วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาลิ้นหมา..มาเยี่ยมเยือน

ปลาลิ้นหมา..มาเยี่ยมเยือน


ปลาลิ้นหมาทะเล

วงศ์ปลาลิ้นหมา (วงศ์: Soleidae)

ปลาลิ้นหมาเป็นปลากระดูกแข็งในกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ (Ray-finned fishes) ในอันดับ Pleuronectiformes

ปลาลิ้นหมา หรือเป็นที่รู้จักกันอีกหลายชื่อ เช่น ปลายอดม่วง ปลาลิ้นควาย หรือปลาใบไม้ หรือ "เป" ในภาษาอีสาน
จัดอยู่ในวงศ์ Soleidae แต่ก็พบปลาลิ้นหมา จัดอยู่ในวงศ์ Cynoglossidae หรือมีชื่อสามัญว่าTonguefishes มีประมาณ 137 ชนิด

แพร่กระจายอยู่ทั่วไป ในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยในน้ำเค็ม พบได้ทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน



มีลักษณะพิเศษคือ มองผิวเผินเหมือนมีแค่ด้านเดียว ปลาตัวปรับตะแคงข้างด้านใดด้านหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาขึ้นกับชนิด) ราบไปกับพื้นน้ำเพื่อปรับตัวให้ซ่อนบนทราย ด้านท้องมีสีขาวส่วนอีกด้านหนึ่งมีสีน้ำตาลดำ หัวมีลักษณะโค้งมน หางแหลม ตาทั้งสองเมื่อยังเป็นตัวอ่อนเป็นสองข้างเหมือนปลาชนิดอื่น แต่เมื่อโตเต็มวัยจะไม่สมมาตร ตาข้างหนึ่งย้ายไปรวมกับอีกด้านหนึ่งของกะโหลก ครีบหลังและครีบทวารมีฐานครีบยาว ลำตัวแบนราบที่ด้านท้อง และโค้งเล็กน้อยทางด้านที่มีตา และเป็นรูปกลมรีเมื่อมองจากด้านข้าง เกล็ดมีลักษณะเป็นแบบโค้งมน (Cycloid) หรือมีขอบเป็นหยัก (Ctenoid)



ปลากลุ่มนี้เป็นตัวอย่างทฤษฎีการวิวัฒนาการและการปรับตัวของริชาร์ด ดอว์กินส์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของปลาลิ้นหมาในธรรมชาติ อาศัยอยู่บริเวณพื้นใต้ทะเล ได้ปรับตัวให้นอนราบไปกับพื้นด้วยด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว จึงได้มีการปรับตัวในเรื่องการมองเห็น และได้มีวิวัฒนาการในเรื่องของตา โดยทำให้ตาเคลื่อนที่เข้ามาอยู่ทางด้านบนของลำตัว เพื่อทำให้การมองเห็นดีขึ้น
ปลาในวงศ์นี้ออกหากินในเวลากลางคืน และมีการพรางตัวเพื่อประโยชน์ในการจับเหยื่อ จึงมีความสามารถในการปรับเม็ดสีที่ผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม


ปลาลิ้นหมาทะเล

โดยปกติแล้ว ปลาลิ้นหมามีแหล่งที่อยู่อาศัยคือ พื้นทะเล หรือพื้นท้องน้ำ ว่ายน้ำโดยขนานกับพื้นและพลิ้วตัวตามแนวขึ้นลง สามารถมุดใต้พื้นทรายหรือโคลนได้เวลาตกใจ บางครั้งอาจพบปลาลิ้นหมาบางชนิดเกาะอยู่ตามท้องเรือหรือเสาใต้น้ำ

จัดเป็นปลากินเนื้อ (Carnivore) ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ สัตว์หน้าดินขนาดเล็ก (Zoobenthos) ลูกกุ้ง ลูกปู แอมฟิพอด (Amphipods) ปลาขนาดเล็ก แพลงก์ตอนสัตว์ เช่น โคพีพอด (Copepods)

ส่วนใหญ่แล้วปลาในกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในทะเล มีเพียงไม่กี่ชนิดที่พบในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย

ความแตกต่างของชนิดพันธุ์และขนาดมีมาก
ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ชนิดพันธุ์ที่พบในทะเลเขตหนาวแถบอลาสกา ซึ่งมีขนาดยาวได้ถึง 2 เมตร และหนักได้ถึง 325 กิโลกรัม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippoglossus hippoglossus
และเล็กสุดเพียง 10 เซนติเมตร


ส่วนชนิดน้ำจืดมี 5 ชนิด คือ Brachirus panoides, Brachirus harmandi, Achiroides leucorhynchos, Achiroides melanorhynchus และ Euryglossa siamensis ซึ่งทั้งหมดอยู่ในวงศ์ Soleidae

ปลากลุ่มนี้ อาจนำมาเป็นสัญญาณบอกเหตุของคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไป เช่น มีปริมาณออกซิเจนต่ำ ปริมาณของแอมโมเนียในน้ำสูง จะพบว่าปลาลิ้นหมาจะว่ายขึ้นมาบริเวณผิวน้ำก่อนปลาชนิดอื่น


ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

ชื่อสามัญลิ้นหมาน้ำจืด
ชื่อสามัญ ลิ้นควาย ยอดม่วงน้ำจืด
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษRIVER SOLE

ลักษณะทั่วไป

ปลาลิ้นหมาน้ำจืด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา (Soleidae)


ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

เป็นปลาน้ำจืดประเภทปลาซีกเดียว รูปร่างรูปไข่คล้ายใบขนุน ลำตัวแบนบางเป็นแผ่น
ตาทั้งสองอยู่บนซีกลำตัวด้านเดียวกันจึงมีชื่อเรียกกันว่า “ปลาซีกเดียว" จากการพัฒนาและปรับตัวของปลา เพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีพ ปลาชนิดนี้วัยอ่อนจะมีลำตัวซีกซ้ายและขวาเท่ากัน เมื่อเจริญเติบโตขึ้นรูปร่างของมันจะเปลี่ยนไปดังที่พบเห็นทั่วไป

หัวเล็กนัยน์ตาทั้งสองข้างอยู่ซีกลำตัวด้านขวาและอยู่ติดกับมุมปาก จะงอยปากกลมมน ปากแคบ ฟันซี่เล็กและแหลมคมอยู่โคนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นติดเป็นแผ่นเดียวกันเกือบทั้งลำตัว ครีบอกเส้นเล็กมาก ไม่มีครีบหูครีบท้องโผล่ขึ้นมาเป็นติ่งเล็ก ๆ พื้นลำตัวสีน้ำตาลปนเหลืองมีประสีน้ำเงินเข้มเป็นแต้มใหญ่และเล็กอยู่ตามลำตัวและครีบ ซีกซ้ายของลำตัวสีขาว ใช้ในการยึดเกาะก้อนหินและโคลนตมตามพื้นดินใต้น้ำ

โดยปกติมักจะไม่เคลื่อนไหว อาหารได้แก่สัตว์น้ำหน้าดินขนาดเล็ก เช่นไส้เดือนน้ำ, ลูกกุ้ง เป็นต้น


ปลาลิ้นหมา น้ำจืด

ปลาลิ้นหมาน้ำจืดเป็นปลาที่มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่ค่อยลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ดังนั้น คนสมัยก่อนหากเห็นปลาลิ้นหมาลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำ จะเก็บน้ำใส่ตุ่ม เพราะเป็นสัญญาณบ่งชี้แล้วว่าน้ำจะเสีย ปลาลิ้นหมาน้ำจืดพบในแม่น้ำตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำของทุกภาค ตามแหล่งน้ำสายใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และภาคอีสาน ไม่พบในแม่น้ำโขง

ปลาลิ้นหมาเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเนื้อปลามีรสดี ใช้ปรุงอาหารได้ โดยปรุงสดและทำปลาตากแห้ง อีกทั้งเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ด้วย


แต่ปัจจุบันหาได้ยากขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้อยู่

เมื่อสมัยที่พลอยโพยมอยู่บ้านบางกรูด เวลาพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำในหน้าน้ำกร่อย เมื่อพายออกไปไกลฝั่ง บ่อยครั้งจะได้ยินเสียงร้องดัง อืด.... อืด...ลากเสียงยาวอยู่ใต้ท้องเรือ เสียงร้องเป็นระยะ ๆ และคล้ายกับว่า เสียงนี้ดังติดอยู่กับใต้ท้องเรือ จนเข้าไปใกล้ฝั่งแม่น้ำของอีกฝั่ง เสียงนี้ก็จะหายไป คำบอกเล่าที่รับฟังมา คือ บอกกล่าวกันมาเป็นทอด ๆ ว่า เป็นเสียงร้องของปลาลิ้นหมา
พี่ ๆ บอก อย่างนี้ โดยบอกว่า ผู้ใหญ่บอกไว้ พอมีเพื่อน ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมาเที่ยวบ้านตอนปิดเทอมใหญ่เป็นเวลาหลาย ๆ วัน พอเพื่อน ๆ ถาม ว่า อุ๊ย นั่นเสียงอะไร พลอยโพยมก็จะบอกว่า เสียงปลาลิ้นหมา เพื่อนถามว่า เธอรู้ได้อย่างไร พลอยโพยมก็จะตอบว่า ผู้ใหญ่บอกมา วันนี้พลอยโพยม ก็ต้องใช้คำว่า ผู้ใหญ่บอกมา กับท่านผู้อ่าน เช่นกัน

และในหน้าน้ำจืด จะไม่มีเสียงร้อง อืด..... อืด .....นี้ เป็นเพื่อนเวลาพายเรือคนเดียวข้ามแม่น้ำบางปะกง พลอยโพยมคิดว่า เป็นปลาลิ้นหมาทะเลมากกว่าจะเป็นปลาลิ้นหมาน้ำจืด จึงจะได้ยินเสียงในหน้าน้ำเค็มของชาวบ้านบางกรูด แต่ที่จริงควรเรียกว่าหน้าน้ำกร่อย

ข้อมูลของ ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อภาษาอังกฤษ ของปลาลิ้นหมาค่อนข้างสับสน เพราะใช้ไม่ตรงกันจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง อาจเป็นเพราะข้อมูลนั้น ๆ กล่าวถึงเฉพาะปลาลิ้นหมาที่ผู้ให้ข้อมูลพบเห็นมาเพียงบางสายพันธุ์ พลอยโพยมขออภัยที่ไม่อาจสรุปข้อมูลนี้ได้

หนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของกรมประมง จะแยกปลาลิ้นหมา ออกเป็น
1.ปลาลิ้นควายเกล็ดลื่น หรือปลาใบขนุน ปลาลิ้นเสือ เป็นปลาทะเล
2 ปลาลิ้นหมา ลิ้นหมาเกล็ดใหญ่ ปลาซีกเดียว พบตามชายฝั่งทะเลทั่วไป
3.ปลาลิ้นควาย ปลาลิ้นหมาน้ำจืด รูปร่างคล้ายใบขนุน เป็นปลาที่พบได้ตามแหล่งน้ำแม่น้ำสายใหญ่ทั่วไปในประเทศไทย

เนื่องจาก มีนกรสาวน้อยที่บ้านบอกพลอยโพยมว่า มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสัตว์น้ำภาษาอังกฤษกันใหม่ (พลอยโพยมไม่แน่ใจว่าชื่อวิทยาศาสตร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษ) แม่ต้องระวังการนำมาใช้นะ เดี๋ยวไม่ อัฟเดท พลอยโพยม เลยไม่กล้าอ้างอิง หากอ่านข้อมูลแล้ว ใช้ไม่ตรงกัน ยกเว้น เป็นชื่อตามที่ใช้ตามผลงานวิจัย

ภาพจากอินเทอร์เนท
ที่มาของข้อมูล วิกีพีเดีย
บทความของพิทยารัตน์ สุขสุเดช. นักวิทยาศาสตร์สถานีวิจัยย่อยชะอา จ.เพชรบุรี. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
หนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของกรมประมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น