สมุนไพรไทย
ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี นครโสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นตำแหน่งนี้มีเกียรติยศต่างจากในสมัยนี้ นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ
เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้ง แต่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้า จึงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ชื่อ ชีวก ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มหาดเล็กกราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่(ชีวโก)
ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก หมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง เมื่อเติบโตขึ้นชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะ จึงหนีพระบิดาไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่น
วิชาที่เลือกเรียนคือวิชาแพทย์ แต่เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน จึงอาสารับใช้พระอาจารย์ เมื่อเรียนอยู่ถึง 7 ปี จึงลาอาจารย์กลับบ้าน ระหว่างทางอาจารย์ให้ไปหาต้นไม้ที่ทำยาไม่ได้ ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู ปรากฏว่ากลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกว่าเขาได้เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้กลับได้
หลังจากกลับเมืองมาแล้ว ได้รักษาพระเจ้าพิมพิสารให้หายขาดจากภคันทลาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร)ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และได้รับพระราชทานสวนมะม่วง
แต่ต่อมาหมอชีวกก็ได้ถวายสวนนี้ให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย ด้วยความที่เป็นคนบำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ไม่เลือกฐานะ จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในด้าน เป็นที่รักของปวงชน
ในวงการแพทย์แผนโบราณในปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป
ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
การแพทย์แต่เดิมของไทยส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย เข้ามาในประเทศไทยพร้อมพระพุทธศาสนา คนไทยนำมาปรับปรุงและประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมและการดำรงชีพ เรียกขานกันว่า "การแพทย์แผนโบราณ" ปัจจุบันเรียกกันใหม่ว่า "การแพทย์แผนไทย" มีการจดบันทึกเป็นตำราไว้หลายเล่ม เช่น เวชศึกษาและประมวลหลักเภสัชของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ฯ อีกส่วนหนึ่งเป็นการแพทย์พื้นบ้านซึ่งชาวบ้านในส่วนต่าง ๆ ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษในการรักษาตัวยามเจ็บป่วยมานานแสนนาน สืบทอดกันใรครอบครัวอาจมีการเขียนบันทึกบ้าง ไม่ได้บันทึกบ้าง
ภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานด้านการศึกษาสมุนไพรแห่งหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้พื้นบ้านที่กระจัดกระจายกันเหล่านี้ พยายามรวบรวมประสบการณ์จากหมอพื้นบ้านและสำรวจสมุนไพรที่มีการใช้ในประเทศไทย ตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลและหมอพื้นบ้านที่เชื่อถือได้และบันทึกไว้ชัดเจน จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่
ที่มาของบทความ หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น