ปลากระเบน
ปลากระเบน
ชื่ออังกฤษ: (Stingray, Ray,)
อยู่ในอันดับใหญ่: Batoidea
หมายถึง ปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่งที่พบได้ทั้งน้ำจืดสนิท น้ำกร่อย และทะเล มีรูปร่างแบนราบ มีท่อน้ำออก 1 คู่ อยู่ด้านหลังของหัว ซึ่งทำหน้าที่ให้น้ำผ่านเข้าทางเพื่อไหลเวียนผ่านเหงือกเพ่อการหายใจ ซึ่งจะไม่ไหลเวียนผ่านปากซึ่งอยู่ด้านล่างลำตัว เหมือนปลากระดูกอ่อนหรือปลากระดูกแข็งจำพวกอื่น หากินบริเวณพื้นน้ำ มีหลายวงศ์ หลายสกุล ขนาดแตกต่างหลากหลายไปตามสกุลและชนิด กระจายไปตามเขตอบอุ่นทั่วโลก เช่น
ในวงศ์ปลากระเบนหางสั้น (Potamotrygonidae) มีหางสั้น รูปร่างกลมคล้ายจานข้าว
ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) รูปร่างค่อนข้างกลม จะงอยปากแหลม หางยาวคล้ายแส้ มีเงี่ยงพิษที่โคนหาง 1 - 2 ชิ้น ที่เมื่อหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ได้
ในวงศ์ปลากระเบนไฟฟ้า (Narcinidae และ Torpedinidae) พบในทะเล มีขนาดเล็ก มีรูปร่างต่างไปจากกระเบนชนิดอื่น ๆ และสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันตัวและล่าเหยื่อได้ด้วย
ชนิดต่าง
ปลากระเบนขาว เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura signifer
ปลากระเบนบัว เป็นปลากระเบนที่อยู่ในน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura
bleeker
ปลากระเบนไฟฟ้า เป็นปลากระเบนที่มีรูปร่างกลม และมีอวัยวะที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าได้
ปลากระเบนไฟฟ้าตาบอด เป็นปลากระเบนพบได้ตามไหล่ทวีปตั้งแต่ช่องแคบคุกของนิวซีแลนด์
ปลากระเบนไฟฟ้าแปซิฟิก เป็นปลากระเบนไฟฟ้า อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก
ปลากระเบนราหูน้ำจืด เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura chaophraya
ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม เป็นปลากระเบนน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manta birostris
ปลากระเบนลายเสือ เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura krempfi
ปลากระเบนลาว เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laoensis
ปลากระเบนราหู
ชื่ออังกฤษ: (Giant freshwater whipray)
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura chaophraya
เป็นปลากระเบนที่อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)
ปลากระเบนราหูน้ำจืด ภาพจากวิกิพีเดีย
เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากปลากระเบนแมนตา (Manta birostris) ที่พบได้ในทะเล โดยสามารถหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม กว้างได้ถึง 2.5-3 เมตร
ซึ่งเป็นปลากระเบนชนิดที่มีหางเรียวยาวเหมือนแส้ ได้ชื่อว่า "ราหู" เนื่องจากขนาดลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ
ลักษณะทั่วไป
ส่วนปลายหัวแหลม ขอบด้านหน้ามนกลมคล้ายใบโพ ลักษณะตัวเกือบเป็นรูปกลม ส่วนหางยาวไม่มีริ้วหนัง มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น ซึ่งในปลาขนาดใหญ่อาจยาวได้ถึง 8-10 นิ้ว เมื่อหักไปแล้วสามารถงอกขึ้นได้ กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ด้านบนของปีกและตัวเป็นสีเทาหรือน้ำตาลนวล หางสีคล้ำ ด้านล่างของตัวมีสีขาวนวล ที่ขอบปีกด้านล่างเป็นด่างสีดำ
ถิ่นอาศัย
อาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ พบครั้งแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถูกตั้งชื่อชนิด ว่า "เจ้าพระยา" (chaophraya) และยังพบในแม่น้ำสายอื่น ๆ เช่น แม่น้ำแม่กลอง, บางปะกง, แม่น้ำโขง, บอร์เนียว, นิวกินี จนถึงออสเตรเลียตอนเหนือ
ขนาด
ปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และอาจมีน้ำหนักที่มากกว่าได้ถึง 80 เท่า เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยลูกปลาที่ออกมาใหม่นั้นจะมีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร และมีปลอกหุ้มเงี่ยงหางเอาไว้ เพื่อมิให้ทำอันตรายต่อแม่ปลา ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว สันนิษฐานว่าที่ต้องมีขนาดตัวใหญ่เช่นนี้ พื่อมิให้ตกเป็นอาหารของนักล่าชนิดต่าง ๆ ในแม่น้ำ
ปลากระเบนราหู ถูกอนุกรมวิธานในปี ค.ศ. 1990 โดย ศ.ดร.สุภาพ มงคลประสิทธิ์ อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ไทสัน โรเบิร์ตส์ แห่งสถาบันกองทุนสัตว์ป่าโลก
ปลากระเบนราหูมักถูกพบจับขึ้นมาชำแหละขายเสมอในจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาทจนถึงอยุธยา และปากแม่น้ำแม่กลอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อย ๆ ตามหน้าสื่อหนังสือพิมพ์
จัดเป็นปลาน้ำจืดไทยอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธุ์
วงศ์ปลากระเบนธง (วงศ์: Dasyatidae, อังกฤษ: Whipray)
เป็นวงศ์ย่อยของปลากระเบนวงศ์หนึ่ง
พบได้ทั้งน้ำจืดสนิท, น้ำกร่อย และทะเล
ลักษณะทั่วไป
มีรูปร่างแบนราบ ไม่มีครีบหลัง ส่วนครีบอกแผ่กว้างรอบตัว ปากอยู่ด้านล่าง ตาอยู่ด้านบน มีช่องน้ำเข้า 1 คู่อยู่ด้านหลัง
มีขากรรไกรและฟันที่แข็งแรงจำนวนมากเรียงติดต่อกันเป็นแถว ใช้ขบกัดสัตว์เปลือกแข็งซึ่งเป็นอาหารหลักได้ดี ผิวหนังเรียบนิ่มไม่มีเกล็ด ยกเว้นบริเวณกลางหลัง
มีส่วนหางที่ยาวเหมือนแส้ ซึ่งคนโบราณนิยมตัดหางมาทำเป็นแส้ เรียกว่า "แส้หางกระเบน" ที่โคนหางมีเงี่ยงแหลมอยู่ 1-2 ชิ้น เป็นอาวุธใช้สำหรับป้องกันตัว มีพิษแรง มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6 มักมีคนถูกแทงบ่อย ๆ เพราะไปแตะมันโดยไม่ระวัง เช่น เท้าไปถูกเข้าระหว่างที่ปลาฝังตัวอยู่ใต้ทราย ขณะที่เดินบริเวณหาด
ในเลือดของปลาวงศ์นี้มีสารประกอบของยูเรีย จึงมีกลิ่นคล้ายปัสสาวะ
ปัจจุบันพบประมาณ 7 สกุล ได้แก่
Himantura มี 28 ชนิด
Dasyatis มี 39 ชนิด
Makararaja มีเพียงชนิดเดียว
Pastinachus มี 4 ชนิด
Pteroplatytrygon มีเพียงชนิดเดียว
Taeniura มี 3 ชนิด
Urogymnus มี 2 ชนิด
สำหรับในประเทศไทย
ปลาในวงศ์ปลากระเบนธงที่พบในประเทศไทย อาทิ
ที่พบในน้ำจืด
ปลากระเบนลาว (Dasyatis laoensis)
ปลากระเบนราหู (Himantura chaophraya)
ปลากระเบนแม่กลอง (Himantura kittipongi)
ปลากระเบนขาว (Himantura signifer)
ที่พบในน้ำกร่อยหรือทะเล
ปลากระเบนบัว (Himantura bleekeri)
ปลากระเบนแมลงวัน (Himantura gerrardi)
ปลากระเบนลายเสือ (Himantura oxyrhynchus)
ปลากระเบนชายธง (Pastinachus sephen)
ปลากระเบนทอง (Taeniura lymma)
พิษปลากระเบน
เงี่ยงหางกระเบน
เงี่ยงหางของปลากระเบนนั้น มีลักษณะเป็นแท่งแบนยาว มีส่วนปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลายกลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ (venom gland) อยู่ใต้ผิวชั้นนอก (epidermis)
พิษจากเงี่ยงหางของปลาในวงศ์นี้ไม่อาจทำให้แก่ชีวิตได้ โดยพิษมีคุณสมบัติเป็นสารโปรตีนจะซึมผ่านทางบาดแผล โดยมีน้ำพิษสีเทาหรือใส และดูดซึมเข้าระบบทางเดินอาหาร จะเกิดการอักเสบ เจ็บปวด เช่นเดียวกับพิษของงูหางกระดิ่ง นอกจากนี้แล้วยังมีเอนไซม์ในการทำลายเนื้อเยื่อได้อีกด้วย ในบุคคลที่มีอาการแพ้มากจะทำให้มีไข้ได้ และบาดแผลอาจลุกลามได้ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
แต่ในกรณีที่ สตีฟ เออร์วิน พิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวออสเตรเลียที่เสียชีวิตเพราะถูกเงี่ยงของปลากระเบนชายธงแทงแล้วเสียชีวิตนั้น มิได้เกิดจากพิษโดยตรง แต่เป็นเพราะถูกแทงเข้าที่อวัยวะสำคัญคือ หัวใจ ประกอบอยู่ใต้น้ำด้วย ทำให้น้ำท่วมปอดจนเสียชีวิต
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษปลากระเบน ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลขั้นต้น ให้กดบริเวณปากแผลด้วยผ้าสะอาดหนา ๆ เพื่อห้ามเลือด จากนั้นให้แช่บาดแผลในน้ำอุ่นจัดที่มีอุณหภูมิประมาณ 43-45 องศาเซลเซียส หรือใช้ผ้าชุบน้ำร้อนพันรอบบริเวณที่ปวดประมาณ 30–60 นาที หรือเอาอวัยวะส่วนที่โดนแทงไปอังไฟ เพราะความร้อนจะทำลายโปรตีนของพิษ อาการปวดจะค่อยทุเลาลง พิษจะคลายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการแพ้มากให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
ปลากระเบนชายธง
ปลากระเบนแม่กลองภาพจากวิกิพีเดีย
ปลากระเบนชายธง หรือ ปลากระเบนธง (อังกฤษ: Cowtail stingray)
ปลากระเบนชนิดหนึ่ง ที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเลได้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pastinachus sephen อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) มีรูปร่างเป็นทรงกึ่งสี่เหลี่ยมดูคล้ายชายธง จึงเป็นที่มาของชื่อ โดยความกว้างของลำตัวจะมีมากกว่าความยาวของลำตัวเสียอีก เมื่อมีขนาดเล็กผิวด้านบนจะเรียบ และผิวนี้จะขรุขระขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยมีตุ่มแข็งเล็ก ๆ ปกคลุมบริเวณกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ตามีขนาดเล็ก หางยาว ปลายหางมีแผ่นริ้วหนังเห็นได้ชัดเจน มีเงี่ยงพิษ 2 ชิ้นที่โคนหาง สีลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีความกว้างโดยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 1 เมตร พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร และยาว 1.8 เมตร น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม
มีจุดเด่นคือ หางที่ยาวมาก โดยที่ความยาวของหางมีมากกว่าความยาวลำตัวถึง 2.5-3 เท่า ซึ่งเมื่อถูกจับ มักจะสะบัดหางด้วยความรุนแรงและเร็วเพื่อแทงเงี่ยงหางเพื่อป้องกันตัว
พบบริเวณชายฝั่งทะเล หรือปากแม่น้ำอย่างกว้างขวาง โดยพบตั้งแต่ทวีปแอฟริกาตะวันออก, แอฟริกาเหนือ เช่น อียิปต์ และแอฟริกาใต้ เรื่อยไปจนถึงทะเลแดง, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงภูมิภาคไมโครนีเซีย และ ออสเตรเลีย รวมถึงญี่ปุ่น โดยมีรายงานพบที่แม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย ที่ห่างจากทะเลถึง 2,200 กิโลเมตร แต่พฤติกรรมในทะเลจะอาศัยอยู่ได้ลึกถึง 60 เมตร
สำหรับในประเทศไทย พบที่ทะเลสาบสงขลาตอนใน ในเขตจังหวัดพัทลุง
มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ใช้เนื้อเป็นอาหารในต่างประเทศ และใช้หนังทำเป็นเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ปลา“กระเบนแม่กลอง Hlmantura Kittipongi”
พบปลากระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกมี่เมืองกาญจน์ ชื่อ “กระเบนแม่กลอง” ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด WWF ระบุ กระเบนเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำค่อนข้างสูง แต่ขาดการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง
กิติพงษ์ จารุธานินทร์ นักเลี้ยงปลาสวยงามชื่อดังของประเทศไทย ได้ค้นพบปลากระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ โดยได้ศึกษารวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2547 และได้มอบปลากระเบนน้ำจืดกับดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืดแห่ง WWF ประเทศไทย และผู้ร่วมงาน ดร.ไทสัน โรเบิร์ต นักวิจัยอาสาสมัครของสถาบันสมิทโซเนียนเพื่อทำการตรวจสอบกับปลากระเบนชนิดอื่นๆ
ดร.ชวลิต กล่าวถึงการค้นพบในครั้งนี้ว่า กระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกนี้ชื่อว่า “กระเบนแม่กลอง Hlmantura Kittipongi” โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ กิติพงษ์ จารุธานินทร์ ผู้ค้นพบ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Natural History Bulletin of Siam Society ฉบับเดือนมีนาคม 2006
มีบทวามจาก ผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2549 ดังนี้
ดร.ชวลิต ระบุว่าปลากระเบนแม่กลองอยู่ในวงศ์ของปลากระเบนธง มีลักษณะที่แตกต่างจากปลากระเบนชนิดอื่นๆ ก็คือ ด้านหลังจะมีสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง รอบวงของลำตัว หาง ช่องหายใจ ช่องเหงือกและขอบด้านล่างของตัวเป็นสีคล้ำ ส่วนลำตัวมีขนาดใหญ่สุดประมาณ 60 ซม.และจำนวนของฟันซึ่งมีลักษณะเป็นซี่เล็กๆ บริเวณขากรรไกรล่างมีจำนวนมากถึง 14-15 แถว
ทั้งนี้ตามปกติแล้วปลากระเบนแม่กลองจะไม่อาศัยอยู่ในลำน้ำนิ่งและต้องการแหล่งน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อคอยดักจับปู ปลา กุ้ง หอยและสัตว์น้ำซึ่งอยู่ตามหน้าดินเป็นอาหาร โดยแทรกตัวอยู่ใต้ผิวดินท้องน้ำโผล่ขึ้นมาเพียงช่องหายใจกับลูกตา แล้วใช้จะงอยตรงปากจับเหยื่อและกดทับไว้ก่อนกินเป็นอาหาร
สำหรับแหล่งอาศัยที่ค้นพบปลากระเบนแม่กลองนี้มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยคือ แม่น้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ยังไม่ถูกรบกวนจากการทำประมงมากนัก ซึ่งการค้นพบปลากระเบนชนิดใหม่ในลำน้ำสายนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของน้ำได้เป็นอย่างดี
ดร.ชวลิต ยังได้ให้ข้อสังเกตต่อปัจจัยแห่งความอยู่รอดของกระเบนชนิดใหม่นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำค่อนข้างสูง หากแต่ยังขาดการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อีกทั้งมาตรการการอนุรักษ์และการส่งเสริมด้านการวิจัยทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมไปถึงโอกาสในการได้รับความสนับสนุนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติก็ยังมีไม่มากนัก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ส่วนของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไปจนถึงความร่วมมือกันระหว่างประเทศ
“สังเกตได้ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจล่าปลากระเบนเป็นหลัก ซึ่งหากมีการแบ่งเขตจับสัตว์น้ำที่ชัดเจน หรือมีการจัดการการประมงอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปลากระเบนในบริเวณนั้นมากนัก ซึ่งในที่สุดแล้วปลากระเบนอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ก็ได้ว่า มาตรการในการอนุรักษ์ของชุมชนและระดับนโยบายมีประสิทธิภาพเพียงใด” ดร.ชวลิตกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=17729
สำหรับที่บางกรูด มีปลากระเบนทั้งปลากระเบนน้ำจืด และปลากระเบนน้ำกร่อย ซึ่งสมัยเด็กพี่น้องผู้ชายในบ้านก็สามารถใช้เบ็ดตกปลากระเบนได้ในแม่น้ำ ซึ่งเบ็ดตกปลาในสมัยก่อน ก็แค่ซื้อตัวเบ็ดที่เป็นโลหะ คล้องเชือก และใช้คันเบ็ดจากไม้ไผ่ในสวน จะใช้คันเบ็ดให้ยาวสักเท่าไรก็ได้ตามใจชอบ การจะขว้างเชือกที่มีตัวเบ็ดไปได้ไกล ๆ ก็ต้องใช้ตุ้มหัวตะกั่วช่วย เป็นน้ำหนักที่ช่วยส่งแรงเบ็ดให้ไปได้ไกล ๆ
ปลากระเบนที่ตกเบ็ดได้มาเป็นผลพลอยได้ รายการแถมพิเศษเพราะเด็ก ๆ ตั้งใจตกปลาอื่น ๆ ดังนั้นปลากระเบนที่หลงมากินเหยื่อ ถูกจับได้จึงโชคดีที่ถูกปล่อยคืนในแม่น้ำ
ในสมัยเด็ก ๆ เข้าใจว่าหางกระเบนที่ใช้เฆี่ยนตีทาสในนิยายตามที่อ่านในหนังสือ เป็นแส้แข็ง ๆ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำมาจากอะไร แต่ใจที่คิดนึกด้วยวัยเด็กว่า ที่เรียกหางกระเบน คงเรียกตามหางกระเบนของผ้าโจงกระเบนที่ม้วน ๆชายกระเบนแล้วลอดหว่างขาอ้อมไปข้างหลังเอาปลายสุดที่ม้วนได้แล้วขึ้นมาเหน็บกับเข็มขัดเงินที่เอวของคนนุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่ได้ทราบว่าคนที่ถูกเฆี่ยนด้วยแส้กระเบนจนหลังไหล่เลือดโชกแผลเหวอะหวะ ดังมโนภาพที่วาดตามผู้ประพันธ์นั้น ความจริงคนโบราณใช้หางกระเบนจริง ๆ ตัวจริง หางจริงของปลากระเบน เอามาเฆี่ยน จนได้มาอ่านเรื่องราวของปลากระเบน
ส่วนกระเป๋าของหนังปลากระเบน เป็นของนิยมมากเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว ราคาแพงมากในสมัยนั้น และในปัจจุบันก็ยังถือว่าค่อนข้างแพง
ภาพดอกนนทรี ขอบคุณภาพจาก Biogang
นอกจากหนังจระเข้ หนังปลากระเบนแล้ว แม้แต่ปลานิลก็เอาหนังมาทำกระเป๋าได้ พลอยโพยมได้เป็นของฝากจากมีนกรข้าง ๆ ตัว หลายใบ เป็นกระเป๋าสตางค์ ใบเล็ก ๆ มีทั้ง กระเป๋าสตางค์ ของผู้หญิง ผู้ชาย หลายรูปทรง ซองใส่่บัตรเครดิต นามบัตร ซึ่งผู้ผลิต คงมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ คนเอามาให้บอกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ของรุ่นน้อง ก็น่าจะเป็นรุ่นน้องมินกรที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั่นเอง แม้แต่อาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำ หลาย ๆ ชนิด ที่มินกรสาวน้อยบอกว่า ช่วยกันอุดหนุนรุ่นพี่กันหน่อย พลอยโพยมขอแสดงความชื่นชม ความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ของคุณ ๆ ชาวมีนกรทั้งหลาย ไม่ใช่แค่ มีนกรที่บ้าน รวมไปถึง มีนกร อื่น ๆ อีกหลาย ๆท่าน ที่พลอยโพยมได้เคยรู้จักมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น