ปลายี่สก..
ฃื่อสามัญไทย ปลายี่สก ,ปลาเสือ
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษJULLIEN'S GOLDEN-PRICE CARP
ชื่อวิทยาศาสตร์Probarbus jullieni
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae
วงศ์ย่อย Cyprininae
ปลายี่สกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน
ชื่อที่ใช้เรียกปลายี่สกแตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ที่แม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย เรียก "ปลาเอิน""เอินตาแดง" หรือ "ปลาเอนคางหมู" ในท้องที่บางแห่งเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลายี่สกทอง" "กะสก" หรือ "อีสก" บริเวณแม่น้ำน่าน เรียก "ปลาชะเอิน" และที่จังหวัดเชียงรายเรียกว่า "ปลาเสือ"
ลักษณะทั่วไป
ปลายี่สกมีรูปร่างคล้ายกับปลาตะเพียนขาวแต่มีลำตัวยาวกว่า หัวค่อนข้างโต ปลายี่สกมีลักษณะเด่นคือ สีของลำตัวเป็นสีเหลืองนวล ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว บริเวณด้านข้างมีแถบสีดำข้างละ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด ลายตามตัวเหล่านี้จะปรากฏในลูกปลาที่มีขนาด 3-50 นิ้ว บริเวณหัวมีสีเหลืองแกมเขียว ริมปากบนมีหนวดสั้น ๆ 1 คู่ มีฟันที่คอหอยเพียงแถวเดียว จำนวน 4 ซี่ เวลากินอาหารทำปากยืดหดได้ คล้องลงในใต้ส่วนหัว เยื่อม่านตาเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ครีบหลัง ครีบหู ครีบท้อง ครีบก้น มีสีชมพูแทรกอยู่กับพื้นครีบ ซึ่งเป็นสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก
ในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีคล้ำอมม่วงและมีตุ่มสิวขึ้นบริเวณข้างแก้มและครีบอก
ถิ่นอาศัย
แต่เดิมเชื่อกันว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาชนิดนี้มีเฉพาะแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก และแควน้อย จากการสำรวจพบว่า มีปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำอื่นอีก
ในภาคกลางพบปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก แควน้อย แควใหญ่ ภาคเหนือพบมากที่แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุบลราชธานี มีมากในจังหวัดหนองคายและจังหวัดนครพนม
เมื่อ 50 ปีก่อน ดร.สมิท ที่ปรึกษาราชการกรมรักษาสัตว์น้ำแห่งรัฐบาลสยาม รายงานว่าปลายี่สกเป็นปลาดีที่นิยมของชาวราชบุรีพอ ๆ กับปลาจาดหรือปลาเวียนอันมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี
ในต่างประเทศ เคยพบในแม่น้ำปะหัง ในรัฐปะหัง ของมาเลเซีย และคาดว่าคงจะพบในประเทศลาว เขมร และเวียดนามด้วย
นิสัย
ปลายี่สกชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ที่พื้นท้องน้ำมีลักษณะเป็นกรวดทราย ระดับน้ำลึก 5-10 เมตร น้ำเย็นในสะอาด จืดสนิทและเป็นบริเวณที่มีน้ำไหล วังน้ำกว้างและมีกระแสน้ำไหลวน ลูกปลาจะไปรวมกันอยู่เป็นฝูงตามบริเวณที่เป็นอ่าว และพื้นเป็นโคลนหนาประมาณ 10-20เซนติเมตร
พอถึงเดือนตุลาคม ปลาจะเริ่มว่ายทวนขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อวางไข่และจะกลับถิ่นเดิมในเดือนพฤษภาคมหรือพอน้ำเริ่มมีระดับสูงขึ้น ปลายี่สกจะพากันไปอาศัยตามห้วยวังที่มีน้ำลึก กระแสน้ำไหลคดเคี้ยว พื้นดินเป็นดินทรายและกรวดหิน เป็นท้องทุ่ง (คุ้ง) หรือวังน้ำที่กว้างใหญ่ใกล้เขาสงบน้ำใสสะอาด ลึกตั้งแต่ 5-10 เมตร หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดมา
ฤดูวางไข่
ปลายี่สกเป็นปลาที่วางไข่ในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ปลายี่สกจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ฝูงละ 30 - 40 ตัว ปลาขะว่ายน้ำเหนือน้ำไปยังแหล่งวางไข่ในลักษณะคู่ใครคู่มัน เมื่อถึงแหล่งวางไข่ จะรวมกันอยู่เป็นฝูงใหญ่ ๆ ฝูงละ 30 - 40 ตัว จับเป็นคู่ ๆ เล่นน้ำตามริมตลิ่งในตอนบ่าย จับคู่เคล้าเคลีย และโดดขึ้นเหนือน้ำส่งเสียงดังสนั่น พอพลบค่ำก็ว่ายออกไปวางไข่กลางแม่น้ำในขณะที่ปลาวางไข่ปลาจะเชื่องมาก ไม่ยอมหนีจากกัน ทำให้ถูกจับได้ง่าย ปลาตัวเมียที่ถูกจับได้ จะมีไข่ไหลออกมา บางครั้งต้องใช้ผ้าอุดไว้ไม่ให้ไข่ไหล ไข่ที่ได้ถ้าไปผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้จะได้รับการผสมดีมาก เพราะไข่แก่จัด
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ปลายี่สกมักจะวางไข่ในวันพระขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ ชาวประมงจะคอยสังเกตก่อนถึงวันพระ 3 วัน ถ้าเห็นปลาเริ่มจับคู่เล่นน้ำริมตลิ่งหลายคู่ แสดงว่าปลาจะต้องวางไข่ในวันพระที่จะถึงแน่นอน แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างกะทันหันเช่น ฝนตกหนัก หรือระดับน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะเลื่อนการวางไข่ต่อไปอีก
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ก่อนที่ปลาจะวางไข่ ชาวประมงจะจับปลาสร้อยได้เป็นจำนวนมากพร้อมทั้งปลาเทโพและปลากินเนื้อบางชนิด เข้าใจว่าปลาสร้อยจะคอยกินไข่ปลายี่สก และปลาเทโพจะกินปลาสร้อยอีกต่อหนึ่ง เข้าลักษณะสมดุลกันตามหลักธรรมชาติ ด้วยการเป็นห่วงโซ่อาหาร ซึ่งกันและกัน
แหล่งวางไข่
แหล่งวางไข่ของปลายี่สกตามธรรมชาติ จะต้องมีเกาะหรือแก่งอยู่กลางน้ำ พื้นเป็นกรวดทราย มีกระแสน้ำไหลมีสัตว์หน้าดินชุกชุมมาก บริเวณท้ายเกาะจะต้องมีบุ่งหรือแอ่ง ซึ่งเป็นที่สะสมอาหารเมื่อปลาพร้อมที่จะวางไข่ ก็ว่ายน้ำออกไปท้ายเกาะตรงบริเวณที่กระแสน้ำไหลมาบรรจบกัน
อาหาร
โดยตามธรรมชาติ ปลายี่สกกินพืชในน้ำเป็นอาหารหลัก และอาจกินสัตว์หน้าดิน ลูกกุ้ง ลูกปู หอย ไรน้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำที่อยู่บริเวณพื้นดินด้วย
ขนาด
ปลายี่สกเป็นปลาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในจำนวนปลาน้ำจืดด้วยกัน พบในจังหวัดกาญจนบุรีขนาดใหญ่ที่สุดยาว 1.35 เมตร น้ำหนัก 40 กิโลกรัมเป็นปลาที่ทำเป็นป้ายบอกชื่อถนนในตัวอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเคยเป็นถิ่นที่ได้ชื่อว่ามีปลายี่สกชุกชุมในอดีต
ประโยชน์
เนื้อมีรสดีอร่อยมาก ปัจจุบันเป็นปลาที่หายาก มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับจำพวกปลาน้ำจืดที่มีอยู่ในประเทศไทย
ปลายี่สกหนังหนา เนื้อเหลือง ละเอียดอ่อน นิ่ม รสหวาน ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ต้มยำ ต้มเค็ม แกงเหลือง ทอดมัน ทอดฟู นึ่ง รมควันเจี๋ยน นึ่งกับเครื่องปรุงแบบจีน ชุบแป้งทอด
ปัจจุบันแหล่งที่มีปลายี่สกมากที่สุด คือ แม่น้ำโขง รองลงมาได้แก่แม่น้ำน่าน ส่วนที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี แทบจะไม่มีปลายี่สกเหลืออยู่เลย
ปลายี่สกที่จับได้มีปริมาณลดลง เนื่องจากแหล่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติ และความเจริญของบ้านเมือง เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ การสร้างถนน การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและการปล่อยสิ่งโสโครกลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดน้ำเสีย เป็นอันตรายต่อพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนปลายี่สกลดน้อยลง ประชาชนจึงควรหันมาสนใจเลี้ยงปลายี่สกให้มากขึ้น
เพื่อทดแทนการจบจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะมีจำนวนน้อยลงทุกที การเพาะพันธุ์ปลายี่สกเสริมแห่งน้ำธรรมชาติจะช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป
สถานีประมงน้ำจิดจังหวัดหนองคายประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมปลายี่สกไทยเมื่อปีพ.ศ.2517 โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากแม่น้ำโขง และเมื่อเดือนมกราคม 2533 สถานีฯ สามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยที่เลี้ยงในบ่อดินมาทำการเพาะพันธุ์ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ (suprefact) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (motilium) ทางช่องท้องของแม่ปลา
ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวัวัฒน์
เอกสารการเพาะเลี้ยงปลายี่สก ข้อมูลของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคาย เรียบเรียง โดยยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์
วิกิพีเดีย
สวัสดีครับ พวกเราทั้งหมดนี้ อยู่ในตู้เลี้ยงปลาของ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ ของกรมประมงที่บางเขนครับ วัน ๆ พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไร ว่ายน้ำวนไปเวียนมาในตู้เลี้ยง ถึงเวลาก็มีคนเอาอาหารมาใส่ตู้เลี้ยงให้พวกเรา บางทีเพราะเซ็งมาก ๆ กับชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่าย เราก็ไล่แย่ง ฮุบและงับอาหารเหล่านั้น ให้พอได้เป็นเกมตื่นเต้นสร้างความเร้าใจในชั่วขณะ ในหมู่พวกเราที่มีชะตากรรมเดียวกัน
พอวันเสาร์-อาทิตย์ และวันจันทร์ ก็จะรู้สึกเหงา ๆ เพราะไม่ได้ออกต้อนรับแขกที่มาเข้าชม แต่พี่น้องบางตัวในกลุ่มเขาบอกว่าเขาชอบช่วงเวลาสามวันนี้มาก เพราะสงบดี
พอมีเงาวูบ ๆ วาบ ที่หน้าตู้เลี้ยงปลา ก็รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่พวกเราในตู้เลี้ยงปลาแห่งนี้ เพราะมีมนุษย์หน้าตาประหลาด ๆ ทั้ง ผู้ชาย ผู้หญิง คนชรา คนหนุ่มสาว เด็ก ๆ เดินผ่านไปผ่านมาบ้าง บางคนมาหยุดที่หน้าตู้บ้าง แล้วก็จับจ้องมองดูพวกเราพร้อมกับยกวัตถุอะไรสักอย่างขึ้นมาจด ๆ จ้อง ๆ พวกเรา แล้วมีเสียงประหลาดออกมาจากวัตถูนั้น แถมบางครั้งมีแสงประหลาดเหมือนฟ้าแลบออกมาด้วย พวกเราปลาตัวที่ขวัญอ่อนบางทีกำลังว่ายน้ำ เพลิน ๆ ก็ตกอกตกใจ ชวัญหนีดีฝ่อไปตาม ๆ กัน
ผมเองก็สงสัยกับโลกใบนี้ของผมว่า ในโลกนี้ทำไมมันดูคับแคบ ไม่สวยงามน่ารื่นรมย์ ไม่เคยมีญาติพี่น้องหลากหลายพันธุ์ที่เรียกรวม ๆ ว่า ปลา อื่น ๆ อีกเลยหรือ ไม่มีเสียงนกร้องหวานแว่วกังวานใส ไม่มีแสงแดดอันอบอุ่นอ่อนละมุน หรือแผดจ้าร้อนแรง ไม่มีเสียงฝนตก ฟ้าร้อง ส่งเสียงคำรามคะนองสนั่นหวั่นไหว ไม่มีสรรพสัตว์อื่น ๆ รอบ ๆ ตัวพวกเราเลยหรือไร
พวกพี่น้องที่มีอาวุโส ในกลุ่ม มักจะมีคำปลอบใจพวกเราเวลาที่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ และสิ้นหวัง ในโลกแคบ ๆ ว่า... จงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ด้วยเหตุปัจจัยบางอย่างเราจึงต้องมาอยู่รวมกันในสถานที่แห่งนี้ โลกภายนอกน่าสะพรึงกลัว นอกจากจะถูกไล่ล่าจับเอาไปกินหรือถูกนำไปขายแล้ว ท้องน้ำถิ่นฐานที่เคยเป็นที่อยู่อันน่าริ่นรมย์ของต้นตระกูลบรรพบุรุษของเราทั้งหลาย ปัจจุบันมีมลภาวะเป็นพิษจากการกระทำของมนุษย์เองมากมายหลากหลายรูปแบบ เข่นฆ่าพวกเราและญาติ ๆ พี่น้องตระกูลสัตว์น้ำทั้งหลายล้มตายเป็นเบือ ขอให้พวกเราจงอดทนกับภาระหน้าที่ ที่จะต้องยืนหยัดอยู่เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ปลายี่สก ให้คงอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน
จงอดทนกับมวลมนุษย์ที่มาจด ๆ จ้อง ๆ มองพวกเรา คงมีบางคนที่จะมองเห็นความงดงามของการที่มีพวกเราพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย สายพันธุ์ได้อยู่คู่กับสายน้ำ ลำธาร หนองบึง ได้มีความคิดที่จะอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้คงอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป หากขาดพวกเราเหล่าสัตว์น้ำทั้งหลาย วันหนึ่งพวกเขาจะรู้สึก...สำนึกได้แล้วจะเสียใจ..หวนหาพวกเราให้กลับคืนมา แต่ไม่รู้ว่า จะสายเกินไปหรือไม่...
สำหรับในลำน้ำบางปะกง มีพันธุ์ปลามากมายหลายพันธุ๋ที่ข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ไม่ระบุชื่อของลำน้ำบางปะกงว่าเป็นแหล่งอาศัยของเหล่าสัตว์น้ำ หลาย ๆ ชนิด
ลำน้ำบางปะกงนั้น เพราะมีสายน้ำสองระบบนิเวศ คือ เป็นทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย คนละช่วงเวลากันในสถานที่เดียวกันในหลายอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นลำน้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำ ลำน้ำบางปะกงนี้นี้มีความยาว 230 กิโลเมตร และไหลลงสู่ทะเล โดยมีต้นน้ำมาจากยอดเขาไหลรินลงมา เป็นลำธาร ลำห้วย แคว และคลอง หลายสายก่อนจะมารวมกันแม่นำสายธารแห่งชีวิตของผู้คน
ในอดีตลำน้ำบางปะกงเคยมีปลายี่สก เวียนว่ายในสายชลนี้ แม้แต่ที่บางกรูด รุ่น พี่ ๆ ของพลอยโพยมก็เคยได้พบเห็น แต่ตัวพลอยโพยมเองยังเด็กเกินไปที่จะจดจำได้เพราะไม่ได้พบเห็นบ่อย ๆ ไม่ได้ซุกซน ซอกแซก สัญจรไปที่ต่าง ๆ แบบรุ่นพี่ผู้ชาย
และในรายงาน ของ สันทนา ดวงสวัสดื์ และคณะ เมื่อ ปี พ.ศ 2526 ก็เคยพบเห็นปลายี่สกในลำน้ำเขตอำเมืองและอำเภอบางคล้า
ปัจจุบันที่ตำบลบางกรูดซึ่งอยู่ชิดติดอำเภอเมืองไม่เคยมีใครได้พบเห็นปลายี่สกมานานมากแล้ว นานจน....ผู้คนริมฝั่งน้ำบางปะกง แถบนี้ลืมเลือนปลายี่สกไปแล้ว..อนิจจาปลายี่สก......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น