วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ใบตอง...ของคนไทย

ใบตอง...ของคนไทย


คุณประโยชน์อเนกอนันต์ของใบตอง

ในตอนเด็ก ๆ เมื่อเข้าสวนไปทำงานหรือไปเล่นก็แล้วแต่ เมื่อเหนื่อยจะนั่งพักหรือนอนเล่นให้เย็นใจ เลือกหาได้มุมที่ต้องการแล้วก็ใช้มีดตัดทางมะพร้าวปูที่พื้นดินแล้วก็ตัดใบตองทั้งทาง แล้วปูทับลงไป หรือถ้าฝนตกแดดร้อน ก็ตัดใบตองนี้มากางคลุมหัวได้โดยเลือกทางที่กว้าง ๆ
ตอนเล่นขายของเอาใบตองมาหั่นฝอยสมมุติเป็นสิ่งของทดแทนได้หลายอย่าง เอามาห่อ หรือรองเป็นภาชนะได้เพราะเด็ก ๆ ก็ยังกลัดกระทงไม่เป็นกัน



ใบตองเป็นของสะอาดได้จากธรรมชาติขนาดกว้างกำลังดีจึงนิยมนำมาใช้ห่ออาหารคาวหวาน โดยประดิษฐ์เป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับลักษณะของอาหารนั้น ๆ ด้านหน้าใบผิวเรียบ มันและลื่น ส่วนข้างหลังใบที่แก่จัดจะมีละอองสีขาว ที่เรียกกันว่า นวล เคลือบอยู่ ใบตองใช้พับจีบ จับมุม กลัดไม้กลัดได้ ห่อแล้วผูก ห่อแล้วพับ ใช้เชือกกล้วยพันได้ใช้ห่อหมู ห่อพริกขี้หนู ห่อพริก ห่อสวมแบบให้อากาศผ่านได้ หรือห่อสวมแบบมีฐานจะหุ้มได้มิดชิด



ใบตองใช้ห่อขนมหลายอย่างก่อนเอาไปนึ่งให้สุก เช่น ข้าวต้มมัดผัด ห่อขนมเทียน ทำกระทงใส่ขนมเข่ง ขนมกล้วย ขนมใส่ไส้ ห่อหมก
การห่อขนมที่ห่อแบบให้ทรงสูง เช่น ขนมกล้วย ขนมใส่ไส้ ห่อหมก มักใช้ใบมะพร้าวพันทบขวางอีกทีเรียกว่า "เตี่ยว" จะช่วยพยุงอาหารที่มีเนื้อค่อนข้างเหลวในอยู่ทรงก่อนนึ่งในลังถึง เมื่อสุกก็จับที่เตี่ยวยกขึ้นไม่ร้อนมือคนจับ

ใช้ใบตองสดปูรองกระด้ง สำหรับเทขนมใส่ เช่นกะละแม หรือข้าวเหนียวแดงที่กวนเสร็จเรียบร้อยแล้วขนมจะหอมกรุ่นกลิ่นใบตองเวลากินจะชวนกินดีกว่าใสถาดหรือภาชนะอื่น
เมื่อจะนำขนมไปให้คนบ้านอื่น ๆ ก็นำใบตองมากลัดเป็นกระทงใส่เช่น ขนมหม้อแกง และอื่น ๆ เป็นต้น หรือเอามาห่อเป็นห่อที่ใหญ่สักหน่อยก็ได้ตามขนาดที่ต้องการห่อ



ใบตองที่นำมาใช้ห่อขนม จะทำให้ขนมมีกลิ่นเชื้อเชิญชวนกินยิ่งขึ้น เช่นขนมในถาดทั้งหลาย เช่นขนมเปียกปูน ตะโก้ ขนมด้วงโดยเฉพาะขนมขี้หนู ใช้ใบตองห่อเป็นห่อ ๆ แล้ว เวลาจะกินก็ใช้มือบีบห่อใบตองให้แน่น ๆ ขนมขี้หนูที่ป่นเป็นเหมือนทราย (จึงเรียกว่าขนมทรายด้วย และมีบางคนเรียกชื่อเสียหรูหราน่ากินว่าขนมละอองฟ้า ก็มี ) ขนมก็จะเกาะตัวกันแน่นตามรอยมือที่บีบ กินอร่อยหอมมันมีกลิ่นใบตองอีกต่างหาก
ห่อข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วยไส้เผือก ปลาเผาห่อใบตอง



เมื่อจะใช้ใบตองจะต้องใช้มีดกรีดใบออกจากก้าน ก้านกล้วยนี้ก็เอาไปทำของเล่น ทั้งขี่ม้าก้านกล้วย เรือก้านกล้วย ปีนก้านกล้วย ดาบก้านกล้วย แปลกที่ไม่เรียกขี่ม้าก้านใบตอง คงต้องการให้พ้องเสียง ก ไก่ ระหว่างก้านกับกล้วย

เมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นโตหน่อย ก็จะมีงานประดิษฐ์ด้วยใบตองให้เรียนเป็นวิชาเลือก ตั้งเป็นชมรมประดิษฐ์ใบตองกันก็มี หัดเอาใบตองมาประดิษฐ์ให้สวยงามใช้ในการงานต่าง ๆ เช่น ทำบายศรีปากชาม บายศรี 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น ประดิษฐ์กระทงที่สวยงามสำหรับลอยกระทงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ทำธูปเทียนแพ ไว้กราบไหว้สักการะขอขมาผู้ใหญ่ ใช้เย็บแบบสำหรับการประดิษฐ์ดอกไม้สดประดับพาน กระทง หรืออื่น ๆ โดยต้องนำกลีบดอกไม้มาเย็บบนใบตองตัดเจียนเป็นรูปที่ต้องการ ทำซองพลู ใส่พลูจีบ หรือใส่ดอกจำปี ดอกจำปา



บายศรี เป็นเครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตองรูปร่างคล้ายกระทงเป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ มี สามชั้น ห้าชั้น เจ็ดชั้น เก้าชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี มีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายอย่างเช่นบายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่
บาย เป็นคำที่จากภาษาเขมร (บาย=ข้าว+ ศรี =สิริ หมายความถึงข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ (สิริเป็นคำที่มาจากภาษาบาลี,ศรีเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง มิ่งขวัญมงคล )



แม่ค้าใช้ใบตองสดปูกรุกระจาดผลไม้เอาไปขายให้มองสวยงามชวนซื้อ ปูกรุเข่งขนมจีนทั้งก้นเข่งหรือกระจาดและด้านข้างของเข่งหรือกระจาดด้วย ปูซ้อนกั้นของไม่ให้ติดกันเป็นชั้น ๆ ได้ดี

ใบตองสดนอกจากเอามาปูนอนเล่นเย็น ๆ ในสวนแล้ว ยังเอามาปูนอนจริง ๆ ให้คนป่วย ที่เป็นแผลพุพองจากไฟไหม้ ไข้ทรพิษ ฝีดาษ เพราะใบตองเย็นและลื่น คนไข้จะนอนได้สบายขึ้น บาดแผลจะไม่ติดกรังบนใบตอง



ส่วนใบตองแห้ง
ใบตองแห้งทำภาชนะรองอาหารเป็นกระทงใบตองแห้ง ได้ เช่นกระทงขนมเข่ง กระทงเต้าหู้ทอด เผือกทอด หรือทำเป็น "กระโปรง" ห่อผลไม้กันแมลงและกระรอกมากัดกินก่อนเก็บผล หรือใช้หุ้มกาบมะพร้าวกิ่งตอนต้นไม้ได้

ใบตองแห้งสามารถเอามวนยาสูบเป็นแท่งบุหรี่ได้ (อย่างบุหรี่ชาววังของแม่พลอย ในเรื่องสี่แผ่นดิน ใช้ยาฉุน ยาเส้น และดอกปีบแห้งอีกด้วยให้สมเป็นชาววังไม่เหมือนชาวบ้านธรรมดา ๆ สามัญ)

บ้านที่พื้นเป็นแผ่นกระดานที่มีการลงเทียนและน้ำมันไว้จะใช้ใบตองแห้งมัดให้แน่นไว้ขัดพื้นกระดานบ้าน ใช้มัดใบตองแห้งวางพื้นแล้ววิ่งไปวิ่งมาตามความยาวของกระดานวิ่งแบบโก้งโค้งวิ่ง พื้นบ้านจะขึ้นมันสวยงาม



ผู้ใหญ่เก็บผลไม้ในสวนที่ต้องมีการบ่มให้สุกเช่น มะม่วง ละมุด ซึ่งจะบ่มในกระบุงหรือเรียงบ่มในโอ่งขนาดย่อมก็ต้องใช้ใบตองแห้งรองก้นโอ่งก้นกระบุงไว้ก่อน เรียงผลไม้เสร็จแล้วก็ใช้ใบตองแห้งปิดคลุม แล้วเอากระสอบมาปิดคลุมอีกชั้นหนึ่ง

ปัจจุบันมีการใช้กระดาษฝอยที่ตัดเป็นเส้น ๆ ไว้ใช้ในงานต่าง ๆ เช่นรองผลไม้ รองถ้วยชามที่วางซ้อน ๆกัน เมื่อก่อนนั้นชาวบ้านใช้ฟางข้าวหรือไม่ก็เป็นใบตองแห้งฉีกเป็นริ้วเล็ก ๆ
แม้แต่ คนที่ทำหมอนและที่นอนขายที่หานุ่นไม่ได้ ไม่มี หรือราคาแพงไป ยังขี้โกงใช้ใบตองแห้งฉีกฝอยอัดไว้ข้างใน แล้วใช้นุ่น อยู่บริเวณผิวหน้าที่คนเอามือกดสัมผัสได้ รายการนี้เป็นการโกงตบตาผู้บริโภคผู้ซื้อ

ใช้ใบตองแห้งห่อกาบมะพร้าวอ่อนทำจุกปิดกระบอกข้ามหลาม ใช้ใบตองแห้งฉีกเส้น ๆ ขยำไข่ทำขนมที่ไม่ต้องการให้ไข่ฟูเกินไป เช่น ขนมหม้อแกง สังขยา



ใบตองเมื่อแล่ออกจากก้านใบกล้วยออกเป็นสองทางแล้ว ก็จะใช้วางซ้อน ๆ กันหลาย ๆ ทาง แล้วใช้การพับทบเข้าหากัน เอาเชือกกล้วยมัดเป็นพับ ๆ เอาไปขายในตลาด เวลาซื้อจะซื้อ เป็น พับ ๆ ใบตองชาวสวนจะส่งขายเป็นพับในตลาด

มีใบไม้อีกอย่าง คือใบพลูจะเด็ดเรียงซ้อน ๆ กัน กี่ใบก็แล้วแต่ เราเรียกลักษณะนามพลูที่เรียงซ้อนกันโดยหันก้านใบไปทางเดียวกัน ว่า เรียง ใบพลู 2 เรียง ใบพลู 3 เรียง คำว่าเรียง ในบทกลอน แผลงเป็นระเรียง หรือ รันเรียง ก็มี
เรียง-จัด(ในลักษณะเป็นแถวเป็นลำดับตลอดไป เป็นลักษณะนามใช้เรียกพลูที่เอามาเรียงซ้อนกัน 7-8 ใบ เป็นพลูเรียงหนึ่ง พลู 2 เรียง)
แต่ถ้าใช้ เรียง ๆ แปลว่า จวนจะค่ำ
ภาษาไทยของเราลึกล้ำมีเสน่ห์อย่างนี้นี่เอง
จากใบตองแวะมาใบพลูเสียแล้ว เพราะใบตองและใบพลูอยู่คู่กันในสวนนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น