วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลากระดี่แสงจันทร์..นั้นคือปลากระดี่นาง

ปลากระดี่นาง



ปลากระดี่นาง เป็นปลาน้ำจืดในสกุลเดียวกับปลาสลิด กระดี่หม้อ กระดี่มุก อยุ่ในวงศ์เดียวกับปลาหมอไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichogaster microlepis (Gunther, 1861)

ชื่อสามัญ Moonbeam gourami ,Moonlight gourami

ชื่อไทย กระดี่ กระดี่นาง กระดี่แสงจันทร์

การจำแนกชนิดของปลากระดี่นาง

Phylum Vertebrata

Subphylum Craniata

Superclass Gnathostomata

Class Acanthopterygii

Order Perciformes

Family Belontiidae

Genus Trichogaster

Species microlepis (Gunther, 1861)

                                               ปลากระดี่นาง ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

ลักษณะ ทั่วไป

โดยทั่วไปคล้ายคลึงกับกระดี่หม้อ แต่ตามลำตัวและครีบไม่มีลาย เกล็ดบริเวณลำตัวเป็น สีขาวเงินหรือสีฟ้าอ่อน ครีบต่าง ๆ สีขาว ปลากระดี่นางลำตัวบางขาวนวลไม่มีจุดดำ เกล็ดบาง เกล็ดเล็กและละเอียด ขอบเกล็ดเป็นจักรเช่นเดียวกับเกล็ดปลาหมอ มีเส้นก้านครีบเป็นระยางค์ยาวอยู่ใต้ท้อง 1 คู่ กล่าวกันว่า ปลากระดี่จะใช้ระยางค์คู่นี้เป็นเครื่องรับความรู้สึก

ปลาเพศผู้จะมีสีส้มหรือสีแสดบริเวณท้องและครีบก้น ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายอีกประการหนึ่งคือ ในฤดูวางไข่ส่วนท้องของปลากระดี่นางเพศเมียจะอูมเป่งเห็นได้ชัดเจนและผนังท้องบาง ลักษณะภายในรังไข่ของปลากระดี่นางเพศเมียจะมีสีขาวครีมออกเหลืองแบ่งเป็น 2 พู ไข่ปลากระดี่นางเมื่อแก่เต็มที่ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเหลืองอ่อน เป็นไข่ลอย ส่วนอัณฑะมี 2 พู มีสีขาวและหยัก (สุจิตรา และคณะ, 2546 )

ถิ่นอาศัย

พบตามแหล่งน้ำทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ชอบอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งเช่น หนองบึง ลำห้วยซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้หนาแน่น เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำในภาคอีสาน ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกของไทย ในต่างประเทศมีในแถบอินโดจีน

                                           ปลากระดี่นาง - ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

นิสัย

เป็นปลาสงบเสงี่ยม เลี้ยงรวมกับปลาอื่นได้ แต่ในฟดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้จะมีนิสัยกีดกันระรานปลาอื่น

มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถฮุบอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเหงือก เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะก่อหวอดผสมกับเศษหญ้าหรือพืชไม้ชนิดต่าง ๆ ชอบอยู่ในน้ำนิ่งระดับน้ำไม่ลึกนัก และว่ายน้ำหากินอยู่ตามกอหญ้า นาข้าว พันธุ์ไม้น้ำ ต่าง ๆ กระดี่นางมักอาศัยปะปนอยู่กับกระดี่หม้อ แต่มีจำนวนไม่มากนัก หายากกว่ากระดี่หม้อ ผู้ที่มีความชำนาญอาจมองหวอดปลากระดี่ออกว่าหวอดไหนเป็นกระดี่หม้อหรือกระดี่นาง หวอดกระดี่นางมีผู้ตักช้อนมาเลี้ยงไว้ในบ่อหรืออ่างกว้าง ๆ แล้วนำลูกที่เลี้ยงได้ขนาดส่งขายตลาดปลาสวยงาม

                                        หวอดปลากระดี่นาง - ขอบคุณภาพจากสยามเอนซิส

อาหาร

กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเป็นปลาที่มีนิสัยชอบหากินบริเวณผิวน้ำ

ขนาดตัวโตกว่ากระดี่หม้อเล็กน้อย ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวเฉลี่ย 7-14 เซนติเมตร

ฤดูวางไข่

พฤษภาคม ถึง กันยายน

ประโยชน์

เป็นปลาที่สามารถใช้บริโภคโดยปรุงสด ทำปลาร้า หรือปลาแห้ง หรือหมักดองเป็นปลาเกลือ ปลาร้าอีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

ด้วยความที่เป็นปลามีสีเงินทั้งลำตัว จึงถูกเรียกว่า“มูน บีน หรือ มูนไลท์” ซึ่งเป็นภาษาไทยเรียกว่า ปลากระดี่แสงจันทร์

                                           ปลากระดี่นาง - ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

การเลี้ยงปลากระดี่นาง

กระดี่นางเป็นปลาที่มีความงดงาม สีขาวปลอด เลี้ยงในตู้กระจกได้เป็นอย่างดีความอดทนพอ ๆ กับกระดี่หม้อ และมีเครื่องช่วยหายใจพิเศษเช่นเดียวกัน ในสภาพที่น้ำไม่ดีนักกระดี่นางก็จะโผล่ริมฝีปากขึ้นมาฮุบเอาอากาศหายใจได้ การให้อาหารก็เช่นเดียวกับกระดี่หม้อ ในฤดูผสมพันธุ์ กระดี่นางตัวผู้นอกจากสังเกตจากครีบหลังเช่นกระดี่หม้อแล้วขอบครีบก้นของปลาตัวผู้จะขึ้นสีเป็นสีส้มอีกด้วย

                                         ปลากระดี่นาง - ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

สกุลปลากระดี่
(อังกฤษ: Gourami, อินโดนีเซีย: Sepat, อีสาน: กระเดิด)

เป็นสกุลปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่ง ในสกุล Trichogaster

เป็นปลาที่มีการแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบได้แทบทุกประเภทของแหล่งน้ำจืด มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่

พบทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่

ปลากระดี่มุก (Trichogaster leerii)

ปลากระดี่นาง (Trichogaster microlepis)

ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis)

ปลากระดี่หม้อ (Trichogaster trichopterus)

                                           ปลากระดี่มุก -  ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ จึงสามารถดำรงชีพอยู่ในน้ำที่ออกซิเจนต่ำได้เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น ๆ ในวงศ์นี้ แต่ทว่า สำหรับปลากระดี่แล้วอวัยวะส่วนนี้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพสู้ปลาชนิดอื่นไม่ได้ จึงจะเห็นปลากระดี่ในบางครั้งจะลอยตัวขึ้นมาฮุบอากาศบนผิวน้ำเสมอ ๆ อุปนิสัยก้าวร้าวพอสมควร แต่ไม่เท่ากับปลาในสกุลอื่น เช่น สกุลปลากัด (Betta spp.) หรือ สกุลปลากริม (Trichopsis spp.) การผสมพันธุ์และวางไข่จะกระทำในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับปลาในวงศ์นี้ทั่วไป โดยมีการก่อหวอดเช่นเดียวกับปลากัดและปลากริม แต่ทว่าลักษณะฟองหวอดของปลากระดี่จะมีขนาดเล็กกว่า แต่จะติดกันเป็นแพใหญ่กว่า และบางครั้งอาจมีเศษหญ้าหรือพืชน้ำหรือสาหร่ายผสมร่วมด้วย และยังแตกต่างออกไปในแต่ละชนิด

มีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการเป็นปลาเศรษฐกิจ สำหรับการบริโภค โดยนำไปทำเป็นปลาแห้ง ซึ่งนิยมกันมาก โดยเฉพาะปลาสลิด ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอย่างมากโดยเฉพาะในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และปรุงสด ๆ อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะ ปลากระดี่หม้อที่มีสีสันแตกต่างหลากหลายกันมาก

ปลากระดี่ที่นำมาเรียงเป็นวงตากแห้ง เรียกว่า "กระดี่รำวง" ส่วนใหญ่เป็นปลากระดี่หม้อ

ปลากระดี่นับเป็นปลาอีกจำพวกหนึ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน จนเกิดมีภาษิตที่ว่า "กระดี่ได้น้ำ" และมีชื่อบ้านนามเมืองของ ชุมชนบางกระดี่ ที่ตั้งอยู่ในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ เล่ากันว่าเป็นเพราะในสมัยก่อนมีปลากระดี่ชุกชุม

                                            ปลากระดี่มุก -  ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

ที่มาของ สำนวนกระดี่ได้น้ำ ใช้เปรียบเทียบกับ "กิริยาของคนที่แสดงอาการดีใจหรือตื่นเต้น เช่น พวกพนักงานพอรู้ว่า ปีใหม่นี้บริษัทมีโครงการพาไปพักผ่อนที่จังหวัดภูเก็ต ก็ดีใจราวกับกระดี่ได้น้ำ."

ปลากระดี่ เป็นปลาน้ำจืดลักษณะคล้ายปลาสลิด แต่ตัวเล็กกว่า พื้นลำตัวเป็นสีเทาเงิน มีอยู่ชุกชุมตามแหล่งน้ำที่น้ำไหลไม่แรง เช่น ลำคลอง หนอง บึง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย. ในสมัยก่อนถ้าวิดน้ำในท้องร่องเรือกสวนไร่นา หรือแหล่งน้ำตื้น ๆ ก็มักจะได้ปลากระดี่ไปทำอาหาร. ปลากระดี่ที่ตกปลักหรือค้างอยู่ในที่น้ำน้อย เพราะน้ำแห้งลง ถ้ามีน้ำใหม่ไหลลงไปเพิ่มมากขึ้น ก็จะแสดงอาการดีใจ โดยกระโดดไปมา และด้วยลำตัวคล้ายสีเงินเมื่อกระทบกับแสงแดด ก็ทำให้เห็นพฤติกรรมชัดเจน จึงนำมาเปรียบเทียบกับอาการดีใจของคนที่ตื่นเต้นอย่างระงับไว้ไม่อยู่
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554


                                           ปลากระดี่มุก -  ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีเพลง "กระดี่ได้น้ำ" ขับร้องโดย อัสนี-วสันต์



เนื้อเพลง กระดี่ได้น้ำ อัสนี - วสันต์

          ล้า ลา ลา .... ระริกระรี้ปลากระดี่ได้น้ำ

           เห็นใครเคยบ่น

           เห็นคนเคยกล่าว

           เรื่องราวเก่าเก่า

           เล่าไปเล่ามา.....ปลากระดี่ได้น้ำ

น้ำนองตลิ่ง...เห็นปลากระดี่

ได้ทีกระโดด....ไม่มีปิดบัง

ออกหน้าออกตา

          เจ้าปลากระดี่...ที่จริงไม่แปลก

          เพราะปลากระดี่....นั้นมันอย่างไร

          มันต้องอยู่ในน้ำ

ผู้คนซิแปลก....ยิ่งดูยิ่งแปลก

ยิ่งไปกันใหญ่...ชอบเอาแต่ใจ

มันเกี่ยวยังไงกับปลา


                                            ปลากระดี่หม้อ - ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

**  น้ำมาที... แสนยินดี

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ

ของดีดี... ได้มาที

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ


น้ำมา....ดีกว่าไม่มี

ถ้าน้ำมี....ปลากระดี่ชอบใจ....ถูกใจ... เป็นระริกระรี้

ได้มา....ดีกว่าไม่มี

ทุกคน.....เมื่อเจอของดี....ถูกใจ....ก็เป็นระริกระรี้


                                         หวอดปลากระดี่หม้อ - ขอบคุณภาพจากสยามเอนซิส

*** น้ำมาที... แสนยินดี

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ

ของดีดี... ได้เจอที

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ


จะผิดตรงไหน....ก็ไม่เคยเจอะน้ำมานาน

จะผิดตรงไหน....ก็ไม่เคยเจอะของดีดี

ไม่ต้องสงสาร.....ไม่ต้องอิจฉา

ไม่ต้องกังขา....ถ้าแม้นคนจะเกิดได้เป็นปลา

เป็นปลากระดี่ได้น้ำ


น้ำมาที... แสนยินดี

ระริกระรี้...ปลากระดี่ได้น้ำ

ของดีดี... ได้เจอที

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ


น้ำมาที... แสนยินดี

ระริกระรี้...ปลากระดี่ได้น้ำ

ของดีดี... ได้เจอที

ระริกระรี้....ปลากระดี่ได้น้ำ

                                          หวอดปลากระดี่มุก - ขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.fisheries.go.th/if-chonburi/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=21

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวัวัฒน์

วิกิพีเดีย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง


                                        ปลากระดี่หม้อรำวง

                                         ปลากระดี่นางรำวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น