วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] หวนกลับสู่ ...หมู่มัจฉา..ปลากระทิงไฟ..ปลาม้า

หวนกลับสู่ ..... หมู่มัจฉา

ปลากระทิงไฟ..ปลาม้า


ปลากระทิงไฟ

ขอย้อนกลับมาหน้าวัดบางกรูดอีกครั้งเพื่อสานต่อเรื่องราวของปลาในลำน้ำบางปะกงตรงบางกรูด เมื่อห้าสิบปีที่แล้วซึ่งยังกล่าวไม่ครบถ้วน ตามจำนวนปลาที่เคยมาแหวกว่ายในสายชลให้ผู้คนได้ยังชีพอยู่อย่างยืนยาว
บทความที่เกี่ยวกับ "ในธาราปลาพล่านตระการตา" กล่าวค้างไว้ถึงปลาวงศ์ปลาช่อน ซึ่งมีทั้ง ปลาช่อนหลายชนิด ปลาชะโด ปลากระสง แล้วพลอยโพยม ก็มาเขียนเรื่องราวบนฝั่งบกเสียเกือบสิบเดือน

พลอยโพยมขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องปลา เพื่อให้จบครบกระบวนความ แต่ขอลงรายละเอียดของปลาบางชนิดเท่านั้น


ปลากระทิงไฟ

ปลากระทิงไฟ
ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia

ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น


ปลากระทิงไฟ

ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจืดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้
อาหารของปลากระทิงไฟคือแมลง ลูกกุ้ง ลูกกบ และปลาขนาดเล็ก
และจากหนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยของกรมประมงกล่าวว่า ปลากระทิงไฟมีรสชาติดี
เและเคยพบปลากระทิงขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง 1 เมตร
ปัจจุบันปลากระทิงไฟ กลายเป็นที่นิยมเลี้ยงในตู้ปลา กลายเป็นปลาประเภทสวยงาม และด้วยเหตุที่เป็นที่นิยมของผู้คนทำให้ปลากระทิงไฟในวันนี้อยู่ในสภาวะใกล้จะสูญพันธุ์



ปลากระทิงไฟ

ในสมัยพลอยโพยมยังเด็ก เมื่อถึงฤดูกาลล้อมจับกุ้งจับปลาในซั้ง อันเป็นช่วงต้นฤดูหนาว (ในสมัยก่อน และเป็นช่วงใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนาของชาวนา ซึ่งทำนากันเพียงปีละครั้งเท่านั้น) เป็นช่วงปลายของหน้าน้ำจืดในแม่น้ำใกล้จะเป็นหน้าน้ำกร่อย
ปลากระทิงไฟ เป็นปลาที่พบเจอจับได้ทุกครั้ง แต่ลวดลาย ที่มีจุดสีแดงบนลำตัวของปลากระทิงไฟ ในความรู้สึกของเด็ก ๆ ทุกคน คือ ปลาชนิดนี้ หน้าตาน่าเกลียดน่าชังมากกว่าจะมีเด็กคนใดมองว่า กระทิงไฟนี้สวยงามมีคุณค่า ยิ่งความคิดที่จะลิ้มชิมรสชาติของปลาชนิดนี้ไม่เคยปรากฎ เนื่องจากผู้ใหญ่ในบ้านไม่กินเป็นตัวอย่างด้วย เด็ก ๆ จึงออกอาการรังเกียจจะเหวี่ยงทิ้งลงน้ำก็เสียดายว่า น้านุ้ย (ลูกนาของยายขา) ที่มาช่วยจับซั้ง กินปลานี้ได้ ปลากระทิงไฟที่ช้อนได้มาจึงยกให้น้านุุ้ย พร้อมกับปลาไหล ปลาม้า และส่วนแบ่งอื่น ๆ ก็มิใช่ว่าเราจะยกเฉพาะของที่เราไม่กินกันให้น้านุ้ยเท่านั้น กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งอื่น รวมทั้งปลาช่อน ปลากราย ปลาฉลาด ปลาตะเพียน และอื่น ๆ เราก็แบ่งสรรให้ทุกครั้ง เพียงแต่ว่า ปลาชนิดที่เราไม่กิน เราจะไม่แบ่งไว้ในบ้านแต่จะยกให้น้านุ้ยไปหมด แต่ปลาแขยงนั้นนอกจากไม่กินเองแล้ว เราก็ไม่ได้ให้น้านุ้ยไป หาก ยังเป็น ๆ ก็ปล่อยไป หากตายแล้วก็เอาไปต้มเลี้ยงน้องหมาซึ่งมีชื่อน่ารักว่า เจ้าดอกรัก ที่ดุมากชื่อเสียงดังกระฉ่อนบางกรูดฝั่งบ้านของพลอยโพยม

ต่อมาพลอยโพยม พาหลานและลูก ๆ ไปเที่ยวสวนจตุจักร หาซื้อปลาสวยงามตัวเล็ก ๆ มาเลี้ยงในตู้ปลา เห็นปลากระทิงในตู้ปลาสำหรับขาย ก็แปลกประหลาดใจ ว่า อ้าวคุณปลากระทิงไฟมาเวียนว่ายอยู่ในตู้ปลากับเขาด้วย กลับมาบ้านเล่าให้พี่ชาย น้องชายของพลอยโพยมฟัง เขาร้อง ฮ้า...จริงเหรอ..โธ่เอ๋ย หน้าตาเนื้อตัวปลากระทิงไฟน่าเกลียดน่าชังออกปานนั้น ตอนจับได้ แทบอยากเหวี่ยงลงน้ำไป

ตอนพลอยโพยมไปเก็บภาพปลาที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ ของกรมประมง ยกกล้องอยู่นานกว่าจะกดชัตเตอร์ได้ ตาที่จ้องรอจังหวะที่จะถ่ายภาพ ก็ยังมองเมินไม่เห็นความสวยงามจนแล้วจนรอด รู้สึกเหมือนมองงูหรือปลาไหลที่รู้สึกแหยง ๆ หวาด ๆ ยังรังเกียจรังงอนอยู่ไม่วาย


ปลาม้า

ปลาม้า

ชื่อสามัญ ปลาม้า
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SOLDER CROAKER
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesmania microlepis
บางท้องถิ่นเรียกปลาม้าว่า ปลากวาง
ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาพื้นเมืองของไทย เป็นปลาน้ำเค็มที่เข้ามาอยู่ในน้ำจืดเป็นครั้งคราว จึงอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวด้านข้างแบนหางซึ่งเป็นบริเวณตั้งแต่รูก้นไปถึงปลายหางยาวเรียว หัวค่อนข้างเล็ก หน้างอนขึ้นเล็กน้อย จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กและอยู่คล้อยไปทางใต้ส่วนหัว นัยน์ตาค่อนข้างเล็ก มีเกล็ดขนาดเล็กที่หัวและลำตัว ครีบหลังยาว ส่วนปลายครีบจรดโคนหาง ครีบหูเล็กปลายแหลม ครีบท้องอยู่ใกล้อกมีก้านแข็งยืดยาวออกมาเป็นปลายแหลม ครีบหางยาวปลายแหลม พื้นลำตัวสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเขียวอ่อนหลังสีเทาปนดำ ท้องสีขาวเงิน ครีบต่าง ๆ สีน้ำตาลหรือเหลืองอ่อน ถุงลมของปลาม้าทำให้เกิดเสียงได้ .


ปลาม้า


ถิ่นอาศัย

ปลาม้าอาศัยตามแหล่งน้ำจืดพบมากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนนทบุรีจนถึงชัยนาท ภาคอีสานจับได้น้อย จากแม่น้ำโขงเรียกว่า ปลากวาง

อาหารของปลาม้าคือลูกกุ้ง ลูกปู

ปลาม้ามีขนาดความยาวประมาณ 17-60 ซ.ม.

ประโยชน์

เนื้อปลาใช้ปรุงอาหารได้ดี นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ นึ่ง ทอด ถุงลมนำไปตากแห้งสำหรับทอดหรือต้มตุ๋นเป็นอาหาร ที่เราเรียกกันว่า กระเพาะปลา และทำเป็นกาวที่เรียกว่าไอซิงกลาส


ปลาม้า เป็นพันธุ์ปลาที่เคยมีชุกชุมในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและเป็นที่มาของชื่ออำเภอบางปลาม้า


คุณสมบัติพิเศษ ของปลาม้าสามารถทำเสียงร้องได้เนื่องจากมีถุงลมขนาดใหญ่ นั่นเอง
ชาวมีนกรเล่าให้พลอยโพยมฟังว่า
ปลาม้าในช่วงฤดูการผสมพันธุ์และวางไข่ ปลาม้าจะมารวมกันเป็นฝูง ปลาม้าจะส่งเสียงร้องเหมือนเสียงม้าร้อง ในช่วงเวลากลางคืนปลาม้าตัวผู้จะว่ายไล่จับปลาม้าตัวเมีย และจับคู่กัน ว่ายคลอเคลียกันไป

ครั้นพลอยโพยมถามว่า เป็นปลาม้าตัวผู้หรือปลาม้าตัวเมียร้อง หรือร้องทั้งตัวผู้และตัวเมีย และร้องเพื่อหาคู่ และมีเสียงกู่ตอบมาว่า ตกลงฉันจะคู่กับเธอ หรือว่าร้องระหว่างกำลังแสดงความรักกัน หรือฟังไม่ได้ศัพท์ว่าตัวไหนร้อง หรือหลาย ๆ ตัวร้องเพราะอิจฉาที่ตัวเองยังหาคู่ไม่ได้ เวลากลางวันส่งเสียงร้องร้องไหม หรือร้องเฉพาะเวลากลางคืน และปลาม้ามารยาทดีมีความสัมพันธ์เป็นเวลาร่ำเวลาเฉพาะเวลากลางคืนหรือเปล่า

คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องมีคำถามอื่นใดให้ต่อความยาวสาวความยืดคือ "ผมไม่ใช่ปลาม้าครับ " พร้อมกับส่งสายตาถามย้ำมาว่า "เข้าใจไหม" พลอยโพยมก็เลยต้องพยายามทำความเข้าใจแบบราง ๆ ไม่แจ่มแจ้งสักเท่าไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น