ปลาหมอ
ปลาหมอไทย
ฃื่อสามัญไทย หมอไทย , หมอ ,สะเด็ด ,เข็ง
ฃื่อสามัญภาษาอังกฤษ COMMON CLIMBING PERCH
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus
ในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae)
ปลาหมอเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง
ลักษณะทั่วไป
มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก ตาโต ปากกว้าง จงอยปากสั้น นัยน์ตาค่อนข้างเล็ก อยู่ใกล้ปลายจมูก ปากค่อนข้างแคบอยู่ปลายสุด กระดูกขอบกระพุ้งเหงือกหยักเป็นฟันเลื่อยแหลมและแข็ง ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า เหงือกปลาหมอ อวัยวะส่วนนี้ใช้ในการเคลื่อนไหวไปบนบก
ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดแบบหยัก ผิวสาก เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านครีบแข็งแหลมคมจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองด้านท้องสีจางกว่า มีจุดดำขนาดเท่าเกล็ดประอยู่บนหัวและลำตัว ครีบทุกครีบสีเหลืองปนดำ ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ตอนบนของของช่องเหงือก จึงสามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ และสามารถอยู่บนบกหรือพื้นที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในฤดูฝนบางครั้งจะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยความสามารถอันนี้ในภาษาอังกฤษจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า "Climbing perch" หรือ "Climbing gourami"
ภาพปลาหมอแถกเหงือก จากวิกิพีเดีย
ถิ่นอาศัย
ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกแหล่งน้ำ กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค และเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยใช้เป็นอาหารมาช้านาน แพร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ
นิสัย
มีพฤติกรรมการวางไข่โดยตัวผู้และตัวเมียช่วยกันปรับที่วางไข่ โดยวางไข่ลอยเป็นแพ แต่จะปล่อยให้ลูกปลาเติบโตขึ้นมาเอง
อาหาร
กินลูกปลา ลูกกุ้ง แมลง ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย
ขนาด
ความยาวยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบถึง 23 เซนติเมตร
ประโยชน์
ใช้บริโภค เนื้อมีรสอร่อยมีก้างแข็งแทรกปะปนอยู่กับเนื้อ ควรระวังในการรับประทาน
และมีความเชื่อว่าหากปล่อยปลาหมอจะทำให้ไม่เป็นโรคหรือหายจะโรคได้ ด้วยชื่อที่มีความหมายถึงหมอหรือแพทย์ผู้รักษาโรค และนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในปลาที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่มีราคาขายแพงอีกด้วย
มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ปลาหมอไทย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาสะเด็ด ภาคเหนือเรียกว่า ปลาแข็ง ภาคใต้ตอนล่างเรียกชื่อเป็นภาษายาวีว่า อีแกบูยู เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์
ปลาหมอไทยนี้ชาวบ้านบางกรูดมักเรียกว่าปลาหมอนา เพราะส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีมากในท้องนา ในสมัยพลอยโพยมเด็ก ๆ การทำนา ชาวนาจะต้องใช้ระหัดวิดน้ำจากคูคลอง ลำรางสาธารณะประโยชน์ เพื่อนำน้ำเข้านา ดังนั้นจะมีพันธู์สัตว์น้ำเข้าไปอยู่ในนา แพร่พันธุ์สืบต่อเผ่าพันธุ์ของตน ถ้าเดินบนคันนาในฤดูกาลทำนาก็จะเห็นฝูงลูกครอกปลาช่อน ปลาหมอ แหวกว่ายคอยฮุบเหยื่อเสียงดัง เสียงเหล่านี้จะดังเป็นระยะ ๆ เป็นเพื่อนชาวนาหรือผู้คนที่สัญจรอยู่บนคันนา ไม่ให้รู้สึกเดียวดายอ้างว้างว้าเหว่บนผืนนากว้าง
ปลาหมอเหล่านี้ก็เป็นที่หมายปอง ปลาหมอที่ถูกจับได้ก็เป็นอาหารอันโอชะ ทั้งที่เป็นปลาตัวเล็กและมีก้างเยอะมาก สมัยเด็ก ๆ เด็กในบ้านไม่ค่อยมีใครกล้ากินปลาหมอกันนักเพราะกลัวก้างติดคอนั่นเอง เมนูปลาหมอที่ทำบ่อยกว่าเพื่อนก็คือ ฉู่ฉี่ปลาหมอ เมื่อโตขึ้น พลอยโพยมจึงได้รู้รสชาติว่า ปลาหมอฉู่ฉี่นี้อร่อยมาก ๆ และออกจะงง ที่ปลาหมอไทยหากถูกกล่าวอ้างเป็นปลาหมอนา หาได้มาจากในท้องนา ราคาจะค่อนข้างแพง กิโลกรัมละ 70-80 บาท และจะหาซื้อได้ในตลาดเช้า หากไปสายแม่ค้ามักบอกว่าขายหมดแล้ว ตอนเด็ก ๆ เวลาเดินผ่านบ้านน้านุ้ย (ลูกนา) จะเห็นปลาหมอนาตัวเล็ก ๆ ดำ ๆ (ไม่ขอดเกล็ด) เป็นเมนูปลาหมอต้มเค็ม บ่อย ๆ
นอกจากนี้ยังมีปลาหมอช้างเหยียบ ปลาหมอตาล ปลาหมอเทศ แต่รสชาติในความรู้สึกของพลอยโพยม สู้ปลาหมอไทย หรือปลาหมอนาไม่ได้
ปลาหมอช้างเหยียบ
ปลาหมอช้างเหยียบเป็นปลาที่พบได้ทุกสภาพของแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค รวมถึงในแหล่งที่เป็นน้ำกร่อยด้วย ในต่างประเทศพบได้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฤดูวางไข่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม
ไข่มีลักษณะเม็ดกลมสีเหลืองเข้มเป็นไข่ลอย
เป็นปลาที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร
นิยมตกกันเป็นเกมกีฬาและรับประทานเป็นอาหาร มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ
ปลาหมอช้างเหยียบยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น หมอโค้ว, ปาตอง, หมอน้ำ, ตะกรับ, กระตรับ, หน้านวล, ก๋า หรือ อีก๋า เป็นต้น
ปลาหมอตาล
ปลาหมอตาล มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และมีพฤติกรรมที่แปลกไปกว่าปลาชนิดอื่น คือ เมื่อจะต่อสู้หรือข่มขู่กัน จะใช้ปากตอดกันคล้ายกับการจูบที่แสดงออกถึงความรักของมนุษย์จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปลาจูบ"วางไข่แบบไข่ลอยบนผิวน้ำ
พบกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำทั่วไปรวมถึงนาข้าวหรือท้องร่องสวนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 12-20 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดได้ถึง 30 เซนติเมตร สำหรับในประเทศไทยพบเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน และพบบางส่วนในป่าพรุทางภาคใต้
กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์น้ำตลอดจนถึงแมลงและแพลงก์ตอน โดยใช้ปากที่ยืดหดได้นี้ตอดกิน จึงนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามเพื่อความเพลิดเพลินและทำความสะอาดภายในตู้ปลา โดยนิยมเลี้ยงกันในตัวที่มีสีพื้นลำตัวเป็นสีขาวนวลหรือสีชมพู ในขณะที่ปลาที่มีสีตามธรรมชาติจะนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภค
นอกจากนี้แล้วยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ใบตาล, อีตาล, ตาล, ปากง่าม, อีโก๊ะ หรือ วี ในภาษาใต้
ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
กระดูกขอบกระพุ้งเหงือก เป็นอวัยวะส่วนไหนหรอ
ตอบลบ