สกุลปลาหมู
ชื่ออังกฤษ: Indian loach
ชื่อวิทยาศาสตร์: Botia
วงศ์ปลาหมู Cobitidae
เป็นชื่อสกุลของปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่ง
ลักษณะทั่วไป
มีรูปร่างโดยรวม คือ ป้อมสั้น เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด นัยน์ตาไม่มีหนังปกคลุม ใต้นัยน์ตามีเงี่ยงแข็งปลายสองแฉกอยู่หนึ่งชิ้น ซึ่งเมื่อกางออกมาแล้วจะตั้งฉากกับแก้ม จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่หน้าหรือตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของครีบท้อง มีหนวดที่ปลายจะงอยปากสองคู่ และหนวดที่มุมปากบนอีกหนึ่งคู่รวมเป็นสามคู่ ครีบหางเว้าลึกเป็นแฉก
การแพร่กระจาย
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียจนถึงเอเชียอาคเนย์และทางตอนใต้ของจีน
นิสัย
อยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำค่อนข้างดี มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูง
อาหาร
หากินตามพื้นท้องน้ำ ได้แก่ อินทรียสาร, ซากพืช ซากสัตว์ ตลอดจนแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ
เดิมปลาในสกุลนี้เคยถูกรวมกันเป็นสกุลใหญ่ แต่ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นักมีนวิทยาได้ทำการอนุกรมวิธานใหม่ จนได้มีการแยกสกุลออกไปเป็นสกุลใหม่อีกสามสกุล คือ
Chromobotia (มีเพียงชนิดเดียว คือ ปลาหมูอินโด)
Syncrossus (ปลาหมูลายเสือ) และ
Yasuhikotakia (ปลาหมูขนาดเล็กที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง)
ส่วนสกุล Botiaนี้จะเหลือเพียงแต่ปลาที่พบในอนุทวีปอินเดียจนถึงพม่า
ปลาหมูขาว
ชื่อไทย หมูขาว หมูหางแดง หมูหางเหลือง
ชื่อสามัญอังกฤษ Yellow - Tail botia
ชื่อวิทยาศาสตร์ Botia modesta
ลักษณะทั่วไป
ปลาหมูขาวมีลำตัวเป็นสีเทาหรือเทาอมเขียว บริเวณด้านหลังสีเข้มกว่าลำตัว ด้านท้องสีอ่อนหรือขาว บริเวณโคนหางมีจุดสีดำ จะงอยปากค่อนข้างยาว ปลายจะงอยปากมีหนวด 2 คู่ และมุมปากมีหนวดอีก 1 คู่ ปากอยู่ปลายสุดและอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหัวมีหนามแหลมปลายแยกเป็น 2 แฉก ครีบทุกครีบไม่มีก้าน ครีบแข็ง ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเหลืองจนถึงสีส้มหรือแดง เฉพาะครีบหางจะมีสีสดกว่าครีบอื่น ๆ ครีบอกและครีบท้องมีสีเหลืองจาง ครีบหลังมีจำนวนก้านครีบ 9 อัน ครีบก้น 8 อัน ครีบอก 12 - 15 อัน และครีบท้อง 7 - 9 อัน
ลักษณะของลูกปลาหมูขาวขนาดเล็กจะแตกต่างกับปลาชนิดอื่นๆ คือ ส่วนหลังจะโค้งลาดเหมือนพ่อแม่ปลา และบริเวณกลางลำตัวจะมีลักษณะสีดำทอดไปตามความยาวของตัวปลา เมื่ออายุได้ 45 - 60 วัน และแถบสีดำที่พาดขวางลำตัวจะหายไปเมื่อลูกปลาโตขึ้นหรือมีอายุประมาณ 5 เดือน บุญยืนและวัฒนา (2533)
ถิ่นอาศัย
พบได้ ในแหล่งน้ำไหลตามแม่น้ำ ลำคลอง และหนองบึง ซึ่งทางน้ำเชื่อมกับแม่น้ำ พบมากในภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอยู่รวมกับปลาหมูชนิดอื่น ๆ
อาหาร
อาหารธรรมชาติ ตัวอ่อนของแมลงในน้ำ ตัวหนอน สัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ และซากสัตว์ประโยชน์ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื้อมีรสชาติดีและใช้ปรุงอาหารได้
ขนาด
ปลาหมูขาวมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาหมูที่พบในประเทศไทย เท่าที่เคยพบมีขนาด 23.5 เซนติเมตร แต่ขนาดที่พบโดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ย 10 - 25 เซนติเมตร
การสืบพันธุ์/เพาะพันธุ์ ฤดูการผสมพันธุ์ของปลาหมูขาว ตามธรรมชาติจะอยู่ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนประมาณเดือน มีนาคม – กันยายน
ภาพปลาหมูคอก
ปลาหมูอารีย์
ปลาหมูอารีย์
ชื่อไทย : ปลาหมูอารีย์
ชื่อสามัญ : Black Lined Loach
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Yasuhikotakia sidtimunki (Kottelate,2004)
ลักษณะทั่วไป
มีรูปร่างแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย ลำตัวมีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง ปากค่อนข้างเรียว มีหนวด 3 คู่ ใต้ตามีกระดูกแข็งอยู่ข้างละคู่ซึ่งสามารถพับเก็บได้ ครีบมีแถบสีดำบนพื้นสีจาง ๆ
ประวัติความเป็นมา
ปลาหมูอารีย์ เป็นปลาที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยนายดำริ สุขอร่าม ที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีติดต่อกับเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยปะปนมากับปลาทรงเครื่อง (Epalzeorhynchos bicolor) ต่อมา นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ (ผู้ค้นพบปลาปักเป้าสมพงษ์ ((Carinotetraodon lorteti)) ได้ส่งตัวอย่างปลาให้แก่ ดร.Von Wolfgang Klausewitz ซึ่งเป็นนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ได้ศึกษาถึงลักษณะทางด้านอนุกรมวิธาน พบว่าเป็นปลาหมูชนิดใหม่ จึงได้ให้ชื่อสายพันธุ์ว่า "sidthimunki" เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายอารีย์ สิทธิมังค์ รองอธิบดีกรมประมงในขณะนั้น และได้เรียกชื่อสามัญว่า "หมูอารีย์"
ถิ่นอาศัย
พบเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่กลองแถบจังหวัดราชบุรีและลุ่มแม่น้ำสาละวินในจังหวัดกาญจนบุรี ในต่างประเทศพบที่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเท่านั้น
อาหาร
กินลูกกุ้ง ตัวอ่อนแมลงน้ำ หนอนที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน
ขนาด
เป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร โดยเฉลี่ยจะพบแค่ 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น
ปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด และสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากถิ่นที่อยู่ไม่กว้างขวาง โดยพบเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่กลองแถบจังหวัดราชบุรีและลุ่มแม่น้ำสาละวินในจังหวัดกาญจนบุรี ในต่างประเทศพบที่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเท่านั้น แม้ว่าจะมีรายงานเพิ่มต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ว่าพบในลำน้ำว้า จังหวัดน่านด้วยก็ตาม แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาหมูอารีย์ หากแต่เป็นปลาหมูน่าน (Y. nigrolineata) ซึ่งเป็นปลาหมูในสกุลเดียวกัน และมีลักษณะและสีสันคล้ายคลึงกัน สำหรับปลาหมูอารีย์ที่พบในลุ่มแม่น้ำน่านจะพบในเขตจังหวัดพิษณุโลกและบึงบอระเพ็ดด้วย
ดังนั้น ทางกรมประมงจึงได้ออกกฎหมายคุ้มครองการสูญพันธุ์ของปลาหมูอารีย์ในปี พ.ศ. 2535 โดยถือเป็นปลาน้ำจืดสงวนทั้งหมด 4 ชนิด ที่ห้ามซื้อขายและห้ามเลี้ยงนอกจากได้รับอนุญาตก่อน (ที่เหลืออีก 3 ชนิดได้แก่ ปลาตะพัด (Scleropages formosus) , ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) และปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis))
แต่ปัจจุบัน มีเอกชนที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และต่อมาทางกรมประมงก็สามารถขยายพันธุ์ได้อีกด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
วิกิพีเดีย
สนใจรายอ่านเรื่องราวของปลาหมูมากมายหลายชนิด เขิญติดตามอ่านได้ที่
http://www.fisheries.go.th/if-phichit/web2/index.php?option=com_content&view=category&id=13&Itemid=47
• ปลาหมูข้างลาย
• ปลาหมูอารีย์
• ปลาหมูน่าน
• ปลาหมูขาว
• ปลาหมูคอก
• ปลาหมูหางเหลือง
• ปลาหมูฮ่องเต้
• ปลาหมูหลังยาว
• ปลาหมูหางจุด
• ปลาหมูหางแต้ม
• ปลาหมูลายเสือ
• ปลาหมูลายเสือสาละวิน
• ปลาหมูสี
ภาพปลาหมูคอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น