วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
พรรณไม้ชายน้ำ ...สำมะงา
สำมะงา
ชื่อไทย สำมะงา ,
บางแห่งเรียกสำมะง่า
ชื่ออื่น เขี้ยวงู (ประจวบคีรีขันธ์) ส้มเนรา (ระนอง) สักขรีย่าน (ชุมพร) สำปันงา (สตูล) สำมะลีงา สำลีงา (ถาคกลาง, ตะวันออก) โฮวหลั่งเช่า, จุยหู่มั้ว (จีน) บางแห่งเรียกสำมะง่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertn.
ชื่อวงศ์ LABIATAE (LAMIACEAE)
สำมะงาเป็นไม้พุ่มกึ่งเถา รอเลื้อย สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากแผ่กระจัดกระจายมีขนนุ่มปกคลุมตามส่วนอ่อน ๆ ทั้งหมด
ลักษณะใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปหอก รูปรีหรือรูปไข่ ฐานใบแหลม ปลายใบแหลมหรือทู่ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาเมื่อขยี้มีกลิ่นเหม็นเขียว ผิวใบเกลี้ยง หรือ อาจมีขนประปราย ทางด้านท้องใบ เส้นใบ 6 - 8 คู่ ปลายเส้นเชื่อมกับเส้นถัดไป ก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร มีขนนุ่ม ก้านใบสีน้ำตาลแดงหรือม่วงแดง
ลักษณะดอก >
เป็นดอกช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุก มี3-7 ดอก แต่ส่วนมากจะพบ 3 ดอก ช่อดอกยาว 4 - 8 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 2 - 5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยงรูประฆังยาว 0.3 - 0.4 เซนติเมตร ปลายเป็นแฉกตื้นๆ 5 แฉก หลอดกลีบดอกติดกันเป็นหลอดเล็กๆยาว 2 - 3 เซนติเมตร กลีบดอก สีขาวอมชมพู กลีบดอก 5 กลีบ
เกสรเพศผู้ มี 4 อัน อยู่เหนือหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีแดงอมม่วง ปลายเกสรและปลายหลอดท่อรังไข่ ยาวยื่นออกมาพ้นปากหลอดกลีบดอก
เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ
ลักษณะผล
ผล เป็นผลสดกลมหรือรูปไข่กลับ ผลอ่อนสีเขียว ผิวเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยง ติดอยู่ที่ขั้วผล เมื่อแก่สีออกดำ เมื่อแห้งจะมีร่องตามยาว 4 ร่อง
เมล็ดแข็งมาก มี 1 - 4 เมล็ด
ส่วนมากขึ้นบริเวณที่ชื้นแฉะและตอนบนของป่าชายเลน พบมากตามป่าละเมาะริมทะเล
ออกดอก - ผลเกือบตลอดปี
ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด
สรรพคุณ
ส่วนที่ใช้ : ใบ ราก
สรรพคุณ : ใบมีรสขม เย็น แต่ก็มีพิษ (ห้ามรับประทาน)แก้บวมแผลฟกช้ำ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ฆ่าพยาธิ แผลเน่าเปื่อย โดยใช้พอกสด
ใบสดต้มกับน้ำทำความสะอาดชะล้างบาดแผล ฆ่าพยาธิโรคผิวหนัง ผื่นคัน
ใบสดตำผสมเหล้าองุ่นต้มพออุ่นๆใช้ทา แก้รอยฟกช้ำหรือบวมจากการถูกกระแทก
ใบแห้งบดเป็นผงโรยบริเวณที่เป็นแผลแก้เชื้อ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ (http://www.pharmacy.mahidol.ac.th )
http://tanhakit.blogspot.com/2010/12/blog-post_7515.html
http://thailand-an-field.blogspot.com/2010/01/blog-post_10.html
สำมะงา เป็นพรรณไม้ที่พบได้ทั่วไปแถบ ชายคลอง ริมคูน้ำ ป่าชายเลน ป่าละเมาะข้างทางของถนนตามหมู่บ้านในเมืองฉะเชิงเทรา
พลอยโพยมพบเห็นต้นสำมะงานี้มาแต่เล็กแต่น้อย แต่ก็ไม่เคยได้สนใจ ต่อมาเมื่อเรื่องราวของพืชสมุนไพรต่าง ๆ เฟื่องฟูขึ้นมาถึงได้เพิ่งมารู้จักว่า ต้นไม้ตามชายคูตลองต้นนี้ชื่อต้นสำมะงา
ภูมิปัญญาชาวบ้านก็มีการพัฒนาเขึ้นตามชุมชนต่าง ๆ มากมาย ผลิตภัณฑ์สินค้าจากสมุนไพรพื้นเมืองก็กลายเป็นสินค้าประจำชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนที่มีการจัดตั้งรวมตัวกัน นอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคี เป็นจุดเร้าใจให้เกิดความใฝ่รู้ศึกษาข้อมูลของสมุนไพรต่าง ๆ เกิดความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ที่จะนำสมุนไพรต่าง ๆ มาผลิตเป็นสินค้า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น