วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
การปฏิบัติ...วิปัสสนา
วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และเป็นศาสตร์เดียวที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องหลุดพ้นไปจากอำนาจการครอบงำของอาสวะกิเลส ตั้งแต่เบาบางจนกระทั่งหมดจด ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง
วิปัสสนา มาจากคำว่า "วิ + ปัสสนา"
วิ แปลว่า แจ้ง, จริง, วิเศษ
ปัสสนา แปลว่า เห็น (ปัญญา)
เมื่อกล่าวโดยความหมาย คือ
๑. ปัญญาเห็นแจ้ง เห็นชัด รูป-นาม, อริยสัจ
๒. ปัญญาเห็นโดยอาการต่างๆ มีเห็นไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท
๓. ปัญญาเห็นแปลกประหลาด (อัศจรรย์ในสิ่งที่ได้เห็นในขณะปฏิบัติ)
กรรมฐาน มาจากคำว่า "กรรม + ฐาน"
๑. กรรม หมายถึง การกระทำ ในที่นี้มุ่งหมายเอาการบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ เพื่อฝึกฝน อบรม ขัดเกลา กำจัดกิเลส อันเป็นสาเหตุหลักของความทุกข์ทั้งหลาย
๒. ฐาน หมายถึง ที่ตั้ง ในที่นี่มุ่งหมายเอาอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒, และอริยสัจ ๔ เพื่อเป็นฐานหรือที่ตั้งในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ (กายานุปัสสนา, เวทนานุปัสสนา, จิตตานุปัสสนา, ธรรมานุปัสสนา)
พลอยโพยมไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มา ๑๕ วัน ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์ ๒ คลองหลวง ปทุมธานี เมื่อ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม ปีนี้ กับพระวิปัสสนาจารย์ ๓ องค์ คือพระวิปัสสนาจารย์ พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ พระวิปัสสนาจารย์ พระสว่าง ติกฺขวีโร และพระพระวิปัสสนาจารย์ พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต ( ประมาณ ว่าเป็นครั้งที่ ๕ หรือ ๖)กลับไปปฎิบัติ ซ้ำ ๆ แบบเดิม แต่เนื่องจาก มิได้กลับมาปฎิบัติต่อที่บ้านเลยสักครั้งเดียว ด้วยข้ออ้าง ร้อยแปดพันประการ ซึ่งพระอาจารย์ทั้ง ๓ องค์ ก็มีเมตตา ไม่เบื่อหน่ายกับศิษย์ อย่างพลอยโพพยม และ ศิษย์คนอื่น ๆ ( ที่เป็นเหมือนพลอยโพยม เหมือนกัน) แต่ก็มีศิษย์ที่กลับมาปฎิบัติต่อที่บ้านก็มาก ขวนขวายไปเรียนอภิธรรมก็มากเช่นกัน การปฎิบัติแต่ละครั้งก็ก้าวหน้ากว่าครั้งเดิม ๆ แต่สำหรับพลอยโพยมคงสะสมบุญเก่ามาน้อยและชาตินี้ก็ยังทำกุศลใหม่ยังน้อยอยู่จึงค่อนข้างล่าช้าในการที่จะดวงตาเห็นธรรม ต้องไปปฏิบัติอีก หลาย ๆ ครัั้ง รอให้เหตุและปัจจัยพร้อม ก็คงจะพอตัดภพตัดชาติให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ ให้สั้นลงได้ เหลือสัก ๗ ภพ ๗ ชาติ แล้วได้หลุดพ้น แต่พลอยโพยมมีความตั้งมั่น ตั้งใจในการปฏิบัติ แม้จะเจอวิบากกรรมมากมายก็ไม่ย่อท้อ เพียงแต่ไม่อาจนำวิบากกรรมที่ได้พบขณะปฏิบัติมาสร้างกุศลให้ได้รู้แจ้งในรูปนาม ขันธ์ ห้า ที่หาใช่ของตัวเราไม่ ยังยึดติด ว่า นี่ตัวเรา นี่ของเรา เพราะความไม่รู้ มี อวิชชาห่อหุ้ม พระอาจารย์ชี้แนะก็ยังไม่เข้าใจนั่นเอง
และพลอยโพยมชอบฟังการบรรยายธรรม ของพระอาจารย์ ทั้ง ๓ องค์ มาก และมีบรรยายธรรมทุกคืน ตั้งแต่ทุ่มครึ่งบางครั้งก็ถึงสี่ทุ่ม คำบาลีที่แปลออกมาไพเราะลึกซึ้งจับใจก็มีมาก แต่ก็จดไม่ทัน เพราะประโยคยาวทั้งบาลี ยาวทั้งที่แปลเป็นภาษาไทย
อริยสัจสี่
มีความจริงอยู่ ๔ ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจสี่
๑. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นทุกข์
พระอาจารย์สรุปว่า
ทุกข์คือสิ่งที่ต้อง รู้
๒สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
สมุหทัย คือสิ่งที่ต้องละ
๓.. นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
นิโรธ คือสิ่งที่ควรเจริญ
๔. มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค ๘ ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้
มรรคคือสิ่งทีต้องทำให้แจ้ง
ปฏิจจสมุปบาท
อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย ๑๒ เรื่องเกิดขึ้นสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับดังนี้ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้
ลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์
ความทุกข์ จะดับไปได้เพราะดับ ชาติ (การเกิดอัตตา"ตัวตน"คิดว่าตนเป็นอะไรอยู่)
ชาติ จะดับไปได้เพราะดับ ภพ (การมีภาระหน้าที่และภาวะทางใจ)
ภพ จะดับไปได้เพราะดับ อุปาทาน (ความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ)
อุปาทาน จะดับไปได้เพราะดับ ตัณหา (ความอยาก)
ตัณหา จะดับไปได้เพราะดับ เวทนา (ความรู้สึกในทางทุกข์หรือสุขหรือความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์)
เวทนา จะดับไปได้เพราะดับ ผัสสะ (การสัมผัสด้วยประสาทต่าง ๆ)
ผัสสะ จะดับไปได้เพราะดับ อายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
อายตนะ จะดับไปได้เพราะดับ นามรูป (ร่างกายและจิตใจ)
นามรูป จะดับไปได้เพราะดับ วิญญาณ (การรับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
วิญญาณ จะดับไปได้เพราะดับ สังขาร (การนึกคิดหรือการปรุงแต่งของใจ)
สังขาร จะดับไปได้เพราะดับ อวิชชา (ความโง่เขลาหรือความไม่รู้:ไม่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง)
จาก มหานิทานสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฏิจจสมุบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณ และปรากฏเป็นของลึก ก็แหละถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นของตื้นนัก ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ เธออย่าพูดอย่างนั้นอานนท์ ปฏิจจสมุบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก ดูกรอานนท์เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ...
ดูกรอานนท์ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ
พลอยโพยมขอน้อมนำส่งบุญกุศลที่ได้ ไปทำทาน ถือศิล ๘ ปฏิบัติภาวนามายังทุกท่านขอให้ทุกท่านน้อมใจอนุโมทนารับบุญกุศลนี้ด้วยเทอญ ฯ
สูทั้งหลายจงมาดูโลกที่สวยงามดุจราชรถอันตระการตา ซึ่งพวกคนเขลาตกอยู่่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ผู้ใดสำรวมจิต ผู้นั้นจะพ้นบ่วงแห่งมาร
(สำรวมจิต หมายถึงมีสติ)
• “กาโล ฆสติ ภูตานิ, สพฺพาเนว สหตฺตนา.
• โย จ กาลํ ฆโส ภูโต, ส ภูตปจนึ ปจิ.”
• (กาลย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมกับตัวมันเอง ใครเล่าสามารถกินกาลพร้อมกับทำลายตัณหาที่เผาไหม้สรรพสัตว์ทั้งหลายไปได้ด้วย)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น