วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] อดีตกาล ...บ้านบางกรูด

อดีตกาล ...บ้านบางกรูด


การใฃ้เรือพายสัญจรทางน้ำ นาน ๆ ครั้งจึงจะได้พบเห็น


ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงของวัดบางกรูด
ในวันนี้ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะวัดได้สร้างเขื่อนบดบังชายฝั่งนี้ไปแล้วในปี 2554 นี้เอง




คำว่าบ้านบางกรูด ขอรวมความถึงวัดบางกรูด ตำบลบางกรูดทั้ง ตำบลบางกรูดเดิมและตำบลบางกรูดในปัจจุบัน

ตำบลบางกรูดตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง เมื่อหันหน้าสู่ปากอ่าวทางอำเภอบางปะกง มีหลักฐานยืนยันได้ว่าสภาพเดิมเป็นป่า มีต้นมะกรูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

(แก้ไข) ในอดีตมีอาณาเขตคลอบคลุมไปถึงหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด มีหมู่บ้านที่รวบรวมได้ในขณะนี้้ 9 หมู่บ้าน (หรืออาจมีมากกว่า ณ มีนาคม 2556 )



ผู้คนทั้งสองฝั่งเคยเป็นชุมชนเดียวกัน มีวิถีชีวิตดำเนินไปในรูปแบบเดียวกัน คือไทยปนจีน มีการทำบุญ มีการถือศีล มีการกินเจ มีทั้งวัดบางกรูด ศาลเจ้า โรงเจ มีการทำบุญทั้งตรุษไทย ตรุษจีน สารทไทยและสารทจีน มีมหรสพทั้ง การแสดงงิ้ว ลิเก หนังตะลุง ลำตัด การศึกษาเล่าเรียน มีทั้งเรียนโรงเรียนไทย คือโรงเรียนวัดบางกรูดซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ซึ่งตั้งเป็นโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ. 2451 และมีลูกหลานหลายบ้านที่เรียนภาษาจีน มาถึงวันนี้พลอยโพยม ก็ไม่ทราบว่า เขาเรียนโรงเรียนจีนกันที่ใด ตอนเด็ก ๆ พลอยโพยมเคยเห็นคุณตาคนเล็กน้องชายของยายขา อ่านหนังสือจีน แบบในหนังในในละคร เลยคืออ่านจากด้านท้ายเล่มมาข้างหน้า และเคยถามท่านว่า ก๋งอ่านหนังสือจีนด้วยก๋งเรียนมาหรือคะ ก๋งหนวดบอกว่าก๋งเรียนภาษาจีนมา เมื่อเด็กหญิงถามต่อว่า ก๋งเรียนอะไรบ้างคะ คุณตาชาญ (ชื่อจีนของท่านคือกุ่ยชุน) ที่เด็กๆ เรียกท่านว่าก๋งหนวดตอบว่า ก็เรียนเหมือนคนไทยเรียนนั่นแหละ เรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรียนเป็นวิชา วิขา ได้ถามท่านต่ออีกว่า อ้าวเรียนประวัติไทยเป็นภาษาจีนเหรอคะ ท่านตอบว่า เปล่าก๋งก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์จีน ก๋งต้องเรียนเรื่องราชวงศ์จีนน่ะซี ก๋งหนวดดูท่าทางว่าดุเพราะเป็นคนเงียบ ๆ อันที่จริงท่านก็ใจดี ไม่ได้มีทีท่ารำคาญเด็กพูดมากคนนี้เลย ถามเรื่องอะไรก็ตอบหมด


ฉางเอ๋อ นางจันทรเทพธิดา

ก๋งหนวดท่านนี้ ไม่ค่อยมีหลาน ๆ คนไหน ไปจู้จี้ถามโน่นถามนี่ เวลาท่านขึ้นมาจากบ้านล่าง ( บ้านที่ท่านมีครอบครัวอยู่ เลยวัดผาณิตาราม และอยู่ใกล้กับวัดเกาะชันซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกันกับวัดผา แต่ฝั่งเดียวกันกับโรงสีล่าง ) มาที่บ้านคุณยายเล็กซึ่งเป็นบ้านดั้งเดิมของบรรพบุรุษฝ่ายคุณยาย เป็นบ้านที่คุณยายเล็กน้องสาวคนสุดท้องรองคุณตาชาญครอบครองกรรมสิทธิ์ มีกระดูกใส่โกฐบ้าง ใส่โหลขาวมีฝาปิดบ้างสิบกว่าบรรพบุรุษวางที่โต๊ะบูชานี้ เด็ก ๆ กลัวกันมาก ก๋งหนวดต้องขึ้นมาทำพิธีเซ่นไหว้ตามเทศกาล ตักข้าวใส่ถ้วยวางตะเกียบเยอะมาก จำได้ว่าเวลายกข้าวไปเอาตั้งไหว้ ถ้วยข้าวใส่กระด้งยกไปทั้งกระด้งเต็มกระด้งเลยทีเดียว นอกจากตรุษสารท แล้วก๋งขึ้นมาทำเทศกาลขนมอี๋ ไหว้พระจันทร์ ก๋งหนวดทำกับข้าวอร่อยหลายอย่าง โดยเฉพาะเผือกทอด หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดพอคำ (ที่ค่อนข้างโตสำหรับเด็กต้องตัดแบ่งเวลากิน) แล้วผัดกับน้ำตาลทรายจนขึ้นเกร็ดขาว พอโตขึ้นตอนทำงานแล้วเจ้านายเคยพาไปกินอาหารจีนเจอเผือกทอดแบบนี้ แต่ฝีมือกุ๊กร้านนั้นห่างไกลฝีมือก๋งหนวดมากเลย นอกจากนี้ก๋งหนวดจะมี ขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ ขนมจีน ๆ ที่ก๋งจะแวะซื้อมาจากตลาดโรงสีล่างมาด้วย



นึกไปนึกมาก็มีแต่พลอยโพยม ที่มาประจบเอาใจก๋งหนวดเพราะอยากกินของหลังเซ่นไหว้นี่เอง หลานคนอื่น ๆ ไม่เห็นมีใครมาวิ่งเข้าวิ่งออกบ้านคุณยายเล็กกัน ก๋งหนวดเป็นคนพูดน้อยหลาน ๆ คนอื่น ไม่เข้ามาใกล้ชิด เพราะก๋งจะมีแต่ดุ ว่า ค่อย ๆ เดินซี ทำไมต้องวิ่ง หยิบดี ๆ ถือดี ๆ นะ เดี๋ยวของแตก ก๋งจะกังวลว่าเรามาบ้านนี้แล้วจะทำข้าวของบ้านนี้เสียหาย คล้าย ๆ แบบนั้น หลาน ๆ จึงเกร็ง จะช่วยยกอะไรก๋งก็บอกว่าเดี๋ยวก๋งยกเอง เหลือแต่คนเห็นแก่กินตะกละแบบพลอยโพยมนี่ละ ก็อยากกินของ ของก๋งหนวดนั่นเอง เพราะยายขาไม่ได้มีพิธีไหว้พระจันทร์ คืนวันไหว้พระจันทร์นั้น พระจันทร์วันเพ็ญที่ลอยเด่นอยู่บนนภามัว ๆ ซัว ๆ ไม่แจ่มจ้าสักที ชาวจีนโบราณจึงเอากระดาษซ่อนในก้อนขนมนัดหมายกันก่อการขับไล่มองโกลออกจากจีนก่อนตั้งราชวงศ์ หมิงได้ ถ้าเพ็ญพระจันทร์แจ่มจ้า อะร้าอร่ามงามตาละก้อ การคราวนั้นของชาวจีนคงไม่สำเร็จผล ทหารมองโกลคงผิดสังเกต (พลอยโพยมคิดเอาเอง)



ส่วนโรงเรียนวัดบางกรูดนั้นในสมัยก่อนนั้นมิได้เรียกว่าเป็นโรงเรียนราษฎร์ แต่เรียกว่ามีฐานะเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ (หมายความว่าไม่ใช่โรงเรียนหลวง) ผู้อุปการะโรงเรียนคือเจ้าอาวาสวัดบางกรูด สืบเนื่องกันต่อ ๆ มาตามตำแหน่งของเจ้าอาวาสวัด
พอคลิกหาคำว่าเชลยศักดิ์ก็พบแต่เรื่องราวละครเชลยศักดิ์ เป็นการบ้านของพลอยโพยม ต้องไปค้นคว้าว่าประวัติของโรงเรียนวัดบางกรูดที่มีฐานะเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ ( โรงเรียนราษฎร์) คำว่าเชลยศักดิ์ในที่นี้หมายถึงอะไรต่อไป
แก้ไข เพิ่มเติม (มีนาคม 2556) นอกจากโรงเรียนเชลยศักดิ์แล้ว ยังมีหมอเชลยศักดิ์ด้วย
ได้ความเพิ่มเติมว่า
ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศให้ตั้งโรงเรียนมูลสามัญศึกษา แบ่งเป็น 2 ชั้น คือโรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำ และโรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง ครูผู้สอนในสมัยนั้นได้แก่พระภิกษุที่อยู่ในวัด ในระยะแรกให้อาจารย์ผู้สอนจัดเก็บค่าธรรมเนียมเอง ดังข้อความสำคัญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ร.ศ. 111 (พ.ศ.2435)
จนถึงปี พ.ศ. 2465 โรงเรียนวัดบางกรูด จึงมีฐานะเป็นโรงเรียนประชาบาล และเคยเปิดสอนถึงชั้นประถมหก ในราวปี พ.ศ. 2480 ต่อมาลดเหลือชั้นประถมปีที่สี่
และพ่อมังกร ก็เรียนจบชั้น ป. หก ที่โรงเรียนวัดบางกรูด เมื่อปี พ.ศ.2472 เรียกว่าจบหลักสูตร ประโยคประถมบริบูรณ์ ป.หก ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อีก 3 ปี สอบมัธยมปีที่ 5 ประโยคครูมูลได้ ในปี พ.ศ.2475 ได้เป็นครูที่โรงเรียนวัดบางกรูดในปี พ.ศ. 2476 และสามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้ในปี พ.ศ.2477 ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า จบชั้น มัธยมปีที่ 5 ประโยคครูมูล เรียนมหาวิทยาลัยได้ด้วย ในปี พ.ศ.2486 ก็ไปเป็นเสมียนมหาดไทย ชั้นจัตวาที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทราด้วยเงินเดือน 20 บาท ถึงปี พ.ศ.2502 ได้เงินเดือน 75 บาท (ขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ขั้น และ3 ขั้นบ้าง ได้เพิ่มเงินเดือนปีละ 5 บาท ) และ ปี 2503 ได้เงินเดือน 700 บาท



โรงสีที่บ้านท่าถั่วที่ยังเหลือร่องรอยอยู่

จากหนังสือร้อยปี อำเภอบ้านโพธิ์ ระบุว่าแต่เดิมนั้นตำบลบางกรูดมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ต่อมาพลอยโพยมพบว่ามีหมู่ที่ 9 ด้วย

ต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีเข้ามาก่อสร้างโรงสีไฟ 3 โรง คือโรงสีบน โรงสีกลาง และโรงสีล่าง มีเพียงโรงสีล่างเท่านั้น ที่มีประวัติให้ค้นคว้าข้อมูลได้ ว่าโรงสีล่างหรือที่เรียกว่าโรงสีพระยาสมุทร นั้นก่อสร้างใน ปี พ.ศ. 2420 นับเป็นโรงสีไฟแห่งแรกของต่างจังหวัด เพราะฉะเชิงเทราเป็นแหล่งปลูกข้าว อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ และสามารถออกทะเลได้ที่ ปากแม่น้ำบางปะกง

( โรงสีบน มีชื่อเหลืออยู่ เป็นหมู่บ้านที่ 1 บ้านโรงสีบนตำบลคลองนา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ส่วนโรงสีกลาง ที่หลงเหลือชื่ออยู่ คือ โรงเจโรงสีกลาง จิบฮกตั้ว หมู่ที่ 1 ตำบลท่าพลับ)

ในปี พ.ศ. 2440 (รัตนโกสินทร์ศก 116) ได้โปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดให้ปักหมายเขตตำบลให้ขัดเจน โดยยึดเอา ลำห้วย หนอง คลองบึงบาง หรือสิ่งใดเป็นสำคัญ จึงมีเหตุให้มีการปรับปรุงเขตตำบลขึ้น
บ้านบางกรูดจึงแยกออกจากตำบลบางกรูด โดยยึดแม่น้ำบางปะกงเป็นแนวเขต ชื่อบ้านก็ดี หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นถาวรวัตถุคงใช้ชื่อเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันหมู่บ้านของตำบลบางกรูดลดลง เหลือเพียง 3 หมู่บ้านคือ บ้านหมู่ที่ 1 บ้านอู่ตะเภา บ้านหมู่ที่ 2 บ้านบางชายสอ บ้านหมู่ที่ 3 คือ บ้านท่าถั่ว

(แก้ไขเพิ่มเติม แก้ไข..ณ มีนาคม 2556 ) ส่วนตำบลท่าพลับปัจจุบันประกอบด้วย 4 หมู่บ้านคือ บ้านบางกรูด บ้านตลาดโรงสีล่าง บ้านวัดเกาะชัน และบ้านก้นกรอก ส่วนในอดีตเท่าที่พบในขณะนี้ (มีนาคม 2556 ) ตำบลท่าพลับก็มี 9 หมู่บ้านเช่นกัน
ข้อมูลเมื่อ ปี 2547 ระบุว่าประชาชนเปลี่ยนอาชีพจากทำนาเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา เกือบหมด



การทำสวน กสิกรรมประเภทหนึ่ง

พลอยโพยม ค้นหนังสือเก่า ๆ ของพ่อ ได้พบหนังสือ 2 เล่ม เป็นหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ 2 ท่าน เล่มหนึ่งเป็น นายเสียง สงวนสัตย์ คุณปู่ของพ่อพลอยโพยม เมื่อ พ.ศ. 2479 และอีกเล่มของ อาจารย์ทองดี วงศ์ศิริ คุณครูของพ่อพลอยโพยมเอง

ในหนังสือ นายเสียง สงวนสัตย์ คุณทวดข้างพ่อของพลอยโพยมระบุประวัติว่า
นายเสียง สวนสัตย์ เกิดวันศุกร์ เดือน 8 แรม 3 ค่ำ ปีกุน เป็นบุตร นาย ลู่สู แซ่ตั้น นางจับ ภรรยาชื่อ พ่วง เกิดในประเทศสยาม ตั้งบ้านเรือนอยู่หมู่บ้านอู่ตะเภา หมู่ 3 ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาชีพในทางกสิกรรม
(ท่านเกิด พ.ศ. 2406 สิ้นบุญในปี พ.ศ. 2479 )



ในหนังสือ คุณครูทองดี ระบุว่า
ชาติภูมิ
ชื่อตัวและสกุล ทองดี วงศ์ศิริ เมื่อเล็ก ๆ ชื่อปี๊ด ได้เปลี่ยนชื่อจากปิ๊ด มาใช้ทองดี เมื่อตอนเริ่มชีวิตครู ( พ.ศ. 2455 )
วันเกิด สุริยคติ 10 เมษายน 2440
บ้านเกิด หมู่ที่ 1 ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
บิดา มารดา ปิ๊ เป็นบิดา ฟัก เป็นมารดา
........
ประวัติคุณครูทองดี พิมพ์ใน ปี พ.ศ. 2507 เป็นรูปแบบการเขียนที่เด็ก รุ่น หลัง ๆ ในยุคพลอยโพยม ใช้ในการเขียน เฟรนด์ชิบ
ที่ยกตัวอย่างประวัติทั้งสองท่าน เพราะอยากสื่อถ้อยคำ สำนวน ที่นิยมกันในสมัยที่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน ยังไม่เกิด
รายละเอียดของประวัติ คุณครูทองดี ระบุว่า เมื่อเป็นครู คุณครูทองดีเก็บหอมรอมริบเงินเดือน ได้จัดการซื้อที่สวนร้าง เนื้อที่ 6 ไร่เศษที่วนท่าเสา หมู่ที่ 1 ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์จาก ขุนราษฎร์อุปถัมภ์เป็นเงิน 360 บาท (ราคาที่ดินประมาณไร่ละ 60 บาท)

ชีวิตการเป็นครู
พ.ศ. 2455-2465 เป็นครูเชลยศักดิ์
พ.ศ. 2465- 2491 เป็นครูประชาบาล
พ.ศ. 2491-2501 เป็นข้าราชการครู
...............

แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ทราบว่า หมู่บ้านที่หายไปหลังการปักหมายเขต คือ หมู่บ้านวนท่าเสา บางคนเรียก วนบางเสา และ นับเป็นหมู่บ้านที่ 1 ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของตำบลที่ติดต่อ กับอำเภอเมือง หมู่บ้านน่าจะเป็น หมู่ที่ 1 บ้านบางเสา ตำบลบางพระ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา การปักหมายเขตใหม่ ทำให้รวบหมู่บ้านให้เหลือน้อยลง มีชื่อหมู่บ้านที่หายไป หรือแยกไปอยู่ตำบลอื่นบ้างและเพิ่มใหม่เข้ามาบ้างเช่นบ้านท่าถั่ว เดิมอยู่ตำบลประเวศ เป็นต้น
ส่วนหมู่บ้านอู่ตะเภา ในสมัยก่อนเป็นหมู่ที่ 3 ของตำบลบางกรูด ส่วนปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลบางกรูดที่เหลืออยู่ เพียง 3 หมู่บ้าน
และบ้านอู่ตะเภานี้ คือถิ่นฐานบ้านเกิดของพลอยโพยม( แต่เดิมบ้านที่อยู่นี้เป็นหมู่ที่ 4 ของตำบลบางกรูด พอมารุ่นพลอยโพยมเกิด กลายเป็น หมู่ที่ 1 ของตำบลบางกรูด)


ต้นพลับ

ตำบลท่าพลับ เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทางการเกษตร มีโรงหีบอ้อย โรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงสีกลาง แห่งหนึ่ง และโรงสีล่าง หรือโรงสีพระยาสมุทรอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ส่งไปยังกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จำนวนมาก ส่วนริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลบางกรูด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำและมีโรงเลื่อยอีกด้วย ฉะนั้นริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงทั้งสองฝั่งในบริเวณนี้ จึงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ใหญ่มาก ปัจจุบันได้เลิกล้มไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยที่เป็นอิฐหักของปล่องโรงสีและคำเล่าขานกันมาเท่านั้


ลูกพลับไทย หรือมะพลับ

ชื่อตำบลท่าพลับ สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นตะโก ผลรับประทานได้ บางคนเรียกว่า ต้นมะพลับ ผลดิบ เอายางมาย้อมสวิง แห อวน ได้ ประกอบกับผืนดินของตำบลนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีท่าเรือใช้ในการสัญจรไปมามาก จึงเรียกชื่อตำบลว่า “ตำบลท่าพลับ” ชื่อตำบลนี้มีปรากฏในหน้าโฉนดที่ดินของวัดบางกรูด ซึ่งออกให้เมื่อ รศ. 125 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2449 ในครั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์

จากคำเล่าขาน และเอกสารที่อ้างอิงได้ โรงสีล่าง และโรงสีกลาง ส่งข้าวออกต่างประเทศทางเรือ ไปที่สิงค์โปร์และฮ่องกง โดยไม่ผ่านเข้า กรุงเทพ ฯ
กำนัน บุญยงค์ ชินาลัย เล่าให้ฟังว่าโรงสีล่าง มีเนื้อที่ดิน ประมาณ 160 ไร่ และเคยมีห้องลักษณะคล้ายที่คุมขัง ประตูหน้าต่าง เป็นซี่ลูกกรงเหล็ก ภายในห้อง มีเสาไม้หลายต้นที่มีโซ่ เหล็ก และมีห่วงใหญ่ที่โซ่เหล่านั้น อาจเป็นที่คุมขังลงโทษ ทาส ที่ทำความผิดในสมัยนั้น
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เคยเป็นโกดังเก็บกระดาษที่ขนมาจากกรุงเทพฯ มากมาย เพื่อใช้หลบภัยสงคราม ของเจ้าของที่ดินล่าสุดในขณะนั้นที่มีกิจการโรงงานกระดาษ อยู่ที่กรุงเทพฯ


ลูกพลับไทย

จากการสอบถาม คุณ อาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร ที่ 5 ปราจีนบุรี เรื่องการเลิกทาส ได้ความว่า การเลิกทาสในสมัยรัชการที่ 5 ในปีพ.ศ. 2448 ซึ่งมีดำเนินการมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาก่อนนั้น แต่ตามหัวเมืองต่าง ๆ นอกเมืองหลวงการเลิกทาสอย่างแท้จริงเกิดตามมาภายหลังช้ามาก ตามแต่ ผู้ครองหัวเมือง จะดำเนินการแล้วเสร็จ มีความเป็นไปได้ที่โรงสีล่างยังมีทาส

มีที่มาของชื่อตำบลท่าพลับอีกที่มาหนึ่งว่า ตำบลท่าพลับมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำบางปะกง ในอดีตมีตลาดใหญ่ชื่อ "ตลาดโรงสีล่าง" มีคนจีนทำมาค้าขายลูกพลับอยู่เป็นจำนวนมาก จนทุกคนเรียกกันติดปากว่า "ท่าพลับ" ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของตำบลมาจนถึงทุกวันนี้


ผลมะกรูด

ตำบลบางกรูด ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกร และค้าขาย มีวัด 2 วัด ได้แก่ วัดผาณิตราม และวัดมงคลโสภิต
ตำบลบางกรูด มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สภาพเดิมเป็นป่า มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นมะกรูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตมีอาณาเขตของตำบลครอบคลุมไปถึงหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด การตั้งชื่อตำบล สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ


ต้นมะกรูด

ในอดีตตำบลบางกรูด โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำ โรงเลื่อยแปรรูปไม้ และโรงงานประกอบบ้านทรงไทยขายเป็นหลัง ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว ส่วนโรงสียังคงมีปล่องสูงตระหง่านริมฝั่งแม่น้ำเหนือทิวจาก ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจความเจริญของท้องถิ่นที่ผ่านมา

คำว่าบางกรูดในปัจจุบัน จึง มี 2 ความหมาย
บ้านบางกรูดหมายถึงหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลท่าพลับ คือบริเวณวัดบางกรูดและพื้นที่รายรอบ
ตำบลบางกรูด หมายถึงตำบลที่อยู่คนละฝั่งกับตำบลท่าพลับ

หมายเหตุ ในประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตอนท่านป่วย ทรงพระราชทานหมอหลวงและให้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาท่าน

ที่หน้าโบสถ์วัดบางกรูด เคยมีต้นพลับใหญ่มาก อายุร้อยกว่าปี มีก่อนตั้งโรงเรียนวัดบางกรูดเป็นสถานที่ เด็ก ๆ ของโรงเรียนนี้ไปเก็บลูกพลับ และลูกไข่เน่ากินกัน แม่ละม่อมบอกว่า สมัยแม่ไปเรียนหนังสือต้นพลับต้นนี้ก็ต้นใหญ่แล้ว ถูกตัดทิ้งไปประมาณ 3-4 ปีนี้เอง อนุสรณ์ต้นพลับของตำบลท่าพลับไม่เหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น