วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้ชายน้ำ...ตีนเป็ดทะเล

ตีนเป็ดทะเล



ตีนเป็ดทะเล
ชื่อวิทยาศาตร์ Cerbera odollam Gaertn
ชื่อพื้นเมือง ตีนเป็ดทะเล

ชื่ออื่น สั่งลา (กระบี่); ตีนเป็ด, ตีนเป็ดน้ำ (กลาง); ตุม (กาญจนบุรี)
วงศ์ APOCYNACEAE




ตีนเป็ดทะเล เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 6 - 12 เมตร มักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดแผ่กว้าง




ลำต้น
แข็งตั้งตรง มีเนื้อไม้ เปลือกชั้นนอกเรียบมีช่องอากาศกระจายทั่วไป สีเทา เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน มียางสีขาว




ใบ
ใบเดี่ยว ใบยาวเป็นกระจุก อยู่บนส่วนยอด เรียงเวียนรอบกิ่ง แผ่นใบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ฐานใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ เส้นใบตั้งฉากกับเส้นกลางใบ มี 20 - 30 คู่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม










ดอก
สมบูรณ์เพศ ออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุก ดอกสมมาตรด้านข้าง มีกลีบเลี้ยงรูปใบหอก สีเขียวหรือขาวแกมเขียวอ่อน แต่จะร่วงหล่นไปในระยะยังเป็นดอก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร ปลายหลอดแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกยาวกว่าหลอด วงกลีบดอกสีขาว ตรงกลางดอกสีเหลือง เกสรเพศผู้ มี 4 - 5 อัน อยู่แยกกัน ก้านเกสรสั้นติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมีย มีรังไข่ 2 อัน เป็นแบบรังไข่เหนือวงกลีบ อยู่แยกกันหรืออาจติดกันเล็กน้อยเฉพาะส่วนฐาน แต่ก้านเกสร และยอดเกสรจะติดกัน มีเม็ดไข่มาก



ผล
เป็นผลเดี่ยว รูปกระสวย ค่อนข้างกลม มีสองพูตื้นๆ ผิวผลเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน เมื่อแก่จัดสีเขียว อมม่วงถึงม่วงเข้ม






ออกดอก-ผล ตลอดปี



ลักษณะด้นของตีนเป็ดทะเล
ต้นและใบเหมือนต้นลั่นทม ดอกสีขาวมี 5 กลีบ และผลกลม ผิวเรียบ สีเขียวเป็นมัน



ตีนเป็ดทะเล
ขึ้นได้ดีในที่ดินเลนแข็ง น้ำทะเลท่วมถึงบางครั้งบางคราว หรือ พบขึ้นตามริมชายฝั่งแม่น้ำที่เป็นดินเลนน้ำท่วมถึงอิทธิพลของน้ำกร่อยทั่วไป





ประโยชน์
ผลเผาตำผสมน้ำมันพืช ทาแก้โรคตาปลา โรคผิวหนังเรื้อรัง ผลสดขยี้ทาแก้ปวด ตามข้อ แก้ปวดกล้ามเนื้อ




ข้อควรระวัง ยาง เป็นพิษหากเข้าตาทำให้ตาบอดได้ เนื้อในผล ในเมล็ด ใบและเปลือกทำให้อาเจียน ท้องเดิน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
tanhakit.blogspot.com
http://www.aquatoyou.com



มีข้อมูลจาก สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 2 สยามไพษัชยพฤกษ์เกี่ยวกับตีนเป็ดทะเลดังนี้
ตำราไทยใช้
เปลือกต้นเป็นยาถ่าย แก้นิ่ว แก้ไข้
แก่น กระจายลมอัมพฤกษ์ (ลมที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้)
ดอก แก้ริดสีดวงทวาร
ราก ขับเสมหะ
ใบ รักษาโรคกลาก เกลื้อน แก้ไข้หวัด
นำมันในกระพี้ แก้เกลื้อน
เมล็ด รักษาหิด ใส่ผมแก้ผมหงอก เบื่อปลา
ข้อควรระวัง
ยางจากต้นและผลมีสาร cerberoside และ thevobioside เป็นพิษต่อหัวใจ น้ำยางจากต้น ใบและเนื้อในของผล ทำให้อาเจียนและถ่าย ซึ่งถ้ากินจำนวนมากอาจถึงตายได้



ต้นตีนเป็ดทะเลนี้ที่ตำบลบางกรูดเรียกกันว่า "ตีนเป็ด" สมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมพบเห็นอยู่ตามชายฝั่งแม่น้ำและมักจะพบผลแก่ที่ร่วงลงแม่น้ำ ผลแก่เหล่านี้เปลือกผิวหลุดหมดกลายเป็นผลที่เป็นร่องริ้วสีดำ ๆ ถูกน้ำซัดมาติดริมชายฝั่งแม่น้ำ เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่ตำบลแสนภูดาษยี่สิบกว่าปีทำให้ไม่ได้พบเห็นต้นตีนเป็ดตามริมแม่น้ำ แต่กลายเป็นเห็นบ้างตามบ้านเรื่อนและสถานที่ที่มีคูน้ำ เป็นต้นตีนเป็ดที่ชาวบ้านปลูกขึ้นมาเองไม่ใช่ขึ้นตามธรรมชาติ พลอยโพยมก็ไม่ได้ใส่ใจนัก ต่อมากลับพบผลแก่แห้งของต้นตีนเป็ดวางกองขายในตลาดสวนจตุจักร เมื่อห้าหกปีก่อนนั้นขายผลละ10-15 บาท แต่มาระยะหลัง ๆ นี้ ก็พบเห็นผลของตีนเป็ดถูกนำไปเป็นที่เกาะของพันธุ์ไม้หลาย ๆ ชนิด แขวนขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป เป็นการเพิ่มมูลค่าของการขายต้นไม้และผลตีนเป็ดไปพร้อม ๆ กัน ราคาก็แพงเป็นทวีคูณของทั้งพันธุ์ไม้และผลตีนเป็ด



คุณสมบัติของต้นตีนเป็ด มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรหลายประการหลายส่วนประกอบของต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ซ่อนพิษภัยไว้ในน้ำยาง ต้องมีความระมัดระวังในการใช้สอยคุณประโยชน์จากต้นตีนเป็ดนี้



นอกจากต้นตีนเป็ดทะเลแล้ว ยังมี

ต้นตีนเป็ดทราย
ที่คล้ายกับต้นตีนเป็ดทะเลมาก ทั้งรูปทรงของต้น ดอก และผล แต่ดอกของตีนเป็ดทราย ตรงกลางดอกสีแดงเข้ม (รยางค์แหลมยื่นออกมาที่ปากหลอดระหว่างกลีบดอก) และผลเกิดเป็นคู่

ตีนเป็ดฝรั่ง
ต้นตีนเป็ดฝรั่ง มีดอกสีเขียวแกมม่วง ออกเป็นช่อกระจุก ตามลำต้นและกิ่งใหญ่ ๆ กลีบดอกเชื่อมติดคล้ายรูประฆัง กลีบย่นไม่เป็นระเบียบ ผลกลมแข็งสีเขียวคล้ายผลส้มโอขนาดเล็ก ซึ่งต้นตีนเป็ดฝรั่งนี้ ยังละม้ายคล้ายต้น น้ำเต้าต้น หรือที่เรียกอีกชื่อว่า น้ำเต้าญี่ปุ่น ซึ่งมีดอกสีเหลืองมีลายน้ำตาล ออกตามลำต้นเหมือนกัน ผลคล้ายส้มโอขนาดใหญ่

ชบาตีนเป็ด (ภาคกลาง) ,ตีนเป็ดขาว (ยะลา),สัตบรรณ (ภาคกลาง เขมร จันทบุรี) หรือพญาสัตบรรณ ซึ่งจะแยกไว้กล่าวต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น