่อใหญ่ ตามซอกใบและปลายกิ่งประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ดอกสีขาวครีม กลีบเลื้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ไม่ติดกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้สีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม





ผล
กลม มีร่อง หรือเป็นพูเล็กน้อย ผลแก่ สีเขียว หรือเขียวอมเหลือง แต่ละผลมี 4-8 เมล็ด ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน เปลือกแข็งแห้งแตก ภายในมีเมล็ดหลายรูปทรงอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม มีเยื่อบางขาวคั่นระหว่างเมล็ด



ขอขอบคุณภาพจาก http://scijan.ning.com/m/blogpost?id=5606558%3ABlogPost%3A1093

ออกดอกและผลประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม



ตะบันเป็นพันธุ์ใมัที่ขึ้นตามชายหาดที่เป็นหาดทราย หรือแนวโขดหิน หรือระหว่างแนวเขตหลังสุดของป่าชายเลนที่ติดต่อกับหาดทราย

ตะบันเป็นพรรณไม้ตามฝั่งทะเลที่หายากชนิดหนึ่งพบเฉพาะตามฝั่งทะเลและหมู่เกาะที่ไม่ถูกรบกวน




หากแต่ว่าตะบันต้นนี้ถูกวัชพืชรบกวน จนยอดและกิ่งเริ่มแห้ง



ประโยชน์ :   ปลูกให้ร่มเงา ริมชายหาด สวยงามมากกว่าสนทะเล
ใช้เผาทำถ่านที่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์ป่า
นำลำต้นมาทำเสาเข็ม ก่อสร้าง




ขอขอบคุุณพลเมืองดีที่สงสารต้นตะบันที่หายากในภาคตะวันออก โดยเฉพาะเมืองฉะเชิงเทรา ให้ความช่วยเหลือตะบันต้นนี้ ท่าทางทะมัดทะแมงตอนปีนต้นขึ้นไป บอกว่าสบายมากครับผมเป็นคนบ้านสวนมาก่อน ก่อนหน้านี้ก็มีคนใจดีแผ้วถางวัชพืชที่โคนต้นมารอบหนึ่งแล้ว เมื่อสองสามวันก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพดอกตะบันจาก
http://www.aquatoyou.com
http://www.rspg.or.th



ในที่สุดก็กำจัดวัชพืชเพื่อคืนแสงอาทิตย์ให้สาดส่องต้องยอดกิ่งและใบของต้นตะบันได้

มีข้อมูลจากhttp://www.coastalaqua.com ว่า
พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนของไทยมีมากกว่า 70 ชนิด หลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เพราะแทบไม่มีรายงานการพบอีกแล้ว เช่น ต้นตะบัน ซึ่งคงเหลืออยู่ไม่มากนักในภาคตะวันออก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จึงได้พยายามอนุรักษ์ไว้

ดังนั้นที่ศูนย์นี้น่าจะมีต้นตะบันมากกว่าที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออก รวมทั้งต้นตะบันที่เป็นพระเอกของบทความนี้ก็ได้มาจาก ศ.พ.ช.ที่คุ้งกระเบนเช่นกัน โดยได้ต้นอ่อนมาปลูกที ศ.พ.ช.ฉะเชิงเทรา อายุสิบกว่าปี คนใจดี เล่าว่าข้างในที่เป็นป่าชายเลนจริง ๆ ผมเคยเห็นว่ามีอีกหลายต้น แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังอยู่หรือเปล่า

แต่ตามเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เมื่อมีการกล่าวถึงพันธุ์ไม้ ก็มักจะกล่าวชื่อต้นตะบันรวมกลุ่มอยู่ด้วย และยังมีเกาะชื่อเกาะตะบันหรือเกาะสะระบัน
ยังมีชื่อเมืองของมอญว่าเมืองมะตะบัน และมีชื่ออ่าวว่า อ่าวมะตะบัน
เราควรช่วยกันอนุรักษ์ต้นตะบันให้คงอยู่คู่เมืองไทย เป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่พบเจอได้ทุกแหล่งที่เป็นป่าชายเลน มิให้เหลือแต่ชื่อ เหมือนเมืองมะตะบันที่เป็นเมืองของชาติมอญ



หากเปิดพจนานุกรมคำว่าตะบัน ก็มีข้อมูลของคำว่าตะบันจนอ่านแล้วตาลาย และปัจจุบันพลอยโพยมเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่หก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้า ๑๑๒ อย่างลำบากลำบน ยิ่งเปิดจากคอมพิวเตอร์ยิ่งแล้วใหญ่เพราะตัวเล็กมาก
มีความหมายหลายอย่างรวมทั้งแยกเป็นตะบันที่เป็นชื่อพันธุ์ไม้ และมีความหมายหนึ่งถึงตะบันในเชี่ยนหมากว่า
ตะบันหมายถึงเครื่องตำหมากของคนแก่ มีรูปคล้ายกระบอก โดยมากทำด้วยทองเหลือง มีลูกตะบันสำหรับตำและมีดากอุดก้น



พลอยโพยมคุ้นเคยกับครกตำหมากและตะบันหมากมาก เพราะบรรพบุรุษหญิงกินหมากกันทุกคน ครกตำหมากทองเหลืองจะมีขนาดใหญ่กว่าครกบดยาของหมอไทยแผนโบราณนิดหน่อย เวลาตำหมากเสียงจะดังมาก ต้องมีผ้ารองพับซ้อนหนา ๆ วางใกล้เชี่ยนหมากไว้รองครกเวลาตำหมาก เมื่อมีแขกผู้ใหญ่มาเยือน ก็ต้องหาหมากหาพลูจัดใส่เชี่ยนหมากยกมารับแขกผู้ใหญ่ รวมทั้งขันใส่น้ำฝนหยดน้ำยาอุทัยบ้าง ลอยดอกมะลิบ้างตามแต่หาอะไรได้ในขณะนั้น ผู้ใหญ่จะเชิญแขกว่า กินหมากสิ กระโถนบ้วนน้ำหมากก็ต้องมีใกล้เชี่ยนหมากด้วย
การกินหมากต้องมี สีผึ้ง และยาฉุน เตรียมไว้ในเชี่ยนหมากด้วย



เวลาออกนอกบ้านเช่นไปวัดผู้ใหญ่ก็จะจีบพลูเป็นคำ ๆ พกติดตัวไปกับตะบัน ช่วงพระยังไม่ขึ้นศาลาการเปรียญ หากอยากหมากก็เอาหมากพลูที่จีบมาใส่ในตะบัน ตำจนพอใจ ( ซึ่งจะไม่แหลกเท่าตำในครก) แล้วก็เอาดากที่ก้นตะบันออก กลับลูกตะบัน (ลูกตะบันทองเหลืองที่คู่กับตะบัน ไม่ใช่ลูกตะบัน กลม ๆ สีเขียวสวยในภาพที่เกิดจากดอกตะบัน) ดันเอาหมากพลูออกมา เมื่อพ้นตะบันก็หยิบมาใส่ปาก เอายาฉุน สี ๆ ที่ฟัน แล้วอุดไว้ในช่องระหว่างเหงือกที่โคนฟันกับกระพุ้งปาก ( เอเพิ่งสงสัยว่า ทำแบบนั้นทำไม แล้วจะถามใครกันเล่านี่)

ไว้ติดตามการกินหมากของคุณย่าคุณยาย คุณทวดคุณชวด ของคนไทยคราวหน้าและเฉลยว่า ท่าน ๆ บางคนเอายาฉุนจุกหรืออุดไว้ทำไม แต่อีกนานทีเดียวเพราะตั้งใจว่าจะเล่าในช่วงเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนบ้านสวน โดยจะเล่าถึง ต้นพลู ต้นหมาก การสอยหมาก การเฉาะหมาก การทำหมากแห้ง เรื่องปูนแดงที่กินกับหมาก การกินหมากของคนโบราณ..จนกลายเป็นประเพณีไทยยกขันหมากในการสู่ขอหญิงงามบ้านอื่นมาเป็นสะใภ้...
แต่เมื่อจบเรื่องชายแม่น้ำแล้ว ก็ต้องเข้าท้องทุ่งนาไปหาดอกโสนกันก่อนจึงจะเข้าบ้านสวนกัน..นานโขทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น